April 18, 2024   5:33:56 PM ICT
ธรรมะ 9 ข้อ สำหรับการลงทุน

ดับราคะ โทสะ โมหะ - "สติปัญญา" ช่วยลดเสี่ยง

ในยุคที่จตุคามรามเทพ กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทยจำนวนไม่น้อย จากรุ่นรวยธรรมดาๆ เดี๋ยวนี้มีรุ่นโคตรรวย ไปจนถึงอภิมหาเศรษฐี

ขนาดนักลงทุนในตลาดหุ้นบางคน เดี๋ยวนี้จะเดินเข้าห้องค้า ยังพกจตุคามรามเทพติดตัวไปด้วย ไม่แน่ใจว่าอีกหน่อยจะมีรุ่น "รวยหุ้น" ออกมารึเปล่า

ที่จริงแล้ว ในเรื่องของการลงทุนนั้น หากยึดหลักธรรมคำสอนตามหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ บางทีคุณอาจนึกไม่ถึง ว่านี่อาจจะเป็นหนทางสว่างไปสู่การลงทุนอย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จควบคู่กันไป

เพราะธรรมะเป็นเรื่องที่อินเทรนด์อยู่ตลอด Fundamentals ฉบับนี้จึงหยิบ 9 หลักธรรมสำหรับการลงทุนมานำเสนอ

********

ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เราก็จะได้เห็นเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโต สลับกับการถดถอยชะลอตัว ได้เห็นตลาดหุ้น ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นๆ ลงๆ ได้เห็นธรรมชาติที่แปรเปลี่ยน อากาศที่แปรปรวน ได้เห็นการคิด การประดิษฐ์ การผลิต การพัฒนาข้าวของ เครื่องใช้ หรือสินค้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน

ข้อเท็จจริง ที่ปรากฏเหล่านี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้ ทั้งโดยฝีมือมนุษย์ และเกิดขึ้นโดยตามธรรมชาติ แทบจะทุกๆ วินาที มีการเปลี่ยนแปลง

แต่ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะเกิดขึ้นมากมายหรือรวดเร็วเพียงใด หลักปฏิบัติตามแนวทางคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงทันสมัย In trend อยู่เสมอ เพราะยังสามารถปรับใช้ได้สำหรับการดำเนินชีวิตในทุกรูปแบบ ในทุกสถานการณ์ ไม่เว้นแม้การประยุกต์ใช้เพื่อการลงทุน การสร้างผลตอบแทนให้งอกงามตามที่ต้องการ

เพราะหลักธรรม คำสอนในพระพุทธศาสนาสอนให้เรามีเหตุ มีผล สอนให้เราเห็นความจริงตามธรรมชาติ โลกจะเปลี่ยนไปเพียงใด ตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ จะผันผวนสักแค่ไหน บริษัทจะกำไรหรือขาดทุน

หากเราเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง คิดพิจารณาตามการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเหตุมีผล เราก็จะสามารถบริหารการเปลี่ยนแปลง บริหารชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างไม่มีทุกข์ หุ้นจะตก ดอกเบี้ยจะต่ำ น้ำมันจะแพงเพียงใด การน้อมนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันจะทำให้เราเข้าใจ และมีกำไรจากการลงทุนได้เสมอ

เนื่องจากพุทธศาสนาสอนให้เรามีเหตุ มีผล สอนให้เราเห็นความจริงตามธรรมชาติ ซึ่งเราจะเข้าใจธรรมชาติของการลงทุน และจะรับมือกับความผันผวน การขึ้นๆ ลงๆ หรือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

"อัจฉรา โยมสินธุ์" อาจารย์ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้นำเสนอ 9 หลักธรรม สำหรับการลงทุน เพื่อการลงทุนอย่างไม่เป็นทุกข์ และเพื่อความมั่งคั่งที่ยั่งยืน

@ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท

หลักธรรมข้อแรกที่พึงระลึกไว้เสมอทุกครั้งก่อนการตัดสินใจลงทุน ก็คือ อัปปมาทะ หรือความไม่ประมาท เพราะว่า ปมาโท มจฺจุโน ปทํ หรือความประมาทเป็นทางแห่งความตาย การวิเคราะห์การลงทุนอย่างมีสติ คือ ความไม่ประมาท เรามักได้ยินคำเตือนอยู่บ่อยๆ ว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน"

ในยุคข้อมูลข่าวสารที่มารวดเร็ว และมีมากมาย เช่นในปัจจุบัน การศึกษาข้อมูลให้รอบคอบจึงเป็นเรื่องจำเป็น การพิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างไม่ประมาทจะช่วยให้เรารู้จักแยกแยะ สามารถคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ดี หาทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสมได้

นอกจากนี้ ในแง่ของความไม่ประมาท อาจพิจารณาเป็นเรื่องการจัดสรรสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation เพื่อลดความเสี่ยงได้ด้วย การไม่ประมาทในการจัดสรรสินทรัพย์ คือ เงินสำหรับการลงทุน ควรเป็นเงินส่วนที่ไม่จำเป็นต้องกันไว้เพื่อใช้จ่าย หรือไม่กู้หนี้ ยืมสินมาลงทุน

เราควรพิจารณาว่า เราสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด แล้วจัดสรรสินทรัพย์ให้เหมาะสม ใครรับความเสี่ยงได้มากหน่อย ก็อาจจะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นหน่อย เพื่อผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

สัดส่วนการจัดสรรสินทรัพย์ที่ดี ถือเป็นความไม่ประมาทในการลงทุน ในทางตรงข้าม การไม่ลงทุนอะไรเลย ไม่สนใจจะสร้างดอกผลจากการลงทุน ก็ถือเป็นความประมาทเหมือนกัน เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราไม่รู้ว่าอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากน้อยเพียงใด แผนการเกษียณอายุของเราอาจจะถูกบั่นทอนได้เพราะความประมาทไม่สนใจการสร้างผลตอบแทนอย่างที่เราควรจะทำได้

@รู้และเข้าใจด้วยตนเองแล้วจึงเชื่อ

หลักธรรมข้อที่สองที่ควรพิจารณา คือ หลักกาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 หรือหลักความเชื่อที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อชาวกาลามะไว้ว่า 1. อย่าเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา 2. อย่าเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา 3. อย่าเชื่อ ด้วยการเล่าลือ 4. อย่าเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา 5. อย่าเชื่อ ด้วยการนึกเดาเอาเอง 6. อย่าเชื่อ ด้วยการคาดคะเน. 7. อย่าเชื่อ ด้วยการตรึกตรองตามอาการ 8. อย่าเชื่อ ด้วยเห็นว่าถูกตามลัทธิตน 9. อย่าเชื่อ ด้วยเห็นว่าผู้พูดน่าเชื่อได้ และ 10. อย่าเชื่อ ด้วยนับถือว่าท่านเป็นครูของเรา

อัจฉราบอกว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อ ก็ต่อเมื่อเรารู้และเข้าใจด้วยตนเองแล้วจึงเชื่อ

ใครที่ลงทุนตามข่าว ตามกระแส เลือกหุ้น เลือกกองทุน ตามที่เพื่อนแนะนำ ตามที่นักวิเคราะห์ชี้ชวน ตามที่ผู้รู้ลงทุน หรือตามหมอดูบอก อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุน คงต้องทำการบ้านมากขึ้น พิจารณาทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองด้วยตนเอง ศึกษาที่มาที่ไปของแต่ละทางเลือกให้ถ่องแท้มากขึ้น

สาเหตุที่เราไม่ควรลงทุนตามๆ กันไป ก็เพราะว่านักลงทุนแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน เราต่างมีเป้าหมายในการลงทุนที่แตกต่างกัน มีวิถีชีวิต มีข้อจำกัด มีความชอบ ความไม่ชอบ ความพึงพอใจที่แตกต่างกัน มีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ทางเลือกในการลงทุนจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว ทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด จึงควรเป็นทางเลือกที่เรารู้ และเข้าใจอย่างดีที่สุด

@รู้จัก-เข้าใจในการเลือกลงทุน-มีเงินทุนพร้อม

หลักธรรมข้อที่สาม ที่ควรน้อมนำมาพิจารณา ก็คือ ปาปณิกธรรม 3 ประการ ที่เป็นหลัก เป็นองค์คุณสำหรับพ่อค้าวาณิช ซึ่งนักลงทุนจะนำมาปรับใช้ได้อย่างตรงไปตรงมา ปาปณิกธรรม 3 ประกอบไปด้วย 1. จักขุมา คือ ตาดี นักลงทุนต้องมีตาดี รู้จักเลือกหุ้น เลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุน คือ ต้องดูของเป็นจึงจะสามารถสร้างกำไรได้ 2. วิธูโร คือ มีความจัดเจนในการลงทุน ต้องรู้ เข้าใจในการเคลื่อนไหวของตลาด รู้ความต้องการของตลาด และ 3. นิสสยสัมปันโน คือ ต้องพร้อมด้วยแหล่งเงินทุน

ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า หรือนักลงทุน การมีเงินทุนพร้อม ย่อมได้เปรียบในหลายด้าน ปาปณิกธรรม 3 ถือเป็นคุณสมบัติที่ดีของนักลงทุนที่ทุกท่านสร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ลองพิจารณาดูว่า เรายังขาดข้อใดอยู่บ้าง ซึ่งหลักสองข้อแรก ทั้ง จักขุมา และวิธูโร สร้างได้จากการติดตามข่าวสาร การหาข้อมูล สะสมความรู้ หมั่นสังเกตความเป็นไป ใช้ความรอบคอบในการพิจารณาการลงทุน และจากประสบการณ์ที่สั่งสม ส่วนข้อสาม นิสสยสัมปันโน สร้างได้จากการขยันหมั่นเพียรทำงาน เก็บหอมรอมริบ สะสมทรัพย์จนมีเงินทุนพร้อมไปลงทุน. โภคา สนฺนิจยํ ยนฺติ วมฺมิโกวูปจียติ ทรัพย์สินย่อมพอกพูนขึ้นได้เหมือนดังก่อจอมปลวก

@ลดความยึดมั่นถือมั่น

ส่วนหลักธรรมข้อที่สี่ ที่ต้องเข้าใจ และจัดการตัดลดลงให้ได้ ให้หมดในการลงทุน ก็คือ อุปาทาน 4 หรือความยึดมั่น ถือมั่น การผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ด้วยอำนาจกิเลส ด้วยมนตราแห่งตัณหา ตั้งแต่ 1. กามุปาทาน 2.ทิฎฐุปาทาน 3. สีสัพพตุปาทาน และ 4. อัตตวาปาทาน หรือไล่ไปตั้งแต่การยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส การยึดมั่นในทิฎฐิ หรือทฤษฎี การยึดมั่นในข้อปฏิบัติ วิธีที่ทำตามๆ กันมา กระทั่งการยึดมั่นในตัวตน การถือความสำคัญของตัวตน ที่ไม่ได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์ของเหตุและผล

ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น นักลงทุนส่วนใหญ่จะยึดติดกับภาพในอดีตของการลงทุน หลายคนเคยร่ำรวย หรือเคยเห็นคนร่ำรวยจากการลงทุน จึงมีภาพที่สวยงาม มีรสชาติที่หอมหวานของการลงทุนเป็นที่ยึด ส่วนหลายคนอาจจะเคยเป็นแมลงเม่าที่ต้องหมดเนื้อหมดตัวในตลาดหุ้น ก็จะยึดติดกับความเข็ดขยาดของตลาดหุ้น

นอกจากนี้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกลงทุนในกองทุนรวม ในตราสารหนี้ หรือในหุ้นที่เคยทำกำไร เคยให้ผลตอบแทนที่ดีในอดีต โดยอาจจะลืมมองอนาคตของกองทุนรวม หรือตราสารเหล่านั้น หลายๆ กองทุนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการกองทุนไปแล้ว หรือสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิมที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายการลงทุนที่ดีในอดีต และมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มั่นใจในตนเอง มีตัวตนเป็นใหญ่ เป็นที่ติดยึด เชื่อมั่นในทุกการตัดสินใจของตนเองโดยไม่ฟังเหตุผล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว การยึดมั่น ถือมั่นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งสิ้น เพราะอดีตที่ดี ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าอนาคตจะดีเสมอไป

ทางที่ดีนักลงทุนควรจะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน การกระทำ การตัดสินใจ ทฤษฎี หรือวิธีปฏิบัติในอดีตควรจะถูกปรับปรุง ถูกนำมา Update ให้ทันยุคทันสมัยก่อนจะใช้เป็นเครื่องมือหรือส่วนประกอบเพื่อสร้างอนาคตในการลงทุน

@ดับราคะ-โทสะ-โมหะ

นอกจากอุปาทาน 4 แล้วยังมี อัคคิ 3 เป็นหลักที่ต้องเข้าใจ และต้องละให้ได้ หลักธรรมข้อที่ห้าจึงเป็นข้อพึงระวังใน อัคคิ 3 หรือ ไฟ 3 อย่าง ที่จะเผาผลาญจิตใจ ให้ร้อนรน หรือกิเลสที่ก่อขึ้นในใจจาก 1. ราคัคคิ ไฟคือ ราคะ 2. โทสัคคิ ไฟคือ โทสะ และ 3. โมหัคคิ ไฟคือ โมหะ ไฟทั้งสามนี้ คือ ความติดใจอยากได้ ความขัดเคืองไม่พอใจ ความหลงไม่เข้าใจสภาวะตามความจริง

เราเห็นคนมากมายพยายามจะปั่นหุ้น เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น เราเห็นคนมากมายพยายามจะจับเสือมือเปล่า เพราะต้องการมีเงินมีทอง มีทรัพย์สมบัติมากขึ้น เราเห็นหลายคนโมโห โกธร ทะเลาะกันเพราะหุ้นตก เราเห็นหลายคนเจ็บป่วย ไม่สบายใจ วิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะไม่ได้กำไรตามที่อยากได้ เราเห็นกระทั่งคนฆ่าตัวตาย เพราะขาดทุน

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่มีอยู่จริงของความโลภ ความโกธร ความหลง ไฟร้ายที่เผาผลาญจิตใจของนักลงทุนที่ไม่สามารถควบคุมจัดการตนเองได้ ไฟทั้งสามนี้ไม่มีใครช่วยเราดับมันลงได้ นอกจากตัวเราเองที่ต้องค่อยๆ ลดอุณหภูมิความร้อนของไฟให้เย็นลง ละวางเชื้อของไฟเหล่านี้ลงบ้างทีละเล็กทีละน้อย การแบ่งปัน การให้ทาน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในรูปแบบต่างๆ จะช่วยเพิ่มองศาความเย็น และสร้างความสงบในจิตใจเราได้

ในมุมของการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนมากๆ นักลงทุนควรจะกำหนดเพดานความอยาก และระดับการขาดทุนที่รับได้ให้ชัดเจน แล้วปฏิบัติตามเกณฑ์ที่วางไว้ อย่างเช่น หากราคาหุ้นในพอร์ตเพิ่มขึ้น 10% ก็จะขายเพื่อทำกำไร หากราคาหุ้นลดลง 5% ก็จะตัดใจขายทิ้งยอมขาดทุน

ใครที่ถูกอัคคิ 3 ครอบงำมักจะทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจคือ ในช่วงที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นก็อยากจะได้มากขึ้นไปอีกจึงมักรอต่อไป ในทำนองเดียวกัน หากหุ้นตัวไหนลดลง ก็ไม่ Cut loss ตามที่วางแผนไว้ กลับคิดเข้าข้างตนเองด้วยความเสียดายว่า เดี๋ยวราคาหุ้นมันต้องกลับเพิ่มขึ้น ที่สุดแล้วความลังเล อยากได้ ไม่อยากเสียก็มักก่อให้เกิดความเสียใจภายหลังเสมอ

@ ฉันทะ-วิริยะ-จิตตะ หัวใจสู่ความสำเร็จ

หลักธรรมข้อที่หกที่ต้องปฏิบัติให้ได้เพื่อให้การลงทุนประสบความสำเร็จก็คือ อิทธิบาท 4 ที่เป็นธรรมที่จะนำเราไปสู่จุดมุ่งหมายซึ่งประกอบไปด้วย 1. ฉันทะ คือ ความพอใจ ความมีใจรักในสิ่งที่ทำและต้องการทำให้ได้ผลดี 2. วิริยะ คือ ความพากเพียร การลงมือทำงานนั้นด้วยความพยายาม ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค 3. จิตตะ คือ การเอาใจฝักใฝ่ ทำด้วยความคิด ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และ 4. วิมังสา คือ การไตร่ตรอง การหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ปรับปรุงสิ่งที่ทำ

หากจะยกตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จในการลงทุนโดยมีอิทธิบาท 4 เป็นเครื่องหนุนนำความสำเร็จ ยกตัวอย่าง Warren Buffett นักลงทุนเลื่องชื่อระดับโลกก็คงจะไม่ผิด

เพราะเส้นทางความสำเร็จของ Buffett ไม่ได้เกิดขึ้นแบบชั่วข้ามคืน ประเภทสุ่มๆ ซื้อหุ้นไว้วันนี้ พรุ่งนี้หุ้นขึ้นก็ร่ำรวยมหาศาล ตรงกันข้าม Buffett เป็นผู้มีความเพียร มีความวิริยะ อดทน ในการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของหุ้นอย่างละเอียดลออ เขาให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม ความโปร่งใสของการบริหารงานในบริษัทที่เขาจะลงทุน เขาลงทุนเฉพาะในธุรกิจที่เขารู้จักเป็นอย่างดี ธุรกิจที่เขาเข้าใจความเป็นมาเป็นไปได้อย่างไม่มีข้อสงสัย เขาทำงานหนัก คิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ Buffett เป็นผู้มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อย่างชัดเจน

การลงทุนของเขาคือ การทำงาน เขาทำงานเพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด เขาไม่ได้ลงทุนเพื่อทำกำไรมหาศาลเพราะต้องการร่ำรวย เขาเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก แต่ยังใช้ชีวิตสมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่หลงไปกับอำนาจเงินที่มีมากมาย เขายังบริจาคช่วยเหลือการกุศลด้วยเงินมูลค่ามหาศาลซึ่งมากกว่าส่วนเหลือเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลานมากมายหลายเท่า เพราะเขาเชื่อว่าลูกหลานของเขาก็มีความรู้ ความสามารถที่จะทำงานหาเงินได้ไม่แพ้ตัวเขา

หลักธรรมข้อที่เจ็ดของอ้างอิงพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า ยํ ลทฺธธํ เตน ตุฏฐพฺพํ ได้สิ่งใด พึงพอใจด้วยสิ่งนั้น

หากเราได้ปฏิบัติ ได้ดำเนินชีวิต หรือลงทุนโดยมีธรรมะในหัวใจ นั่นหมายถึงเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างถูกต้อง สมบูรณ์แล้ว เราจะเข้าใจในธรรมชาติของการลงทุนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โดยความเสี่ยงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความเสี่ยงที่เราสามารถขจัดให้หมดไปได้ (Diversifiable Risk) ด้วยการกระจายการลงทุน (Diversification) อย่างเหมาะสม และความเสี่ยงที่เราไม่สามารถขจัดให้หมดไป ให้หายไปได้ (Non Diversifiable Risk) เพราะเกิดขึ้นเหนือการควบคุมของเรา

@มีสติเป็นที่ตั้ง

หลักธรรมข้อที่แปดเป็นหลักสำคัญที่ต้องมีเสมอสำหรับนักลงทุนก็คือ การมีสติ เพราะสติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำเป็นในที่ทั้งปวง การมีสติในทุกขั้น ทุกตอนของการลงทุนจะช่วยให้เราลงทุนได้อย่างมีความสุข มีความเข้าใจการลงทุน ไม่ต้องทุกข์ ทรมานใจเมื่อหุ้นตก ไม่หลงระเริงไปกับหุ้นที่กำลังขึ้น สติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติ การกระทำ เราจะระมัดระวัง ไม่หลุด ไม่หลงไปกับคำเชื้อเชิญ อวดอ้างที่เกินจริง ไม่ถูกหลอก ถูกลากไปตามกระแสหุ้นปั่น แต่เราก็จะไม่พลาดโอกาสดีๆ ที่มีอยู่ตรงหน้า หากเรามีสติในการพิจารณาการเลือกลงทุน เราจะเข้าใจแนวคิดการลงทุนที่ว่า High Risk High Return สติจะเตือนให้เราจะเข้าใจตัวเองว่า เราจะสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

@มีปัญญาช่วยลดความเสี่ยง

ส่วนหลักธรรมข้อที่เก้านี้คงต้องบอกว่าสำคัญที่สุดในการลงทุน คือ นักลงทุนต้องมีปัญญา เพราะปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์

ปญฺญาว ธเนน เสยฺโย เพราะปญฺญา นรานํ รตนํ ปัญญาเป็นแก้ววิเศษของนรชนเพราะการลงทุนบนพื้นฐานการมีความรู้ มีปัญญา จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างดีที่สุด ปัญญาช่วยให้เราเข้าใจตนเองได้ดีที่สุด เมื่อเราเข้าใจตนเองดีแล้ว การกำหนดเป้าหมายการลงทุนที่เหมาะสม การวางแผนการลงทุน รูปแบบ วิธีการลงทุนที่ดี ที่มีความเสี่ยงในระดับที่เรารับได้จะเกิดขึ้น รวมทั้งการลงมือปฏิบัติอย่างมีปัญญาจะช่วยให้เราเห็นหนทาง เห็นปัญหาอุปสรรคอย่างชัดเจน

เหมือนเวลาที่เรามองน้ำสะอาดในแก้วใส เราจะเห็นตะกอนที่ลอยเคว้งคว้างในน้ำได้ชัดเจน การสร้างปัญญาในการลงทุน ทำได้โดยการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบคอบ การหาความรู้ในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ในกระบวนการศึกษา การฝึกฝนเพื่อให้เกิดปัญญาจะต้องใช้ความอดทน ความเพียรพยายาม

ซึ่ง ขนฺติ หิตสุขาวหา ความอดทนนำสุขมาให้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพึ่งพาตนเอง ให้เราหมั่นศึกษาหาความรู้เสมอ ทรงสอนเสมอว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ซึ่งการฝึก หรือการฝึกฝน ก็คือ กระบวนการในการศึกษาเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา

ดังนั้น การลงทุนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่การลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่มีตัวเรา และสภาพแวดล้อมทั้งหมดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผู้ที่รู้และเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยเหล่านี้อย่างครบวงจรจึงจะมีพอร์ต การลงทุนที่ไร้ทุกข์ และทำกำไรได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม พึงระลึกไว้เสมอว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของทุกศาสนาไม่มีความเสี่ยง ผู้ปฏิบัติเพียงมีศรัทธาในศาสนาของตนเป็นที่ตั้ง

/

Bangkokbiznews
เข้าชม: 2,368

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com