March 28, 2024   9:08:39 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > "สงครามค่าเงิน" ป่วนโลก!! ผู้ส่งออกหวั่นอินเดีย-อิเหนา ชิงตัดราคาสินค้าเกษตร
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 07/09/2018 @ 08:32:23
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ส่งออกไทยเสี่ยง! "อินโดฯ-อินเดีย" ค่าเงินดิ่ง ชิงความได้เปรียบ ตัดราคาแข่งขันโค้งสุดท้าย กระทบสินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา น้ำตาล อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ จี้แบงก์ชาติ! ดูแลค่าบาท กูรูแนะเอกชนปรับตัวก่อนส่วนต่างกำไรลด

แม้ค่าเงินบาทของไทยในปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ จากความกังวลปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลให้ค่าเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลงอย่างหนัก โดยเฉพาะ 'ค่าเงินรูเปีย' ของอินโดนีเซีย ที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541

เช่นเดียวกับ 'ค่าเงินรูปี' ของอินเดีย ที่ร่วงลงอย่างหนักต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เริ่มมีความกังวลจากบรรดาผู้ส่งออกว่า การที่เงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลของประเทศต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

การเคลื่อนไหวสกุลเงินภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 4 ก.ย. 2561 มีเพียง 'เงินเยน' ของญี่ปุ่นเท่านั้น ที่แข็งค่าสูงสุด 1.5% ขณะเงินสกุลอื่นอ่อนค่าลง โดยเงินบาทอ่อนค่า 0.5% , ริงกิต มาเลเซีย 2.2% , ดอลลาร์ สิงคโปร์ 2.8% , ดอลลาร์ ไต้หวัน 3.1% , วอน เกาหลีใต้ 4.0% , หยวน 4.8% , เปโซ ฟิลิปปินส์ 6.7% , รูเปีย 9.0% และที่อ่อนค่ามากที่สุด คือ รูปี 10.7%


กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

วอนแบงก์ชาติดูแลค่าบาท

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สมาชิกของ สรท. มีความกังวลต่อค่าเงินของหลายประเทศที่อ่อนค่าลงมาก เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ได้เปรียบสินค้าไทยในการนำเสนอราคาต่อลูกค้าที่ต่ำลง เพราะอินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งขันส่งออกไทยหลายสินค้าในตลาดโลก เช่น อินเดีย ในสินค้าข้าว น้ำตาล อัญมณี และเครื่องประดับ เป็นต้น และอินโดนีเซีย ในสินค้าผลไม้เมืองร้อน เช่น สับปะรด รวมถึงสินค้ายางพารา และอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น ค่าเงินของทั้ง 2 ประเทศ ที่อ่อนค่าลง

"การแข็งค่าของเงินบาท จะกระทบมากต่อการแข่งขันในกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกของไทย เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และมีต้นทุนการผลิตเป็นเงินบาท พอบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราคาสินค้าเกษตรไทยก็จะสูงขึ้น จากเดิมสินค้าเกษตรในประเทศหลายรายการของไทยราคาก็อ่อนตัวอยู่แล้ว ดังนั้น ขอให้ทางแบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพในทิศทางที่อ่อนค่า หรือให้สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค จะเป็นประโยชน์กับการส่งออกของประเทศ จากปีที่แล้วเงินบาทเฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เวลานี้แข็งค่าระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้ส่งออกหลายรายผลประกอบการติดลบ จากรายรับรูปเงินบาทลดลง"


หวั่นอินเดียตัดราคาข้าว

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า อินเดียเป็นคู่แข่งสำคัญของการส่งออกข้าวไทย จากเงินรูปีที่อ่อนค่าลง ผู้ส่งออกข้าวรู้สึกกังวลจะกระทบต่อการแข่งขันส่งออกข้าวไทยกับอินเดีย (ปี 2560 อินเดียส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ปริมาณ 12.04 ล้านตัน ไทยอันดับ 2 ปริมาณ 11.67 ล้านตัน และ 7 เดือนแรกปีนี้อินเดียส่งออกแล้ว 7.34 ล้านตัน ไทย 6.16 ล้านตัน) เพราะราคาข้าวอินเดียอาจจะถูกลงอีก จากเวลานี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทยและอินเดียใกล้เคียงกันที่ 390-395 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

"แม้ข้าวไทยจะแข่งขันดุเดือดกับข้าวอินเดียและเวียดนาม แต่ปีนี้ยังเชื่อว่า ไทยจะยังสามารถส่งออกข้าวได้ในระดับ 11 ล้านตัน แต่คงน้อยกว่าอินเดียที่เขามีผลผลิตและมีข้าวส่งออกมากกว่าไทย และเวลานี้ก็ได้เปรียบไทยเรื่องค่าเงิน ซึ่งจากค่าเงินบาทช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แกว่งตัวมาก จากระดับ 33 บาท มาเหลือระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้น 2% ถ้าสมมุติราคาข้าวไทย 400 ดอลลาร์ต่อตัน ก็จะสูงขึ้นอีก 8 ดอลลาร์ต่อตัน อยากให้แบงก์ชาติช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ตํ่ากว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ เพราะถ้าแข็งค่ามากกว่านี้ส่งออกไทยจะแข่งขันลำบาก"

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

แนะผู้ส่งออกเพิ่มขีดแข่งขัน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สกุลเงินของหลายประเทศที่อ่อนค่าจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน เช่น ฟิลิปปินส์ส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์อาจจะลดราคาแข่งกับไทย ส่วนอินโดนีเซียนั้น ประเภทสินค้าส่งออกถ่านหิน , นํ้ามันปาล์ม ไม่เหมือนกับไทย แต่อาจจะมีอิเล็กทรอนิกส์หรือส่งออกรถยนต์ไปอาเซียนอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยควรพัฒนาศักยภาพเพิ่มความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการเน้นทำตลาดในประเทศและเพื่อนบ้าน

"การอ่อนค่าของสกุลเงินช่วยให้ผู้ส่งออกมีกำไรมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยระยะสั้น ถ้าจะช่วยทั้งประเทศต้องเก็บภาษีกับกลุ่มผู้ส่งออก เช่น อาร์เจนตินา โดยในแง่ของผู้กำหนดนโยบายควรปล่อยตามกลไกตลาดและช่วยสร้างกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก"

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สกุลเงินของประเทศต่าง ๆ ที่อ่อนค่ากว่าสกุลเงินบาทนั้น อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนที่อาจจะมีความกังวลกับสกุลเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ แต่กรณีการอ่อนค่าของแต่ละสกุลเงินนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ เช่น บางประเทศสกุลเงินอ่อนค่ามาจากปัจจัยดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ อัตราเงินเฟ้อสูงประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับตํ่าและมีภาระหนี้ต่างประเทศสูง ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านั้นมีความเปราะบางและมีผลต่อจิตวิทยาให้สกุลเงินอ่อนค่าลง

ปิโตรเคมี-นํ้าตาล-แอร์เสี่ยง

สำหรับเมืองไทย นอกจากไม่มีปัจจัยดังกล่าวแล้ว เงินบาทไม่สะท้อนการอ่อนค่ามากนัก ซึ่งอาจจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทรถยนต์ ปิโตรเคมี นํ้าตาล แอร์

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com