April 26, 2024   2:12:05 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > "อิชิตัน" มั่นใจเทรดวันนี้ยืนเหนือจอง
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 21/04/2014 @ 08:30:43
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

"อิชิตัน" ลงสนามเทรดวันนี้ ( 21 เม.ย.) มั่นใจ ราคายืนเหนือจองที่ 13 บาท หวังนำเงินระดมทุน 3.9 พันล้านบาท ขยายโรงงานผลิตสินค้าเฟส 2 เพิ่มกำลังผลิตเป็น 1 พันล้านขวดต่อปี ขณะที่ผลงานปี 56 โชว์กำไรพุ่งแตะ 883.65 ลบ. จากปี 55 กำไร 697.71 ลบ. โต 27.57% ด้าน "เคเคเทรด" มองผลงานโดดเด่นต่อเนื่อง คาดปีนี้กำไรโต 47% ส่วน "ฟิลลิป" ให้ราคาพื้นฐาน 17.45 บาทต่อหุ้น


* ได้เวลา "อิชิตัน" ลงสนามเทรดวันนี้
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บมจ. อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) จะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2557 โดย ICHI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน กรีนที เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล อิชิตัน ดับเบิ้ลดริ๊งค์ เครื่องดื่มชาดำพร้อมดื่ม อิชิตัน ดราก้อนแบล็คที เครื่องดื่มชาเขียวผสมสมุนไพรสูตรจับเลี้ยง เย็น เย็น โดยอิชิตัน และเครื่องดื่มชาสูตรหวานน้อย อิชิตัน ซีเล็คเต็ด โดยในปี 2556 ICHI เป็นผู้นำครองส่วนแบ่งการตลาดของเครื่องดื่มชาเขียวสูงสุดที่ 42% และมีกำลังการผลิต 600 ล้านขวดและ 200 ล้านกล่องต่อปี
ICHI มีทุนชำระแล้ว 1,300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 1,000 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 300 ล้านหุ้น โดยบริษัทเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เมื่อวันที่ 8-11 เมษายน 2557 ในราคาหุ้นละ 13 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 3,900 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO รวม 16,900 ล้านบาท มีบริษัทที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

* "ตัน"มั่นใจ ราคาเหนือจองที่ 13 บาท
นาย ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) เปิดเผยว่า การซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่ง วันนี้ ( 21 เม.ย. ) บริษัทมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับดีจากนักลงทุน และราคาซื้อขายจะสูงกว่าราคาจองซื้อหุ้นที่ 13 บาทได้ เนื่องจากธุรกิจชัดเจนมีความใกล้ชิดผู้บริโภค ประกอบกับการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวที่มีทิศทางการเติบโตโดดเด่น ภายใน 2 ปี มีส่วนแบ่งการตลาด 42% ขึ้นเป็นอันดับ 1ในอุตสาหกรรม
ปี 2557 อัตรากำไรขั้นต้นจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีที่แล้วที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 14% ตามสัดส่วนการปรับลดการว่าจ้างผลิต (OEM) ที่เดิมมีสัดส่วน 25% และกำลังจะลดลง เนื่องจากโรงงานเฟส 2 จะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายไตรมาส 2/2557 และส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตแบบขวดเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านขวด ต่อปีและ 200 ล้านกล่องต่อปี จากเดิม 600 ล้าน ขวดต่อปี และ 200 ล้านกล่องต่อปี
มั่นใจว่าหุ้นจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนจนยืนเหนือราคาจอง ส่วนหนึ่งเชื่อว่าราคาขายไอพีโอ 13 บาทเป็นราคาที่น่าสนใจ ให้ส่วนลดนักลงทุนถึง 36% อีกทั้งได้รับความสนใจจากนักลงทุน มียอดจองหุ้นจนล้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ สร้างความมั่น ใจให้กับนักลงทุนทำให้เข้ามาซื้อหุ้นในกระดานเพิ่มเติมเพื่อลงทุน หวังผลตอบแทนใน ระยะยาว
นายตัน กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมรายใหญ่ มีสัดส่วนการถือหุ้น 60.4% ซึ่งจะติดไซเรนท์ พีเรียด (Silent Period) ขั้นต่ำ 55% โดยหุ้นของกลุ่มภาสกรนทีที่ถือหุ้นรวมกัน 51.% ติดไซเรนท์ พีเรียด ห้ามขายเป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนอีก 4% ที่เหลือที่ติดไซเรนท์ พีเรียด เป็นของผู้บริหารท่านอื่น ทั้งนี้ ยืนยันว่ากลุ่มภาสกรนที และผู้บริหารท่านอื่นจะถือหุ้นทั้งหมดในระยะยาว และไม่มีแผนจะลดสัดส่วนการถือหุ้น

* นำเงินระดมทุน ขยายโรงงานผลิตสินค้าเฟส 2 เพิ่มกำลังผลิตเป็น 1 พันล้านขวดต่อปี
นายตัน กล่าวว่า การระดมทุนของบริษัทครั้งนี้จะนำไป ขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตสินค้าเฟส 2 ซึ่งบริษัทเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2556 โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2557 ส่งผลให้บริษัทจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 1,000 ล้านขวดต่อปี จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 600 ล้านขวดต่อปี เพื่อรองรับการขยายตลาดในประเทศและเตรียมตัวสำหรับการส่งออกไปต่างประเทศหลังเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ จะนำไปชำระหนี้สถาบันการเงิน คืนเงินกู้ยืมกรรมการและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ICHI มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 รายแรกหลัง IPO ได้แก่ กลุ่มนายตันและนางอิง ภาสกรนที ถือหุ้น 40.05% กลุ่มผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นแทนนายตัน ภาสกรนที 20.97 % และนายโช เอวี่ย จิ้น ถือหุ้น 4.99 % ทั้งนี้ การกำหนดราคา IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio ) 19.2 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิในปี 2556 ที่ 881.70 ล้านบาทหารด้วยจำนวนหุ้นภายหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ (Fully Diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.7 บาทต่อหุ้น ขณะที่ค่า P/E Ratio เฉลี่ยของผู้ประกอบการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2556 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2557 ที่ 30 เท่า ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40 % ของกำไรสุทธิภายหลังการหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมายในแต่ละปี

* โชว์กำไรปี 56 พุ่งแตะ 883.65 ลบ. โต 27.57% จากปี 55
ทั้งนี้ ICHI เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปี 2556 (สิ้นสุด 31 ธ.ค.56) สำหรับงบเฉพาะกิจการ มีกำไรสุทธิ 883.65 ล้านบาท และมีกำไรต่อหุ้น 0.88 บาท จากปี 2555 มีกำไรสุทธิ 697.71 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นถึง 27.57% y-y เนื่องจากการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างมาก เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะกิจกรรมส่งเสริมการขายในเดือน มีนาคม 2556 คือ กิจกรรม "ลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง 60 วัน 60 ล้านรีเทิร์น" ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้รายได้จากการขายของบริษัทฯเพิ่มขึ้นถึง 65.98% y-y ที่ 6,484.4 ล้านบาท รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากปี 2555 อยู่ที่ 26.64% ขึ้นมาที่ 31.76% เนื่องจากบริษัทฯมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 3 สายการผลิตขวดและ 2 สายการผลิตกล่องและมีสัดส่วนการว่าจ้างผลิตภายนอก (OEM) ลดลงเหลือประมาณ 25% ของยอดรวมปริมาณการผลิตส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลงและอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น ด้านค่าใช้จ่ายในการขายปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ที่ 75.2% y-y ที่ 931.2 ล้านบาท สาเหตุจากบริษัทฯมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เย็น เย็น และมีค่าใช้จ่ายในการเปิดตัวสินค้าใหม่นี้ด้วย อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายต่อยอดขายยังมีสัดส่วนไม่เกิน 15% ตามนโยบายการควบคุมงบประมาณของบริษัทฯ ดังนั้นจากมูลค่าการเพิ่มขึ้นของรายได้มีมากกว่ามูลค่าการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2556 ปรับเพิ่มขึ้นนั่นเอง

* เคเคเทรด มองผลประกอบการโดดเด่น คาดปีนี้กำไรโต 47%
บทวิเคราะห์ บล.เคเคเทรด ระบุว่า “อิชิตัน” ผู้ผลิตและจำหน่ายชาพร้อมดื่มอันดับหนึ่งบุคคลากรมีความเชี่ยวชาญสูงในธุรกิจ??คุณตัน ภาสกรนที ผู้ก่อตั้ง ICHI มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจชาพร้อมดื่มสูง (เคยปั้นแบรนด์ชาพร้อมดื่ม OISHI มาแล้วก่อนหน้านี้) และมีความถนัดในการคิดกลยุทธ์ทางการตลาดที่แปลกใหม่และดึงดูด ทำให้ใช้เวลาเพียง 3 ปีในการผลักดัน “อิชิตัน” ขึ้นสู่ผู้นำตลาดอันดับหนึ่งชาพร้อมดื่มมูลค่าตลาดกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ทีม R&D ยังมีความสามารถในการพัฒนาสินค้าที่มีรสชาติถูกปากผู้บริโภค เมื่อปีที่แล้ว ICHI ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “เย็น เย็น” (ปัจจุบันยอดขายคิดเป็น 40% ของรายได้รวม) และต้นปีที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่รองรับกลุ่มคนรักสุขภาพ “Ichitan Selected”
คาดว่าผลประกอบการปี 2557 ของ ICHI มีแนวโน้มเติบโตสูงจาก 3 ปัจจัยบวก คือ (1) การเติบโตของตลาดชาพร้อมดื่ม (คาด 15% YoY) ที่ ICHI มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง (2) การลดสัดส่วนการจ้างผลิตสินค้าภายนอกทำให้อัตราการทำกำไรสูงขึ้น และ (3) การนำเงินเพิ่มทุน IPO ไปชำระหนี้เงินกู้ทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง โดยเราคาดว่า ICHI จะมียอดขายราว 7.4 พันล้านบาท เติบโต 15% YoY และ มีกำไรสุทธิ 1.3 พันล้านบาท เติบโต 47% YoY คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (Fully Diluted) 1 บาท โดยเราคาดว่า ICHI จะจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 40 สตางค์ หรือคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 3%
ทั้งนี้ มองว่าราคา IPO หุ้น ICHI ที่ 13 บาท ไม่แพง โดยคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ปี 2557F เพียง 13 เท่า หรือคิดเป็นเพียงครึ่งเดียวของค่าเฉลี่ย P/E ในช่วง 1 ปีของกลุ่ม Food ซึ่งอยู่ที่ 25 เท่า และต่ำกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย P/E ของบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน (OISHI MALEE TIPCO HTC SSC) ที่มีค่า P/E (ปกติ) ที่ 17 เท่า
ผลประกอบการช่วง 5 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่องเฉลี่ย 25% ต่อปี จากการเติบโตของตลาดชาพร้อมดื่มตามกระแสการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพและการลดสัดส่วนการจ้างผลิตทำให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น เราประเมินมูลค่าเหมาะสมหุ้น ICHI ที่ 16.40 บาท (P/E ปี 57 ที่ 16 เท่า) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการประเมินด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ 20 บาทกับวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) ที่ 12.80 บาท มี Upside Gain 26%

* ฟิลลิป ให้ราคาพื้นฐานปี 57 อยู่ที่ 17.45 บาทต่อหุ้น
บทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิปธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวทั้งหมด 21 รสชาติ ซึ่งแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. อิชิตันดับเบิ้ลดริ๊งค์, 2. อิชิตัน กรีนที, 3. อิชิตัน ดราก้อน แบล็คที, 4.อิชิตัน ซีเล็คเต็ด และ 5. เย็น เย็น โดยอิชิตัน ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มจำนวนรสชาติทั้งสิ้น 21 รสชาติ ภายใต้ชื่อการค้า อิชิตัน ดับเบิ้ลดริ๊งค์, อิชิตัน กรีนที, อิชิตัน ดราก้อน แบล็คที, อิชิตัน ซีเล็คเต็ดและ เย็นเย็น โดยอิชิตัน
ทางฝ่ายประเมินกำไรสุทธิปี 57 เพิ่มขึ้น 28.43% y-y อยู่ที่ 1,135.06 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของยอดขาย 15.32% y-y ซึ่งได้รับอานิสงส์มาจากการเพิ่มสายการผลิตขวดเพิ่มขึ้น2 สาย ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตขวดเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านขวดต่อปี รวมสิ้นปี 57 ICHI จะสามารถผลิตขวดได้ทั้งหมด 1,000 ล้านขวด/ปี และผลิตกล่องได้ทั้งหมด 200 ล้านกล่อง/ปี ด้านอัตรากำไรขั้นต้นทางฝ่ายประเมินอยู่ที่ 33.36% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 31.76% เนื่องจากทางฝ่ายประเมินว่าบริษัทฯจะมีสัดส่วน OEM ลดลงอยู่ที่ 11.05% ซึ่งทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนต่อขวดได้มากขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขาย ทางฝ่ายคาดยังคงมีสัดส่วนต่อยอดขายเพิ่มขึ้นมาที่ 15% เนื่องจากการรุกตลาดเพื่อส่งเสริมการขายโดยการโฆษณาหรือทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ทั้งการขายแบบค้าปลีกและค้าส่ง อย่างไรก็ตามปีนี้บริษัทฯยังได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง จากการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนหุ้น IPO มาชำระหนี้จากสถาบันการเงิน 1,500 ล้านบาทและชำระหนี้จากกรรมการอีก 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้ดอกเบี้ยจ่ายปีนี้ลดลงถึง 42.54% y-y อยู่ที่ 92.86 ล้านบาท ดังนั้นปีนี้ ICHI จะมีกำไรสุทธิเพิ่มมากขึ้นถึง 28.43% y-y โดยทางฝ่ายประเมินกำไรต่อหุ้นและเงินปันผลต่อหุ้นปี 57 เท่ากับ 0.87 บาทและ 0.35 บาทตามลำดับ โดยราคาพื้นฐานปีนี้ทางฝ่ายคาดไว้ที่ 17.45 บาทต่อหุ้น

* ประวัติความเป็นมาของ "อิชิตัน"
บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เดิมชื่อ บริษัท ไม่ตัน จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแบบฟิวชั่นสเต็คคอร์สและร้านช็อคโกแลตสดสไตล์ญี่ปุ่น, ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียว บริษัทฯจึงได้ขายธุรกิจอาหารออกไปในเดือน มกราคม 2556
เดือน ต.ค.54 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโรงงาน ทำให้มีการหยุดการผลิตที่เพิ่งเริ่มทดสอบกระบวนการผลิตครั้งแรกในเดือนที่ผ่านมา โดยในเดือนถัดมา ได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทฯเป็น บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด และโรงงานมีการเริ่มดำเนินการผลิตอีกครั้งในเดือน มี.ค.54
เดือน ก.ค.56 บริษัทฯได้มีการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากหุ้นละ 100 บาทเป็นมูลค่าหุ้นละ 1 บาท พร้อมทั้งอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,300 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯมีกำลังการผลิตทั้งหมด 600 ล้านขวดและ 200 ล้านกล่องต่อปี โดยผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มทั้งหมด 21 รสชาติ ซึ่งแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกเป็น 5 กลุ่มได้ดังนี้ 1.เครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มภายใต้ชื่อสินค้า "อิชิตัน กรีนที" 2.เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ภายใต้ชื่อสินค้า "ดับเบิ้ลดริ๊งค์" 3.เครื่องดื่มชาดำ ภายใต้ชื่อสินค้า "อิชิตัน ดราก้อน แบล็คที" 4.เครื่องดื่มชาเขียวผสมสมุนไพรสูตรจับเลี้ยง ภายใต้ชื่อสินค้า "เย็น เย็น โดย อิชิตัน" และ 5.เครื่องดื่มชาสูตรหวานน้อย ภายใต้ชื่อสินค้า "อิชิตัน ซีเล็คเต็ด"
ภาพรวมการประกอบธุรกิจ
กลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯแบ่งออกได้ทั้งหมด 5 สายผลิตภัณฑ์ ทั้งที่อยู่ในรูปแบบขวดและกล่องยูเอชที ดังนี้
1. เครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม อิชิตัน กรีนที มีทั้งหมด 11 รสชาติ ได้แก่ (1) รสต้นตำรับผสมดอกชา (2) รสน้ำผึ้งผสมมะนาว (3) รสคิคุชะ (เก๊กฮวย) (4) รสจมูกข้าวญี่ปุ่น (5) สูตรไม่มีน้ำตาลผสม มัท ฉะ (6) รสมิโดริพันช์ (7) รสเบอร์รี่เบอร์รี่ (8)รสแอปเปิ้ล กีวี (9) รสข้าวโพด (10) รสบ๊วยญี่ปุ่น และ (11) อู่หลง สูตรไม่มีน้ำตาล
2. เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล อิชิตัน ดับเบิ้ลดริ๊งค์ เกิดจากการผสมผสานสมุนไพรไทยและผลไม้ที่มากคุณค่า มีทั้งหมด 4 รสชาติ ได้แก่ (1) ดับเบิ้ลดริ๊งค์ อัญชันและเบอร์รี่ (2) ดับเบิ้ลดริ๊งค์ มัลเบอร์รี่และแอปเปิ้ลแดง (3) ดับเบิ้ลดริ๊งค์ ใบเตยและยอดอ่อนข้าวสาลี และ (4) ดับเบิ้ลดริ๊งค์ กระเจี๊ยบและเชอร์รี่
3. เครื่องดื่มชาดำพร้อมดื่ม อิชิตัน ดราก้อนแบล็คที มีทั้งหมด 3 รสชาติ ได้แก่ รสเลมอน, รสสตรอเบอร์รี่และรสมัลเบอร์รี่
4. เครื่องดื่มชาเขียวผสมสมุนไพรสูตรจับเลี้ยง ภายใต้ชื่อการค้า เย็น เย็น โดย อิชิตัน
5. เครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม สูตรหวานน้อย อิชิตัน ซีเล็คเต็ด มีทั้งหมด 2 รสชาติ ได้แก่(1) รสมัทฉะ และ (2) รสอู่หลง
โดย ปัจจุบัน บริษัทฯมีกำลังสายการผลิตขวดรวม 3 สายการผลิตหรือคิดเป็น 600 ล้านขวด/ปี และกำลังสายการผลิตกล่อง ยูเอชทีรวม 2 สายการผลิต หรือคิดเป็น 200 ล้านกล่อง/ปี
ช่องทางการจำหน่าย บริษัทฯมีการจำหน่ายสินค้าผ่าน 4 ช่องทางหลัก ได้แก่
1. บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด โดยเป็นผู้จัดจำหน่ายรายหลักของบริษัท ฯคิดเป็น 74% ของยอดขายปี 2556 ซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าร้านค้าปลีกสมัยใหม่,ร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกดั้งเดิม
2. บริษัท ไอแอมกรีนที คิดเป็นสัดส่วนที่ 16% ของงวดปี 2556 โดยมุ่งเน้นกลุ่มร้านค้าเครือข่ายซาปั๊ว ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกดั้งเดิม
3. ตัวแทนผู้จัดจำหน่ายสินค้ารายบริษัท บุญรอดเอเชีย จำกัด คิดเป็นสัดส่วน 9% ของงวด 1H56 โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าร้านค้าเครือข่ายยี่ปั๊ว, ร้านค้าปลีกดั้งเดิมและร้านค้าที่อยู่ในเครือข่ายของ บริษัท บุญรอด เอเชีย จำกัด
4. ส่งออกไปประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นหลัก ได้แก่ ลาวกัมพูชา พม่า เป็นต้น
** โครงสร้างรายได้
ปี 2556 บริษัทฯมีรายได้รวมอยู่ที่ 6,531.8 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนรายได้จากการขายมากถึง 6,484.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 99.3% ของรายได้รวมทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มาจากการขายอิชิตัน กรีนที ซึ่งมีการขายให้ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ต่อตลาดค้าปลีกดั้งเดิมอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่วนรายได้อื่นหลักๆ เป็นกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่มีสัดส่วนที่ 0.7% ของรายได้รวมทั้งหมด
** โครงการในอนาคต
ในระยะเวลา 5 ปี บริษัทฯเล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดย ICHI คาดว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเฉลี่ยปีละ 3-4 รสชาติ ทั้งจากการวิจัยพัฒนาของบริษัทฯเองหรือการเข้าซื้อแบรนด์อื่นหากโอการทางธุรกิจเอื้ออำนวย บริษัทฯมีแผนการขยายกำลังการผลิตโดยการขยายโรงงาน (เฟส 2)ที่ตั้งอยู่ ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 400 ล้านขวดต่อปี ทางบริษัทฯคาดจะใช้มูลค่าเงินลงทุนนี้ประมาณ 2,550.0 ล้านบาท โดยได้รับวงเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงินจำนวน 1,800 ล้านบาท และบางส่วนมาจากเงินระดมทุนจากการเข้าซื้อขายครั้งแรกของหลักทรัพย์ ICHI ซึ่งทางบริษัทฯคาดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างอยู่ที่ 2Q56 - 2Q57
** ฐานะทางการเงินของบริษัทฯ
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นจำนวน 6,540.9 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1,335.5 ล้านบาทหรือ 25.7% เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปีก่อนที่มีสินทรัพย์รวมจำนวน5,205.4 ล้านบาท สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก การเพิ่มขึ้นสุทธิของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์จากการลงทุนในเครื่องจักรสายการผลิตขวดและกล่อง เพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีลูกหนี้การค้าและสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของยอดขายและธุรกิจ ด้านหนี้สินรวมมีจำนวน 4,572.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 348.6 ล้านบาทหรือ8.3% เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปีก่อนที่มีหนี้สินรวมจำนวน 4,223.9 ล้านบาท โดยหนี้สินรวมส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและเงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องที่มียอดค้างชำระ เท่ากับ 2,350.9 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท ตามลำดับ
บริษัทฯมีส่วนของเจ้าของจำนวน 1,968.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 894.4 ล้านบาทหรือ 83.3% เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปีก่อนที่มีส่วนของเจ้าของจำนวน 1,073.9 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกำไรสะสมที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลประกอบการสุทธิของบริษัทฯที่เพิ่มสูงขึ้นมากรวมถึง ICHI ยังไม่เคยประกาศจ่ายเงินปันผลอีกด้วย

* 4 ปัจจัยที่ควรระวัง
ปัจจัยความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัท สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ความเสี่ยงเกี่ยวกับการถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มชาเขียว เนื่องจากตอนนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มชาเขียวใหม่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯไม่มีการจ่ายภาษีในส่วนนี้ ดังนั้นถ้าภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเรียกเก็บภาษีส่วนนี้ขึ้นมาจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการชาเขียวทุกราย รวมถึงบริษัทฯด้วย
2. ความเสี่ยงจากการที่แบรนด์ของอิชิตันผูกติดกับคุณตัน เนื่องจากนี้คือกลยุทธ์หนึ่งในการสร้างแบรนด์ของอิชิตัน ที่ได้ผลและสร้างประสิทธิภาพให้บริษัทฯ ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงในกรณีที่คุณตันมิได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯอีกต่อไป
3. ความเสี่ยงจากภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มจำนวนมาก
4. ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอันเกิดจากอุทกภัย เนื่องจากโรงงานของบริษัทฯได้รับผลกระทบมาแล้วครั้งนึงในปี 2554 อย่างไรก็ตามบริษัทฯได้มีการสร้างกำแพงเขื่อนป้องกันน้ำท่วมล้อมรอบสวนอุตสาหกรรมโรจนะแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสามารถป้องกันอุทกภัยได้ในอนาคต

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com