April 19, 2024   10:31:14 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > หุ้นไทยห่างไกลฟองสบู่
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 24/09/2014 @ 08:20:10
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โบรกเกอร์-ตลาดหลักทรัพย์ฯประสานเสียง หุ้นไทยยังไม่ถึงขั้นภาวะฟองสบู่ เหตุฐานะการเงินบจ.แข็งแกร่ง มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีรองรับ ขณะที่ยอดกู้เงินมาซื้อหุ้นอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับในอดีต แต่เตือนหุ้นไทยเริ่มแพงแล้ว หลังพี/อีตลาดพุ่งแตะ 16-18 เท่า ดัชนีมีโอกาสปรับฐานในเดือน ต.ค.นี้ หลังแตะ 1,600 จุด แนะใช้ความระมัดระวังลงทุน หลีกเลี่ยงหุ้นเก็งกำไรขนาดเล็ก ถือหุ้นไม่เกิน 50% ของพอร์ต ด้านเอเซียพลัส แนะขายหุ้นที่ราคาเกิน Fair Value สลับซื้อหุ้นที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 10-20%

ผู้สื่อข่าวรายงาน ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดวานนี้ที่ 1,590.13 จุด เพิ่มขึ้น 0.62 จุด หรือ 0.04% มูลค่าการซื้อขาย 47,147.09 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลสถิติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบัน (อ้างอิงข้อมูลวันที่ 22 ก.ย.2557) มีระดับ P/E ที่ 18.43 เท่า โดยนับว่าสูงที่สุดในระยะราว 5 ปีนับแต่ ปี 2552 ที่เคยสูงถึงระดับ 25.56 เท่า
อย่างไรก็ตามในมุมองของผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนต่างให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ระดับ P/E ปัจจุบันสอดคล้องกับภูมิภาคและยังไม่เข้าขั้นอันตรายเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้หลังจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยออกมาแล้ว

* ผู้จัดการ ตลท. มั่นใจดัชนีระดับใกล้ 1600 จุด ไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับภูมิภาค
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า โอกาสการเกิดภาวะฟองสบู่กับตลาดหุ้นไทยเป็นไปได้ยาก แม้ดัชนีจะปรับตัวขึ้นไปใกล้เคียงระดับ 1600 จุด จนทำให้ P/E ในวันนี้ขึ้นไปถึงระดับ 18 เท่า แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ประกอบกับหุ้นไทยยังมีพื้นฐานรองรับ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีแนวโน้มเติบโต และฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง 
"บจ.ไทยถือว่ามีความแข็งแกร่ง มีพื้นฐานและฐานะการเงินที่ดี มีโอกาสเติบโตได้อีกในระยะยาว ส่วนเรื่องการเกิดฟองสบู่คงเป็นไปได้ยาก แม้ดัชนีฯ จะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีพื้นฐานรองรับ รวมถึง P/E ที่แม้จะอยู่ในระดับสูงแต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับภูมิภาค" นางเกศรา ระบุ 
 ทั้งนี้ยอมรับว่าอาจมีฟองสบู่ในหุ้นขนาดเล็กที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บางบริษัทราคาหุ้นปรับขึ้นจนเกินพื้นฐาน ซึ่ง ตลท.ก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และให้รายงานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนักลงทุนควรใช้วิจารณญานให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

* บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ยันมาร์จิ้นโลน อยู่ระดับต่ำ
นายมนตรี ศรีไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET เปิดเผยว่า ความเสี่ยงของการเกิดฟองสบู่กับตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันถือว่ามีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากสัดส่วนการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น โลน) อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคปของตลาด โดยปัจจุบันมีวงเงินมาร์จิ้นโลนในระบบเพียง 50,000-55,000 ล้านบาท เทียบกับมาร์เก็ตแคปของตลาดที่อยู่ประมาณ 14 ล้านล้านบาท ขณะที่ในช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งมีมาร์จิ้นโลนอยู่ในระบบ 120,000 ล้านบาท ขณะที่มาร์เก็ตแคปอยู่ที่เพียง 3.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น  
"เรื่องฟองสบู่ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะมาร์จิ้น โลน ต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงต้มยำกุ้ง ซึ่งการที่มาร์จิ้นโลนต่ำก็ทำให้ความเสี่ยงที่จะถูกฟอร์ซเซลและกดราคาหุ้นให้ร่วงหนักๆ จะเกิดขึ้นน้อยลง ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็อยู่ในระดับที่ดีรองรับกับพื้นฐานที่ควรจะเป็น อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก" นายมนตรี กล่าว

*บล.เออีซี มองตลาดเสี่ยงปรับฐานเร็วๆนี้
นายจักกริช เจริญเมธาชัย กรรมการผู้จัดการ บล.เออีซี (AEC) เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า ดัชนีหุ้นไทยในระดับใกล้ 1,600 จุด ซื้อขายบน P/E ที่ 18 เท่า ถือว่าแพงเกินไป ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ซึ่งข่าวดีเกี่ยวกับเรื่องการเมืองนั้นรับรู้ไปพอสมควรแล้ว ดังนั้นมองว่าตลาดมีความเสี่ยงที่จะพักฐานในเร็วๆ นี้ แนะนำขายทำกำไร  
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังไม่ถือว่าเกิดฟองสบู่ เนื่องจากยังมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจรองรับ พร้อมกันนี้มองว่าหุ้นเก็งกำไรขนาดกลาง-เล็ก ที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรงก่อนหน้านี้ อาจจะเสี่ยงถูกขายทำกำไรหนักๆ ได้ หลังจากที่ ตลาดหลักทรัพย์เตรียมหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อมาสกัดความร้อนแรง ดังนั้นนักลงทุนควรระมัดระวังในการลงทุน และหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มดังกล่าว

* บล.กสิกร คาดดัชนีฯทะลุ 1600 จุดได้ในต้น ต.ค. ก่อนปรับฐาน
นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า ดัชนีหุ้นไทยในระดับใกล้ 1,600 จุด โดยซื้อขายบน P/E 16-18 เท่า ยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ เนื่องจากหุ้นไทยยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีรองรับไว้อยู่ ประกอบกับดัชนีหุ้นไทยเติบโตคู่ไปกับกำไรของบริษัทจดทะเบียน จึงมั่นใจว่าไม่ปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน
"มองว่าภาวะฟองสบู่ไม่เกิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มการเติบโต แม้ P/E 16-18 เท่า อาจจะแพงไป แต่ก็ไม่แพงขนาดเกิดฟองสบู่ ซึ่งระดับนั้นต้อง P/E เกิน 20-30 เท่า ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นไทยยังเติบโตล้อไปกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนอยู่" นายกวี กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสแตะ 1,600 จุดในต้นเดือน ต.ค. จากปัจจัยสนับสนุนในประเทศเป็นหลัก เช่น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และล่าสุดมีข่าวที่จะมีการเร่งลงทุนหลายแสนล้านในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 ยิ่งกระตุ้นการลงทุนในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง  
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าดัชนีฯ มีโอกาสที่จะปรับฐานได้ในช่วงปลายเดือน ต.ค.ถึงต้น พ.ย. หลังจากปรับเพิ่มขึ้นทะลุ 1,600 จุด
ด้านกลยุทธ์ในการลงทุน ให้นักลงทุนระยะกลางถึงระยะยาว ลงทุน 50% ของพอร์ต และถือเงินสด 50% เพื่อรอซื้อหุ้นในช่วงดัชนีฯปรับฐาน ส่วนนักลงทุนระยะสั้นให้เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มที่มีสตอรี่ เช่น ADVANC ที่เรื่องของ 3G และ 4G และหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล รวมถึงหุ้นในกลุ่มธนาคาร โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 1,575 จุด และแนวต้าน 1,594 จุด ซึ่งหากสามารถยืนเหนือแนวต้านนี้มีโอกาสแตะ 1,600 ได้

*บล.ฟิลลิป หวั่น Trigger Fund กดดันตลาด
บล.ฟิลลิป ประเมินถึงการเคลื่อนไหวดัชนี SETว่า กำลังพยายามดีดตัว ขณะยังคงเผชิญหน้ากับแรงขายตลอดทางแถวๆใกล้ 1600 มองค่า PE’57 ที่สูงกว่า 16x ยังคงกดดันตลาดต่อไปทั้งนี้คาดว่าแถวระดับ 1600 ยังมีแรงขายปิดกอง Trigger Fund ของกองทุนรออยู่อีกราวหนึ่งพันล้านบาท กลยุทธ์แนะนำระยะสั้นขึ้นขาย-ลงซื้อ โดยเน้นหุ้นรายตัวมากขึ้น

* บล. เอเชีย พลัส ชวนเข้าหุ้นที่ต่ำกว่า Fair Value/Laggards เพื่อหลบ SET ผันผวน
บล. เอเชีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำว่า ให้นักลงทุนปรับลดพอร์ตขายหุ้น และถือเงินสดส่วนใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมาว่า SETIndex ให้ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันสูงถึง 22% พบว่ามีกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนชนะตลาดมาก ๆ คือ โรงพยาบาล(57.3%), รับเหมาฯ (47.8%), โรงแรม (37.8%), ธ.พ. (37.8%), อสังหาฯ (35.2%), ขนส่ง (32.3%), หลักทรัพย์ (30.9%), ชิ้นส่วนฯ(29.5%) ตรงกันข้ามกับหุ้นที่ขึ้นน้อยกว่าตลาด คือ ปิโตรฯ (-7.5%), สื่อ-บันเทิง (4.3%), พลังงาน (13.4%), ไอซีที (14.6%), ส่งออกอาหาร (14.8%), ค้าปลีก (16.5%)
ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ทยอยขายทำกำไรหุ้นที่เกิน Fair Value ปี 2557 เช่น EA, BMCL, ANAN,TPIPL, VNG, HEMRAJ, SAWAD เป็นต้น และ ให้ switch มาลงทุนในหุ้นที่มี upside เกิน 15-20% สำหรับ Fair Value ในปี 2557และยังเป็นหุ้นขึ้นช้า (laggard) รายละเอียดดังภาพที่ปรากฏด้านล่าง โดยหุ้นเด่นที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้ PER ต่ำ + Div. Yield สูงคือ RS (FV@B 10), BTS (FV@B 12), STPI (FV@B 28.46)

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com