March 29, 2024   7:04:41 PM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > เปิดพอร์ต (หุ้น) "ธ.ออมสิน" 18,900 ล้าน
 

????
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 1,238
วันที่: 03/03/2006 @ 13:23:54
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

Speed of Change คือ คำอธิบายปรากฏการณ์การปรับตัวของ ธนาคารออมสิน ยุคใหม่ โดยกัปตัน กรพจน์ อัศวินวิจิตร เป็นยุคแห่งการเติบโตจาก ธนาคารเด็ก ไปสู่ ธนาคารพาณิชย์ เต็มรูปแบบ [/color:440983c5c7">

กรพจน์ เผยแผน Strategic Holding เตรียมเดินหน้าบริหาร พอร์ตหุ้น เชิงธุรกิจ สนใจซื้อหุ้นประกันภัย, บลจ. และลิสซิ่ง เพิ่มพอร์ตโฟลิโอต่อยอดธุรกิจครบวงจร


จากอดีตธนาคารออมสินจะทำหน้าที่ระดมเงิน (Funding) ให้กับรัฐบาล แต่วันนี้ธนาคารได้ก้าวไปสู่จุดหมายใหม่ ที่นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นแขนขาให้กับรัฐบาล ในอีกมิติของ ธนาคารออมสิน ยุคใหม่ ได้มุ่งไปสู่การเป็น ธนาคารพาณิชย์ ที่สมบูรณ์แบบ

ภายใต้การนำของ กรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีตรมช.กระทรวงพาณิชย์ และอดีตผู้แทนการค้าไทย หลังจากเข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2547 เขาได้ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงการทำงานภายในธนาคารใหม่หมด ด้านหนึ่งก็มุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาล (พรรคไทยรักไทย) อีกด้านหนึ่งก็ปรับปรุงระบบการทำงานในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินมีการ รีแบรนดิ้ง เพื่อปรับภาพลักษณ์องค์กรครั้งใหญ่ ในรอบ 93 ปี รวมทั้งว่าจ้าง บริษัท เฮเซิล แอนด์ แอชเชอร์ จัดทำป้ายธนาคารจำนวน 587 สาขาทั่วประเทศ มีแผนการลงทุนด้าน ไอที มากกว่าพันล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบ Core Banking ให้เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกำลังจะออก บัตรเครดิต ร่วมกับธนาคารต่างประเทศ

ที่ฮือฮาล่าสุด ก็คือ โฆษณาทางโทรทัศน์ชุด มีออม ไม่มีอด...รายได้ที่ได้มา ควรออม 1 ส่วน ใช้ 3 ส่วน โดยการนำ อดีต ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ จนถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะไม่มีใครเชื่อว่า นายกรัฐมนตรี รวยมาจากการออม

กรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมันเชื่อมโยงถึงกันมากกว่าในอดีต ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไปไกลมาก และความฉลาดรอบรู้ของคนมีมากกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ดังนั้นวิธีมองการเปลี่ยนแปลงต้องมองให้ทะลุในทุกมิติ สมัยนี้ต้องคิดเร็วทำเร็ว เพราะโลกเทคโนโลยีทำให้เวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ปัจจัยเหล่านี้มันทำให้เกิด Speed of Change (การเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่ง)

จริงๆ เราไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน แต่เมื่อเราเป็นองค์กรที่ต้องให้บริการ เราไม่ได้เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเหมือนในอดีต เมื่อเราเป็นองค์กรที่ให้บริการ เราก็ต้อง Leave with the Change (ยอมรับการเปลี่ยนแปลง) ถ้าเราไม่ Change เราก็อยู่ไม่ได้

นับตั้งแต่ กรพจน์ เข้ามาบริหารธนาคารออมสินในฐานะ ซีอีโอ หนึ่งในนโยบายของเขา ก็คือ การเพิ่มการลงทุนในหุ้นต่างๆ ที่มีพื้นฐานดี โดยเฉพาะหุ้นรัฐวิสาหกิจ ที่กำลังจะกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่ธนาคารออมสินจะเข้าไปซื้อในราคา IPO (หุ้นจอง) และราคา PO (หุ้นเพิ่มทุน)

ในรอบปี 2548 ธนาคารออมสิน ได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นทีพีไอ (TPI) และ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ด้วยเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 6,700 ล้านบาท

กรพจน์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ธนาคารออมสินเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น เป็นเพราะว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีพันธบัตรที่ธนาคารลงทุนทยอยครบอายุ ทำให้ธนาคารต้องสร้างรายได้จากการลงทุนใหม่ ตัวอย่างเช่นปี 2548 มีพันธบัตรครบอายุเกือบ 20,000 ล้านบาท ปี 2549 จะครบอายุอีกเกือบ 50,000 ล้านบาท ขณะที่ในปัจจุบันมีพันธบัตรให้ลงทุนน้อยลง และต้องไปประมูลแข่งกับคนอื่น จำเป็นต้องหาช่องทางลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น

จากการตรวจสอบ พบว่าปัจจุบัน ธนาคารออมสิน ลงทุนในหุ้นทั้งหมด 6 บริษัท ได้แก่ TPI, RATCH, KTB, MFC, TMB และ TIP มีมูลค่าเงินลงทุนตามราคาตลาดรวมประมาณ 18,922 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นการลงทุนในหุ้นทีพีไอ มากเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 1,950 ล้านหุ้น สัดส่วน 10% ที่ต้นทุนหุ้นละ 3.30 บาท รวมเม็ดเงินลงทุน 6,435 ล้านบาท ขณะที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 14,430 ล้านบาท ล่าสุดมีกำไรแล้วประมาณ 7,995 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมลงทุนกับกลุ่มพันธมิตร ปตท. และกบข. ซึ่งหุ้นในส่วนนี้ยังขายไม่ได้ เนื่องจากติดระยะเวลาห้ามขายหุ้น (ไซเลนท์ พีเรียด) 2 ปี

อันดับสอง ลงทุนในหุ้นบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) จำนวน 38 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.62% มีมูลค่าตามราคาตลาด 1,510 ล้านบาท

อันดับสาม ลงทุนในหุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) จำนวน 88.14 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.79% มีมูลค่าตามราคาตลาด 1,101 ล้านบาท

อันดับต่อมาลงทุนในหุ้นบลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) จำนวน 29.40 ล้านหุ้น สัดส่วน 24.5% มีมูลค่าตามราคาตลาดล่าสุด 852 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสิน ได้เข้าซื้อหุ้น MFC เพิ่ม จากธนาคารทหารไทย จำนวน 13.4 ล้านหุ้น สัดส่วน 11.17 % ในราคาหุ้นละ 22.60 บาท รวมมูลค่า 302.84 ล้านบาท

หุ้น MFC ที่ธนาคารถืออยู่ได้รับเงินปันผลมาทุกปีรวมแล้วกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเงินที่เรานำไปลงทุนซื้อหุ้น MFC เพิ่ม ก็เท่ากับว่าเราเกือบจะได้หุ้นเพิ่มมาฟรีๆ

ภายหลังจากที่ธนาคารออมสินเข้ามาซื้อหุ้นแล้ว ทำให้ธนาคารออมสินเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน บลจ.เอ็มเอฟซี ในสัดส่วน 24.5% รองลงมาคือ กระทรวงการคลัง 16.67% และธนาคารทหารไทย 13.68%

นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังมีพอร์ตลงทุนในหุ้น ธนาคารทหารไทย (TMB) จำนวน 133.47 ล้านหุ้น สัดส่วน 1% มีมูลค่าตามราคาตลาด 638 ล้านบาท และ ตัวสุดท้ายลงทุนในหุ้น บริษัท ทิพยประกันภัย (TIP) จำนวน 26.88 ล้านหุ้น สัดส่วน 11.2% มีมูลค่าตามราคาตลาด 389 ล้านบาท

กรพจน์ บอกกับ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่านับจากนี้ธนาคารออมสิน จะให้ความสำคัญเข้าไปบริหารพอร์ตลงทุนของธนาคารในเชิงธุรกิจมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมแทบจะไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องนี้มาก่อน

การลงทุนของเรามีหลักการว่าจะต้องช่วยส่งเสริมบริการของธนาคารให้ครบวงจรมากขึ้น

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ธนาคารออมสิน กำลังพิจารณาว่าจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน MFC เพิ่มขึ้น แต่หากเข้ามาถือหุ้นเพิ่มก็จะเกิน 25% ซึ่งเข้าข่ายต้องทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) แต่ธนาคารอยู่ระหว่างขอผ่อนผันไม่ทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์กับทาง ก.ล.ต. ขณะที่ธนาคารทหารไทยที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 13.68% ก็ต้องการลดสัดส่วนหุ้นเหลือเพียง 8%

กรพจน์ บอกว่า ธนาคารมีความสนใจลงทุนเพิ่มในหุ้น ทิพยประกันภัย (TIP) แต่ไม่มีหุ้นให้ซื้อ เพราะไม่มีใครขาย ขณะที่หุ้น (ตัวอื่นๆ) ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ ก็ยังไม่มีนโยบายขายออกมา ถ้าคิดจะขายเมื่อไร ธนาคารออมสินก็พร้อมจะพิจารณาเข้ารับซื้อ

ถ้าเป็นหุ้นดีๆ เราก็อยากซื้อ เราอยากจะมี Strategic Holding อยู่ในพอร์ตโฟลิโอ

สำหรับธุรกิจที่ธนาคารออมสินสนใจจะลงทุนเพิ่ม สิ่งแรก ก็คือ ต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเซคเตอร์การเงิน เช่น ธุรกิจประกันภัย, กองทุนรวม, เครดิตการ์ด และ ลิสซิ่ง เป็นต้น

กรพจน์ เผยว่า ตอนนี้ธุรกิจลิสซิ่งของธนาคารยังไม่มี ขณะนี้กำลังทำอยู่ คงใช้วิธีลงทุนร่วมกับพันธมิตร (ซื้อหุ้น) บริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น และตราสารหนี้ ในลักษณะซื้อมาขายไป จะให้ กองทุนรวม (บลจ.เอ็มเอฟซี) บริหาร ในลักษณะ Strategic Holding ตอนนี้ลงไปแล้ว 4,000-5,000 ล้านบาท และจะทยอยเพิ่มเงินลงทุนไปเรื่อยๆ

หุ้นที่เราลงทุนไปตัว TPI กับหุ้น RATCH มีกำไรเยอะที่สุด มีขาดทุนอยู่ตัวเดียว คือ TMB เดิมเราถือหุ้นอยู่ใน IFCT เมื่อรวมกิจการกับ TMB ก็ทำให้ต้องมาถือหุ้น TMB ตอนที่รวมกิจการกัน ออมสิน ก็ตัดขาดทุนไปแล้วหลายร้อยล้านบาท ตัว TMB เราถือของเก่า คิดว่าจะไม่ลงทุนเพิ่ม กรณี RATCH ซื้อมานานแล้ว ก็จะไม่ซื้อเพิ่ม เพราะไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลักของธนาคาร

...หุ้นที่เราถืออยู่กำไรแล้วเยอะแยะ โดยเฉพาะตัว TPI กำไรแล้วประมาณ 8,000 ล้านบาท เราเชื่อว่าในระยะยาวหุ้น TPI ภายใต้การบริหารของ ปตท.จะสร้างกำไรให้กับธนาคารออมสินได้อย่างมหาศาล

ด้านผลประกอบการสิ้นปี 2548 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 12,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.12% จากปี 2547 ที่มีกำไรสุทธิ 11,925 ล้านบาท โดยเป็นผลประกอบการที่ดีที่สุดของธนาคาร ขณะที่มีสินทรัพย์รวม 680,028 ล้านบาท โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 3.45% จากยอดสินเชื่อรวม 377,463 ล้านบาท และเงินฝาก 583,281 ล้านบาท โดยมีเงินลงทุนสุทธิ 253,648 ล้านบาท

กรพจน์ กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าว่าจะรักษาเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 4% โดยในปี 2549 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่ออีก 126,520 ล้านบาท และเพิ่มเงินฝากอีก 20,000 ล้านบาท และจะเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้ได้เป็น 1,700 ล้านบาท โดยธนาคารจะเริ่มปล่อยเงินกู้ให้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นลำดับแรก ในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของทางการที่ห้ามปล่อยกู้แก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งเกิน 25% ของเงินกองทุน

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ[/color:440983c5c7">

 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com