March 29, 2024   10:16:21 PM ICT
บริหารพอร์ตแบบValue Averaging

สำหรับ "วรวรรณ ธาราภูมิ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง แล้ว ถือว่าเป็นหญิงเก่งอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพรักของพี่น้องร่วมวิชาชีพในแวดวงกองทุนรวมเสมอมา นอกจากนี้เธอยังเป็นคนบลจ.ในยุคแรกๆ ที่เริ่มต้นสร้างสรรค์พัฒนาและเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับธุรกิจกองทุนรวมของประเทศไทยจวบจนปัจจุบัน ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจจัดการลงทุนจึงทำให้เรื่องราวของการออมและการลงทุนส่วนตัวของเธอจึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

วรวรรณ บอกว่า ในฐานะเป็นคนบลจ. การบริหารพอร์ตการลงทุนของตัวเองได้มีการนำเอาหลักการของ "Value Averaging" มาใช้ ทั้งในการจัดสรรเงินลงทุน(Asset Allocation) และการลงทุน โดย Value Averaging ยังคงใช้ลักษณะของความสม่ำเสมอในการเข้าลงทุนเช่นเดียวกับ Dollar Cost Averaging แต่จะมีการใส่มุมมมองและปรับน้ำหนักการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดขณะนั้นๆ ว่าในจังหวะนี้ควรจะเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด แต่ยังคงแนวคิดการมี "วินัยในการออม"

ซึ่งด้วยวิธีการนี้จะทำให้เราสามารถลงทุนได้ด้วยต้นทุนที่ดีกว่า Dollar Cost Averaging เพราะฉะนั้นจะมีเงินเก็บออมทุกเดือน โดยเงินออมนี้สามารถที่จะโยกย้ายไปในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ บางเดือนก็ไปซื้อกองทุนหุ้นต่างประเทศ บางเดือนก็ซื้อกองทุนหุ้นในประเทศของบลจ.บัวหลวงซึ่งเราบริหารเอง บางเดือนก็ไม่เอาหุ้นเลย ไปลงทุนในกองทุนทองคำแทน

"พี่ใช้วิธี Value Averaging ในการลงทุน การจัดสรรเงินลงทุนก็ใช้วิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะมากกับตราสารที่มีความผันผวน ด้วยระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานเพียงพอ เราจะได้ต้นทุนที่เหนือกว่า ซึ่งพิสูจน์มาแล้วโดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ ก็ยังมีโอกาสที่จะทำแบบนี้ได้ อย่างตลาดหุ้นวันนี้คุณจะลงทุนมั้ย เราอาจจะไม่มีความมั่นใจเหมือนแต่ก่อน เราก็ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเอาไว้ ก็เหมือนกับว่าในเดือนนี้เราเอาเงินไปลงทุนในหุ้นน้อยลง พี่บริหารพอร์ตการลงทุนแบบซิมเปิ้ลจริงๆ คิดแบบคนธรรมดาไม่ได้คิดแบบเซียน แบบนี้ดีที่สุดไม่ต้องไปทำโมเดลอะไรมากมายด้วย ของถูกคุณก็ซื้อได้ถ้าเป็นของดีแค่นั้นเอง"

ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของวรวรรณแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนแรกเป็นตราสารหนี้ และพันธบัตรรัฐบาลผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 40% ส่วนที่สองเป็นหุ้น 50% โดยแบ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 10% ,กองทุนทอง 5% และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) รวมทั้งกองทุนรวมหุ้นทั่วไปของบลจ.บัวหลวงเองอีก 35% สำหรับส่วนที่สามเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 10%

โดยวรวรรณบอกว่า พอร์ตการลงทุนของตัวเองมีการปรับเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ปัจจุบันตัวเองอายุ 52 ปี ลงทุนในหุ้น 50% แต่ส่วนตัวแล้วไม่ได้มองว่าตัวเองลงทุนในหุ้นมากเกินไป ตอนอายุ 40 ปี ลงทุนในหุ้นน้อยมาก เงินออมส่วนใหญ่จะเป็นเงินฝากเกือบทั้งหมด แล้วก็ค่อยๆ ปรับ มาถึงปัจจุบันนี้เพียงพอแล้ว

เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เหลือก่อนจะเกษียณอายุ เราสามารถจะหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวได้ด้วยเงินลงทุนส่วนนี้ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องรีบเอาเงินตรงนี้มาใช้อะไร แล้วสมมติเงินลงทุนในหุ้นส่วนนี้ 50% มีปัญหาไปหมดก็ไม่ถึงกับอดตาย ด้วยเหตุนี้จึงไม่คิดมาก เพราะยังมีเงินส่วนที่ลงทุนในตราสารหนี้ 40% อยู่ ซึ่งเพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณแล้ว จึงไม่กังวลอะไรเลย เฉพาะเงินส่วนตราสารหนี้ 40% นี้ก็สามารถที่จะเลี้ยงตัวเองรอด มีค่ารักษาพยาบาล แม้ว่าอาจจะไม่หรูหราอะไร มีกิน มีใช้ มีค่าจ้างพยาบาลดูแลตัวเองพอแล้ว

"บางคนบอกว่าลงทุนในหุ้น 50-50 ดีกว่า บางคนก็บอก 60-40 ดีกว่า 40 ไปลงทุนในหุ้น แต่พอเกษียณแล้วไม่ควรมีหุ้นเกิน 20-25% บางคนบอกว่าเกษียณแล้วไม่ต้องมีเลย ซึ่งไม่อยากให้ผู้ลงทุนติดยึดกับตัวเลขเหล่านี้ เงินสำรองตรงนี้สำคัญ ถ้าคุณมีเงินสำรองเพียงพอแล้วคุณจะเอาเงินที่เหลือทั้งหมดไปลงทุนในหุ้นก็เรื่องของคุณ แต่ถ้าเงินสำรองตรงนี้ยังไม่พอ ต่อให้คุณลงทุนในตราสารหนี้ 90% หุ้น 10% ก็ยังไม่เพียงพอ คุณไม่ควรจะอยู่ในหุ้นเลยด้วยซ้ำ เพราะหากระยะเวลาการลงทุนคุณมีน้อยอีก 2 ปี จะเกษียณ ถึงคุณจะลงทุนในตราสารหนี้ 90% ลงทุนในหุ้น 10% ก็มีความเสี่ยง เพราะคุณจะรู้หรือว่าอีก 10% มันจะให้ผลตอบแทนได้ เพราะฉะนั้นสัดส่วนการลงทุนไม่อยากให้ไปยึดติด อย่างพี่ลงหุ้น 50% จึงถือว่าไม่เสี่ยง ดังนั้น เงินสำรองขั้นต่ำที่คุณต้องใช้คือเท่าไรแล้วเอาไปไว้ในที่ๆ ปลอดภัยที่สุดแล้ว"

ส่วนตัววรวรรณมองว่า อุปสรรคในการลงทุนคือ "อวิชชา" หรือ "ความไม่รู้" คือไม่รู้แล้วก็ไปเชื่อที่เขาพูดเพียงอย่างเดียว การ "ไม่รู้" แล้วก็การ "ไม่เรียนรู้" ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญของเรื่องการลงทุน พอความไม่รู้มีมากๆ ก็ไปลงทุนโดยที่ไม่คิดถึงการจัดสรรเงินลงทุน(Asset Allocation) ไม่คิดถึงช่วงอายุหรือโอกาสในตลาด ไม่คิดถึงความเพียงพอแล้วก็ใช้สูตรสำเร็จ อันนี้แหละที่น่ากลัว อย่าไปยึดติดกับสูตรสำเร็จ

หากคุณเข้าใจจิตวิญญาณของมัน เข้าใจปรัชญาของมัน คุณก็สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับตัวคุณเอง อีกอย่างเนื่องจากตัวเองผ่านอะไรมามาก เห็นอะไรมามาก ไม่มีอะไรดีที่สุดเท่ากับความเรียบง่ายแล้วเราเข้าใจมัน ความหวือหวาอาจจะตื่นเต้นชั่วคราว แต่ถ้าเราไม่เข้าใจมันแล้ว หรือไปเล็งผลเลิศโดยไม่ได้ดูเนื้อหาที่แท้จริง องค์ประกอบที่แท้จริง เราก็อาจจะติดกับในความหวือหวาอันนั้นได้ ซึ่งนักลงทุนอาจจะไปติดกับการลงทุนรูปแบบแปลกๆ ที่อาจจะฟังดูสวยหรูได้ง่ายๆ

ก่อนจากวรวรรณฝากว่าเราต้องพยายามใช้ให้เพียงพอ หรือถ้าค่าใช้จ่ายมาก ก็ต้องหารายได้เสริมเพิ่ม ใช้ให้น้อยลง มันจะได้มีเงินเหลือ จะได้ตัดอุปสรรคเรื่องความไม่พอเพียงในการออมออกไป ส่วนวินัยในการออมเป็นสิ่งที่คุณต้องสร้างขึ้นมาเอง

"วรวรรณ ธาราภูมิ"

เข้าชม: 2,974

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com