November 23, 2024   1:53:09 PM ICT
6 ปัจจัยเช็คความสามารถปกป้องเงินลงทุน

นักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบว่าปัจจุบันธุรกิจกองทุนรวมในประเทศไทยได้มีการ "จัดอันดับกองทุน" หรือ "การจัดเรทติ้งกองทุน" เพื่อให้ผู้ลงทุนทั่วไปได้รับรู้ถึงระดับ "ความเสี่ยง" ของกองทุนรวมนั้นๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกลงทุนแล้ว

ซึ่งเป็นการจัดอันดับโดย "บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)" หรือ "ฟิทช์" สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มีประสบการณ์และได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลกมาเป็นผู้ที่จัดอันดับกองทุนให้ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็น "บุคคลที่ 3" ที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อจะนำเสนอข้อมูล "ความเสี่ยง" ของกองทุนรวมผ่านอันดับเรทติ้งไปถึงผู้ลงทุนอีกทอดหนึ่ง โดยเรทติ้งที่แต่ละกองทุนได้รับนั้น ไม่ได้บอกถึงอัตราผลตอบแทนของกองทุนนั้นๆ แต่ประการใด

ปัจจุบันกองทุนที่ฟิทช์จัดอันดับให้นั้นมีทั้งหมด 3 กองทุน ซึ่งล้วนแต่จัดอยู่ในประเภทของกองทุนตราสารตลาดเงินทั้งสิ้น แล้วกว่าที่จะมาเป็นเรทติ้งกองทุนได้ต้องทำอย่างไรบ้าง

@กองทุนตราสารตลาดเงินควรให้อะไรกับนักลงทุน เกี่ยวกับเรื่องนี้ "เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล" ผู้อำนวยการ บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) หรือ "ฟิทช์" บอกว่า สำหรับกองทุนตราสารตลาดเงินนั้น นอกจากเรื่องของผลตอบแทนแล้วนักลงทุนควรจะพิจารณาถึงความเสี่ยงอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับเงินคืน ความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งเป็น 3 เรื่องหลักของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย ถ้าเป็นกองทุนตราสารตลาดเงินความเสี่ยงเหล่านี้ควรจะอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ

เพราะฉะนั้นนอกจากนักลงทุน จะพิจารณาในเรื่องของผลตอบแทน ควรจะเน้นในเรื่องของความเสี่ยงตรงนี้ค่อนข้างมาก เพราะการที่ผู้ลงทุนพักเงินในกองทุนตราสารตลาดเงินนั้นกองทุนเองก็ควรจะต้องเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับเงินสดให้มากที่สุด

"วัตถุประสงค์หลักที่เราต้องการจากกองทุนตราสารตลาดเงิน ควรจะมีระดับการป้องกันการสูญเสียเงินต้นสูงที่สุด คือกองทุนประเภทนี้ไม่ควรที่จะขาดทุนไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะตลาดแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย หรือมีการขายคืนหน่วยลงทุนค่อนข้างมาก กองทุนประเภทนี้ไม่ควรจะขาดทุน ควรจะมีความผันผวนต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดต่ำที่สุด มีสภาพคล่องสูงที่สุด"

@6 ปัจจัยตรวจดูความสามารถในการปกป้องเงินลงทุน โดยเลิศชัย บอกว่า การจัดอันดับกองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารตลาดเงินมีหลักเกณฑ์ที่คล้ายๆ กัน แต่ในส่วนของกองทุนตราสารตลาดเงินนั้นเราจะเน้นในเรื่องของ "การปกป้องเงินลงทุน" หรือ "เสถียรภาพของเงินต้น" เป็นสำคัญซึ่งเราจะพิจารณาจากปัจจัยหลักๆ 6 ปัจจัย คือ

1.นโยบายการลงทุน กระบวนการและการควบคุมการบริหารจัดการลงทุน เป็นปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณาว่านโยบายการลงทุนเป็นยังไง มีการวางนโยบายชัดเจนหรือเปล่าว่าเป็นกองทุนตราสารตลาดเงิน เพราะเราจัดอันดับตามนโยบายการลงทุนของกองทุนเป็นสำคัญ แต่เราจะติดตามดูว่าคุณบริหารกองทุนเป็นไปตามนโยบายที่ได้จัดตั้งไว้หรือเปล่า หรือบอกไว้อย่างแต่ลงทุนอีกอย่าง นั่นเป็นสิ่งที่เราจะทำหน้าที่ตรวจดูแทนผู้ลงทุน

2.คุณภาพเครดิตของตราสารที่ลงทุน และการกระจายความเสี่ยง การจัดอันดับกองทุนเรายังพิจารณาในเรื่องของนโยบายและกระบวนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอันดับเครดิต ซึ่งปัจจัยหลักที่เราจะดูในกองทุนตราสารตลาดเงินจะมีการกำหนดอันดับเครดิตขั้นต่ำในการลงทุน การกระจายการลงทุนขั้นต่ำที่กองทุนจะต้องปฏิบัติตามให้ได้

โดยในแง่ของคุณภาพโดยรวมของกองทุน จะขึ้นอยู่กับเครดิตของแต่ละตราสารที่อยู่ในกองทุน รวมถึงการกระจายการลงทุนในแต่ละผู้ออกตราสารด้วย ซึ่ง 2 ส่วนนี้จะทำให้คุณภาพของกองทุนโดยรวมอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ดีได้ นอกจากนี้ฟิทช์ยังดูลักษณะของการกระจายการลงทุนด้วยว่า การกระจายการลงทุนนี้มีการกระจายการลงทุนที่ดีหรือไม่ มีการลิมิตในแต่ละผู้ออกตราสารหรือไม่

"วัตถุประสงค์หลักคือเน้นในเรื่องเสถียรภาพของเงินลงทุนและสภาพคล่อง ทั้งนี้ เพราะกองทุนตราสารตลาดเงินต้องเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงเนื่องจากการลดลงของอัตราเครดิต หรือเกิด Default ให้น้อยที่สุด"

3.อายุของตราสารที่ลงทุน เลิศชัย บอกว่า อายุของตราสารฟิทช์จะพิจารณา 2 ตัวหลักๆ คือ "อายุถัวเฉลี่ยของตราสารของกองทุน (Weighted Average Maturity-WAM)" กับ "อายุของตราสารที่ลงทุน" โดยที่ WAM จะเป็นตัวบอกถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ใช้ในการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ด้วย ถ้าเรามีการควบคุมและจำกัดค่าของตัว WAM ไว้ จะทำให้มั่นใจได้ว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยจะไม่ทำให้ความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของเงินลงทุนลดลง

ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นกองทุนที่มี WAM สูงสุดไม่เกิน 60 วัน แล้วกองทุนนี้มีอัตราผลตอบแทนที่ได้รับประมาณ 3% ต่อปี กองทุนนี้สามารถที่จะทนทานหรือว่าป้องกันในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นโดยสามารถที่จะทนทานต่อการขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน ซึ่งเราจะเห็นว่าค่อนข้างต่ำ โอกาสที่มันจะเป็นไปได้มี แล้วถ้ามันปรับขึ้นต่อเนื่อง 5 วัน ก็เท่ากับ 0.25% ภายใน 1 อาทิตย์ นั่นหมายความว่าถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.25%

"ถ้ากองทุนสามารถที่จะดูแลให้ WAM ต่ำกว่า 60 วันได้ ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก็จะค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้นจึงทำให้การรักษาเสถียรภาพทางการเงินค่อนข้างสูง"

นอกจาดู WAM ของกองทุนแล้ว เรายังดูอายุของตราสารแต่ละตัว เพราะตราสารแต่ละตัวจะเป็นตัวบอกหรือตัวชี้ให้เห็นว่าตราสารแต่ละตัว จะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน

4.สภาพคล่องของตราสารที่ลงทุน เราจะดูสภาพคล่องของตราสารแต่ละตัวและการขายคืนของกองทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะบอกว่ากองทุนหรือเงินลงทุนมีความเสี่ยงต่อการรักษาเสถียรภาพได้มากน้อยแค่ไหน เพราะวัตถุประสงค์หลักของกองทุนตราสารตลาดเงินจะต้องมีสภาพคล่องที่สูง เนื่องจากการไถ่ถอนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นที่พักของเงินเอาไว้ เพราะฉะนั้นสภาพคล่องจะต้องสูงมาก

"เพราะฉะนั้นลักษณะที่สภาพคล่องสูงก็จะบอกถึงความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในเรื่องของราคาในกรณีที่ตลาดอยู่ในภาวะที่เลวร้าย ตราสารที่มีสภาพคล่องสูงก็จะดีกว่า เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพคล่องของตราสารที่กองทุนลงทุนจะช่วยให้กองทุนมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ เวลาที่เราดูความเสี่ยงในเรื่องของสภาพคล่องเราต้องไปดูว่าตัวทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องต่ำ หรือสภาพคล่องค่อนข้างน้อยมีเท่าไร แล้วกองทุนมีการกำหนดตัวทรัพย์สินเอาไว้หรือไม่"

5.การลงทุนและการบริหารจัดการความเสี่ยง เลิศชัย ยังบอกอีกว่า การบริหารจัดการในเรื่องของการลงทุนและเรื่องการควบคุมความเสี่ยง ถือเป็นเป้าหมายอีกเรื่องที่เรามอง โดยที่เราจะดูในเรื่องของประสบการณ์ของผู้จัดการกองทุน รวมถึงการปฏิบัติตามสัญญาที่มีต่อนโยบายการลงทุนตามแนวทางการลงทุนที่กล่าวไว้หรือเปล่า ซึ่งส่วนที่สำคัญก็คือ ผลการดำเนินงานย้อนหลัง (Track Record) ในอดีตที่ผ่านมาว่าเป็นยังไง ตัวนี้ก็จะเป็นตัวหนึ่งที่โชว์ให้เห็นว่าแนวโน้มในอนาคตการบริหารจัดการเป็นยังไง

นอกจากนี้ ยังดูไปถึงในส่วนของนโยบายการจัดตั้งนโยบายการลงทุนรวมทั้งกระบวนการลงทุน และเรื่องที่จะมาสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ มีการควบคุมความเสี่ยงภายในในระดับไหน มีระบบที่ Cross Check กันหรือเปล่า

"รวมถึงเรื่องของการรายงานผลการลงทุนให้แก่นักลงทุนทราบ แล้ววิธีรายงงานให้กับกับนักลงทุนนั้นนักลงทุนมีความเข้าใจหรือสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นหรือเปล่า"

6.การวิเคราะห์แต่ละสินทรัพย์ที่ลงทุน นอกจากการพิจารณากองทุนโดยภาพรวมเรื่องของคุณภาพของเครดิตหรือสภาพคล่องของกองทุนแล้ว เราก็ยังพิจารณาไปในแต่ละสินทรัพย์ (Asset Class) โดยเฉพาะมีหลายสินทรัพย์ที่เราจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าเรื่องของสภาพคล่องหรือความเสี่ยงของสินทรัพย์เหล่านั้นอาจจะแตกต่างจากสินทรัพย์ที่เป็นพวกเงินฝากหรือตราสารหนี้ของบริษัทต่างๆ สินทรัพย์พวกนี้ได้แก่ Repurchase คือ สัญญาซื้อคืน หรือการให้กู้ หรือ Reverse-Repurchase คือ การที่กองทุนไปกู้ หรือตราสารประเภทอนุพันธ์ หรือ Structure Note เป็นต้น

"เราก็จะไปดูเรื่องของความเสี่ยงว่าตัวตราสารนั้นมีความเสี่ยงในด้านต่างๆ ยังไงบ้าง รวมถึงว่าผู้จัดการกองทุนที่ลงทุนในตราสารเหล่านั้นเข้าใจในความเสี่ยงเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน ว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน แล้วมีวิธีการที่จะเก็บความเสี่ยงเหล่านี้เป็นยังไงบ้าง นี่เป็นรายละเอียดกว้างๆ ที่เรานำมาวิเคราะห์ในการจัดอันดับกองทุนตราสารตลาดเงิน"

@ปัจจุบันฟิทช์จัดอันดับให้ 3 กองทุน เลิศชัยบอกว่า ปัจจุบันกองทุนตราสารหนี้ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตนั้นมีทั้งหมด 3 กองทุน แบ่งเป็น "กองทุนตราสารตลาดเงิน" 2 กองทุน ได้แก่ "กองทุนเปิดทหารไทยธนรัฐ (TMBTM)" และ "กองทุนเปิดทหารไทยธนบดี (TMBMF)" ของ "บลจ.ทหารไทย" ซึ่งฟิทช์ได้ประกาศให้อันดับกองทุนภายในประเทศ (National Fund Ratin) สูงสุดที่ระดับ "AAA(tha)/V1+(tha)" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพเครดิตที่สูงที่สุด

โดยวัตถุประสงค์หลักของกองทุน TMBTM และ TMBMF คือการป้องกันการสูญเสียเงินต้น การที่กองทุนทั้ง 2 มีสภาพคล่องสูง แล้วสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนให้อันดับของกองทุนทั้ง 2 อยู่ในระดับที่สูงที่สุดและมีความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด คือนโยบายการลงทุนในแต่ละด้านที่เข้มงวด ไม่ว่าจะป็นเรื่องเครดิตหรือเรื่องของอายุตลอดจนเรื่องของการบริหารจัดการในเรื่องของการบริหารจัดการกองทุนตลอดจนการไถ่ถอนได้ดี มีความมั่นคงในการดำรงรักษาเงินต้นที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนตราสารตลาดเงินหรือตราสารหนี้ทั่วไปอื่นๆ ในประเทศ

อีกกองเป็น "กองทุนตราสารหนี้ทั่วไป" ได้แก่ "กองทุนเปิดอยุธยาตราสารเงิน(AYFCASH)" ของ "บลจ.อยุธยา" ซึ่งฟิทช์ได้ประกาศให้อันดับกองทุนภายในประเทศสูงสุดที่ระดับ "AAA(tha)/V1(tha)" ซึ่งเลิศชัยอธิบายว่า ถึงแม้กองทุน AYFCASH จะเป็นกองทุนที่จดทะเบียนเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป แต่เราแยกว่าเป็นกองทุนตราสารตลาดเงินเพราะว่ามีลักษณะที่ใกล้เคียงกับกองทุนตราสารตลาดเงิน มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับเงินสด แต่กองทุน AYFCASH จะมีการเพิ่มผลตอบแทนด้วยการเพิ่มระยะตราสารของกองทุนนิดหน่อย เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้เพิ่มมากขึ้น แต่ความเสี่ยงโดยรวมหรืออายุของตราสารก็ยังค่อนข้างสั้นอยู่ อันดับเครดิตก็ยังค่อนข้างสูงอยู่

สิ่งที่แตกต่างกันเป็นเรื่องของอันดับความผันผวนของกองทุน ที่สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดอยู่ที่ V1(tha) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงจากตลาดที่สูงกว่ากองทุน TMBTM และกองทุน TMBMF แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับกองทุนอื่น แล้วแสดงให้เห็นว่ามีผลตอบแทนค่อนข้างคงที่จากการลงทุนตั้งแต่ระยะสั้นถึงระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุน TMBTM และ TMBMF ของบลจ.ทหารไทยที่ได้อันดับความผันผวนของกองทุนที่ระดับ V1+(tha) แสดงว่ากองทุนนั้นมีความปลอดภัยของเงินต้นหรือเงินลงทุนที่สูงมากนี่เป็นความแตกต่างกันในเรื่องของความเสี่ยงจากตลาด

"แต่ว่าโดยรวมในเรื่องของเครดิตแล้วจะไม่แตกต่างกันทั้ง 3 กองทุน เพราะเป็นกองทุนที่มีอันดับเครดิตค่อนข้างสูงมาก เนื่องจากมีการเน้นในเรื่องของการลงทุนในตราสารที่มีคุณภาพสูงแล้ว มีการกระจายการลงทุนที่ค่อนข้าง diversify รวมถึงการบริหารตัวสภาพคล่อง อายุของตราสารอยู่ในลักษณะที่ค่อนข้างสั้น เพราะฉะนั้นความเสี่ยงในเรื่องของเครดิตและสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ"

หากคุณต้องการความมั่นใจของเงินต้นที่ลงทุนไป เชื่อว่ากองทุนตราสารตลาดเงินทั้ง 3 กองนี้จะเป็นคำตอบในการลงทุนให้กับคุณได้บ้าง

/

bangkokbiznews
เข้าชม: 2,809

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com