March 29, 2024   7:54:30 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > "สิงเทล"ซื้อINTUCH-จับตาเทนเดอร์ฯADVANC
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 22/08/2016 @ 08:28:16
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

"สิงเทล" เขย่าวงการโทรคมนาคมไทย ดอดซื้อหุ้น INTUCH สัดส่วน 21% จาก "แอสเพน โฮลดิ้งส์" ราคา 60.83 บ./หุ้น ทำให้ถือหุ้นโดยตรงและทางอ้อมใน ADVANC รวม 31.82% จับตาต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์หรือไม่ ด้านผู้บริหาร INTUCH ยันไม่กระทบโครงสร้างบริหาร ขณะที่โบรกฯ เชื่อเป็นแค่การปรับพอร์ตของ Temasek ไม่มีผลต่อธุรกิจ ด้าน ADVANC เผยเล็งปรับนโยบายปันผล เหตุมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ยกเป็นดีลที่เขย่าวงการโทรคมนาคมไทยอีกหนึ่งดีล หลัง บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ออกมาเปิดเผยว่า Singapore Telecommunications Limited (สิงเทล) ได้เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นของบริษัทแบบมีเงื่อนไขจากบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด จะทำให้ สิงเทล ถือหุ้นทางอ้อมใน ADVANC อีกราว 8.5% เมื่อรวมกับหุ้นที่ถือโดยตรงอีก 23.32% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ "สิงเทล" ใน ADVANC ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 31.82% ทำให้เกิดคำถามถึงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ และโครงสร้างการบริหารงานในกลุ่ม INTUCH ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
โดยวานนี้ราคาหุ้น INTUCH ปิดการซื้อขายที่ระดับ 61.75 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ -0.40% มูลค่าการซื้อขาย 1,397.85 ล้านบาท ส่วน ADVANC ปิดการซื้อขายที่ระดับ 172.50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 1,289.25 ล้านบาท ขณะที่ THCOM ปิดการซื้อขายที่ระดับ 21.70 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ -0.91% มูลค่าการซื้อขาย 143.70 ล้านบาท

*** INTUCH ยัน `สิงเทล`ซื้อหุ้นเพิ่ม 21% จาก ` แอสเพน โฮลดิ้งส์ ` - หุ้นละ 60.83 บ.
บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ชี้แจงข้อมูลผ่านเอกสารเผยแพร่ ว่า ตามที่ Singapore Telecommunications Limited (สิงเทล) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในวันที่ 18 สิงหาคม 2559 ได้เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นของบริษัทแบบมีเงื่อนไขจากบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 21 ของทุนชำระแล้วของบริษัทในราคา 60.83 บาทต่อหุ้น
อย่างไรก็ตาม การทำรายการดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของสิงเทลและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้คาดว่ารายการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559
บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า ในขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการในกรณีดังกล่าวจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทแต่อย่างใด หากบริษัทได้รับแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม บริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป

*** ยันไม่เปลี่ยนโครงสร้างบริหาร
น.ส.ทมยันตี คงพูลศิลป์ รองกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานการลงทุนสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH เปิดเผยถึง กรณีสิงเทล ซื้อหุ้นของบริษัท ยืนยันว่า ไม่กระทบกับการดำเนินของธุรกิจ โดยเป็นการทำรายการของผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร
โดยเบื้องต้น สิงเทล ไม่ต้องทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้น INTUCH เนื่องจากเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนไม่ถึง 25% และไม่ต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์หุ้นบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC แม้เข้าถือหุ้นเพิ่มทางอ้อม
“อำนาจในการบริหารยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และกระบวนการนั้นสิงเทลยังต้องรอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นก่อน ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จและชัดเจน คาดว่าจะเป็นในช่วงปลายปีนี้ สำหรับปัจจุบัน สิงเทล ถือหุ้นโดยตรงใน ADVANC ราว 23%”น.ส.ทมยันตี กล่าว

*** เปิดเกณฑ์ทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ของก.ล.ต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มี เกณฑ์การขอผ่อนผันการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ไว้ดังนี้
(1) การได้มาจะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจในการควบคุมกิจการ
(2) การได้มาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือหรือฟื้นฟูกิจการ
(3) การได้มาซึ่งหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการมีมติ
ให้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แก่บุคคลนั้นโดยไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ (whitewash) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
(4) กรณีอื่นใดซึ่งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
ได้มีแนววินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว
(5) กรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรประการอื่น

*** บล.ทรีนีตี้ มองแค่ Temasek ปรับพอร์ต ไม่มีผลต่อธุรกิจของ INTUCH
บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ประเด็นข่าวที่สิงเทล จะซื้อ INTUCH จาก Temasek นั้น เรามีความเห็นเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากไม่ส่งผลต่อแนวทางในการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัท INTUCH แต่อย่างใด เราเห็นว่าเป็นการปรับพอร์ทการลงทุนของ Temasek มากกว่า ระยะสั้นหุ้นอาจจะมีการผันผวนได้ตามกระแสข่าวดังกล่าว
ส่วนเรื่องโครงสร้างธุรกิจ มองว่า INTUCH ยังคงเน้นการสร้าง Sustainable Wealth ให้กับผู้ถือหุ้น พยายามสร้างฐานรายได้ใหม่ที่นอกเหนือจาก ADVANC ซึ่งยังคงเป็นรายได้ส่วนใหญ่ให้กับบริษัทกว่า 90% บริษัทมีความสนใจในกลุ่มของ FinTech ซึ่งจะช่วยต่อยอดในธุรกิจ Mobile ที่ ADVANC มีลูกค้าอยู่กว่า 40 ล้านเลขหมาย ยังคงเงินลงทุนใน Venture Capital 200 ล้านบาท ปัจจุบันมี Startup ที่ได้ลงทุนไปแล้วเช่น Wongnai, Ookbee, Playbasis, MediTech เป็นต้น

*** ชี้ไม่ต้องทำเทนเดอร์ เหตุเป็นการเพิ่มสัดส่วนทางอ้อม
นายประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล. บัวหลวง เปิดเผยว่า กรณี Singtel ได้เข้าซื้อหุ้น INTUCH เป็นการปรับโครงสร้างภายในการถือหุ้นของกลุ่ม Temasek เพื่อให้ Singtel เข้ามาจัดการในด้านธุรกิจโทรคมนาคมอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนตัวคาดว่าในระยะต่อไปอาจเห็น Singtel เข้ามามีบทบาทช่วยส่งเสริมศักยภาพของกลุ่ม INTUCH เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันการแข่งขันด้านธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์มือถือค่อนข้างรุนแรงมากพอสมควร
สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมใน ADVANC ของ Singtel ที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก 8.49% จากเดิม 23.3% เป็น 31.81% แม้สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นก้าวข้าม 25% แต่ในกรณีดังกล่าวไม่ต้องมีการทำ Tender Offer เพราะถือเป็นการเพิ่มสัดส่วนทางอ้อม ซึ่งการทำ Tender Offer จะใช้กับบริษัทที่มีความเจตจำนงค์ซื้อเท่านั้น
ทั้งนี้แนะนำนักลงทุนสามารถถือครองได้ทั้ง ADVANC และ INTUCH เพื่อเน้นรับอัตราเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง ส่วนในระยะต่อไปให้จับตาบทบาทของ Singtel ที่จะมีกับกลุ่ม INTUCH ในอนาคต

*** โบรกฯ ให้ ADVANC อยู่ในระดับ neutral เหตุราคาสูงมากแล้ว
นายเอกภาวิน สุนทราภิชาติ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่ม Temasek คงมีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายใน โดยจะเน้นให้ Singtel มีบทบาทควบคุมในธุรกิจโทรคมนาคมมากขึ้น เพราะด้วยราคาซื้อขายถือว่าเป็นราคาตลาดตามปกติ แต่การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่กลุ่มต่างชาติให้ความสนใจธุรกิจโทรคมนาคมในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเข้าซื้อหุ้น INTUCH ในครั้งนี้ประเมินว่าคงไม่มีการเข้ามามีส่วนร่วมบริหารกลับกลุ่ม INTUCH อย่างมีนัยสำคัญ
ด้านกรณีที่ Singtel จะถือสัดส่วนหุ้น ADVANC เพิ่มขึ้นแบบทางอ้อมนั้น ตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ไม่กำหนดไว้ว่าต้องทำ Tender Offer กับสัดส่วนหุ้นที่เพิ่มขึ้นในทางอ้อม
ทั้งนี้ แนะนำหุ้น ADVANC อยู่ในระดับ neutral เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงมากแล้ว หลังตอบรับกรณีที่ ADVANC มีความสามารถจ่ายปันผลได้ 100% ของกำไรสุทธิ หรืออยู่ที่ประมาณ 6% ตามเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ อย่างไรก็ตามประเมินราคาเป้าหมายปีนี้อยู่ที่ 190 บาท

*** เปิดโครงสร้าง ผถห. ADVANC ก่อนสิงเทลซื้อ INTUCH
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แจ้งโครงสร้างผู้ถือหุ้น ADVANC ล่าสุด ณ วันปิดสมุดทะเบียน 5 เม.ย. 59 ดังนี้
1 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 1,202,712,000 หุ้น คิดเป็น 40.45%
2 SINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD. ถือหุ้น 693,359,000 หุ้น คิดเป็น 23.32%
3 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้น 61,753,215 หุ้น คิดเป็น 5.44%
4 LITTLEDOWN NOMINEES LIMITED ถือหุ้น 50,478,400 หุ้น คิดเป็น 1.70%
5 THE BANK OF NEW YORK MELLON ถือหุ้น 47,645,764 คิดเป็น 1.60%

*** ADVANC ชี้ "สิงเทล" ซื้อ INTUCH หนุนโทรคมนาคมไทย
นางสาวอาริยา ศิลากร ผู้จัดการส่วนงานนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ว่า กรณีข่าว "สิงเทล" ธุรกิจด้านเทเลคอมของสิงคโปร์ จะเข้าซื้อหุ้นของ INTUCH เพิ่ม ส่วนตัวมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจโทรคมนาคมในไทย ที่ยังมีความน่าาสนใจ และในระยะยาวยังมีการลงทุนต่อเนื่อง

*** ADVANC แย้มอาจปรับนโยบายปันผล เหตุมีค่าใช้จ่ายคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz
นางสาวอาริยา เปิดเผยถึงผลงานของ ADVANC ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนเป้าหมายการดำเนินธุรกิจช่วง 3-5 ปีต่อจากนี้ และอาจพิจารณาปรับนโยบายการจ่ายปันผลจาก 100% ของกำไรสุทธิ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ไปจนถึงปี 63
โดยแบ่งเป็นปี 60 จะชำระเป็นเงิน 10,247 ล้านบาท และปี 61 ชำระเป็นเงิน 14,267 ล้านบาท ปี 62 ชำระเป็นเงิน 4,020 ล้านบาท และปี 63 ชำระเป็นเงิน 59,574 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
แนวโน้มธุรกิจในครึ่งปีหลัง ยอมรับว่า EBITDA Margin จะลดลงจากช่วงครึ่งปีแรกที่ 41.3% เนื่องจากรายได้จากการขายโทรศัพท์ปีนี้คาดว่าจะลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้จะใกล้เคียงกับปีก่อน โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมารายได้จากการขายโทรศัพท์ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ประเมินว่าอัตรากำไรจากการขายโทรศัพท์ในปีนี้จะอยู่ในระดับขาดทุน จากเดิมที่คาดว่าจะมีอัตรากำไรสุทธิที่ 3-4%
ด้าน EBITDA Margin ทั้งปีจะอยู่ที่ 38-39% ส่วนรายได้จากการให้บริการปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับปีก่อน
ส่วนงบลงทุนโครงข่ายบริษัทฯยังตั้งไว้ที่ 40,000 ล้านบาท และยังไม่มีแผนปรับประมาณการ และครึ่งปีแรกใช้เงินลงทุนไปแล้ว 23,800 ล้านบาท ขณะเดียวกันกระแสเงินลงทุนต่างชาติในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในหุ้น ADVANC มากขึ้น สอดคล้องกับภาวะตลาด

*** THCOM รับรายได้ปีนี้ไม่ขยับ หลัง CTH - GMM B เลิกกิจการ
นายวุฒิ อัศวเสริมเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM เปิดเผยว่า ปีนี้จะ ทำรายได้ในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ทำได้ราว 1.36 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่ารายได้จะเติบโตที่ 5 - 6% จากปีก่อน หลังจากได้รับผลกระทบกรณี บริษัท ซีทีเอช จำกัด หรือ CTH และบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด หรือ GMM B ยกเลิกสัญญาเช่าช่องสัญญาณ ซึ่งบริษัทฯประเมินว่าจะส่งผลต่อรายได้รวมในปีนี้ราว 7% แต่ประเมินว่ากรณีดังกล่าวเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการหาลูกค้าทดแทน
ปัจจุบัน มีอัตราการใช้งาน(Utilization Rate) ของดาวเทียมไทยคม 5, 6, 7, 8 อยู่ที่ 60 - 70 % ซึ่งคาดว่าจะสามารถปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 75% ได้ หลังจากไทยคม 8 มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 30% ซึ่งคาดว่าจะทำได้ภายในไตรมาส 2/60 เนื่องจากยังมีความต้องการเช่าสัญญาณในตลาดอยู่มาก
ส่วนกรณีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ยกเลิกสัญญาเช่าไทยคม 4 หรือ IPSTAR มองว่าเป็นโอกาสที่ดีต่อบริษัทฯ เนื่องจากเดิม TOT เช่าสัญญาณในลักษณะเหมาทำให้ราคาไม่สูง นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีเงื่อนไขไม่ให้บริษัทฯเข้าไปแข่งขันธุรกิจเดียวกับ TOT ได้
อย่างไรก็ดีบริษัทฯอยู่ในระหว่างการขยายตลาดไปยังผู้บริโภคที่มีความต้องการรับชมสื่อโทรทัศน์คุณภาพสูง เช่น สัญญาณความละเอียดแบบHD และสัญญาณความละเอียดแบบUltra HD (4K) มากขึ้น รวมถึงการขยายไปยังประเทศเกิดใหม่ เช่น ประเทศพม่า ศรีลังกา และบังกลาเทศเพิ่มเติมเนื่องจากมีแนวโน้มในการเติบโตอีกมาก
นอกจากนี้อยู่ระหว่างติดตามความชัดเจน กรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และรัฐบาลเตรียมนำดาวไทยคม 7 - 8 กลับเข้าสู่ระบบสัมปทานอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯต้องกลับมาเสียค่าใช้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ที่ 20.5% จากเดิมที่เป็นระบบใบอนุญาติซึ่งมีค่าธรรมเนียมเพียง 5.25% โดยบริษัทฯพร้อมต่อสู้หากเกิดความไม่เป็นธรรม

*** ทรีนีตี้ มองราคา THCOM ปัจจุบันสะท้อนข่าวร้ายหมดแล้ว ให้เป้าหมาย 40 บ.
บล.ทรีนีตี้ ประเมินแนวโน้ม ของ THCOM ว่า ครึ่งปีหลังยังคงถูกกดดัน ประเด็นลูกค้า CTH และ GMM B ทำให้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังของบริษัทหดตัว โดยผลกระทบต่อรายได้ประมาณ 7% ในส่วนประเด็นเรื่องการที่รัฐบาลจะนำไทยคม 7 และ 8 กลับเข้าไปสู่สัญญาสัมปทานนั้น ยังอยู่ในระหว่างการพูดคุยระหว่างบริษัทกับรัฐบาล แต่อย่างไรก็ดีผู้บริหารให้ความเห็นว่าการจะให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ที่ขอใบอนุญาตจาก กสทช. ตามข้อกำหนดแล้วนั้น จะกลับไปเป็นสัญญาสัมปทานอย่างเดิมนั้นคงทำไม่ได้ แต่อาจจะเป็นการทำสัญญา Deep of Agreement ที่จะให้ผลประโยชน์กับทางภาครัฐฯ เช่นการใช้ Transponder ฟรี เป็นต้น
ส่วนของปี 2560 TOT จะมีการยกเลิกสัญญาในส่วน Broadband Bandwidth ที่ TOT ได้เป็น สัญญา Excusive ในการจำหน่าย แต่ผู้บริหารมองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เพราะบริษัทสามารถนำส่วนดังกล่าวไปขายต่อเองได้ ซึ่งคงเป็นการขายให้กับ Mobile Operator ในลักษณะการให้บริการ Backhaul
ระยะสั้นยังคงถูกกดดันในเรื่องของ Earing และ Regulatory Risk แต่มองว่าราคาได้สะท้อนประเด็นดังกล่าวไปแล้ว เรายังคงให้ราคาเหมาะสมที่ 40 บาท THCOM เป็น Cash Cow มี Operating Cash ปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท EV/EBITDA อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ที่ประมาณ 5x รอเพียง Catalyst ในยอดจำหน่อยช่องสัญญาณไทยคม 8 ที่จะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ 17%


 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com