April 19, 2024   1:09:06 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ASPหั่นกำไรบจ.อีก4.3%
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 20/08/2015 @ 08:44:06
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

เอเซียพลัส เตรียมหั่นกำไร บจ.ปีนี้ลงอีก 4.3% เหลือ 91.20 บาทต่อหุ้น ส่วนปีหน้าลดลง 5.6% เหลือ 103.10 บาทต่อหุ้น หลังมองอีก 2 ไตรมาสที่เหลือ บจ.ไม่น่าทำกำไรได้ถึง 2.23 แสนลบ. เหตุกลุ่มพลังงานเผชิญขาดทุนสต็อกน้ำมัน กลุ่มธนาคารถูกดดันจาก ศก.ชะลอ ขณะที่เหตุระเบิดกดดันกำไรกลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม-โรงพยาบาล ล่าสุด ตลท.เผยกำไร บจ.ไตรมาส 2/58 ที่ 2.13 แสนลบ. ด้าน บล.กสิกรไทย มองเหตุระเบิดฉุดกำไรกลุ่มท่องเที่ยวลง 10-20% พร้อมหั่นเป้าดัชนีฯ ปลายปีเหลือ 1400-1450 จุด

***หั่นกำไรบจ.ปีนี้ลงอีก 4.3% - ปีหน้าลดลง 5.6%
บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า มีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรปีนี้อีก 4.3% และปีหน้าปรับลงอีก 5.6% โดยแนวโน้มผลประกอบการของตลาดฯ งวด 2H58 นั้น หากอิงประมาณการกำไรตลาดเดิมในปีนี้ที่ 8.87 แสนล้านบาทดังกล่าวจะต้องทำกำไรเฉลี่ยไตรมาสละ 2.23 แสนล้านบาท ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีโอกาสที่งวด 3Q58 ผลการดำเนินจะชะลอตัวตามผลของการขาดทุนสต็อกน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ กระทบต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมทั้งผลกระทบของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจในประเทศและการชะลอตัวของสินเชื่อ กระทบต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ล่าสุดจากเหตุการณ์ระเบิดในช่วง 2 วันที่ผ่านมา น่าจะเป็นปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานต่อเนื่องอีกหลายกลุ่มฯ อาทิ ท่องเที่ยว-โรงแรม, โรงพยาบาล, สายการบิน
" ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายวิจัยมีโอกาสปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 และ 2559 ลง จาก 8.87 แสนล้านบาท และ 1.02 ล้านล้านบาท เป็น 8.49 และ 9.60 แสนล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิม 4.3% และ 5.6% หรือคิดเป็น EPS 91.2 บาท และ 103.1บาทต่อหุ้น " บล.เอ เซียพลัส ระบุ
จากการปรับลดประมาณการดังกล่าว ทำให้ระดับดัชนีปัจจุบันมีค่า Expected PER ที่ประมาณ 15 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน คือ อินโดนีเซีย14.68 เท่า มาเลเซีย 14.79 เท่า ตลาดหุ้นจีน 15.25 เท่า แต่ต่ำกว่าตลาดหุ้นอินเดีย 16.79 เท่า และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ 19.43 เท่า แม้ระดับ Expected PER จะใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิจัยประเมิน แต่จากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้ยังเห็นความเสี่ยงขาลงของตลาดหุ้นไทยอยู่ จึงคาดว่าแนวรับถัดไปน่าจะอยู่ที่ PER 15 – 14.5 เท่า หรือบริเวณ 1,367 – 1,322 จุด

*** กองทุนขายหุ้น 18 ส.ค.สูงสุดในประวัติศาสตร์ -ต่างชาติขายสูงสุดในรอบปี
ขณะที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยสูงสุดในรอบปีราว 194 ล้านเหรียญ หรือ 6,909 ล้านบาท (นับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2557 เป็นต้นมา) เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิสูงสุดในประวัติศาสตร์ราว 12,031 ล้านบาท (ในวันที่ 29 มิ.ย. 2555 ที่ผ่านมาสถาบันฯ เคยขายสุทธิสูงสุดที่ 6,736 ล้านบาทเท่านั้น แต่วานนี้กลับขายสุทธิสูงเกือบ 2 เท่าของวันที่ขายสูงสุดในอดีต)
การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของ SET Index วานนี้ (18 ส.ค.58) เกิดขึ้นจากแรงกดดันทั้งจากเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศไทย และความกังวลอันเนื่องมาจากการปรับตัวลดลงรุนแรงของตลาดหุ้นจีน แต่ด้วยระดับ SET Index ปัจจุบันที่ 1372.61 จุด หากพิจารณาในเชิงปัจจัยพื้นฐานแล้ว ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะเริ่มเข้ามาสะสมหุ้น เพราะหากกำหนดสมมุติฐานในเชิงอนุรักษ์นิยม (Conservative) โดยการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2558 ลงในอัตราราว 4 – 5% ที่ระดับ SET Index ดังกล่าวจะมีค่า Current PER ราว 15.9 เท่า เทียบกับจุดสูงสุดที่เคยซื้อขายในระดับที่สูงกว่า 20 เท่า และมีค่า PER ณ สิ้นปี 2558 ต่ำเพียง 15 เท่า และเป็นระดับที่ทำให้ Market Earning Yield Gap กว้างกว่า 4.7% ซึ่งถือระดับที่สามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนระยะยาวในการที่จะเข้ามาทำการสะสมหุ้นโดยที่ทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย เช่นหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูง หรือหุ้นที่มีความผันผวนของผลประกอบการต่ำอย่างหุ้นในกลุ่มที่ทำธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสูง ได้แก่
* หุ้นสาธารณูปโภค โรงไฟฟ้า ประปา เนื่องจากรายได้ค่อนข้างมั่นคง มีความผันผวนต่ำ ได้แก่ EASTW (FV@B14) beta ต่ำเพียง 0.39 และ PER เพียง 14 เท่า คาดหวัง Div.Yield ราว 4%, TTW (FV@B12.6) beta ต่ำเพียง 0.50 และ PER 16 เท่าคาดหวัง Div.Yield ถึง 5.6%, EGCO (FV@B184) beta ต่ำเพียง 0.43 และ PER เพียง 14 เท่า คาดหวัง Div.Yield ราว4.08%
* หุ้นเติบโตแรงท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว ได้แก่ SCC (FV@B 580) EPS Growth ปีนี้กว่า 40% และปีหน้าเติบโต 8%,WORK (FV@B 45) EPS Growth ปีนี้เติบโตถึงกว่า 7 เท่า และปีหน้าเติบโต ถึง 73%, VNG (FV@B14.35) EPS Growth ปีนี้เติบโตเกือบ 1 เท่า และปีหน้าเติบโตอีก 8.4%
* หุ้น Dividend Yield สูง ได้แก่ INTUCH (FV@B113) Div.Yield 6.5%, ADVANC (FV@B 285) Div.Yield 6%, BTS(FV@B12) Div.Yield 6.9%
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเก็งกำไรระยะสั้น หากประเมินจากสถานการณ์แวดล้อมแล้วจะเห็นว่าความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดความผันผวนยังอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากยังอยู่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนของสถานการณ์หลายเรื่อง เช่น พัฒนาการของสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงความผันผวนของตลาดหุ้นจีน

*** บล.กสิกรไทย คาดเหตุระเบิดฉุดกำไรหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวปีนี้ 10-20%
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ระเบิด 2 ครั้งในกรุงเทพมหานครมองว่าจะส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวไทยระยะสั้น เหตุการณ์ดังกล่าว จะสร้างความกังวลเพิ่มเติมต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางมาประเทศไทย โดยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในเดือน ส.ค. 2558 แต่ลดลงอย่างมาก 16-24% ใน เดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. 2558 โดยประมาณการดังกล่าวมี สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง 30-60% ในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2558 จากตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ 100,000 -200,000 ต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับช่วงที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดว่า จะเห็นความเสี่ยงขาลง (downside) ต่อกำไรของหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวในกรอบ 10-20% ในปี 2558 โดยคาดว่า ERW จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่ 85% ต่อรายได้ทั้งหมดของบริษัทในปี 2558 ขณะที่ MINT จะได้ร้บผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากมีการกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจในต่างประเทศ (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 12% ต่อรายได้ทั้งหมดในปี 2558)
ด้านกลุ่มสายการบินจะเผชิญกับผลกระทบด้านกำไรที่มากกว่ากลุ่มสนามบิน เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนคงที่ที่มากกว่า และมีโอกาสที่บริษัทสายการบินจะเผชิญกับแรงกดดันในการปรับลดค่าตั๋วได้

*** บลจ.กสิกรไทย ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปลายปีอยู่ที่ 1400-1450 จุด
นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับกรณีการวางระเบิดบริเวณราชประสงค์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลดลงรุนแรงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ล่าสุด (ณ 19 ส.ค. 58) ปิดตลาดครึ่งเช้าอยู่ที่ 1,378.04 จุด โดยปิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5.43 จุด หรือประมาณ 0.40%
ทั้งนี้ ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว หุ้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง คือหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มโรงแรม การบินและขนส่ง โดยปรับตัวลดลงที่ประมาณ 7-10% ในขณะที่ตลาดโดยรวมปรับลดลงประมาณ 2.56% ด้านค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 0.70% มาอยู่ที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ( ณ 18 ส.ค 58) จากความตื่นตระหนกของตลาด อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทยังไม่น่ากังวลนัก เนื่องจากเป็นไปในทิศทางเดียวกับการอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค
บลจ.กสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการดัชนีหุ้นไทยปลายปีลงมาอยู่ในช่วง 1,400-1,450 จุด เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตได้ช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ ทั้งนี้ คงต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วแค่ไหนเพื่อประเมินผลกระทบในระยะต่อไป
“ ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะยังคงมีความผันผวนเนื่องจากขาดปัจจัยบวก ประกอบกับผลกระทบของเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวต่อกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และเป็นหนึ่งในปัจจัยเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ปัจจัยที่ยังขยายตัวได้ตั้งแต่ต้นปี การที่หลายประเทศออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางมายังไทย รวมถึงการปรับลดค่าเงินหยวนของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ดังนั้น จากนี้ไปภาครัฐจะต้องมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป” นางสาวธิดาศิริกล่าว
นางสาวธิดาศิริกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทางผู้จัดการกองทุนของบลจ.กสิกรไทย ได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และมีการปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์ที่เหมาะสม และมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับคำแนะนำแก่ผู้ลงทุนในช่วงนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนสูง ผู้ลงทุนระยะสั้นที่สามารถรับความผันผวนได้ค่อนข้างจำกัด ยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุนเพิ่มเติม และควรรอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ขณะที่นักลงทุนระยะกลางถึงยาวตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปที่สามารถรับความผันผวนได้ค่อนข้างสูง อาจมีการทยอยเข้าซื้อได้ โดยมองว่าในระยะกลางถึงยาว ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ ด้วยระดับราคาปัจจุบันที่ปรับลดลงมาค่อนข้างมากแล้ว และโอกาสปรับลดลงไปมากกว่านี้มีอยู่จำกัด ทั้งนี้หากภาครัฐสามารถเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณได้เต็มที่ และสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้ น่าจะทำให้ภาพรวมในระยะยาวยังคงมีโอกาสเติบโตได้


*** บจ. ไทยแกร่งกำไรสุทธิโตต่อเนื่องเป็น 2.13 แสนลบ. ในไตรมาส 2/2558
ดร.สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บจ. ใน SET จำนวน 511 บริษัท หรือ93.42% จากทั้งหมด 547 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG) นำส่งผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2558 งวดสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 พบว่า บจ. มีกำไรสุทธิจำนวน 409 บริษัท คิดเป็น 80.04% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด โดยมีกำไรสุทธิ 213,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.65% จากงวดเดียวกันปีก่อน มียอดขายรวม 2,591,971 ล้านบาท ลดลง 7.89% สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกปี 2558 ของ บจ. เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับไตรมาส 2/2558 คือ มีกำไรสุทธิ 442,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.81% แต่มียอดขายรวม 5,115,359 ล้านบาท ลดลง 9.35% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน
“ไตรมาส 2/2558 และในงวดครึ่งแรกของปี 2558 บจ. มียอดขายลดลง เนื่องจากหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดปิโตรเคมีภัณฑ์มียอดขายลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับลง ทั้งนี้ หากไม่รวมหมวดธุรกิจดังกล่าว บจ. จะมียอดขายและมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นจากงวดเดียวกันในปีก่อน อย่างไรก็ตาม บจ. ยังสามารถทำกำไรได้เติบโตต่อเนื่องเป็นเพราะ บจ. สามารถปรับตัวด้านการบริหารต้นทุนได้ดี มีประสิทธิภาพการทำกำไรดีขึ้น โดยในไตรมาส 2/2558 มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นจาก 19.69% เป็น 23.18% และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 7.17% เป็น 8.22% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันในปีก่อน เช่นเดียวกับในงวดครึ่งแรกปี 2558 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นจาก 19.37% เป็น 22.60% และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 7.55% เป็น 8.65%” ดร.สันติ กล่าว
บจ. ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/2558 บจ. มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (debt to equity ratio) (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ 1.32 เท่า และมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest coverage ratio) ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.05 เท่า โดยหมวดธุรกิจที่มีการเติบโตดีทั้งด้านยอดขายและกำไรสุทธิ ทั้งในช่วงไตรมาส 2/2558 และงวดครึ่งแรกปี 2558 ได้แก่ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดพาณิชย์ หมวดการแพทย์ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ในส่วนของธุรกิจผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย (retail finance)



 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com