April 23, 2024   1:30:32 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > สำนักข่าวรัชดา
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 17/12/2018 @ 08:28:36
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน


สำนักข่าวรัชดา

หัสเดิมคิดว่า คงต้องเขียนถึงความอลหม่านใน “บ้านณรงค์เดช” อย่างละเอียดสักหน่อย

เพราะถึงขั้นที่ผู้เป็นพ่อ คือ “ดร.เกษม ณรงค์เดช” ในวัย 83 ขวบปี

ต้องแบกหน้าตั้งโต๊ะแถลงไขให้สังคมได้รับรู้ว่า ตนถูกลูกในไส้ คือ “ณพ ณรงค์เดช” ปลอมลายเซ็น!!! เพื่อทำธุรกรรมหุ้นฉาว “วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ” หรือ WEH

งานนี้ เกี่ยวพันกับ “คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา” แม่ยายสุดเลิฟของนายณพซะด้วย! ไม่รู้ว่าโดยสมัครใจหรือไม่ และข้อมูลจากฝั่งบ้านใหญ่เท็จจริงมากน้อยอย่างไร

ที่แน่ ๆ เวลานี้ฝ่ายลูกชายเที่ยวพูดกับใครต่อใครแล้วว่า “พ่อเซ็นเองลืมเอง!”

เช่นนั้นจะเป็นการสื่อให้สังคมเชื่อว่า บิดาผู้ให้กำเนิดจนเติบใหญ่มาเป็นผู้เป็นคน (ดีหรือชั่ว ไม่รู้!) เป็นบุคคลฟั่นเฟือนอย่างนั้นฤา ?

คำถามคือ…คนสติไม่ดีเพราะอายุมาก ถึงขั้นลืมว่าตัวเองเซ็นทำธุรกรรมหุ้นเป็นหมื่นล้าน…จะมีปัญญามานั่งแถลงกับสื่อฯ ได้เป็นชั่วโมง ๆ ขนาดนั้นเชียว ???

…อีกไม่นานเรื่องนี้ต้องกระจ่าง วันนี้พอก่อนไม่พูดเยอะ…เจ็บคอ!!!

กลับเข้าประเด็นหลัก กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (สัญจร) เมื่อวันที่ 12-13 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติผลประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ “บงกช-เอราวัณ”

เป็นที่ประจักษ์ว่า “ปตท.สผ.” หรือ PTTEP ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่งอย่างเด็ดขาด!!

กระนั้น เกิดคำถามขึ้นภายหลังว่า ตกลงที่ได้สิทธิดำเนินการมาแล้ว “ดีหรือไม่ดี ?” เพราะราคาหุ้น สผ.กลับทรุดตัวลงอย่างหนัก

จากวันที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ 13 ธันวาคม 2561 ราคาหล่นฮวบลงมาแล้วเกือบ 10% โดยสาเหตุเกิดจากความกังวลว่า “ชนะประมูลด้วยการหั่นราคา” อาจส่งผลให้ สผ.ไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

โดยเฉพาะการเสนอ “ค่าคงที่ราคาก๊าซ” ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู สำหรับทั้ง 2 แหล่ง เมื่อเทียบเคียงกับเงื่อนไขตามสัญญาสัมปทานในปัจจุบัน ซึ่งบงกชอยู่ที่ 214.26 บาท และเอราวัณที่ 165 บาท ถือว่ามีส่วนต่างอย่างมีนัยสำคัญ

ประเด็นนี้ “พงศธร ทวีสิน” ซีอีโอ PTTEP กล่าวย้ำผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ตัวเลข 116 บาทตามข้อเสนอใหม่ถือว่า “คุ้มค่า!!!” แม้ยอมรับว่า “ผลตอบแทนต่อหน่วย” อาจจะลดลง

แต่ถือว่าตัวเลขใหม่ที่ต่ำลงนั้น สอดคล้องกับต้นทุนในการเข้าดำเนินการตามสัญญาประเภทใหม่ที่ถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสามารถใช้ระบบ และแท่นขุดเจาะเดิมได้ในทันที โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มในช่วงแรก

ถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่า ผู้ประกอบการเดิมต้องส่งมอบสิ่งปลูกสร้างเพื่อการผลิตให้รัฐ เมื่อสัมปทานหมดอายุลง และรัฐก็สามารถนำไปปล่อยเช่าให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตได้ในราคาถูก

นอกเหนือจากนี้ การได้รับสิทธิดำเนินการในทั้ง 2 แหล่ง ถือเป็นการเพิ่มปริมาณการผลิตที่ไม่เคยมีมาก่อน แน่นอนในเชิง “ซินเนอร์ยี่” นั่นย่อมหมายถึง ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอย่างน้อยที่สุดจะสามารถชดเชยราคาต่อหน่วยที่ลดลง

รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซเผื่อจำหน่ายได้มากขึ้น และสำคัญที่สุดคือต้นทุนการผลิตที่ลดลง ตามหลักการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ด้วย

“บริษัทจะได้รับผลบวกในแง่การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตต่ำลงกว่าเดิม 20-25% และยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทั้งในส่วนการจัดซื้อจัดจ้างหรือการขนส่งตามปริมาณงานที่มากขึ้น รวมถึงยังช่วยลดต้นทุนด้านการขุดเจาะ ซัพพลาย และเซอร์วิสอื่น ๆ”

สำรวจดูความเห็นนักวิเคราะห์หลายสำนัก พบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองเป็นบวก ภายหลังการประกาศผลประมูลอย่างเป็นทางการ

อย่างเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีโบรกเกอร์ไทย 14 แห่ง ออกบทวิเคราะห์ PTTEP ซึ่งผลปรากฏเป็นคำแนะนำ “ซื้อ” 11 แห่ง และ “ถือ” 3 แห่ง

โดยในจำนวนนี้ มีอยู่ 2 โบรกเกอร์ คือ “บล.ยูโอบีฯ” และ “บล.บัวหลวง” ที่ให้ราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 170 บาท ขณะที่ “บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ” กำหนดให้ต่ำสุดที่ 134 บาท แต่ถือว่ายังมีอัพไซด์อีกราว 11%

นอกเหนือจากนี้ ยังมีโบรกเกอร์อีกหลายแห่งที่ประเมินราคาเป้าหมายล่าสุด มากน้อยแตกต่างกันไป แต่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 154.50 บาท หรือคิดเป็นอัพไซด์จากราคาปัจจุบันสูงถึง 27.7%

ส่วนโบรกฯ อินเตอร์ อย่าง “ภัทร” ก็อัพเป้าจากเดิม 156 บาท มาเป็น 173.70 บาท และ “มอร์แกน สแตนลีย์” ก็ให้ราคาไว้น่าสนใจเช่นกันที่ 163 บาท โดยระบุว่า การได้มาซึ่งแหล่งก๊าซทั้ง 2 แห่ง จะเป็นปัจจัยช่วยหนุนรายได้อีก 8-10%

เอ้า!!! ก็คงต้องว่ากันไป…

ใครใคร่จะช้อนซื้อ…“ซื้อ!” ส่วนใครใคร่จะขายหนีตายก็ “ขาย!” ที่สำคัญต้องถามว่า ราคาลงมาเว่อร์เกินไปหรือเปล่าจ๊ะ!?!

อิ อิ อิ

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com