April 24, 2024   11:54:33 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > งบแบงก์Q2กำไรทรุด13%-ตั้งสำรองพุ่ง
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 06/07/2015 @ 08:36:38
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

โบรกฯ ปรับประมาณการงบแบงก์ Q2/58 ยกแผง ชี้กำไรสุทธิรวมของแบงก์ 8 แห่ง จะลดลงถึง 12% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และ 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังสินเชื่อกลุ่ม SME จ่อกลายเป็น NPL เพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง - ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองพุ่ง ชี้ KBANK- KTB-TMB อ่วมสุด เหตุมีสัดส่วนการปล่อยกู้ SME สูง ในขณะที่แบงก์เล็กได้รับผลกระทบน้อย หลัง NPL ใหม่ของสินเชื่อรถยนต์ทรงตัว ทำให้ยอดตั้งสำรองทรงตัว

ก้าวเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพบ์ ช่วงไตรมาส 2/2558 ซึ่งทุกครั้งกลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่จะต้องประกาศผลประกอบการออกมาคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งล่าสุด ทาง บล.เคจีไอ ได้ออกบทวิเคราะห์ของผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ออกครบทุกตัวไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ,ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK ,ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB , ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) หรือ TMB , ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP , บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือTISCO และ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP จะมีเพียง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เท่านั้น ที่ไม่ได้นำเข้ามาในประมาณการครั้งนี้
โดยบล.เคจีไอเปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ธนาคารขนาดใหญ่ทุกแห่งส่งสัญญาณว่าคุณภาพสินทรัพย์กำลังอ่อนแอลงอย่างจริงจัง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากสินเชื่อกลุ่ม SME ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็น NPL เพิ่มขึ้นอีกในครึ่งหลังของปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งกดดันให้ธนาคารส่วนใหญ่ไม่สามารถเพิ่มรายได้ขึ้นได้ (ทั้ง NII และ Non-NII) ทำให้ให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าธนาคารกำลังเผชิญกับแรงกดดันสองด้านคือทั้งรายได้ลดลงและความเสี่ยงของคุณภาพสินทรัพย์การตั้งสำรองก้อนใหญ่ของ KBANK ซึ่งเป็นนโยบายการเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรองรับปัญหากลุ่ม SME กระทบกับผลประกอบการ ซึ่งเป็นการกดดัน TMB ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ SME สูงเหมือนกัน ในขณะที่ SCB,BBL, KTB ก็ตั้งสำรองเพิ่มสำหรับการปล่อยกู้ในกรณีพิเศษ มีเพียงธนาคารขนาดเล็กเท่านั้นที่ผลการดำเนินงานยังทรงตัวอยู่ เรามองว่าหุ้นธนาคารกำลังใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และควรรอจังหวะเหมาะที่จะเข้าช้อนซื้อ

*** มองกำไร Q2/58 ลดลงถึง 12% QoQ และ 13% YoY
บล.เคจีไอ เปิดเผยว่า เราคาดว่าในไตรมาส 2/2558 กำไรสุทธิรวมของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง (ไม่รวม BAY) จะลดลงถึง 12% QoQ และ 13% YoY จากอัตราการเติบโตของรายได้ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง (LLP) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีของธนาคารที่มีสัดส่วนการปล่อยกู้ SME สูง (KBANK KTB และ TMB) ในขณะที่ NPL ใหม่ของสินเชื่อรถยนต์ที่ทรงตัวส่งผลให้ LLP ของธนาคารเล็กทรงตัว
ด้านอัตราการเติบโตของรายได้ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงทำให้ธนาคารต้องระมัดระวังความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เราคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัว <0.5% QoQ, +1.5% YTD และ <4% YoY มีเพียง KBANK และ SCB เท่านั้นที่เราคาดว่าสินเชื่อจะโตถึงประมาณ +2.5% YTD โดยสินเชื่อธุรกิจคาดว่าจะโต +3-4% สินเชื่อ SME +2.5% และคาดว่าสินเชื่อผู้บริโภคจะไม่โตเลย อัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ระดับนี้ไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจาก NIM ที่ลดลงประมาณ 15bps QoQ และ 20bps YoY ได้ ดังนั้น เราจึงคาดว่า NII จะลดลงประมาณ 5% QoQ และ 4% YoY นอกจากนี้สินเชื่อที่ชะลอตัวลงยังกระทบกับการเติบโตของ Non-NII ในแง่ของค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวโยงกับสินเชื่อ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ค่าธรรมเนียมรวมด้วย ดังนั้นเราจึงคาดว่า Non-NII จะลดลง 4% QoQ และเพิ่มขึ้น2.53% YoY

*** ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก
บล.เคจีไอ เปิดเผยต่อว่า การที่ทั้ง KBANK และ SCB บอกว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองขึ้นถึง 50% ในปีนี้ทำให้เกิดความกังวลรอบใหม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ หลังจากที่ NPL ใหม่ทำท่าจะนิ่งๆ ในไตรมาสที่ 1/58 ก็เริ่มมีสัญญาณของการชำระหนี้ล่าช้ากลับมาอีกครั้งในไตรมาสที่ 2/58 โดยเฉพาะยอย่างยิ่งจากกลุ่มสินเชื่อ SME ซึ่งทำให้ KBANK ตัดสินใจดำเนินนโยบายตั้งสำรองก้อนใหญ่เอาไว้ล่วงหน้าเกินกว่าข้อกำหนดของธปท. ซึ่งธนาคารจะทยอยบันทึกค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแปลว่าอัตราการเติบโตของกำไรมีแนวโมจะลดลงไปจนถึงปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการตั้งสำรองของธนาคารขนาดเล็กดูนิ่งกว่าจากการที่ NPL ใหม่จากสินเชื่อรถยนต์เริ่มนิ่ง
ทั้งนี้ธนาคารมองว่าสภาวะเศรษฐกิจแย่กว่าที่เคยคาดไว้เมื่อสามเดือนก่อน และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่ม SME มากที่สุด ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ธนาคารจึงต้องเสนอเงินกู้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดให้แก่ลูกหนี้บางรายซึ่งหมายความว่า NPV ที่ลดลงจะกระทบกับความสามารถในการรองรับหนี้เสียของธนาคาร การที่ NPL ยังคงจะเพิ่มขึ้นต่อไปในครึ่งหลังของปีนี้ จะก่อให้เกิดประเด็นความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์และทำให้แนวโน้มของกลุ่มธนาคารไม่ชัดเจน ซึ่งจากสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ปรากฏว่า KBANK ถูกกดดันในแง่นี้มากที่สุด

*** มองเป็นจังหวะรอช้อนซื้อของถูก
ทั้งนี้บล.เคจีไอ เชื่อว่าทุกธนาคารจะต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/58 และครึ่งหลังของปีนี้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน โดย TMB และ KBANK ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการที่ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่ม SME สูงถึง 37%/38% ตามลำดับ ในขณะที่ SCB, KTB และ TISCO ถูกกดดันจากกรณีที่ปล่อยสินเชื่อให้ SSI ส่วน BBL ก็คาดว่าจะใช้ความระมัดระวังและตั้งสำรองเพิ่มด้วย
ทั้งนี้จากกระแสข่าวลบที่ถาโถมเข้ามากดดันให้หุ้นธนาคารซื้อขายที่ระดับต่ำกว่า -1SD ของค่าเฉลี่ย PBV ระยะยาว ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสสำหรับการเข้าช้อนซื้อหุ้นถูก แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงจากความล่าช้าของแผนการลงทุนภาครัฐจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าลง

*** KTB เตรียมหั่นเป้าสินเชื่อ จากเดิมที่คาดโต 6% เหตุ ศก. ชะลอ - มอง NPL ครึ่งปีหลังลดลง
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมพิจารณาปรับเป้าหมายสินเชื่อลงจากเดิมที่คาดจะเติบโตที่ 6% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่หลายฝ่ายประเมินไว้ โดยสินเชื่อที่จะยังขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง คือ สินเชื่อเอสเอ็มอี, สินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อรายใหญ่ ส่วนสินเชื่อภาครัฐจะยังติดลบ
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดลงจากการปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อ และเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหา โดยตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะรักษาระดับไม่ให้เกิน 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.6%
"เราจำเป็นต้องปรับเป้าลง เพราะคาดว่าเป้าเดิมคงทำไม่ถึงแล้ว แต่เรายังมองว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้ 1.5 เท่าของจีดีพีที่คาดว่าจะโต 3% การตั้งสำรองก็ยังทำปกติถึงแม้ว่า NPL จะลดลงก็ตาม แต่เรายังคงความอนุรักษ์นิยมต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมเปรียบตัวเองเหมือนนั่งเครื่องบินที่ต้องคาดเข็มขัดอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มานั่งจิบไวน์ชมบรรยากาศได้อีกแล้ว " ?นายวรภัค กล่าว

ทั้งนี้บล.เคจีไอ ได้วิเคราะห์ถึงผลประกอบการ ของหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นรายตัวดังนี้

** BBL ยังมีกำไรจากการขายเงินลงทุนช่วยหนุนงบ Q2/58
คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 8.2 พันล้านบาท (-8% YoY และ -12% QoQ) หลังจากที่สินเชื่อในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้โต 0.1% YTD ในขณะที่เงินฝากโตถึง 5% เราคาดว่า BBL จะถูกกดดันจากการที่อัตรากำไรหดตัวลงมากที่สุด การที่สินเชื่อโตต่ำในขณะที่ non-NII ก็คาดว่าจะอ่อนแอเช่นกัน ธนาคารจึงปรับสมดุลของผลประกอบการด้วยการขายเงินลงทุนใน IRPC และรับรู้กำไรประมาณ 800 ล้านบาทในงบกำไรขาดทุน ในขณะที่การดำเนินการเพื่อควบคุมต้นทุนก็จะฉุดให้สัดส่วนต้นทุน/รายได้คงอยู่ในระดับต่ำที่ 46% เราคาดว่า credit cost จะขยับสูงขึ้นเป็นลำดับจากการที่ดอกเบี้ยค้างรับเพิ่มสูงขึ้นมากถึงประมาณ 50% ในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าคุณภาพสินทรัพย์กำลังอ่อนแอลง เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว เราคากว่ากำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 8.2 พันล้านบาท (-8% YoY และ -12% QoQ) ในขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิปี 2558 จะลดลง 2%

** KBANK ตั้งสำรองสูงมากในขณะที่รายได้ชะลอตัว
คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านบาท -17% QoQ และ -13% YoY จากการที่คาดว่าสินเชื่อจะโต +1.5% QoQ และ +3% YTD ในขณะที่คาดว่า NIM จะลดลงเหลือ 3.6%( -10bps QoQ และ -15bps YoY) เราจึงคาดว่า NII จะหดตัว 2.4% QoQ และ 0.5% YoY ในขณะเดียวกัน รายได้ค่าธรรมเนียม (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกรรมการธนาคาร) ยังคงเพิ่มขึ้นตามแผน และหนุนให้ Non-NII โตประมาณ 12% แต่อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น (คิดเป็น credit cost ที่ 140bps ในไตรมาสที่ 2/58 เพิ่มขึ้นจาก 100bpsในไตรมาสที่ 1/58) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันผลประกอบการ

** KTB ตั้งสำรองจำนวนมาก
คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท (-11% YoY, -15% QoQ) หลังจากที่สินเชื่อขยายตัว 1.4% YTD (5 เดือนแรกของปี 2558) และเงินฝากขยายตัว 1.1% เราคิดว่า KTB กำลังพยายามปรับสมดุลภาระดอกเบี้ยของธนาคาร โดย NIM กำลังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนการปล่อยสินเชื่อและผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยเต็มไตรมาส ในขณะที่อัตราการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงตามการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวโยงกับการปล่อยสินเชื่อ ในขณะเดียวกันการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมากก็จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาสนี้

** SCB ได้แผนลดต้นทุนจะช่วยหนุนกำไร
คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 1.24 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% QoQ และ 16% YoY ด้วยสมมติฐานว่าสินเชื่อไม่โต QoQ และ +2% YTD ในขณะที่คาดว่า NIM จะลดลงเหลือ 3.1% ( -17bps QoQ และ -29bps YoY) เราประเมินว่า NII จะลดลง -4% QoQ และ -3% YoY ในขณะที่คาดว่า Non-NII จะลดลง -3% QoQ (จากค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการธนาคารหลักๆ ที่ลดลง) และ -10% YoY จากฐานเปรียบเทียบที่สูงเพราะมีกำไรพิเศษจากการขายบริษัทลูกมูลค่า 1.5 พันล้านบาท นอกจากนี้ เรายังคาดว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 90bps (จาก 79bps ในไตรมาสที่ 1/58)

** TMB ตั้งสำรองพุ่งรองรับลูกหนี้ SME
คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท ลดลง 48% YoY และ 18% QoQ หลังจากที่สินเชื่อขยายตัว 2.4% YTD ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นการสะท้อนถึงการปล่อยสินเชื่อตามโครงการให้ความช่วยเหลือ SME ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง การที่ธนาคารต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างสูงจาก NPL ใหม่จากกลุ่ม SME เราคิดว่า TMB มีความเสี่ยงในแง่นนี้มากที่สุดจากการที่ธนาคารมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่ม SME ดังนั้นเราจึงคาดว่าสำรองที่เพิ่มขึ้นจะกดดันผลประกอบการไตรมาสที่ 2/58

** TCAP บันทึกกำไรก้อนใหญ่จากธุรกรรมการลงทุน
คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่1.3 พันล้านบาท (+10% YoY, 2% QoQ) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ TCAP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 10bps QoQ ในขณะที่ NPL จากสินเชื่อรถยนต์ยังคงทรงตัวในไตรมาสนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการบันทึกกำไรจากการลงทุน (ส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อขายพันธบัตร) ซึ่งช่วยหนุนการเติบโของรายได้ไม่ให้แย่เกินไปนัก

** TISCO เงินฝากและเงินกู้ยืมที่ลดลงอย่างรวดเร็วหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย
คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 1.15 พันล้านบาท (+23% YoY, -7% QoQ) เราคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ TISCO จะขยับเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงประมาณ 20bps QoQ ในขณะที่คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมที่แข็งแกร่างจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจะช่วยชดเชยค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่ชะลอตัวลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลักของ TISCO จะมาจากการตั้งสำรองเพิ่มในกรณีของ SSI ซึ่งเราคาดว่าจะทำให้ TISCO ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น

** KKP โตจากฐานที่ต่ำ ผลขาดทุนจากการขายรถที่ยึดมาลดลง
คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสที่ 2/58 จะอยู่ที่ 641 ล้านบาท (+7% YoY, -3% QoQ) เช่นเดียวกับธนาคารขนาดเล็กอื่นๆ เราคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ KKP จะขยับสูงขึ้น แต่ปัจจัยบวกทางด้านสินเชื่อน่าจะถูกกดโดยการชะลอตัวของการขายสินทรัพย์ที่ยึดมาซึ่งจะทำให้รายได้จากการขายสินทรัพย์ลดลง แต่อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญของไตรมาสนี้จะมาจากผลขาดทุนที่ลดลงจากการขายรถที่ยึดมา ซึ่งช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางด้านต้นทุนลงไป



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com