April 20, 2024   2:26:11 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > SCB-KBANK นำร่องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก กระทบผลการดำเนินงานแค่ไหน?
 

thaihoon
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 14,583
วันที่: 07/01/2019 @ 08:42:00
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

  หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ปรับลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขาย แม้ในช่วงบ่ายดัชนีฯ จะพลิกเป็นบวกแต่หุ้นธนาคารทั้ง 2 แห่งก็ยังติดลบสวนตลาดฯ

  แรงขายหุ้นเกิดขึ้นหลังจากที่ SCB และ KBANK นำร่องประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน, 6 เดือน, 12 เดือน, 24 เดือน และ 36 เดือน ในอัตรา 0.25% ต่อปี สำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาท ทำให้มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตั้งแต่ 1.15 -1.85% ต่อปี

  โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำใหม่ของ SCB จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และ KBANK จะมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2562

  "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" รวบรวมมุมมองจากบทวิเคราะห์หลายโบรกเกอร์ พบว่าส่วนใหญ่มองการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคาร เนื่องจากคาดว่าจะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาในเร็วๆ นี้ เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) ดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้มองว่าในอนาคตแบงก์อื่นๆ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตาม 2 แบงก์ใหญ่

  ในขณะที่หากประเมินจากความน่าสนใจและการเติบในอนาคต โบรกเกอร์มองว่าหุ้น BBL ยังน่าสนใจมากที่สุดเพราะแนวโน้มผลกำไรมีอัตราการเติบโตดีสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ด้านสินเชื่อในประเทศและต่างประเทศขยายตัวดีจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ส่วนหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กมอง TISCO เนื่องจากมีกำไรเติบโตเด่นสุดและจ่ายปันผลสูง

**ขึ้นดอกฝากยังไม่กระทบต้นทุนทันที
  บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำของทั้ง 2 แบงก์ ไม่ได้กระทบต้นทุนเงินฝากทั้งพอร์ตในทันที เนื่องจากเป็นเงินฝากประจำซึ่งมีระยะเวลา แต่ต้นทุนจะขึ้นทันทีถ้าเป็นเงินฝากใหม่

  อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้ไม่นานธนาคารจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามมา ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวจะมีผลทันที ไม่ได้กระทบทางลบต่อ Net Interest Margin(NIM) แต่จะทำให้ NIM ดีขึ้นด้วยหากปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เร็ว ซึ่งเชื่อว่าในระยะยาวจะดีต่อ NIM ของธนาคารขนาดใหญ่

  ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามาก จึงเป็นโอกาสเข้าซื้อทั้ง KBANK และ SCB

**ผลกระทบจำกัด เหตุพอร์ตเงินฝากไม่มาก
  บล.เอเซียพลัส คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสถัดไปไม่มากนัก โดยเชื่อว่าการบริหาร NIM ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะสามารถบริหารจัดการให้อยู่ในผลกระทบจำกัดได้

  นอกจากนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนเงินฝากประจำของธนาคารขนาดใหญ่พบว่ามีไม่มากนัก โดย SCB อยู่ที่ 31.8% ของเงินฝากทั้งหมด และ KBANK อยู่ที่ประมาณ 22% ของเงินฝากทั้งหมด

  และถึงแม้ว่ายังไม่มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง (MLR, MOR, MRR) แต่ในทางปฎิบัตินั้น ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยปรับระหว่างทางไปก่อนหน้า โดยขยับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นในบางสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัย (teaser rate) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อรายใหญ่บางราย ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมาให้ขึ้นไปที่ระดับปกติ และจะเริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนในปี 2562

  หลังจากนี้จะเห็นธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตาม ยกเว้นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่อาจยังไม่เห็นการขยับขึ้นของดอกเบี้ย เนื่องจากฐานเงินฝากประจำในส่วนนี้ค่อนข้างสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

  สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่า เงินฝากประจำ (สำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดไม่เกิน 5 ล้านบาท) มียอดคงค้างอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งธนาคารพาณิชย์ จะทยอยรับรู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ โดยเฉพาะเงินฝากประจำ 3 เดือน ที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของยอดรวมเงินฝากประจำบุคคลธรรมดาที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท

  ทั้งนี้ หากพิจารณาผลกระทบของดอกเบี้ยจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในรอบนี้ (สมมติให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกัน) จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.55% ของภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปีนี้

**คาดเร่งขึ้นดอกกู้ รักษาส่วนต่างดอกเบี้ย
  บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส มองธนาคารอื่นๆ จะเริ่มขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามมาในเร็วๆ นี้ และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เพื่อบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ให้แคบลง

  โดยประเมินว่าการเติบโตของสินเชื่อธนาคารในปี 2562 จะใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยธนาคารใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว และลดลงในธนาคารเล็กเพราะมีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่เป็น Flat Rate สูง

  ด้านรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโตได้แต่ไม่มากเพราะธุรกิจประกันมีฐานใหญ่ขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการส่งออกก็ขยายตัวน้อยลง ไม่มีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งยังต้องลงทุนระบบไอทีเพิ่มขึ้นด้วย สิ่งที่เป็น Upside Risk คือ กำไรจากการขายเงินลงทุน

  ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเช่นกันว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นการทั่วไป อาจตามมาในจังหวะที่เหมาะสม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยขาเงินกู้เป็นการทั่วไปของธนาคารพาณิชย์ในช่วงหลังจากนี้นั้น คงจะตั้งอยู่บนเงื่อนไขของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความต้องการสินเชื่อ ความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และการประเมินผลกระทบที่ปรากฏขึ้นจริงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในรอบนี้

**ชู BBL - TISCO เป็นหุ้นเด่น
  อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทั้ง SCB และ KBANK ก็ไม่ใช่หุ้นแบงก์ที่โดดเด่นที่สุดที่นักวิเคราะห์แนะนำ

  บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส มองภาพรวมของผลการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ มองว่าหุ้น BBL เป็นหุ้นเด่นเพราะสินเชื่อในประเทศและต่างประเทศขยายตัวได้ดีจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งคาดการณ์กำไรโตในปี 2562 โต 6% ดีสุดในกลุ่มแบงก์ ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4% ให้ราคาพื้นฐานหุ้น BBL ที่ 260 บาท

  ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กมองว่า TISCO จะมีกำไรเติบโตดีสุดที่ 10% และจุดเด่นคือมีการจ่ายปันผลสูง โดยผลตอบแทน (Yield) ประมาณ 6% ต่อปี และจ่ายปีละ 1 ครั้ง ให้ราคาพื้นฐาน 102 บาท

  ความเคลื่อนไหวล่าสุด SCB ปิดที่ 133 บาท ลดลง 2 บาท หรือ 1.48% ส่วน KBANK สามารถปิดเสมอตัวที่ 186 บาท

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com