March 29, 2024   9:30:36 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เปิดปูม...พ่อค้าทองคำ
 

?????????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 103
วันที่: 07/10/2005 @ 17:04:22
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

หลังถูก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เบรกแผน รวยลัด เอาไว้ ...ประจวบช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ ได้สั่งให้ โกลเบล็ก โฮลดิ้ง ชี้แจงกรณีนำเงินไปลงทุนในหุ้นหลายตัว...โดยเฉพาะปฏิบัติการปั๊มวอลุ่มให้กับหุ้น โซลาร์ตรอน (SOLAR)

แรงอัดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถือเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ความเคลื่อนไหวของ โอฬาร คูหาเปรมกิจ ประธานกรรมการ โกลเบล็ก โฮลดิ้ง เริ่มถูกวงการตลาดทุนจับตาว่าเขาคืออีก เซียนหุ้น ระดับประเทศ

หลังจากปี 2545 ที่เรา (GBX) เข้ามาลิสต์อยู่ในตลาดหุ้น ไม่ทันไรสื่อหนังสือพิมพ์ก็มักกล่าวถึงผมในแง่ไม่ดี มองว่าผมเป็นนักเล่นหุ้นรายใหญ่ แต่ความจริงคือ...ผมไม่ได้เล่นหุ้น และไม่เชี่ยวชาญเลย

และทุกครั้งผมก็ไม่เคยปฏิเสธข่าว เพราะถือว่านั่นคือ...เรื่องไม่จริง โอฬาร สรุปสั้นๆ พร้อมอธิบายต่อ

ผมเองไม่ได้เล่นหุ้น จะรู้มากก็แค่เรื่องทองคำ...เพราะสนใจ แต่เมื่อมาเปิดโบรกเกอร์เอง ผมก็คบคนไปทั่ว กระทั่งมีการนำชื่อ เสี่ยโอฬาร ไปอ้างอยู่ในห้องค้า มองว่าผมเป็นเซียนหุ้นรายใหญ่ ข่าวลือก็ขยายออกไป แต่ผมก็ไม่เคยตอบรับหรือปฏิเสธกับข่าวที่เกิดขึ้น เพราะเราเป็นคนเฉยๆ

ด้วยความชื่นชอบชีวิตอิสระ โอฬาร จึงเป็นบุคคลค่อนข้างเก็บตัว และไม่นิยมปรากฏชื่อเป็นข่าวมากนัก

แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ ประวัติ และ วิธีคิด ในฐานะ เจ้ามือ (เจ้าของโบรกฯ) ของเขา...น่าสนใจเป็นเท่าทวีคูณ

โอฬาร เล่าทบทวนเส้นทางการทำงานของตัวเองว่า ประวัติการค้าของเขาเริ่มต้นมาจากธุรกิจค้าทองคำ...ในจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่ปี 2483 ซึ่งบิดาเป็นคนสร้างเอาไว้ กระทั่งตัวเขาก้าวเข้ามารับช่วงงานต่อ พร้อมสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาจากธุรกิจค้าทองคำ

มีเสียงร่ำลือว่าครอบครัวคูหาเปรมกิจ ร่ำรวย มาจาก ทองคำเก่า ครั้งที่เขมรแตก ทองคำบริสุทธิ์ทะลักเข้ามาฝั่งไทย ทำให้ร้านค้าปลีกทองเล็กๆ มีทุนรอนขยายเครือข่ายสู่ผู้ ค้าส่ง ทองคำรายใหญ่

ในปี 2513 จึงคิดขยายฐานธุรกิจเข้าสู่ กรุงเทพมหานคร มาตั้งร้านทอง ภายใต้ชื่อ ห้างทองจิ้นไถ่เฮง (แม่ไฉน) ย่านถนนวรจักร กรุงเทพฯ

ก่อนที่ปี 2537 จะก่อตั้งเป็น บ.เกรทเทสท์ โกลด์ แอนด์ รีไฟเนอรี่ ขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจทองคำครบวงจร มีโรงงานสกัดทองคำ ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมอัญญธานี ในปี 2548 บริษัทในเครือคูหาเปรมกิจปรากฏชื่อเป็นผู้นำเข้าทองคำมากที่สุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของเมืองไทย โอฬาร ยอมรับว่า บางปีบริษัทในเครือของเขาเคยเป็นผู้นำเข้า และส่งออกทองคำมากที่สุดในประเทศไทย

เช่น บ.เกรทเทสท์ โกลด์ แอนด์ รีไฟเนอรี่ ในปี 2545 เคยมียอดขายรวมมากกว่า 16,470 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบันครอบครัวยังประกอบกิจการร้านทองอยู่อีก 2 แห่ง แถวย่านวรจักร (ห้างทองจิ้นไถ่เฮง) และอีกแห่งที่ เฉลิมกรุง แต่รายได้หลักมาจากกิจการ ค้าส่ง ทองคำ และยังมีโรงงานแปรรูปทองคำ อยู่ที่ประเทศจีนอีกแห่งด้วย

ด้วยบุคลิกและอุปนิสัยพื้นฐานแบบ พ่อค้า ที่เคี่ยวกรำมาทั้งชีวิต รูปแบบการใช้ชีวิตของ โอฬาร จึงเข้าทำนองกล้าได้กล้าเสีย พร้อมจะลงทุนในทุกธุรกิจที่เขาส่องเห็นโอกาส

ครั้งหนึ่ง โอฬาร เคยพลัดหลงเข้าไปลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการร่วมลงทุนกับเพื่อน ในชื่อโครงการ เลค การ์เด้น และเป็นธุรกิจที่เขายอมรับว่า ผมไม่มีความเชี่ยวชาญ

เพื่อนผมมันบอกที่ดินตรงนี้สวย คอนเซปต์โครงการของมันก็ดี...คือเมื่อเห็นว่ารถติด ก็ไปซื้อที่ดินข้างสถานีรถไฟ (ลาดกระบัง) เพราะถ้าลงทุนบ้านจัดสรรในย่านนี้ คนจะสามารถนั่งรถไฟจากที่ทำงานถึงบ้านโดยใช้เวลาไม่ถึง 40 นาที

...ผมก็เอาเลย เสร็จแล้วก็เจ๊ง!!!

ต่อมาภายหลัง โอฬาร จึงเดินเข้าสู่ธุรกิจค้าหลักทรัพย์ โดยมี มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง (KEST) เป็นผู้เปิดประตูโอกาส หลังจากเข้ามาเสนอขายใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บีทีเอ็ม (ประเทศไทย) ให้กับพ่อค้าทองคำรายนี้

ผมก็นั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ แล้วเขาก็เข้ามาเสนอขาย เพราะสมัยนั้นเขาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้เรา ลองคำนวณดูแล้วก็ไม่แพง...จึงตัดสินใจซื้อ เพราะช่วงนั้น (2545) ตลาดหุ้นมันตกลงมาเยอะแล้ว คิดว่ายังไงสักวันก็ต้องกลับขึ้นมา ...เราก็เลยจ่ายเงินซื้อไว้ และค่อยๆทำขึ้นมา

โอฬาร ยืนยันว่า การลงทุนหนนี้ไม่ใช่มุ่งเก็งกำไร แต่เขาซื้อไว้เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานเข้ามาพัฒนาธุรกิจกันต่อไป

ผมมันคบเพื่อนฝูงไปทั่ว ใครชวนไปไหนก็ไป ลงทุนอะไรก็เอา ตอนนี้งานส่วนใหญ่ก็มีคนรับผิดชอบกันหมดแล้ว วันๆ จึงใช้เวลาไปกับการตระเวนหาของกินอร่อยๆ

ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์ เดือนหนึ่งก็จะเข้ามาประชุมบอร์ดสักครั้ง จึงไม่ได้รู้ลึกอะไรมากมาย ใครมีอะไรก็รายงาน

ถัดมาภายหลัง (พ.ค. 2546) กลุ่มคูหาเปรมกิจ นำโดย โอฬาร ได้ก่อตั้ง บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง ขึ้นมา เพื่อเข้าไปซื้อหุ้น บล.โกลเบล็ก สัดส่วน 99.99% มาจาก เกรทเทสท์ โกลด์

จากจุดศูนย์กลางธุรกิจตระกูล มุ่งโฟกัสไปที่งาน ค้าทองคำ เกิดคำถามลึกๆว่าเหตุใด เสี่ยโอฬาร จึงสนใจธุรกิจค้าหลักทรัพย์

เพราะเรามีความเชี่ยวชาญด้านตลาดทองคำ หรือตลาดเงิน เมื่อมีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดทุน...เราก็เข้า เพราะต่อไปเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคอมมูนิตี้หรือด้านการซื้อขายล่วงหน้า ตลาดเงินตลาดทุนก็จะถูกเชื่อมโยงกัน

ที่สำคัญคือ ผมยังสามารถบริหารธุรกิจให้เติบโตได้ แล้วเก็บไว้ให้เป็นมรดกลูกหลาน แต่ก็ต้องรอให้เขาเข้ามาช่วยกันพัฒนาธุรกิจกันต่อ

หากมองอีกมุมทั้งสองธุรกิจ ก็มีความคล้ายกัน ทองคำ ถือเป็นธุรกิจด้านเงินตราที่มี ความเสี่ยง ไม่ต่างจากหุ้น และก็มีการซื้อขายอยู่ในตลาดทองคำ เช่นเดียวกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้น

ความคิดตามคอนเซปต์ พ่อค้า ที่ถูก ซึมซับ มาตั้งแต่วัยเด็ก โอฬาร กล้ายอมรับว่า เขาคือนักการขาย ที่สามารถ มาแต่กำเนิดอย่างแท้จริง

โอฬาร อธิบายชีวิตของพ่อค้าทองคำต่อไปว่า จากความนิยมในการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะเรื่อง The Best of Botts by William Hazlett Upson หรือ นักการค้าผู้สามารถมาแต่กำเนิด ผลงานอมตะของ อเล็กซานเดอร์ บอทท์ส ที่เขาชื่นชมและยอมรับว่า ถือเป็นเล่มที่ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานมากที่สุด

ในวงการธุรกิจอย่างน้อยที่สุดการแข่งขัน หรือการต่อสู้...ย่อมมี แต่หนังสือเล่มนี้สอนผมว่า ถ้าเราตั้งใจทำอย่างจริงจัง และซื่อสัตย์ เราจะประสบความสำเร็จ และเราต้องจริงใจต่อทุกคนทั้งลูกน้องและคู่ค้า แล้วเราจะชนะมันได้

ด้วยรูปแบบชีวิตที่ค่อนข้างหวือหวา และจับทางได้ยาก หลายคนจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เสี่ยโอฬาร ยังมีไอเดียที่จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นใดอีกบ้าง

คงไม่เอา เพราะผมแก่แล้ว และเหนื่อยมามาก อยากให้รุ่นลูกเข้ามาทำงานต่อ ตอนนี้เราก็เริ่มปล่อยเขาให้ได้เรียนรู้ ...ส่วนตัวผมคงจะเที่ยวหาของกินไปเรื่อย เรามันนิยมการเดินทาง ชอบไปต่างประเทศ ไปดูบอล ไปไหนไปหมด มันเพลินดี

ถัดจากนี้ ฉากหลังการเดินทางของ โอฬาร จึงฝากความหวังช่วงงานบริหารต่อไว้กับ...ทายาท รุ่น 3 ภูมิพงษ์ คูหาเปรมกิจ ที่ พ่อค้าทองคำ กำลังปลุกปั้นลูกชายคนโตให้แกร่งประสบการณ์ ก่อนวางตัวเป็นกำลังหลักรุ่นใหม่ของตระกูล

เส้นทางสู่ถนนนักลงทุนของ ภูมิพงษ์ หลังสำเร็จการศึกษาด้าน Certificated of TAFE Tasmania Australia และผ่านหลักสูตร Director Accreditation Program เขาจึงเริ่มต้นจับงานครั้งแรกในธุรกิจ จิวเวลรี ของตระกูลอยู่ที่ มหานครเซี่ยงไฮ้

เรียนรู้หลักการทำงานขั้นพื้นฐานกับธุรกิจครอบครัวได้เพียง 2 ปี โอฬาร จึงดึงลูกชาย กลับเข้ามาหวังเพิ่มพูนความรู้ในธุรกิจใหม่ของครอบครัวที่ โกลเบล็ก โฮลดิ้ง เพื่อช่วยพ่อบริหารงานในตำแหน่งกรรมการ และ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนของบริษัท และยังให้รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร มีผลตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2548

โดยวางให้ ณัฐวุฒิ เขมะโยธิน ผู้จัดการทั่วไป GBX และ รศ.ดร. สันติ ถิรพัฒน์ (อาจารย์ประจำคณะบัญชีจุฬาฯ) เป็นที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด

ประสบการณ์การลงทุนใน ตลาดหุ้น ของ ภูมิพงษ์ เริ่มติดเครื่อง เมื่อพ่อช่วยสนับสนุนทุนรอนให้ก้อนหนึ่ง (นับสิบล้านบาท) เป็นค่าฝึกวิชาลงทุนหุ้น แม้จะ ขาดทุน ไปมาก แต่ถือเป็นแรงกระตุ้นชั้นเยี่ยมสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเข้าใจหลักการลงทุนมาก่อน

ยอมรับว่าไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อน แต่เมื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทยก็เริ่มสนใจและกำลังศึกษาเรื่องนี้ ภูมิพงษ์ กล่าว พร้อมอธิบายหลักการลงทุนส่วนตัวแบบสั้นๆว่า

ผมจะเน้นลงทุนหุ้นพื้นฐาน และการลงทุนคงไม่ใช่เพียงข้ามวันแล้วขายทันที แต่บางเคสก็อาจจะขายถ้าราคาหุ้นมันได้กำไรที่น่าสนใจ...และอย่างตอนที่ผมซื้อหุ้น SOLAR ก็เพราะมองพื้นฐาน แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง...ก็ต้องขาย เพราะราคาขึ้นมาเร็วเกินเป้าหมาย ที่รศ.ดร.สันติ คำนวณไว้

แม้ตำแหน่งความรับผิดชอบใน โกลเบล็ก ของ ภูมิพงษ์ อาจเหมือนถูกพ่อเร่งรัดเกินไป...หากเทียบกับระดับความสามารถที่ยังไม่ลึกซึ้งกับเกมลงทุน แต่ด้วยวัยเพียง 27 ปี ระยะทางในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของ คูหาเปรมกิจ รุ่นที่ 3 จึงยังอีกไกล [/color:378208ed1a">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com