April 20, 2024   8:20:10 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > TRUE เพิ่มทุน 6 หมื่นลบ.รองรับลงทุน 4G
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 02/02/2016 @ 08:30:28
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

TRUE ประกาศเพิ่มทุน 6 หมื่นล้านบาท ขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 1.5 หมื่นล้านหุ้น คาดกำหนดราคาขายภายใน 31 มี.ค. นี้ ใช้ราคาเฉลี่ย 1 เดือน ดิสเคาท์ 10% เงินส่วนใหญ่ใช้ชำระหนี้ หวังรักษาหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ไม่เกิน 2 ต่อ 1 และรองรับการลงทุน 4G หลังประมูลชนะ 2 ใบอนุญาต ทำให้ต้องลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1 แสนล้านบาท ยันจ่ายค่าไลเซนส์ 4G คลื่น 900MHz งวดแรกพร้อมแบงก์การันตีภายใน ก.พ.นี้ วงการแนะจับตาภาระกิจดันราคาหุ้นบนกระดานในช่วง 4.50-7 บาท ก่อนเคาะราคาหุ้นเพิ่มทุน พร้อมแนะ "เลี่ยงลงทุน" เหตุราคาหุ้นมีแนวโน้มผันผวน คาดปีนี้พลิกขาดทุนราว 5.2 พันล้านบาท

**เพิ่มทุน RO 1.5 หมื่นล้านหุ้น
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 60,000 ล้านบาท จาก 98,431 ล้านบาท เป็นจำนวน 158,431 ล้านบาท
โดยการออกหุ้นเพิ่มทุนอีก 15,000 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 4 บาท ส่งผลให้จำนวนหุ้นจะเพิ่มเป็น 39,607 ล้านหุ้น จากเดิม 24,607 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ราคาและสัดส่วนการเสนอขายยังไม่กำหนดตายตัว เนื่องจากในปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวน แต่กำหนดวิธีการคำนวณเท่ากับ ผลลัพธ์ของ 0.9 คูณด้วยราคาเฉลี่ยการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2559 จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2559 รวมเป็นเวลา 20 วันทำการ โดยบริษัทฯ จะแจ้งข้อมูลราคาเสนอขายที่คำนวณได้ดังกล่าว ให้ผู้ถือหุ้นทราบโดยการประกาศผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 31 มีนาคม 2559 ซึ่งการขายหุ้นอาจเสนอขายทั้งหมดหรือบางส่วน ในคราวเดียวกันทั้งจำนวนหรือเสนอขายเป็นคราวๆ ไป ดังนั้น อัตราส่วนและราคาจะกำหนดโดยการคำนวณจากจำนวนหุ้นที่แท้จริงที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

**ใช้ลดหนี้-รองรับลงทุน 4G
การเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของบริษัทฯ เนื่องจากภาระหนี้สินลดลง ลดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย และรองรับการเติบโตทางธุรกิจ เพื่อประโยชน์ระยะยาวของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น ตลอดจนทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานในอนาคต
"การระดมทุนที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายกลุ่มทรู ในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (Net Debt-to-EBITDA Ratio) ให้ได้ที่ระดับไม่เกิน 2 ต่อ 1 ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งยังจะคงอันดับเครดิตเรตติ้งที่เป็นระดับการลงทุน หรือ Investment Grade" นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ของ TRUE กล่าวในเอกสารเผยแพร่
สำหรับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน และการใช้เงินทุนในส่วนที่เพิ่ม
1. เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งเป็นเงินที่กู้ยืมมาใช้ในการลงทุนในธุรกิจดังต่อไปนี้
- ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ประมาณ 8,000 ล้านบาท
- ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประมาณ 32,000 ล้านบาท
2. ลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และอื่นๆ ประมาณ 20,000 ล้านบาท
กำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้น 8 เม.ย. 2559 วันที่ไม่ได้รับสิทธิเข้าประชุม (XM) 9 มี.ค. 2559

**คาดใช้เงินลงทุนอีกกว่า 1 แสนลบ.
TRUE ระบุว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้น 99.99% จะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz เมื่อได้ดำเนินการตามเงื่อนไขภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะได้ดำเนินการเสร็จสิ้น ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้
โดยบริษัทฯ ต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 108,929 ล้านบาท สำหรับค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ชนะประมูลในราคา 76,298 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และเงินลงทุนในเฟสแรกเพิ่มเติมสำหรับโครงข่ายโทรคมนาคมภายใต้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทั้ง ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz อีกจำนวนประมาณ 32,631 ล้านบาท ใบอนุญาตคลื่น 900MHz มีระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

**ต้องดันหุ้นในกระดาน 4.50-7 บาท
ทั้งนี้คำนวณคร่าวๆ หาก TRUE ต้องการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดภายในครั้งเดียว และต้องการเงินไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท สัดส่วนการเสนอขายจะอยู่ที่ 1 หุ้นเดิม ต่อ 0.61 หุ้นใหม่ และราคาขายไม่ควรต่ำกว่า 4 บาทต่อหุ้น
เท่ากับว่า TRUE ต้องเลี้ยงราคาหุ้นบนกระดาน ไม่ให้ต่ำกว่า 4.50 บาท ตามเงื่อนไขการกำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุน จากราคาเฉลี่ยบนกระดานในเดือน มี.ค. และมีส่วนลดราว 10%
แต่หากต้องการเงินเพิ่มทุนในระดับ 1 แสนล้านบาท ราคาหุ้นต้องอยู่ในระดับ 7 บาทขึ้นไป
"หากอยากได้เงินเพิ่มทุน 1 แสนล้านบาท ราคาหุ้นต้องอยู่เกิน 7 บาท ขึ้นไปในเดือนหน้า ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก เพราะหากขายเเพงไปก็จะยิ่งเสี่ยงที่จะขายไม่หมด สุดท้ายก็จะกลายเป็นภาระให้ต้องมาออก PP ให้กลุ่มซี.พี. เพิ่มทุน ซึ่งก็จะยิ่งดูน่าเกลียด"นักวิเคราะห์รายหนึ่งให้ความเห็น

**โบรกฯชี้เพิ่มทุนเร็วกว่าคาด แนะเลี่ยงลงทุน
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า การเพิ่มทุนดังกล่าว เร็วกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ ให้ธนาคารมีความมั่นใจในการออกแบงก์การันตี เพื่อนำไปจ่ายค่าไลเซนส์คลื่น 900MHz งวดแรก พร้อมแนะหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วง 1 เดือนนับจากนี้
เนื่องจากผู้ถือหุ้นบางส่วนอาจไม่พอใจต่อการเพิ่มทุน จึงมีการขายหุ้นออกมา ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวดลง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าราคาหุ้น ณ เดือน มีนาคม น่าจะทรงตัวได้ ก่อนจะกำหนดราคาขายหุ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับประมาณการ TRUE
"ส่วนตัวมองว่าราคาหุ้น TRUE ในกระดานควรที่จะอยู่ที่ระดับ 6-7 บาท เพื่อจูงใจผู้ถือหุ้นให้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพราะหากราคาในกระดานต่ำกว่า มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ที่ 4 บาท นั้นจะไม่น่าสนใจลงทุน" นักวิเคราะห์กล่าว
ด้านบล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ถ้าการเพิ่มทุนครั้งนี้สำเร็จ นักลงทุนเพิ่มทุนได้ตามจำนวนที่ต้องการ พื้นฐานหุ้นจะน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีผลให้ TRUE ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี
อย่างไรก็ตามในแง่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น เชื่อว่าต่อจากนี้ราคาหุ้นอาจไดลูทได้อีกไม่มาก โดยอยู่ระหว่างรอข้อมูลที่ชัดเจนมาประกอบการทบทวนราคาพื้นฐานจากเดิมให้ไว้ที่ 8 บาท เบื้องต้นอาจปรับลงเล็กน้อย
"ผลกระทบราคาบนกระดานต้องรอดูในเดือน มี.ค. จึงจะประเมินได้ชัดเจน ซึ่งไม่แน่ว่าในตอนนั้นอาจมีปัจจัยอื่นมากระตุ้นราคาก็ได้ แต่คิดว่าการที่ราคาร่วงลงมาล่วงหน้า ทำให้ต่อจากนี้หุ้นคงไม่น่าตกแรงแล้ว" นักวิเคราะห์ระบุ
ส่วนนักวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ธนชาต ประเมินยังมีโอกาสลงต่อ มีแนวรับ 6.20 บาท ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 6.55-6.75 บาท แนะนำหลีกเลี่ยง แต่ถ้ามีหุ้นอยู่แล้ว ควรขายตัดขาดทุนถ้าราคาหลุด 6 บาท

**คาดปีนี้พลิกขาดทุน 5.2 พันลบ.
นักวิเคราะห์ บล. บัวหลวง กล่าวว่า การที่ TRUE เพิ่มทุน จะส่งผลทำให้ฐานะการเงินมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะหากไม่เพิ่มทุน จะทำให้หนี้สินต่อทุนหรือ D/E สูงเกิน 2 เท่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากราคาในกระดานอยู่ที่ 6-7 บาท จะจูงใจให้ผู้ถือหุ้นเดิมให้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนะนำขาย TRUE เนื่องจาก คาดดว่าปีนี้ผลประการจะพลิกเป็นขาดทุน 5,200 ล้านบาท เพราะบริษัทต้องลงทุนจำนวนมาก จากที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 2 ใบ การลงทุนโครงข่าย ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้
โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 4 บาทต่อหุ้น

** JAS ไม่พ้นต้องเดินตามรอย
นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอสวิค เคอร์ส กล่าวว่า จากการที่ TRUE มีการประกาศเพิ่มทุนนั้น ในระยะสั้นจะมีผลกระทบทางด้านราคามีการปรับตัวลดลง และมีผลทำให้นักลงทุนอาจมีความกังวลว่า JAS จะมีการเพิ่มทุนหรือไม่ เพราะ อยู่ในสถานะเดียวกันทรู จากที่จะต้องมีการชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก 8 พันล้านบาท และต้องมี ส่วนตัวคาดว่า TRUE จะมีการเพิ่มทุนเสร็จได้ภายในครึ่งปีแรก
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า JAS มีโอกาสจะต้องเพิ่มทุนเช่นเดียวกัน แต่ JAS อยู่ระหว่างการหาพันธมิตร จึงยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะขายเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม หรือ ผู้ถือหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP)
ขณะที่ JAS มีแผนที่จะนำบริษัทย่อย เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้การเพิ่มทุน อาจจะไม่เกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะ ในช่วง 3 ปีแรก JAS จะใช้เงินไม่มากเพียง 8,000-10,000 ล้านบาท เท่านั้น แต่ในปีที่ 4 จะต้องใช้เงินจำนวนมากประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท

**หุ้น TRUE-JAS กอดคอร่วง
ด้านราคาหุ้น TRUE วันนี้ปรับตัวลดลงตั้งแต้เปิดการวื้อขาย โดยหุ้น TRUE เปิดที่ 6.45 บาท ก่อนลดลงต่ำสุดที่ 6.25 บาท หรือเกือบ 12% ก่อนปิดการซื้อขายที่ 6.60 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 7.04% มูลค่าการซื้อขาย 3,571.98 ล้านบาท
ส่วน JAS เปิดที่ 3.06 บาท และลดลงต่ำสุดที่ 2.98 บาท ก่อนปิดการซื้อขายที่ 3 บาท ลดลง 0.12 บาท หรือ 3.85% มูลค่าการซื้อขาย 1,938.58 ล้านบาท

**กสทช. มั่นใจ TRUE-JAS ไม่เบี้ยว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ตามที่หลายฝ่ายกังวลใจว่าผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ต จะไม่นำเงินค่าประมูลงวดแรก 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินมาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. นั้น สำนักงาน กสทช. ขอยืนยันว่ามีโอกาสเป็นไปได้ยากหรือไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย
เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขการประมูลไว้อย่างรัดกุม ถึงกรณีการชำระเงินค่าประมูล ซึ่งหากผู้ชนะการประมูลไม่ชำระเงินค่าประมูลให้ครบถ้วนแล้ว ไม่เพียงแต่จะต้องถูกริบหลักประกันจำนวน 644 ล้านบาทเท่านั้น แต่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น หากจะต้องมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่เต็มจำนวน
นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบว่าอาจเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในใบอนุญาตประกอบการเดิมที่ได้รับจากสำนักงาน กสทช. ที่ใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบันด้วย ยังไม่รวมถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จะต้องเสียไป หากไม่มาชำระเงินค่าประมูลงวดแรก
โดยขณะนี้ผู้ชนะการประมูลยังมีเวลาที่จะนำเงินค่าประมูลมาชำระ พร้อมทั้งดำเนินการตามเงื่อนไขการประมูลให้ครบถ้วน ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2559
สำหรับผู้ชนะประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตทั้ง 2 ราย ได้แก่ บริษัทลูกของ TRUE และ JAS

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com