April 19, 2024   4:48:12 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ซื้อAISต้องมี3แสนล้าน
 

magbandang
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 87
วันที่: 10/11/2005 @ 15:38:38
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

ทุนต่างชาติจ้องเขมือบสื่อสารไทย บุญคลีชี้ซื้อAISต้องมี3แสนล้าน

จากประชาชาติธุรกิจ


3 ทุนนอกตบเท้าบุกสมรภูมิโทรคมนาคมไทยพรึบพรับ ตามรอยยักษ์ เทเลนอร์ จาก นอร์เวย์ ชินคอร์ป ปฏิเสธลั่นทั้งสิงเทล-ไชน่า เทเลคอมไม่เคยติดต่อขอซื้อหุ้น เกทับใครต้องการซื้อ เอไอเอส ต้องเตรียมเงินอย่างต่ำ 3 แสนล้าน กทช.เผยยักษ์โทรคมฯต่างชาติซุ่มขอข้อมูลการออกใบอนุญาต

ไม่ว่าเหตุผลของการปิดฉากธุรกิจโทรคมนาคมไทยของครอบครัว เบญจรงคกุล จะเป็นเช่นไร แต่การควักกระเป๋าซื้อหุ้นทั้งหมดเป็นเงินถึงเกือบ 1 หมื่นล้านบาทในยูคอม และดีแทคของ เทเลนอร์ ยักษ์ข้ามชาติจากประเทศนอร์เวย์ ไม่เพียงตอกย้ำให้เห็นว่าธุรกิจนี้มีอนาคตที่สดใสเป็นอย่างยิ่งในสายตาของทุนข้ามชาติเท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ประกอบการไทยด้วยว่าต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการไหลบ่าเข้ามาของกลุ่มทุนข้ามชาติ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับธุรกิจธนาคารไทยและเป็นที่ชัดเจนด้วยว่าภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคมไทยในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 3G, โทรศัพท์พื้นฐาน, ดาวเทียม และวอยซ์โอเวอร์ไอพี (วีโอไอพี) เป็นต้น จึงเท่ากับเปิดประตูแห่งโอกาสสำหรับการลงทุนทั้งกับผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ จังหวะเวลานี้จึงเหมาะสมที่นักลงทุนต่างประเทศจะเริ่มต้นมองหาลู่ทางการลงทุนในเมืองไทย และวิธีที่ดีและง่ายที่สุดสำหรับบริษัทต่างชาติหนีไม่พ้นการมองหาพันธมิตรท้องถิ่น ด้วยการทาบทามเพื่อซื้อหุ้นบางส่วนหรือซื้อทั้งหมดจากผู้ประกอบการไทย


เผยมาเลเซียก็ต้องการเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในไทย

แหล่งข่าวระดับสูงในธุรกิจโทรคมนาคมกล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า เทเลคอมมาเลเซีย บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของมาเลเซียก็ต้องการเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในเมืองไทยด้วยเช่นกัน โดยเมื่อไม่นานมานี้ได้เจรจากับกลุ่มทรูไปแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ ขณะที่กลุ่มทรูเองก็ต้องการหาพันธมิตรร่วมลงทุนหลังจากฟรานซ์เทเลคอมถอนหุ้นออกจากออเร้นจ์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้มากที่จะมีกลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาถือหุ้นร่วมกับทรูอย่างแน่นอน เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น



ไม่ใช่แต่ทรูหรือออเร้นจ์เท่านั้น ที่เป็นที่หมายตาของกลุ่มทุนข้ามชาติ แม้แต่ยักษ์ใหญ่กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่นก็ถูกจ้องเข้าเทค

ก่อนหน้านี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทรู กล่าวว่า มีกลุ่มทุนต่างชาติติดต่อเข้ามาพูดคุยกับบริษัทหลายรายด้วยกัน และเข้าใจว่านอกจากทรูแล้วก็คงไปคุยกับบริษัทอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่กลุ่มทุนต่างชาติมีศักยภาพมากกว่าคนไทย คือเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก กทช.เปิดให้ไลเซนส์ใหม่จะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก อาทิ ไวแม็กซ์, 3G เป็นต้น

อย่างกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่นที่รู้กันดีว่าสถานะทางการเงินแข็งแกร่งขนาดไหนก็ยังมีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมอย่าง สิงเทล สนใจเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของตนเองในชินคอร์ป พร้อมๆ กับข่าวที่ว่ายักษ์ใหญ่จากเมืองจีน ไชน่า เทเลคอม ก็ติดต่อทาบทามเพื่อซื้อหุ้นด้วย

นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรม การบริหาร กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น ปฏิเสธชัดถ้อยชัดคำว่า

ไม่เคยได้รับการติดต่อทั้งจากสิงเทล และ ไชน่า เทเลคอม ขณะที่กลุ่มชินฯก็ไม่เคยคิดที่จะขายหุ้นเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน โดยอธิบายว่าไม่มีความจำเป็นทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยี หาก เอไอเอสจะลงทุนโทรศัพท์มือถือ 3G ก็มีความพร้อมที่จะกู้เงินมาลงทุนอีก 3-4 หมื่นล้านบาททันที

ถ้าต่างชาติจะเข้ามาแล้วเริ่มจากศูนย์ ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เลยเริ่มต้นทำเองทั้งหมด ไม่ง่ายแน่ การซื้อหุ้นจากบริษัทที่มีอยู่แล้วจึงน่าจะดีกว่า ถูกกว่า ซึ่งถ้าต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนในบ้านเราก็คงจะเริ่มต้นคุยกับคนที่เป็นมาร์เก็ตลีดเดอร์เป็นหลัก เช่น ถ้าสนใจธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานก็คงต้องคุยกับทีโอทีหรือมือถือคุยกับเอไอเอสก่อน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครมาคุยกับเรา

นายบุญคลีกล่าวด้วยว่า ใครที่จะมาซื้อหุ้น เอไอเอสยังต้องมีเงินเตรียมไว้ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวประเมินจากราคาหุ้นของเอไอเอสในขณะนี้ แต่ถ้าขายในราคาพรีเมี่ยมอาจสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ไม่ใช่บิ๊กบอสชินคอร์ปเท่านั้นที่ยืนยันแข็งขัน คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งไปเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ คนเก่ง ไทยแกร่ง ของกลุ่มชินคอร์ปเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในฐานะผู้ถือหุ้นว่า ไม่มีความคิดที่จะขายหุ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ นายบุญคลีกล่าวต่อว่า อุตสาห กรรมโทรคมนาคมไทยจะคึกคักขึ้นทันที หาก กทช. ออกไลเซนส์ใหม่ ซึ่งในปี 2549-2550 จะมีการลงทุนเพิ่มเติมของผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมรวมกันเป็นเงินมากถึงหลักแสนล้านบาทด้วย โดย 70-80% เป็นการลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ, โทรศัพท์พื้นฐาน และบรอดแบนด์ ซึ่งกลุ่มชินฯสนใจที่จะขอไลเซนส์ทั้ง 3G, เกตเวย์ต่างประเทศ ส่วนโทรศัพท์พื้นฐานขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของ กทช.

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่มีการแปรสัญญาสัมปทาน กทช.ก็ควรที่จะพิจารณาให้ไลเซนส์ใหม่กับผู้ประกอบการรายเดิมก่อน เพราะถ้าให้กับผู้ประกอบการรายใหม่จะเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างรายเก่ากับรายใหม่ เนื่องจากรายเก่าต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จึงเสียเปรียบรายใหม่อย่างแน่นอน

การเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในดีแทคของ เทเลนอร์ หรือการเข้ามาของต่างชาติในบริษัทคนไทย ผมไม่คิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมี ผลต่อการแข่งขัน เพราะวันนี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นเรื่องของการนำเข้าอุปกรณ์มาทำให้เกิดบริการ แต่ละบริษัทต้องใช้อุปกรณ์ของโนเกีย อีริคสัน ซีเมนส์ หรือหัวเหว่ย เหมือนกัน ฝรั่งซื้อได้คนไทยก็ซื้อได้ ความได้เปรียบเสียเปรียบจึงไม่มี

รายงานข่าวจาก กทช.ระบุด้วยว่า ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีบริษัทสื่อสารต่างชาติหลายราย ทั้งจากประเทศแถบยุโรป และอาเซียน ติดต่อมายังสำนักงาน กทช.เพื่อขอทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการเปิดเสรี และการให้ออกใบอนุญาตใหม่ในกิจการโทรคมนาคมไทย อาทิ ฟิลิปปินส์, สวีเดน และจีน เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนต่างชาติต่อธุรกิจสื่อสารไทย


...........................................................................................................

มีทางเลือกอื่นอีกใหม ประเทศไทยเอ๋ย..

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com