April 20, 2024   12:47:39 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > รื้อแผนแปรรูปตลาดทุน-ดึงรสก.ตั้งIFF
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 16/07/2014 @ 08:19:31
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เตรียมถก คสช. รื้อแผนแปรรูปตลาดทุน ดูความเหมาะสมเรื่องกฏหมาย-ภาษี พร้อมเสนอดึงรัฐวิสาหกิจตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนอย่างเป็นทางการ ส่วนประเด็นภาษี LTF ยังลดหย่อนถึงปี 59 ก่อนหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งว่าจะต่ออายุหรือไม่ ขณะที่ RMF ยังให้สิทธิประโยชน์ภาษีตามเดิม ด้านตลท. มองครึ่งปีหลังเงินทุนนอกจ่อไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอีก เหตุพี/อียังต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ระบุ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 57 ต่างชาติถือครองหุ้นไทยกว่า 4.4 ล้านล้านบาท จากช่วงการเมืองป่วนการถือครองลดลงเหลือ 3.6 ล้านล้านบาท


*** รื้อแผนแปรรูปตลาดทุน
 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(สธท.) เปิดเผยว่า การเข้าหารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วานนี้ ( 15 ก.ค. 2557) ว่า มีกำหนดการเข้าพบกับทีมเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. เพื่อร่วมหารืออย่างเป็นทางการ โดยมีวาระสำคัญที่จะหยิบยกมาหารือ คือ นำแผนแปรรูปตลาดทุนกลับมาพิจารณาอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ที่มีการพับแผนไป เนื่องจากมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
"ผมว่าตลาดทุนยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องปฏิรูปหรือแปรรูป ทั้งด้านกฎหมาย และภาษีต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งก็จะเป็นประเด็นที่เราจะคุยกับคสช.วันนี้ โดยก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดที่จะทำแผนดังกล่าว แต่ก็ล่มไป วันนี้เราอยากหาความชัดเจนอีกครั้งว่าจะมีการจัดทำหรือไม่" นายไพบูลย์ กล่าว


***เล็งดึงรัฐวิสาหกิจตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนั้น จะมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้   
1.แนะนำให้รัฐฯ นำบริษัทรัฐวิสาหกิจ(รสก.)ใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(IFF)เป็นช่องทางในการระดมทุนไปใช้ในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ แทนการกู้เงิน
2.เชิญชวนไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักนักลงทุนต่างชาติโดยมีมีการร่วมกันระหว่าง สภาตลาดทุน กระทรวงการคลัง BOI รวมไปถึงภาคเอกชน โดยเบื้องต้นน่าจะเป็นประเทศใกล้เคียง อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น  
3.ตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนขึ้นมาอย่างเป็นทางการหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อช่วยกันผลักดันตลาดทุนไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยงานดังกล่าวอย่างเป็นทางการ   
4.ผลักดันให้มีการบังคับใช้กองทุนประกันสังคมในบริษัทเอกชน เพื่อเป็นการออมเงินสำหรับการเกษียณ 
5.นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF เพื่อโน้มน้าวให้มีการผลักดันต่อสิทธิประโชยน์ทางภาษีกับกองทุนดังกล่าวที่จะหมดลงในปี 59
"เราอยากให้ภาครัฐใช้ช่องทางการระดมเงินจากตลาดทุนเช่นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อไปลงทุนในโครงการต่างๆ แทนที่จะเป็นการกู้เงิน ซึ่งมันเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะขึ้นไปเรื่อยๆ หรือถ้าไม่ทำก็ออกเป็นนโยบายได้ไหมว่าจะใช้เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งในการระดมเงินทุน เรามองว่ามันเป็นการสร้างวินัยในการลงทุน พรุ่งนี้เราก็จะมีการนัดกับ กรอ.เพื่อหารือเรื่องนี้ด้วย" นายไพบูลย์ กล่าววานนี้

***ลุ้นชงต่ออายุสิทธิประโยชน์ภาษี LTF
 นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า หลังการเข้าหารือกับกรมสรรพากรในช่วงเช้าที่ผ่านมา เกี่ยวกับการต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่จะหมดอายุลงในปี 59 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะต่ออายุหรือไม่ โดยจะใช้เงื่อนไขเดิมไปจนกว่าจะหมดอายุ จากนั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ส่วนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ให้ใช้สิทธิต่างตามเดิม เนื่องจากไม่มีวันหมดอายุ
"ในส่วนของเราเองระหว่างนี้ก็จะนำเสนอข้อมูลว่า LTF มันมีประโยชน์อย่างมากต่อตลาดทุน ช่วยทั้งสนับสนุนการออม ช่วยดึงเงินเข้าตลาดทุน เป็นการต่อยอดไปสู่การออมหรือการลงทุนต่างๆ ในตลาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่การช่วยคนรวยอย่างที่เข้าใจผิดๆ กัน เข้าใจว่าทางสรรพากรเสียรายได้จากตรงนี้ไป แต่ควรมีวิธีการในการแก้ไขเรามองว่าจริงๆ สิทธิประโยชน์อันนี้ไม่ควรกำหนดกรอบเวลา ควรใช้จำนวนนักลงทุนที่เข้ามาในระบบมากกว่า เช่นหากนักลงทุนเข้ามาใช้ 5-10 ล้านคนแล้วค่อยยกเลิกอะไรประมาณนี้ เพราะตอนนี้มีแค่ 7 แสนคนเอง เงินลงทุนเพียง 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าใช้เวลาเป็นตัวกำหนดอาจจะไม่ได้ช่วยพัฒนาการออมการลงทุนจริงๆ ก็ได้ ควรใช้จำนวนนักลงทุนที่เข้ามามากกว่า" ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าว    
อนึ่งกองทุน RMF และ LTF จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้บุคคลต่อ หรือไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี และเงินกำไรที่ได้จากการลงทุนก็ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งความแตกต่างคือ LTF จะเป็นการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ของสินทรัพย์สุทธิ โดยมีระยะเวลาของสิทธิประโยชน์ ส่วน RMF สามารถลงทุนได้หลากหลายแล้วแต่นโยบายของกองทุน และไม่มีวันหมดอายุสิทธิประโยชน์

*** ตลท.เผยหุ้นไทย Q2/57 กลับสู่ปกติ หลังคสช.เข้าคุมสถานการณ์-ประกาศแผนฟื้นเศรษฐกิจ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยใน สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ช่วงครึ่งปีแรก และเดือนมิถุนายน 2557 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 จนดัชนีขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนที่จะมีสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2556 การเข้าควบคุมสถานการณ์โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และมีการประกาศนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างๆ ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้งครั้งใหม่ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงปลายไตรมาส 2 นำโดยกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันภายในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์
 โดยในช่วงครึ่งปีแรก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) ปิดที่ 1,485.75 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 14.40% จากสิ้นปี 2556 และเพิ่มขึ้น 4.95% เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 ขณะเดียวกัน ดัชนีหลักทรัพย์ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2556 โดยกลุ่มธุรกิจการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุด  นอกจากนี้มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 35,603 ล้านบาท โดยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในช่วงไตรมาส 2 อยู่ที่ 40,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.9% จากไตรมาส 1 ซึ่งอยู่ที่ 30,814 ล้านบาท  ในส่วนของเดือนมิถุนายน 2557 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 48,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 17.8% จากเดือนก่อนหน้า แม้จะมีปัจจัยจากความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่ากำหนดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

***สรุปตัวเลขสำคัญงวดครึ่งปี และ ไตรมาส 2
· ณ 30 มิย. 57 market capitalization ของ SET ปรับเพิ่มขึ้นโดยอยู่ที่ 13,358,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.19% จากสิ้นปี 2556 เช่นเดียวกันกับ mai เพิ่มขึ้นเป็น 236,756 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33.49% จากสิ้นปี 2556
· ณ 30 มิย. 57 ค่า forward P/E ของ SET และ mai ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.46 เท่า และ 23.46 เท่า ตามลำดับ  · ณ 30 มิย. 57 อัตราเงินปันผลตอบแทนของ SET ปรับสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 3.11% ในขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนของ mai ลดลงมาอยู่ที่ 1.46%
· ในไตรมาส 2 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 20,476 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 41,189 ล้านบาท 
· ในไตรมาส 2 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีมูลค่าระดมทุนรวม 62,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.51 เท่า จากไตรมาส 1 โดยในตลาดแรกมีมูลค่าระดมทุน 49,039 ล้านบาท จากบริษัทจดทะเบียน 9 บริษัท และ 3 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ตลาดรองมีการระดมทุน 13,614 ล้านบาท ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีมูลค่าระดมทุนรวมทั้งสิ้น 80,501 ล้านบาท ลดลง 53.26% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน 
 ด้านภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในไตรมาส 2 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณสัญญาซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 133,155 สัญญา เพิ่มขึ้น 1.4 เท่าจากไตรมาส 1 และเพิ่มขึ้น 0.7 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures และ single stock futures ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรก มีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันจำนวน 93,834 สัญญา เพิ่มขึ้น 37.96% จาก 68,017 สัญญาในปี 2556
มีการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity futures) ได้แก่ gold futures silver future และ oil futures ในช่วง night session อยู่ที่ 49.33% ของปริมาณการซื้อขายรวม เพิ่มขึ้นจาก 45.74% ในไตรมาส 1 ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกมีปริมาณการซื้อขายในช่วง night session อยู่ที่ 47.5 % ลดลง จาก 51.27% ในปี 2556

***ครึ่งปีหลังเงินนอกจ่อไหลเข้า-P/E ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน
ดร.ปิญาภรณ์ สดศรีวิบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลท. เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2557 นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด และถือว่ากลับมาอยู่ในระดับปกติก่อนเกิดเหตุชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนต.ค. 2556 โดยในช่วงที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองการถือครองนักลงทุนต่างชาติในหุ้นไทยลดลงไปอยู่ที่ระดับ 3.6 ล้านล้านบาท ในเดือนม.ค. 57 ก่อนปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลังพัฒนาการทางการเมืองมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น จากการที่คสช. เข้าควบคุมสถานการณ์และมีการประกาศนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างๆ ออกมา ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง 
ขณะเดียวกันมองว่ากระแสเงินทุนจากต่างชาติยังมีโอกาสเข้ามามาลงในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์เพื่อนบ้าน ตลาดหุ้นไทยยังมีค่า Forward P/E ในระดับต่ำ อยู่ที่ 14.46 เท่า ขณะที่ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 19.11 เท่า มาเลเซียอยู่ที่ 16.90 เท่า อินโดนีเซีย อยู่ที่ 15.56 เท่า อีกทั้งพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกในอนาคต ซึ่งถ้ามองจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะออกมาก็น่าจะเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี
"มีโอกาสที่ Fund Flow จะยังไหลกลับเข้ามาในช่วงที่เหลือของปี เพราะด้านการเมืองดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมีปัจจัยลบที่องติดตาม ก็คือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่มองว่าหากมีเซอร์ไพร์ส ก็คงจะไม่กระทบเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าปัญหาต่าง ๆในประเทศได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จากนี้ไปคงเป็นการฟื้นตัว โดยมองว่าจีดีพีปีนี้น่าจะโตได้ 1.5-2% ตามที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ไว้ ส่วนปัญหาสงครามในซีเรียน่าจะเป็นปัญหาระยะสั้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมมากนัก สังเกตุได้จากก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอิรัก อาฟกานิสถาน รวมไปถึงที่ยูเครนเมื่อเร็ว ๆนี้ "ดร.ปิญาภรณ์ กล่าว



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com