April 26, 2024   12:38:33 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เปิด17ความเสี่ยงธุรกิจกฟผ.
 

Kuririn
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 26
วันที่: 19/10/2005 @ 20:42:22
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

พอดีไปอ่านเจอในหนังสือพิมพ์เลยเอามาฝาก


เปิด17ความเสี่ยงธุรกิจกฟผ. ศึกษาให้ดีก่อนซื้อหุ้น

*ความเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกิจของ บมจ.กฟผ.

-แม้ กฟผ.ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว แต่หน้าที่หลักของ กฟผ.ยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสาธารณูปโภค จึงยังต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้มงวดเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลประโยชน์ของบุคคลต่างๆ จะได้รับการคุ้มครอง จึงมีผลต่อการดำเนินงาน การพัฒนาของ กฟผ. เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทมหาชนรายอื่น กฟผ.จึงถือเป็นบริษัทมหาชนที่มีข้อจำกัดในการดำเนินการต่างๆ

-กฟผ.ต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าในจำนวนที่สูง

จากโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ประกอบด้วยค่าไฟฟ้าฐานและค่าเอฟที ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 มีมติให้ กฟผ.รับภาระค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟทีบางส่วน ส่งผลให้ กฟผ.ต้องรับภาระลูกหนี้ค่าเอฟทีคงค้างที่คาดว่าจะบันทึกเป็นรายได้ในงวดบัญชีก่อนการแปลงสภาพ กฟผ.เป็นบริษัท และส่งผลให้ กฟผ.ไม่สามารถรับรู้รายได้ค่าเอฟทีในรอบ 5 เดือน 23 วัน สิ้นสุด ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2548 เป็นจำนวนประมาณ 21,916.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ในรอบระยะเวลาดังกล่าว กฟผ.ยังได้ตัดหนี้สูญสำหรับลูกหนี้ค่าเอฟทีค้างรับจำนวน 4,794.1 ล้านบาท จึงเป็นสาเหตุหลักให้ กฟผ.มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 8,997.1 ล้านบาทในรอบดังกล่าว นอกจากนี้ ครม.วันที่ 30 สิงหาคม 2548 ยังกำหนดให้ กฟผ.รับรู้รายได้ค่าเอฟทีสำหรับงวดวันที่ 24 มิถุนายน-30 กันยายน 2548 โดยบันทึกรายได้ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บได้จริงในงวดนั้นๆ โดยค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในช่วงดังกล่าวมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นค่อนข้างมาก ดังนั้นไตรมาสสามของปี 2548 กฟผ.อาจมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า กำไรขั้นต้น และกำไรสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และอาจส่งผลให้ กฟผ.ต้องรับรู้ผลขาดทุนสุทธิ และผลดำเนินงานดังกล่าวอาจส่งผลให้ กฟผ.ไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินที่กำหนดในสัญญาทางการเงินของ กฟผ.บางฉบับ และแม้ว่า กฟผ.อยู่ระหว่างขอให้คู่สัญญาที่เกี่ยวข้องยกเว้นการดำรงอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าว แต่ไม่อาจรับรองได้ว่าคู่สัญญาจะดำเนินการตาม กฟผ.ร้องขอ และหาก กฟผ.ต้องตกเป็นผู้ผิดสัญญาที่เกี่ยวกับการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน เหตุผิดสัญญาดังกล่าวจะถือเป็นเหตุผิดสัญญาสำหรับสัญญาทางการเงินอื่นๆ ด้วย (Cross Default) ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ สถานะทางการเงิน และการดำเนินงานและโอกาสของ กฟผ.

-กฟผ.มิได้เป็นผู้กำหนดค่าไฟฟ้าที่จำหน่าย แต่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง และหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดูแลผลประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกิจการไฟฟ้าของประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ กฟผ. เพราะการปรับอัตราค่าไฟฟ้าขึ้นกับรัฐบาล อาจเพิ่ม ลด หรือให้ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคตเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือเหตุผลอื่นๆ กฟผ.จึงไม่อาจรับรองได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ

-ครม.มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 โดยให้นำระบบผู้ซื้อรายเดียว (Enhanced Single Buyer) มาปรับใช้ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ทำหน้าที่ดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าของประเทศและกำกับดูแลระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. (Transmission System) ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อเสนอหลายฉบับซึ่งรวมถึงข้อเสนอของ ครม.ในการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าถูกยกเลิกหรือถูกแก้ไขอย่างมีนัยสำคัญก่อนมีผลบังคับใช้ กฟผ.จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าโครงสร้างกิจการไฟฟ้าตามกำหนดในมติ ครม.เมื่อเดือนธันวาคมดังกล่าวจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับระยะเวลาหรือรายละเอียดของโครงสร้างกิจการไฟฟ้าใหม่อาจส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ

-กฟผ.คาดว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะ ครม.เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 มีมติอนุมัติให้ กฟผ.มีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ช่วงปี 2554-2558 ดังนั้นหลังปี 2558 กฟผ.อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหม่

-กฟผ.เผชิญกับความเสี่ยงบางประการจากภาระตามสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาวที่กลุ่มบริษัท กฟผ.ได้ทำสัญญา ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 จำนวน 56 ฉบับกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ที่ต้องชำระค่าความพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า (Availability Payment) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment) โดยกลุ่มบริษัท กฟผ.ได้ชำระเงินค่าซื้อไฟฟ้าภายใต้สัญญาดังกล่าวเป็นเงิน 89,105.4 ล้านบาท และ 44,111.2 หรือเท่ากับร้อยละ 38.7 และร้อยละ 34.4 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท กฟผ.ในรอบบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 และรอบ 5 เดือน 23 วัน สิ้นสุดวันที่ 23 มิถุนายน 2548 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2548 กฟผ.มีหน้าที่ชำระค่าความพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้าภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวไม่ปรากฏในงบดุลของ กฟผ. จำนวนประมาณ 865,629 ล้านบาท ในช่วง 29 ปีข้างหน้า และแม้ว่าค่าเอฟทีจะทำให้ค่าไฟฟ้ามีอัตราสูงขึ้นในจำนวนที่เพียงพอกับค่าไฟฟ้าภายใต้สัญญาดังกล่าว แต่ กฟผ.ไม่สามารถรับรองได้ว่าจะได้รับอนุมัติให้เพิ่มค่าเอฟทีในจำนวนเท่ากับจำนวนค่าไฟฟ้าภายใต้สัญญาดังกล่าว และไม่สามารถรับรองได้ว่าภายใต้โครงสร้างของอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคต กฟผ.จะมีสิทธิในการปรับอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับค่าความพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า หรือค่าพลังงานไฟฟ้า ภายใต้สัญญาดังกล่าว

-การพึ่งพาผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงรายเดียวในการส่งก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.ต้องซื้อก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดจาก บมจ.ปตท. เพราะเป็นผู้จัดซื้อก๊าซธรรมชาติจากผู้รับสัมปทานและทำหน้าที่ขนส่งก๊าซในประเทศแต่ผู้เดียว ซึ่งในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา กฟผ.ไม่ได้รับมอบก๊าซในปริมาณที่ต้องการ ทำให้ กฟผ.ต้องใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นในการผลิตไฟฟ้าซึ่งมักจะมีราคาแพงกว่า และแม้ว่า กฟผ.สามารถปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามค่าเอฟที แต่ไม่อาจรับรองได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอนุมัติให้ปรับเพิ่มค่าเอฟที

-กฟผ.มีภาระตามสัญญาแม่บทโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหม่ (Master IPP Program Gas Sales Agreement) และสัญญาแม่บทโรงไฟฟ้าราชบุรี (Ratchburi Master Gas Sales Agreement) ในเงื่อนไขแบบ Take-or-Pay ทำให้ กฟผ.มีความเสี่ยงบางประการ ได้แก่ ต้องชำระเงินให้ ปตท.สำหรับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ไม่สามารถรับจาก ปตท.ตามกำหนดในสัญญา และต้องชำระค่าก๊าซให้แก่ ปตท. สำหรับปริมาณก๊าซที่ บจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีไม่สามารถรับจาก ปตท. ตามสัญญาแม่บททั้งสองฉบับ อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน กฟผ.ยังไม่เคยถูกเรียกร้องให้ชำระค่าก๊าซดังกล่าว

-กฟผ.มีหน้าที่รับผิดชอบในการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยจำหน่ายไฟฟ้าเกือบทั้งหมดให้แก่ผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าสองราย คือ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ทั้งนี้รัฐบาลกำหนดนโยบายในการแปลงสภาพและการแปรรูปของ กฟน.และ กฟภ. หาก กฟผ.ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าจาก กฟน.และ กฟภ.ทั้งจำนวนในเวลาที่กำหนดอาจส่งผลในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ

-การดำเนินธุรกิจของ กฟผ.ยังอาจได้รับผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญจากปัจจัยหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นปกติสำหรับบริษัทที่ประกอบกิจการไฟฟ้าของประเทศด้วย

-รายได้และการเพิ่มขึ้นของรายได้ กฟผ.ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ซึ่งไม่สามารถรับรองได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นไปตามการประมาณการ

-ความสามารถในการขยายกิจการของ กฟผ.ยังมีความเสี่ยงและไม่แน่นอนหลายประการ

-การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตอาจทำให้ กฟผ.มีต้นทุนสูงขึ้น

-การคัดค้านจากสาธารณชนต่อ กฟผ. อาจทำให้การดำเนินงานและการพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ.หยุดชะงัก

-โรงไฟฟ้าของ กฟผ.อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นจากภัยร้ายแรงทางธรรมชาติ ภัยจากการก่อการร้าย

-ความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยของ กฟผ.อาจไม่ครอบคลุมความเสี่ยงจากการสูญเสียได้ทั้งหมด

-การลดลงของค่าเงินบาทอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อจำนวนหนี้ ต้นทุนการชำระหนี้ ต้นทุนในการซื้อไฟฟ้า ต้นทุนในรายจ่ายลงทุน สถานะทางการเงิน และผลการดำเนินงาน กฟผ.

ที่มา มติชน

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com