April 23, 2024   11:10:47 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ไอพีโอลุยไฟ!ตบเท้าขายหุ้นคึกคัก
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 15/12/2014 @ 08:22:47
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ไอพีโอไม่หวั่นตลาดหุ้นไทยขาลง เดินหน้าเปิดขายหุ้นเพียบ ไม่กลัวราคาหลุดจองในวันแรกที่เข้าเทรด มั่นใจนักลงทุนตอบรับท่วมท้น นำโดย TPCH เคาะราคา IPO ที่ 12.75 บาท พร้อมเข้าเทรด mai 8 ม.ค.58 วางเป้า 5 ปี มีโรงไฟฟ้าชีวมวลราว 150 เมกกะวัตต์ ด้าน KCM เคาะราคา IPO ที่ 1.30 บาท เปิดจอง 15-17 ธ.ค. เข้าเทรด mai 23 ธ.ค. นี้ ระบุพื้นฐานบริษัทสุดแกร่ง ขณะที่ GPSC หวังได้เงินระดมทุนจากขายหุ้น IPO ราว 6-8 พันลบ.จ่อเข้าเทรด ไตรมาสแรกปีหน้า

*TPCH เคาะราคา IPO ที่ 12.75 บาท พร้อมเข้าเทรด mai 8 ม.ค.58
??นางสาวอนงค์ ยุวะหงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า การตั้งราคา IPO ของ TPCH ที่ 12.75 บาท คำนวณจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น P/E) จากผลประกอบการ 12 เดือนย้อนหลัง ซึ่งอยู่ที่ 159 เท่า ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆได้ เนื่องจาก TPCH เป็นบริษัทแรกที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai และยังเป็นการเข้าด้วยเกณฑ์ Renewable Energy หรือ เกณฑ์สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ที่มีการเปิดดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นบริษัทแรกอีกด้วย
ทั้งนี้ TPCH เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 89,450,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็น 22.36% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ ในราคาเสนอขาย 12.75 บาทต่อหุ้น สะท้อนพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่ง ประกอบธุรกิจที่มีความมั่นคง มีแผนงานในอนาคตที่ชัดเจน และมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและในอาเซียน
สำหรับหุ้นไอพีโอจำนวนไม่เกิน 50,390,435 หุ้น จะเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) (Pre-emptive right) ในอัตราส่วน 10 หุ้นเดิมของ TPOLY ต่อ 1 หุ้นของ TPCH ในระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม 2557 และอีกจำนวน 39,059,565 หุ้น จะเสนอขายต่อประชาชนในระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 และคาดว่า TPCH จะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ในวันที่ 8 มกราคม 2558 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า TPCH
ส่วนการเสนอขายหุ้นไอพีโอของ TPCH ในครั้งนี้ มีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คือบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)

*TPCH ไม่หวั่นภาวะตลาดขาลง มั่นใจธุรกิจแกร่ง-เติบโตดี
ด้าน นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ TPCH กล่าวว่า มีความมั่นใจในการขายหุ้น IPO และการเข้าเทรดในช่วงต้นปีหน้า แม้ว่าภาวะตลาดหุ้นในช่วงนี้จะปรับตัวลดลง เนื่องจากบริษัทฯมีพื้นฐานที่ดี และมีแนวโน้มการเติบโตที่มั่นคงในอนาคต โดยมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้ว 100 เมกะวัตต์ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
"แม้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง แต่เราไม่ได้ทบทวนในเรื่องราคาขาย IPO เพราะเป็นราคาที่มั่นใจว่าสอดคล้องกับพื้นฐาน ซึ่ง TPCH มีสัญญารับซื้อไฟที่แน่นอน ทำให้มีความมั่นใจว่ารายได้และกำไรจะเป็นไปตามแผนงานของเรา"นายเชิดศักดิ์ กล่าว
นายเชิดศักดิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จ่ายไฟได้แล้วเพียงแห่งเดียวคือ โรงไฟฟ้าช้างแรกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้ประมาณ 10 เมกะวัตต์ โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 30%
ส่วนในปีหน้าคาดว่ากำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเพิ่มเป็น 60 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า 6 โรง ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าช้างแรก นครศรีธรรมราช 2.ทุ่งสงกรีน นครศรีธรรมราช 3.โรงไฟฟ้าที่นครสวรรค์ 4.โรงไฟฟ้าที่มหาชัย 5.โรงไฟฟ้าที่สตูล และ 6.โรงไฟฟ้าที่พัทลุง โดยแต่ละโรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณกว่า 9 เมกะวัตต์ ??ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนการซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนประมาณกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 2,300 เมกะวัตต์ ยังเหลืออีก 2,500 เมกะวัตต์ บริษัทฯจึงมองเห็นช่องทางที่น่าจะขยายธุรกิจได้ในอนาคต

*วางเป้า 5 ปี มีโรงไฟฟ้าชีวมวล 150 เมกะวัตต์
นายเชิดศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า การระดมทุนในครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่อนาคตที่แข็งแกร่ง เพื่อการพัฒนาและเจริญเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายธุรกิจ รวมไปถึงการก่อสร้างเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าบริษัทได้ให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า โดยการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนและส่งเสริมให้เค้าเหล่านั้นมีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน
ขณะเดียวกันบริษัทมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โดยภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (ภายในปี 2560) เป้าหมายบริษัทประกอบด้วย 1.มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 100 เมกกะวัตต์ 2.มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 80 เมกกะวัตต์ ส่วนเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาว 5 ปี (ภายในปี 2562) ประกอบด้วย 1.มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 150 เมกกะวัตต์ และ 2.เข้าซื้อกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาบริษัทได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้นนักลงทุนจึงสามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
นายเชิดศักดิ์ กล่าวเสริมว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเพราะให้ผลตอบแทนดีและแน่นอน เนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะเดียวกัน TPCH ยังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ด้วยเกณฑ์ Renewable รายแรกและเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลรายแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไออีกด้วย

* KCM เคาะราคา 1.30 บ.เปิดจอง 15-17 ธ.ค. เข้าเทรด mai 23 ธ.ค.นี้
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทโปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท เค.ซี.เมททอลชีท จำกัด (มหาชน) (KCM) ผู้ผลิตและจำหน่ายหลังคาเหล็กเมททอลชีท ภายใต้แบรนด์ "รถถัง" เจ้าตลาดในวงการหลังคาเหล็กและวัสดุก่อสร้างงานหลังคาและผนังเหล็กในภาคอีสานและภาคเหนือ เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.25 บาท ในราคาหุ้นละ 1.30 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน โดยจะเปิดจองซื้อหุ้นไอพีโอระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2557 และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2557 ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ คือ "KCM"
ทั้งนี้ KCM ได้แต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒสิน จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รวมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย??"การกำหนดราคาขายไอพีโอที่ 1.3 บาท/หุ้น ถือว่ามีความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ผมมั่นใจว่า KCM จะเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนส่งท้ายปีนี้ ก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่"นายสมภพ กล่าวในที่สุด??
นายนิมิตร วงศ์จริยกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ในฐานะแกนนำผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน กล่าวว่า มั่นใจว่าหุ้น KCM จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม เพราะในระหว่างการโรดโชว์เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุน 10 จังหวัดทั่วประเทศ และการโรดโชว์ตามห้องค้า นักลงทุนต่างมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งและสนใจเข้าลงทุนเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าหลังเข้าเทรด KCM จะเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจให้กับนักลงทุน
??นายนิพนธ์ เจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ซี.เมททอลชีท จำกัด (มหาชน) (KCM) กล่าวว่า เตรียมนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินลงทุนเพื่อขยาย 3 สาขา คือ ภูเก็ต แพร่ และลำปาง โดยลงทุนก่อสร้างตกแต่งและเครื่องจักร บนที่ดินที่บริษัทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้ว และในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2558-2560) เตรียมใช้เงินลงทุนเพื่อขยายสำนักงานขายขนาดเล็ก 92 แห่ง ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก ขณะเดียวกันยังเตรียมนำเงินที่ได้ใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจอาคารสำเร็จรูปให้เช่าจำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่สาขา 3 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น 2 แห่ง จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดละ 1 แห่ง อีกทั้งใช้เป็นเงินลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตแปเหล็กกล้ากำลังสูงจำนวน 4 เครื่อง และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ??สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลังของบริษัท (2554-2556) มีรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นจาก 718.15 ล้านบาท เป็น 806.78 ล้านบาท และ 821.86 ล้านบาทตามลำดับ มีกำไรสุทธิต่อเนื่องทุกปีมาโดยตลอด (2554-2556) บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 58.18 ล้านบาท 46.91 ล้านบาท และ 42.07 ล้านบาทตามลำดับ และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 มีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 401.53 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 10.77 ล้านบาท ??
ทั้งนี้ KCM มีสาขาอยู่ 22 แห่ง กระจายในภาคอีสานและภาคเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี สกลนคร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระบุรี พิษณุโลก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งในจังหวัดขอนแก่นก็มีถึง 4 สาขาแล้ว ล่าสุดได้ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อจะทำการเปิดโรงงานแห่งใหม่ มีที่ภูเก็ต ลำปาง แพร่ และเชียงใหม่ โดยที่เชียงใหม่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและดำเนินการคาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้??ปัจจุบัน KCM มีทุนจดทะเบียน 170.00 ล้านบาท มีทุนชำระแล้วเต็มมูลค่าเท่ากับ 120.00 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 480.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท สำหรับทุนจดทะเบียนส่วนที่เหลือจำนวน 50.00 ล้านบาท บริษัทออกไว้เพื่อรองรับการเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 200.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท

* GPSC หวังได้เงินระดมทุนจาก IPO ประมาณ 6-8 พันลบ.พร้อมเข้าเทรดไตรมาสแรกปีหน้า
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน)หรือ PTT ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ GPSC อยู่ระหว่างเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ภายในเดือน ม.ค.58 โดยบริษัทมีความพร้อมกระจายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO )ในเดือน ก.พ.58 หรือไตรมาส 1/58 แต่จะดำเนินการได้เมื่อใดขึ้นกับคณะกรรมการบริษัทและจังหวะที่เหมาะสมของตลาดหลักทรัพย์
บริษัทคาดว่าจะระดมทุนจากการเสนอขาย IPO จำนวน 6-8 พันล้านบาท เพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอีก 1 พันเมกะวัตต์ที่เป็นโครงการมีความเป็นไปได้ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1.8 พันเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทจะลงทุนโรงไฟฟ้า SPP ในประเทศที่มีโรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ เน้นกลุ่ม CLMV
นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยกำหนดนโยบายให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประมาณ 20% ของกำลังการผลิตรวม ทั้งนี้ GPSC เป็นธุรกิจที่จะกระจายการใช้เชื้อเพลิงต่างๆได้หลายชนิด โดยกลุ่ม ปตท.ก็มีเหมืองถ่านหินกำลังการผลิต 10 ล้านตัน/ปี โดยบริษัทได้จับมือกับการไฟฟ้าอินเตอร์เนชั่นแนลเข้าดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองมะริดในพม่า กำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันกลุ่ม บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) ได้ยื่นข้อเสนอเช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปจากทางการพม่าในช่วงปลายปี 58
ปัจจุบัน GPSC มีสินทรัพย์รวม 4 หมื่นล้านบาท ถือหุ้นโดย บมจ.ปตท. (PTT) สัดส่วน 30.10% บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) สัดส่วน 30.31% บมจ.ไทยออยล์ (TOP) สัดส่วน 11.8% และ บริษัท ไทยออยล์ พาวเวอร์ ถือ 27.71%

* ผู้จัดการ ตลท. คาดมาร์เก็ตแค็ปไอพีโอปีหน้าสูงถึง 2.50 แสนลบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2557 นางเกศรา มัญชุลี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ระบุถึงกรณีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรง ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันลดลง รวมถึงผลประกอบการที่เริ่มดีขึ้น ยอมรับว่าแม้นักลงทุนจะคาดการณ์ในอนาคตเพื่อดูผลประกอบการ 6 เดือนข้างหน้า ทำให้ดัชนีปรับลดลงมาทดสอบที่ 1,600 จุด แต่หากดูผลประกอบการปัจจุบันนับว่าดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2558 คาดว่าจะมีหุ้นไอพีโอเข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.สูงกว่าปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 250,000 ล้านบาท จึงเตือนนักลงทุนอย่าตื่นตระหนกข่าวลือในช่วงสั้น

*โบรกฯ คาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้ารีบาวน์ ให้แนวรับที่ 1,508 จุด แนวต้าน 1,530 จุด
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่าแนวโน้มของดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะรีบาวน์ หลังจากที่ตลอดสัปดาห์ดัชนีฯร่วงลงแรงกว่า 70 จุด ด้วยแรงกดดันจากราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลง ซึ่งราคาหุ้นกลุ่มพลังงานได้สะท้อนการปรับตัวลดลงมาพอสมควรแล้วจากปัจจัยนี้ โดยราคาหุ้นทั้งกลุ่มปรับตัวลดลง 5% ฉุดให้ดัชนีฯร่วงลงแรง 10% ด้วยกัน ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่าการที่ราคาน้ำมันดิบโลกหลุด 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล กรอบการปรับตัวลดลงน่าจะจำกัดขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาราคาร่วงมามากแล้ว จะส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานภายในประเทศค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง แต่คงไม่กระทบการรีบาวน์ของดัชนีฯในสัปดาห์หน้าได้ เพราะมีปัจจัยที่รอสนับสนุนทั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 17 ธ.ค. และการประชุมะนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 16-17 ธ.ค. ทั้งนี้ ให้นักลงทุนขายหุ้นที่มีค่า P/E สูงมากแต่ไม่มีปัจจัยสนับสนุน แล้วเลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลเข้าพอร์ต
กลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้ซื้อหุ้นพื้นฐานดี โดยประเมินแนวรับที่ 1,508 จุด และแนวต้านที่ 1,530 จุด

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com