April 20, 2024   7:34:42 PM ICT
ค่าธรรมเนียมแพง
คุณจารวรรณ จาก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ถามว่า ทำไมค่าธรรมเนียมกองทุนแต่ บลจ.ถึงไม่เท่ากัน เพราะบางที่ก็คิดแพงมาก ขณะที่บางแห่งก็คิดถูกมาก จึงต้องการทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดขอบเขตค่าธรรมเนียมที่คิดจากลูกค้าระดับไหน เพราะเห็นเพื่อนที่ซื้อหน่วยลงทุนบอกว่า คิดแพงกว่าค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น
          หากคุณติดตามอ่านข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ทางด้านตลาดทุนจะรู้ว่า กลต. ไม่ได้กำหนด ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ บลจ. เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วย เพราะเป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยกันอยู่แล้วนะครับ
          รวมทั้งไม่ได้เข้าไปกำหนดขั้นต่ำหรือกำหนดเพดานไว้ เพราะต้องการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด บลจ. แต่ละแห่งจะคิดแค่ไหนก็ต้องเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบอย่างชัดเจน
          โดยค่าธรรมเนียมโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ1) ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมตอนขาเข้า (หรือที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน) หรือขาขาย (เรียกว่าค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน) บางแห่งอาจมีโปรโมชัน เช่น ถ้าซื้อหน่วยลงทุนตอนทำ IPO ก็อาจยกเว้นค่าธรรมเนียมขาเข้าให้ก็ได้ หรือถ้าเป็นตอนจะขายคืนก็อาจยกเว้นสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
          หรือจะเป็นค่าธรรมเนียมตอนโอนหน่วยลงทุน สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน (เปลี่ยนกองภายใต้ บลจ. แห่งเดียวกัน) หรือค่าปรับถ้าขายคืนก่อนครบกำหนดเวลาที่ บลจ. กำหนดไว้เป็นต้น เหล่านี้คือส่วนที่ บลจ. เรียกเก็บกับผู้ที่ทำธุรกรรมเป็นครั้ง ๆ ไป2) ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานของกองทุนรวม เช่น ค่าบริหารกองทุนรวม ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้แก่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม รวมทั้งค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์กองทุนรวม เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะหักออกจากสินทรัพย์ของกองทุนรวม (ซึ่งก็จะทำให้ NAV ลดลงตามสัดส่วน)
          ส่งผลให้กองทุนรวมแต่ละ บลจ. มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่เท่ากันได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถือหน่วยที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจว่าจะซื้อกองทุนรวมกองใด ซึ่งข้อมูลอัตราค่าธรรมเนียมนี้ก็จะมีเปิดเผยให้เห็นเด่นชัดในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมนั้น ๆ
          ถ้าเทียบให้เห็นเด่นชัดก็จะเป็นกรณีกองทุนรวมหุ้นแบบ active กับกองทุนรวมแบบpassive เพราะกองแบบ active ผู้จัดการกองทุนจะต้องทำงานมากกว่า และก็เป็นธรรมดาที่กองทุนรวมหุ้นค่าธรรมเนียมจะสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการบริหารของกองทุนรวมหุ้นจะอยู่ในช่วง 1–2% ของ NAV ในขณะที่ถ้าเป็นกองตราสารหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 0.5-1%
          อย่าลืมว่าก่อนตัดสินใจลงทุนในตราสารอะไรก็ควรต้องรู้จักประเมินตนเอง ต้องดูฐานะและความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และก็ต้องรู้จักตัวสินค้า จะได้ไม่ช้ำใจเวลาเกิดอะไรขึ้นมานะครับ
เข้าชม: 2,370

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com