April 17, 2024   2:40:52 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > RATCHดันมูลค่ากิจการแตะ2.8แสนลบ.
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 27/02/2015 @ 08:33:32
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

RATCH ประกาศศักดา วางแผนลงทุนระยะยาวถึงปี 2566 หวังสร้างมูลค่ากิจการให้ถึง 2.82 แสนลบ.- พัฒนาโรงไฟฟ้าให้มีกำลังการผลิตเป็น 9,700 เมกะวัตต์ งัด 4 กลยุทธ์ เน้นบุกตลาดโรงไฟฟ้าใน AEC พร้อมชงบอร์ดเตรียมลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 50 MW มูลค่า 4,400 ลบ. แถมเล็งลงทุนในเมียนมาร์ ทั้งทำ M&A - จับมือ PTT ทำคลัง LNG และโรง ไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมยอมรับกำไรสุทธิปีนี้ จะลดลงอยู่ที่ประมาณ 5,200 ลบ. จากปี 2557 ที่มีกำไร 6,200 ลบ.หลังอัตราขายไฟตามสัญญาสัมปทานในโรงไฟฟ้าเดิมลดลง ด้านโบรกฯมองผลงาน Q1/58 สดใสรับฤดูกาลใช้ไฟ ให้ราคาเป้าหมาย 61 บ.

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ RATCH ได้ออกมาแถลงทิศทางการดำเนินงานของบริษัททั้งในปีนี้ และในระยะยาว โดยเฉพาะตั้งเป้าสร้างมูลค่ากิจการเป็น 1.33 แสนลบ.ในปีนี้ เพื่อหวังให้ปี 2566 มีมูลค่ากิจการถึง 2.82 แสนลบ.- กำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 9,700 เมกะวัตต์ รวมถึงการลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ อย่างการจับมือกับกลุ่ม ปตท. (PTT) ทำคลัง LNG และโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โดยวานนี้ราคาหุ้น RATCH ปิดที่ระดับ 62.25บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 26.99 ล้านบาท

*** ตั้งเป้ามูลค่ากิจการแตะ 2.82 แสนลบ. -กำลังผลิตไฟฟ้า 9,700 MW ในปี 66
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ RATCH นอกจากนี้ บริษัทฯ มีภารกิจต้องสร้างมูลค่ากิจการให้เติบโตอีก 12,800 ล้านบาทในปีนี้ มาอยู่ที่ 133,000 ล้านบาท ตามแผนกลยุทธ์ 10ปี (2556-2566)จากสิ้นปี 2557 มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ 120,244 ล้านบาท และปี 2566 จะมีมูลค่ากิจการอยู่ที่ 282,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะขยายการลงทุนโรงไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2566 อยู่ที่ 9,700 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2557 ที่มีกำลังการผลิต 6,578 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ จะเดินตามแผนดังกล่าวด้วย 4 กลยุทธ์ คือ 1.ขยายธุรกิจเดิมในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสปป.ลาว 2.ขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ใหม่ซึ่งบริษัทฯยังไม่มีการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้า โดยประเทศที่สนใจ พม่า กัมพูชาเวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศแถบอาเซียน รวมถึงเอเชียแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่นที่บริษัทฯมีแผนไปลงทุน 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อิวากิและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อูเอดะ 3.การบริหารสินทรัพย์ให้เหมาะสม ซึ่งสินทรัพย์ไหนที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มจะมีการตัดขายทิ้ง และ 4.หาพันธมิตรเข้ามาร่วมทำธุรกิจในโครงการที่บริษัทฯไม่มีความเชี่ยวชาญ " บริษัทฯ ตั้งเป้าปี 2566 จะมีมูลค่ากิจการอยู่ที่ 282,000 ล้านบาท จากปี 2558 คาดว่าอยู่ที่ 133,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12,800 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะขยายการลงทุนโรงไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2566 อยู่ที่ 9,700 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2557 ที่มีกำลังการผลิต 6,578 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 5,566 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ 1,012เมกะวัตต์ " นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

*** เตรียมชงบอร์ดพิจารณาลงทุนโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50 MW
ทั้งนี้บริษัทฯยังมองหาโอกาสในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
โดยศึกษาอยู่ 1 โครงการ กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ร่วมลงทุนกับพันธมิตรเดิมคือ กลุ่มเชาว์สตีล และกำลังพิจารณาเพิ่มอีก 20 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีแผนที่จะลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่ญี่ปุ่น 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อิวากิ กำลังการผลิต 22.68 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 2,800 ล้านบาท บริษัทฯ ถือหุ้นสัดส่วน 60% โดยจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2559 ลงทุนร่วมกับกลุ่มเชาว์สตีล อินดัสตรี และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อูเอดะ กำลังการผลิต 10.83 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,600 ล้านบาท บริษัทฯ ถือหุ้น 60% ซึ่งจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2559 โดยร่วมกับกลุ่มเชาว์สตีลเช่นกัน
ทั้งนี้ โครงการอิวากิ คาดว่าจะมีการเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งหากก่อสร้างโครงการนี้เสร็จจะเริ่มก่อสร้างโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์อูเอดะต่อไป

*** เผยบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,578 MW
นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ รวม 6,578 เมกะวัตต์ จากการลงทุนในโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งตามโครงสร้าง กลุ่มธุรกิจ คือโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในประเทศขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กำลังการผลิตติดตั้งรวม 4,883 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานทดแทนในประเทศ กำลังผลิตรวม 69 เมกะวัตต์ และโครงการในต่างประเทศ กำลังผลิตรวม 1,626 เมกะวัตต์
ในปีนี้บริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าที่จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ รวมกำลังการผลิตติดตั้งตามการถือหุ้นประมาณ 552 เมกะวัตต์ คือ โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอลด์โคเจนเนอเรชั่น ซึ่งจะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ชุดที่ 2 ในเดือนมีนาคมนี้ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา หน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2 ที่มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายนและพฤศจิกายน ศกนี้ ตามลำดับ และโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลา กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ประมาณกลางปีนี้ ดังนั้น กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้จะอยู่ที่ 6,117เมกะวัตต์

*** เน้นลงทุนเมียนมาร์คาดชัดเจนปีนี้- เดินหน้าทำ M&A
ด้านการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าวว่า บริษัทฯได้จัดสรรงบประมาณลงทุนในปีนี้ไว้ประมาณ 13,000 ล้านบาทสำหรับโครงการที่กำลังก่อสร้างและพัฒนาแล้ว และโครงการใหม่ โดยการลงทุนในปีนี้เน้นเป้าหมายในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และอาเซียน เป็นสำคัญ บริษัทฯสนใจการลงทุนในสหภาพเมียนมาร์และอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาลงทุนในหลายโครงการ คาดว่าปีนี้จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้ามะริด กำลังการผลิตติดตั้ง 2,640 เมกะวัตต์ และโครงการคลังก๊าซแอลเอ็นจี
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมองหาการเข้าซื้อและควบรวมกิจการที่ดำเนินการแล้วเพื่อให้มีรายได้ทันทีและเสริมความแข็งแกร่งกระแสเงินสดของบริษัทฯ อีกทั้งยังเร่งหารือความร่วมมือกับกลุ่ม กฟผ.และพันธมิตรธุรกิจเพื่อจับมือกันลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ

*** ลุยสร้างคลัง LNG ที่เมียนมาร์ ภายใน 2-3 ปีนี้
นอกจากนี้บริษัทเตรียมลงทุนสร้างคลัง LNG ที่ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วจะใช้เวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2-3 ปี โดยใช้เงินลงทุนรวม 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้กลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนโครงการดังกล่าว และเจรจาอยู่กับรัฐบาลเมียนมาร์
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเป็นการนำเข้า LNG ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี โดยบริษัทฯจะถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 20-30% ที่เหลือจะเป็นกลุ่มบริษัท ปตท. ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทย จำนวน 2 โครงการ ซึ่งจะร่วมกับพันธมิตรในประเทศและต่างประเทศ มีกำลังการผลิตรวม 16 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2558 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในต่างประเทศ ซึ่งโครงการนี้มีกำลังการผลิตประมาณ 2 พันเมกะวัตต์ บริษัทฯจะถือหุ้นประมาณ 20% ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุน
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาดมะริด กำลังการผลิต 2,640 เมกะวัตต์ ที่ประเทศเมียนมาร์ อยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน ซึ่งหากไม่มีปัญหาก็สามารถลงนามสัดส่วนการร่วมถือหุ้น (Share Holding) ได้กลางปี 2558 คาดว่าบริษัทฯจะถือหุ้นประมาณ 40% ร่วมกับพันธมิตร คือ บริษัท บลูเอเนอจี้ แอนด์ เอนไวรอนเม้นท์ จำกัด และบริษัท แวนเทจ จำกัด

*** ยอมรับกำไรปี 58 อาจลดลงเหลือ 5.2 พันลบ. ต่ำกว่าปีก่อนที่กำไร 6.2 พันลบ.
นายพงษ์ดิษฐ เปิดเผยต่อว่า บริษัทฯ คาดกำไรสุทธิปี 2558 จะอยู่ที่ประมาณ 5,200 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ที่มีกำไรสุทธิ 6,200 ล้านบาท เนื่องจากอัตราขายไฟตามสัญญาสัมปทานในโรงไฟฟ้าเดิมลดลง แต่หากโรงไฟฟ้าใหม่รับรู้เข้ามามากจะทำให้บริษัทฯ มีกำไรเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ต้องดูว่าจะสามารถชดเชยกำไรจากโรงไฟฟ้าเดิมได้หรือไม่
ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดรายได้ปี 2558 จะอยู่ที่มากกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งปกติ 5 ปีย้อนหลังบริษัทฯมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี
โดยในปีนี้บริษัทฯจะรับรู้กำไรอีก 600 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าจำนวน 2 แห่งที่จะเสร็จในปีนี้ คือ โรงไฟฟ้าหงสาจำนวน 400 ล้านบาท โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอล์โคเจนเนอเรชั่น เฟส 2 จังหวัดราชบุรี จำนวน 200 ล้านบาท ซึ่งจะเดินเครื่องชิงพาณิชย์ 2 มี.ค. 2558 ซึ่งบริษัทฯได้ประมาณการรายได้โครงการดังกล่าวในปีนี้อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท

*** โบรกฯ มองงบ Q1/58 ฟื้นตัว แนะซื้อให้ราคาเป้าหมาย 61 บ.
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนวโน้มผลประกอบการของ RATCH ใน Q1/58 คาดจะปรับตัวขึ้น QoQ ตามปัจจัยฤดูกาล หลังผ่านอากาศเย็นของไทยที่ปกติการใช้ไฟฟ้าจะต่ำในไตรมาส 4 ของทุกปี นอกจากนั้นการเริ่มรับรู้กำไรของโรงไฟฟ้า SPP RW Cogen ขนาด 210 MW (ถือสัดส่วน 40%) Unit 1 เริ่มผลิตใน 4Q57 และ Unit 2 จะเริ่มผลิตใน 1Q58 สำหรับปี 2558 โรงไฟฟ้าหงสาจะทยอยเปิดดำเนินการ Unit 1 ในเดือน มิ.ย. 2558 Unit 2 ในเดือน พ.ย. 2558 ขณะที่ Unit 3 จะเริ่มผลิตใน 1Q59
โดยราคาหุ้น RATCH ปรับตัวขึ้นดีกว่ากลุ่มในปี 2558 เราประเมินว่ามาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ การเป็นหุ้น Laggard ของกลุ่มที่ปรับตัวน้อยกว่ากลุ่มในปี 2557 (+19.9% เทียบกับกลุ่มที่เพิ่มขึ้น 26.6-36.7% ในปี 2557) และแนวโน้มผลประกอบการปี 2558-2559 ที่คาดจะเติบโตจากการเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบของโรงไฟฟ้า RW Cogen และโรงไฟฟ้าหงสา จากแนวโน้มผลประกอบการที่จะเติบในช่วง 2 ปีข้างหน้า ยังคงแนะนำ ซื้อ อย่างไรก็ตาม Upside สู่ราคาเป้าหมายที่ 61 บาท มีจำกัด จึงอาจพิจารณารอซื้อเมื่อตัว RATCH ประกาศจ่ายปันผลสำหรับ 2H57 ที่ 1.17 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 1.9% XD วันที่ 6 มี.ค. 2558 จ่ายปันผลในวันที่ 30 เม.ย. 2558 รวมปันผลปี 2557 ที่ 2.27 บาท ตามคาด


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com