April 25, 2024   10:50:20 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ลุ้นดัชนีทะลุ1600จุด-เงินไหลเข้า4หมื่นลบ.
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 26/01/2015 @ 08:26:30
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โบรกฯ คาดสัปดาห์นี้ SET บวกในกรอบแคบ หลังรับปัจจัยบวกไปมากแล้ว สั่งเกาะติดการเมืองมากขึ้น พร้อม 4 ปัจจัยสำคัญ ทั้งเลือกตั้งกรีซ- ประชุม เฟด/กนง.-ตัวเลขส่งออก ธ.ค.57 และการจ้างงานสหรัฐ ด้าน"ทรีนีตี้" มองทุนนอกไหลเข้า หลัง ECB ใช้ QE คาดดันดัชนีขึ้นสู่ 1600-1650 จุด ภายใน Q1/58 ชู หุ้นแบงก์ รับอานิสงส์ ด้าน TMB Analytics คาดเงินไหลเข้าไทย 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

* โบรกฯ คาดสัปดาห์นี้ SET บวกในกรอบแคบ หลังรับข่าวดีไปแล้ว
นางสางธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยขานรับธนาคารกลางยุโรปออกมาตราการ QE เพิ่มเติมสูงกว่าคาดที่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน จากที่คาดการณ์ไว้ 5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนโดยจะเริ่มเข้าซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้เอกชน ในเดือนมี.ค.ปีนี้ไปจนถึงเดือน ก.ย.ปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น และหุ้นไทยก็ตอบรับไปพอสมควรแล้ว ส่วนกระแสเงินทุนที่จะไหลเข้ามา ในเชิงเปรียบเทียบเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียน่าจะน้อยกว่าสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างสดใส ดังนั้น หากนักลงทุนที่จะเข้ามาเก็งกำไรช่วงนี้ มองว่าจะเป็นการไล่ราคาที่มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมาก ด้วย Upside ที่จำกัดมากขึ้น
ขณะที่สัปดาห์นี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประชุมรอบใหม่ ติดตามเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมรอบถัดไป วันที่ 28 ม.ค. คาดว่ากนง. ยังไม่น่าจะรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะการปรับลดฮัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นตัวเร่งให้หนี้ครัวเรือนให้ปรับตัวสูงขึ้นไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสนช. มีมติด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 ถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมีแรงกังวลว่าจะเป็นตัวจุดชนวนความร้อนแรงรอบใหม่การเมืองไทย เนื่องจากมีกระแสบางส่วนที่ไม่พอใจการปฏิวัติครั้งนี้ ภายใต้กฎอัยการศึก ดังนั้น จึงต้องให้น้ำหนักปัจจัยการเมืองมากขึ้น ตลอดจนการยกเลิกกฎอัยการศึกก็อาจจะยากกว่าเดิม
สำหรับสัปดาห์นี้ คาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในกรอบที่จำกัดมากขึ้น เนื่องจากดัชนีฯ ได้ตอบรับปัจจัยบวกต่าง ๆ ไปพอสมควร อีกทั้งยังต้องติดตามผลการเลือกตั้งกรีซ วันที่ 25 ม.ค. นี้ ซึ่งหากฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกยกเลิกช่วยเหลือหากกรีซยกเลิกมาตราการรัดเข็มขัด รวมถึงการเมืองไทยที่อาจจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่จะประกาศออกมา น่าจะเป็นกลางต่อบรรยากาศการลงุทน รวมถึงค่า PE ที่สูงขึ้นถึง 18 เท่า สะท้อนว่าหุ้นไทยค่อนข้างแพงแล้ว
กลยุทธ์ แนะทยอยขายทำกำไรบางส่วน เพื่อรอเข้าซื้อใหม่จังหวะที่ดัชนีฯ ย่อตัว โดยประเมินแนวรับ 1,550 จุด แนวต้าน 1,620 จุด

* แนะเกาะติด 4 ปัจจัยสำคัญมีผลต่อตลาด
บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์นี้ เราให้น้ำหนักกับการประชุมเฟดในวันที่ 28 ม.ค. แน่นอนว่าเฟดจะยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน แต่ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ บวกกับ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น อาจกลายเป็นจุดที่ทำให้ เฟด ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานมากขึ้นหรือไม่ เป็นประเด็นที่มีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก และเม็ดเงินทุนต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธ.ค.ของไทยถือเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญต่อการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยโดยรวม และโมเมนตัมที่จะส่งต่อมายัง 1Q58 จะมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานการลงทุนที่สำคัญ
สำหรับ ปัจจัยสำคัญสัปดาห์นี้ 1. ติดตามผลการเลือกตั้งทั่วไปในกรีซ วันที่ 25 ม.ค. ซึ่งจะมีผลต่อสถานะการเป็นสมาชิกในกลุ่มอียู และแนวทางการปฎิรูปเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำไปสู่การชำระหนี้ 2. ติดตามการประชุม FED / กนง. วันที่ 28 ม.ค. 3 .ติดตามตัวเลขการส่งออก – นำเข้า และจำนวนนักท่องเที่ยว เดือนธ.ค. ของไทย และ 4.ติดตามภาวะการจ้างงานของสหรัฐฯ

* ลุ้น กนง.ลด ดบ. หนุนดัชนีฯขึ้นแตะ 1600 จุด
นายเอกภาวิน สุนทราภิชาติ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สัปดาห์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)โดยคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตามหากทาง กนง.มีเซอร์ไพรส์ตลาดฯด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่หนุนให้ดัชนีฯ ขึ้นทดสอบระดับ 1,600 จุดได้ อีกทั้งติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ซึ่งมองว่าทาง FED เองยังไม่น่าจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำ ถือต่อเพื่อรอขายบริเวณแนวต้านที่ 1,600-1,650 จุดและเข้าซื้อช่วงดัชนีฯอ่อนตัวที่แนวรับ 1,550-1,560 จุด

* ทุนนอกไหลเข้า หลัง ECB ใช้ QE คาดดัชนีแตะ 1600-1650 จุด ภายใน Q1/58
บทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ECB ตัดสินใจประกาศการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนจำนวนเดือนละ 60,000 ล้านยูโร โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ไปจนกระทั่งถึงเดือนกันยายนปี 2016 รวมทั้งมีการเปิดช่องว่าอาจมีการเข้าซื้อพันธบัตรต่อหากเงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ที่ 2% ถือเป็นข่าวบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก เนื่องจากมาตรการ QE ที่ออกมาเป็นแบบปลายเปิด (Open-ended QE) ตามกรณีที่ 2 ที่เราคาดไว้เมื่อวานนี้ ซึ่งถือว่ามากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้อย่างมาก มองว่าปรากฏการณ์ EUR carry trade ในช่วงถัดไปจะทำให้หุ้นขนาดใหญ่ใน SET Index เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งน่าจะได้เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุด แนะนำโฟกัสการเข้าซื้อที่หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ได้แก่ SCB, KBANK, BBL, KTB และ TMB
Greece election : กรีซจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคมนี้ ซึ่งคงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคฝ่ายค้าน Syriza คงจะได้รับเสียงข้างมากสะท้อนจากผลโพลสำรวจล่าสุด อย่างไรก็ดีเรามองว่าความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าวมีจำกัดเนื่องจาก
1) มีโอกาสน้อยกว่า 50% ที่ Syriza จะได้รับเสียงข้างมากอย่างเอกฉันท์ (151 ที่นั่งขึ้นไป) ซึ่งก็จะทำให้ทางพรรคต้องลดจุดยืนตัวเองลงมามากขึ้นในการหาพรรคร่วมรัฐบาล
2) ถึงแม้ Syriza จะได้เป็นรัฐบาลใหม่ เราคาดว่าทางพรรคก็ไม่มีแนวนโยบายที่จะผลักดันกรีซออกจากลุ่มยูโรโซน
3) การผลักดันการเจรจากับ Troika เพื่อขอทบทวนมาตรการรัดเข็มขัดที่เคยให้สัญญาไว้คงทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
4) ในกรณีเลวร้ายสุดหาก Syriza ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขเงินช่วยเหลือกับทาง Troika ได้ มองว่า Troika อาจมีการหยุดมอบเงินช่วยเหลือชั่วคราว แต่ก็ไม่น่ากระทบความสามารถในการชำระหนี้ของกรีซ เนื่องจากระดับหนี้ที่ต้องชำระในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าอยู่ค่อนข้างต่ำเพียงแค่ 8 พันล้านยูโร และทั้งหมดเป็นหนี้ระยะสั้นเท่านั้น
กลยุทธ์การลงทุน : SET Index กำลังเดินหน้าตาม Roadmap ที่เราวางไว้ (ขาแรกของ M-Shape) โดยคาดว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1600-1650 จุดได้ภายในไตรมาสที่ 1 นี้ ยังคงแนะนำการ Let profit run ต่อไปเพื่อรับอานิสงส์ Fund flow ที่น่าจะเริ่มไหลเข้าจากปรากฏการณ์ EUR carry trade แนะนำเพิ่มน้ำหนักกลุ่มธนาคารมากขึ้นหลังน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากเม็ดเงินก้อนนี้มากที่สุด มองแนวรับแรกของดัชนีที่ 1540 จุด และแนวรับในกรณีเลวร้ายสุดที่ 1500 จุด

* TMB Analytics คาดเงินไหลเข้าไทย 4 หมื่นลบ.ต่อเดือน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย หลังธนาคารกลางยุโรปประกาศใช้มาตรการคิวอี อัดฉีดเงินเข้าระบบกว่า 6 หมื่นล้านยูโรเป็นเวลาอย่างน้อยปีครึ่ง ส่งผลให้ค่าเงินยูโรยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และกดดันให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ไม่ปรับสูงขึ้นหลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนาน ในที่สุดธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีก็ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการคิวอีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยอีซีบีประกาศว่าจะเริ่มการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และเมื่อรวมกับตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเริ่มซื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยจะเริ่มในเดือนมีนาคม ไปอย่างน้อยจนถึงเดือนกันยายนปีหน้า นั่นหมายความว่าอีซีบีจะอัดฉีดเงินเข้าระบบถึง 1.1 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 40 ล้านล้านบาท (คิดเป็นเกือบ 4 เท่าของจีดีพีไทยต่อปี) เป็นอย่างน้อย ก่อนอื่นจะขอท้าวความซักเล็กน้อยว่าเหตุใดอีซีบีต้องทำการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ปัจจัยหลักๆ ก็คือเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนฟางเส้นสุดท้ายคือเงินเฟ้อที่พลิกไปอยู่ในโซนลบที่ร้อยละ 0.2 ในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเหตุใดอีซีบีถึงไม่ออกมาทำอะไรก่อนหน้านี้ ทำไมถึงต้องรอให้เกิดภาวะเงินฝืดก่อน ที่จริงแล้วอีซีบีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยลงจนเหลือร้อยละ 0.05, การดำเนินนโยบาย Targeted Longer-term Refinancing Operations (TLTROs) รวมถึงการเข้าซื้อ Covered Bonds และ Asset-backed Securities (ABS)
อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดถูกวิจารณ์ว่าไม่เพียงพอต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจยุโรป จนมาถึงคิวของไพ่ใบสุดท้ายซึ่งก็คือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลนั่นเองมาตรการคิวอีของยุโรปล่าสุดนับว่ามีขนาดที่สมน้ำสมเนื้อทีเดียว โดยเมื่อเทียบกับคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งเคยเข้าซื้อสินทรัพย์สูงถึง 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึงแม้เมื่อเทียบเม็ดเงินโดยตรง คิวอีของอีซีบีจะน้อยกว่าของเฟดประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน แต่หากนำขนาดของเศรษฐกิจมาพิจารณาร่วมด้วย จะพบว่ามาตรการคิวอีของอีซีบีมีขนาดใหญ่กว่าของเฟดเล็กน้อย โดยปริมาณการเข้าซื้อต่อเดือนของอีซีบีอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของจีดีพีของยูโรโซน สูงกว่าของเฟดที่ร้อยละ 0.5 ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่าการขยับครั้งใหญ่ของอีซีบีในครั้งนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในยูโรโซนได้ไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าเมื่ออีซีบีออกมาตรการที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้ ย่อมมีผลต่อตลาดการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลังการประกาศ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงในทันทีมาอยู่ที่ 37 บาทต่อยูโร จากระดับประมาณ 37.8 บาทต่อยูโรก่อนมีการประกาศ และจากระดับ 40 บาทในช่วงต้นปี สำหรับในระยะถัดไป ศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังคงมองว่าค่าเงินยูโรจะมีแนวโน้มอ่อนค่า จากเม็ดเงินที่จะทยอยไหลเข้ามาในอนาคต โดยเราประเมินว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาน่าจะไหลเข้าไปในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนยังต้องระวังความเสี่ยงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี โดยทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาน่าจะอยู่ในระดับสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3 พันล้านบาทต่อเดือนในช่วงท้ายของปีที่แล้ว กดดันให้ผลตอบแทน (yield) ของตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com