April 26, 2024   3:38:18 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ดาหน้าหั่นเป้า KBANK
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 02/07/2015 @ 08:22:26
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โบรกเกอร์ตบเท้าหั่นประมาณการกำไร KBANK ทั้ง Q2/58 และทั้งปี หลังส่งสัญญาณ NPL เพิ่มจาก SMEs ส่งผลต้องตั้งสำรองเพิ่ม ขณะที่ NIM ลดลงจาก 3.7% เหลือ 3.5% จากการสนองนโยบายแบงก์ชาติ ส่องกล้องจาก 8 ค่ายวิเคราะห์ ส่วนใหญ่แนะซื้อ แม้ปรับลดราคาเหมาะสม ลงชี้ยังแกร่งสุดในกลุ่ม ด้านผู้บริหารยอมรับผลงาน Q2/58 แค่ประคองตัว หวังเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลังช่วยกู้สถานการณ์ ยอมรับ NPL พุ่ง คาดสิ้นปีอยู่ที่ 2.7-2.8% เกินเป้าที่ 2.5% ดันค่าใช้จ่ายสำรองเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรวบรวมบทวิเคราะห์ หุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ปรับประมาณการกำไรทั้งไตรมาส 2/58 และกำไรสุทธิทั้งปี รวมถึงราคาเป้าหมายหุ้น KBANK ในปีนี้ลง จาก 230-280 บาท เหลือ 205-234 บาท โดยมองว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอส่งกระทบกับสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีแนวโน้มเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่ม โดยปรับต้นทุนสินเชื่อ (credit cost) ไปที่ 150bps (จาก 100bps) ซึ่งกระทบต่อกำไร และ การตั้งสำรองที่สูงขึ้น ในขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ปรับลดลง จากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ตามนโยบายแบงก์ชาติ  อย่างไรก็ตาม โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ยังคงคำแนะนำซื้อหุ้น KBANK เนื่องจากมองว่าเป็นแบงก์ที่แข็งแกร่ง และน่าลงทุนที่สุดในกลุ่ม

**คาดกำไร Q2/58 อยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านบาท
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ให้ราคาเหมาะสม KBANK ต่ำสุดเพียง205 บาท โดยระบุว่า ข้อมูลที่ได้จากการประชุมนักวิเคราะห์ KBANK อยู่ในเชิงลบในหลายๆ ด้าน ได้แก่
1) คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลงมากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้า SME
2) ปรับ credit cost เพิ่มขึ้นเป็น 150bps (จากเดิม 100bps) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ 13-15%
3) ปรับลดประมาณการ NIM ลงเหลือ 3.5% (จากเดิม 3.6-3.7%)
ทั้งนี้คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2/58 ของ KBANK จะอยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านบาท -17% QoQ และ -13% YoY จากการที่คาดว่าสินเชื่อจะโต +1.5% QoQ และ +3% YTD ในขณะที่คาดว่า NIM จะลดลงเหลือ 3.6%( -10bps QoQ และ -15bps YoY)
และการปรับ credit cost ที่เพิ่มขึ้นเป็น 150bps ตามที่ผู้บริหาร KBANK บอก จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 7.5 พันล้านบาท และกระทบกับกำไรสุทธิประมาณ 13% ซึ่งตามสมมติฐานนี้ เราจึงได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2558 ลง 13% และปรับลดราคาเป้าหมายลง 11% เหลือ 205 บาท และปรับลดคำแนะนำลงเป็นถือ ขณะที่ KBANK ยังมีความเสี่ยงคือ เศรษฐกิจที่ยืดเยื้อยาวนานอาจทำให้เกิดภาวะคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลงรอบใหม่  

**ตั้งสำรองสูงกว่าที่เคยประเมิน
สอดคล้องกับ บล.เคทีบี ที่ระบุว่า ประเด็นที่ทำให้ Shock ในการประชุมนักวิเคราะห์ คือแนวโน้มการตั้งสำรองที่สูงกว่าที่ธนาคารเคยให้ไว้มาก จากเดิมที่ระดับ 100 bps เป็น 120 - 150 bps โดยคาดว่าใน 1H58 จะอยู่ที่ระดับ 120 bps
เราคาดว่ากำไรไตรมาส 2/58 ของ KBANK จะลดลงเหลือเพียง 10,313 ล้านบาท ลดลง 17% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 12,401 ล้านบาท และ ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 21,252 ล้านบาท ลดลง 1% จากไตรมาสก่อนหน้าตามการขยายตัวของสินเชื่อ โดยคาด NIM ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย 3bps จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังธปท.ทวงถาม   รายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 9,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมาจากธุรกิจประกัน บัตรเครดิต   อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to income Ratio) อยู่ที่ 47% จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาสก่อนหน้า  อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ยังคงใกล้เคียงจากประมาณการเดิมที่ 140% และ คาดการณ์ ROE ในปีนี้ลดลงเป็น 17% จากประมาณการณ์เดิม 17.9%
นอกจากนี้ ได้ปรับเพิ่มการตั้งสำรองปี 58 ขึ้นเป็น 22,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อนหน้า จากคาดการณ์ครั้งก่อน 15,500 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิของ KBANK ในปีนี้ลดลง 16% จากปีก่อนหน้า เหลือ 38,760 ล้านบาท (ประมาณการเดิม 43,885 ล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อนหน้า)
ทั้งนี้ ได้ปรับราคาเหมาะสมลงเหลือ 234 บาท Upside 20% คงคำแนะนำ “ซื้อ”
โดยบทวิเคราะห์ระบุว่า หากมีการปรับประมาณการ GDP ลงอีกในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มที่ KBANK จะถูกปรับลดราคาเหมาะสมลงอีกครั้ง
  ด้าน บล.เอเซียพลัส คาดว่า กำไรสุทธิของ KBANK ไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 1.08 หมื่นล้านบาท ลดลง 13% จากไตรมาสก่อน และ 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าสินเชื่อจะโต 1.5% จากไตรมาสก่อน และ 2.9% จากสิ้นปี 57 ซึ่งมาจากสินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี  ในขณะที่คาดว่าNIM จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 3.6% เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ลดลงตามอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ของธนาคาร โดยคาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะโตถึง 12% จากปีก่อน แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมรายย่อย (เพิ่มขึ้น15%) และ สินเชื่อธุรกิจ (เพิ่มขึ้น9%) ปรับลดราคาเป้าหมาย KBANK ลงเหลือ 232 บาทจากเดิม 270 บาท ถึงแม้ว่าสภาวะตลาดจะอ่อนแอ แต่ KBANK ก็ยังมีส่วนแบ่งกำไรที่แข็งแกร่ง (25%) จากธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งจะช่วยรองรับผลจากกำไรที่ลดลงเพราะ NPL โดยยังคงมองว่า KBANK เป็นหุ้นที่ดีที่สุดในกลุ่มธนาคาร

**ส่องกล้องจาก 8 ค่ายวิเคราะห์ ส่วนใหญ่แนะซื้อ แม้ปรับลดราคาเหมาะสม
โบรกเกอร์       คำแนะนำ
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง   ซื้อ ปรับลดราคาเป้าหมายจาก 240 บาทเป็น 221 บาท
เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ ปรับราคาเหมาะสมลงเหลือ 234.00 บาท
เคจีไอ       ถือ ราคาเป้าหมาย 205 บาท
ทรีนีตี้       "ซื้อ" ปรับลดราคาเป้าหมายเหลือ 233 บาท
กรุงศรี       "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 220 บาท
ซีไอเอ็มบี       ซื้อ ราคาเป้าหมาย 230.0 บาท
ดีบีเอสวิคเคอร์ส     ซื้อ ราคาพื้นฐาน 224 บาท (เดิม 280 บาท)
เอเซียพลัส      "ซื้อ" Fair value ปี 2558 ภายหลังปรับปรุงลดลงเหลือ 232 บาท (เดิม 270 บาท)

**ผู้บริหารยอมรับผลงาน แค่ประคองตัว
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อปีนี้เติบโต 6% แม้ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาจะเติบโตเพียง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และน่าจะยังคงทรงตัวในไตรมาส 2/58 แต่มั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลังจากการลงทุนของภาครัฐ โดยยังคงเชื่อมั่นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ 3% ซึ่งหวังว่าภาครัฐจะเร่งใช้นโยบายทางการคลังมากขึ้น เช่นการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนต่างๆ ออกมาโดยเร็วที่สุด และจะส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากยิ่งขึ้นและจะส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศ  
ส่วนสถานการณ์ของประเทศกรีซจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะไม่มีการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว และขนาดเศรษฐกิจของประเทศกรีซในสหภาพยุโรปก็มีขนาดที่ไม่ใหญ่จนมีนัยสำคัญ  
สำหรับกระแสเงินลงทุนต่างชาติจะยังคงชะลอและรอความชัดเจนเกี่ยวกับภาคการลงทุนในประเทศไทยที่ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถประเมินได้ว่าจะเข้ามามากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตามคงจะไม่มีการขายออกแล้ว เพราะที่ผ่านมาได้มีการไหลออกของเม็ดเงินไปพอสมควร

**หวั่น NPL ทั้งปีเกินเป้าที่ 2.5%
นายอดิศวร์ หลายชูไทย รองกรรมการผู้จัดการ สายงานเลขาธิการองค์การ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวช้าทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมีโน้มอ่อนแอลง ในขณะหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้(NPL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดจาก 2.34% ไตรมาส 1/58 ทำให้ธนาคารมองว่าสิ้นปีนี้ NPL จะอยู่ที่ 2.7-2.8% จากเดิมที่คาดไว้ที่ไม่เกิน 2.5% ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองจะสูงขึ้นเช่นกันจากเดิมที่ระดับ 100 bps เป็น 120 - 150 bps
สำหรับการเติบโตสินเชื่อในปีนี้ยังคงเป้าอยู่ที่ 6% จากสมมติฐานอัตราการขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ที่ 2.8%และ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) ที่ 3.5-3.6% เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ลดลงตามอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ของธนาคาร  
"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถูกกดดันจากปัญหาภัยแล้ง การส่งออกที่อ่อนแอ ความล่าช้าของแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการเติบโตที่อ่อนแอสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารรวมถึงของ KBANK ด้วย"


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com