"กระแสอยากรวย" ในปีนี้ค่อนข้างรุนแรง สังเกตได้จากความนิยมในวัตถุมงคลที่กำลังนิยมกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นรุ่น "มหารวย" หรือรุ่น "โคตรเศรษฐี" หรือยังมีอีกหลายๆ รุ่น ซึ่งในประเด็นนี้ไม่ว่ากัน
คำถามของคนอยากรวยที่ว่า "จะลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมกับช่วงอายุที่ต่างกัน" คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมากๆ เนื่องจากเป็นคำถามที่เริ่มเข้าใจการลงทุนมากขึ้น เพราะปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งของการลงทุนคือ "ปัจจัยด้านอายุของผู้ลงทุน" แต่ทั้งนี้ปัจจัยที่กำหนดการลงทุนนั้นมีมากมายไม่จำเพราะเรื่องอายุ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายปัจจัย อาทิเช่น ปัจจัยด้าน "สุขภาพของผู้ลงทุน" "ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุน" "จำนวนเงินลงทุนที่จัดเตรียมไว้" เป็นต้น ผมจะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป สำหรับวันนี้จะขอเล่าให้ฟังเรื่องการลงทุนกับอายุของผู้ลงทุน
ท่านเชื่อไหมครับว่า ผู้ลงทุนที่อายุยิ่งน้อย ผู้ลงทุนนั้นก็สามารถจะลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงได้มากกว่าผู้ลงทุนที่อายุมากๆ เรื่องอายุของผู้ลงทุนนี้สำคัญอันดับแรกๆ เลยทีเดียวเหตุผลที่สำคัญก็คือ หากการลงทุนมีความผิดพลาดเกิดขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า "เจ๊ง" ผู้ลงทุนที่อายุน้อยกว่าย่อมมีเวลาที่จะรอคอยที่ยาวนานกว่า รอให้ผลตอบแทนฟื้นคืนกลับมาได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ลงทุนที่อายุน้อยกว่า ยังมีระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวนานและสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการลงทุนได้มากกว่า
เห็นไหมครับการที่ผู้ลงทุนเริ่ม "ลงทุนตั้งแต่อายุน้อยๆ ย่อมมีข้อได้เปรียบ" แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ลงทุนที่มีอายุน้อยๆ จะต้องเสี่ยงต่อการลงทุนเสมอไป ที่สำคัญคือ ผู้ลงทุนไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุเท่าไรก็ควรที่จะมีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงกันบ้าง เหตุผลก็คือ หลักทรัพย์ที่มีให้ผลตอบแทนที่คาดหวังสูง แน่นอนว่า ความเสี่ยงของผลตอบแทนนั้นย่อมสูงขึ้นด้วย แต่สำคัญอยู่ที่ว่า ช่วงอายุที่ต่างกันควรจะลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงแตกต่างกันอย่างไร?
ทีนี้มาถึงวิธีการ ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงๆ ประเภทหนึ่งนั้น ได้แก่ "หุ้น" ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าเป็นของประเทศไทยก็คือ หุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไงล่ะ แหม...พอพูดถึง "หุ้น" หลายๆ ท่านร้อง "ยี้" เลยว่าเรื่อง "หุ้นนะเจ๊งกันมาเยอะแล้ว" บ้างล่ะ เรื่องหุ้นนะเป็น "เรื่องของคนรวย" (คนจนซื้อหวย) แต่ขอบอกว่า วันนี้ถ้าท่านเป็นข้าราชการ ถ้าท่านเป็นลูกจ้างที่ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ถ้าท่านเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ท่านทราบหรือไม่ว่า เงินที่ท่านสะสมอยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ เงินประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ของบางบริษัท) มีเงินส่วนหนึ่งลงทุนในหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนี้แล้ว ไม่เชื่อท่านลองโทรไปสอบถามได้ แต่ไม่ต้องห่วงหรอกครับว่า เงินท่านอยู่ในหุ้น...สบายใจได้มีคนดูแลการลงทุนแทนท่านอยู่แล้ว
เป็นที่แน่นอนว่า "หุ้น" มีความเสี่ยงสูงก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือ หุ้นได้ให้ผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน หากมีการจัดสรรและเลือกหุ้นที่มีคุณภาพที่เหมาะสมได้ ตรงนี้แหละครับเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ แล้วเราท่านจะเลือกหุ้นอย่างไรล่ะ และมีสัดส่วนเท่าไรล่ะ จึงจะเหมาะสมสำหรับช่วงอายุที่แตกต่างกัน
ผมได้ลองสร้าง โมเดลสัดส่วนของการกระจายเงินสำหรับนักลงทุนท่านอย่างง่ายๆ เอาไว้เป็นต้นแบบในการจัดสรรเงินไปสู่การลงทุนในหุ้นโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์ (ไว้ในครั้งต่อไปจะทยอยนำโมเดลที่คิดค้นขึ้นในมิติที่เปรียบอย่างอื่นเช่น จำนวนเงินลงทุนมานำเสนอต่อไป) ที่จริงก็เลียนแบบมาจากโมเดลของต่างประเทศนั้นแหละ แต่เนื่องจากโมเดลของต่างประเทศนั้นไม่ค่อยเหมาะสำหรับคนไทยเท่าไรเพราะว่า โมเดลของต่างประเทศ เขาจะแนะนำให้ลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงเหลือเกิน ผมจึงไม่อยากเอาโมเดลของต่างประเทศมาใช้กับพวกเรา
โมเดลที่ว่านี้ง่ายมากๆ คือ ....ทุกๆ ช่วงอายุ 10 ปี ของนักลงทุน การลงทุนใน “หุ้น” ควรจะทยอยลดลงทุก 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ท่านมี
โดยเริ่มตั้งแต่ ช่วงอายุ แรก 20-30 ปี อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนที่ท่านมี เช่น นายไทยพาณิชย์ เริ่มทำงานและกำลังเริ่มสะสมเงิน โดยมีเงินเก็บออมเดือนละ 5,000 บาท ปีหนึ่งนายไทยพาณิชย์จะมีเงินประมาณ 60,000 บาท ในระยะ 10 ปีนายไทยพาณิชย์ก็จะมีเงินประมาณ 600,000 บาท ให้นายไทยพาณิชย์ ลงทุนในหุ้นได้ไม่ควรเกิน 300,000 บาท อย่างนี้เป็นต้น
และเมื่อท่านอายุเพิ่มขึ้น เป็นช่วง 31-40 ปี ท่านก็ควรจะปรับลดสัดส่วนที่ลงทุนในหุ้นเหลือเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนที่ท่านมี เช่น นายไทยพาณิชย์ สามารถสะสมเงินเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเงินเดือนปรับสูงขึ้น เป็นสะสมได้เดือนละ 5,500 บาท ปีหนึ่งรวมเป็น 66,000 บาท ระยะ 10 ปีรวมเป็น 660,000 บาท รวมกับเงินช่วง 10 ปีแรกเป็น 1,260,000 บาท ให้นายไทยพาณิชย์ลงทุนในหุ้นได้ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินประมาณ 504,000 บาท เป็นต้น
และเมื่ออายุทยอยเพิ่มขึ้นอีกทุกสิบปี ท่านก็ทยอยลดสัดส่วนที่ลงทุนในหุ้นลดลงร้อยละ 10 เปอร์เซ็นต์ เรื่อยไป (รายละเอียดสามารถดูได้ที่ตารางที่แนบมาพร้อมกันนี้) ในที่สุดเมื่อท่านมีอายุราวช่วงเกษียณอายุ ท่านที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ท่านก็ควรมีเงินลงทุนในหุ้นในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินลงทุนที่ท่านมีทั้งหมด ก็น่าจะเพียงพอ ส่งท้ายก่อนจะลากัน อย่าลืมว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงของการลงทุนสามารถบริหารจัดการได้" ครับ
กำพล อัศวกุลชัย : QBOX@SCBAM.COM
|