ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้จากการลงทุน โดยแตะไปที่กลยุทธ์การลงทุนที่มีการซื้อหุ้น และขายสิทธิในหุ้นที่กองทุนมี หรือที่เรียกว่า "Covered Call Strategy" ไปเล็กน้อยค่ะ ส่งผลให้มีผู้สอบถามผู้เขียนมาว่ากลยุทธ์ดังกล่าว คืออะไร มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด รวมถึงสามารถเอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงทุนอย่างไรได้บ้าง
กลยุทธ์นี้ได้รับความนิยมเริ่มจากในทวีปยุโรป และสหรัฐ โดยในสหรัฐมีทรัพย์สินที่บริหารโดยใช้กลยุทธ์ดังกล่าวสูงถึงประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 660,000 ล้านบาท (ที่มา: Financial Times, March 16 2007) เหตุผลที่กลยุทธ์ดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างสูงนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่ตราสารการเงินที่มีอยู่เดิมนั้นไม่อาจตอบโจทย์ที่ผู้ลงทุนในส่วนต่างๆ ของโลกต้องการได้ นั่นคือการมีโอกาสที่จะได้รับรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ในอัตราที่สูงเพียงพอที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้ โดยจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ทั่วโลกให้ผลตอบแทนที่ต่ำเพียงประมาณ 3-5% เท่านั้น ในขณะที่เงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในหุ้นก็อยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 3-4% ต่อปี อีกทั้งยังต้องรอให้ได้รับกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวมาเป็นปัจจัยเพิ่มผลตอบแทนในอนาคต
กลยุทธ์การซื้อหุ้น และขายสิทธิที่จะซื้อในหุ้นที่มีนั้น คือ การที่กองทุนลงทุนในหุ้นเพื่อให้ได้รับรายได้จากเงินปันผล ในขณะเดียวกันก็เพิ่มรายได้ให้กับกองทุนด้วยการขายสิทธิที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวในอนาคต เพื่อแลกกับรายได้ค่าธรรมเนียม การทำเช่นนี้อีกนัยหนึ่งคือการแลกโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงมากๆ ในอนาคต เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสที่จะได้รับรายได้ที่สูงพอสมควรอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
ตัวอย่างของกองทุนประเภทนี้ ในสหรัฐได้แก่ Madison Claymore Covered Call Fund (MCN) ในขณะที่กองทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดในอังกฤษ คือ Schroder Income Maximiser Fund ที่มีเป้าหมาย (ไม่สัญญาว่าจะได้แน่นอน) ที่จะให้ผู้ลงทุนได้รับเงินรายได้จากกองทุนประมาณ 7% ต่อปี ในขณะที่ Morley Fund Managers และ Barclays ก็ได้ร่วมกันออกกองทุนที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเช่นกันในปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายการจ่ายเงินรายได้อยู่ที่ 5.5% ต่อปี หรือ 1% เหนือกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารอังกฤษ แล้วแต่อัตราใดจะสูงกว่า (ไม่สัญญาว่าจะจ่ายได้แน่นอนเช่นกัน)
แม้ว่ากองทุนที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการลงทุนจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ผู้ลงทุนจะต้องตระหนักด้วยค่ะว่า เนื่องจากกลยุทธ์นี้เอื้อให้ได้รับรายได้ที่สูงกว่าเงินปันผลจากหุ้นโดยปกติ ดังนั้นโอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นในอนาคตจะถูกจำกัดลงด้วยเช่นกัน (จากการที่กองทุนต้องขายหุ้นให้กับผู้ซื้อสิทธิเมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือกว่าราคาที่ได้สัญญากันไว้ล่วงหน้า) นอกจากนั้นการที่กองทุนรวมมีการลงทุนในหุ้น หากตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวลดลง ราคาหุ้นที่กองทุนถืออยู่ก็มีโอกาสปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดเช่นเดียวกัน แต่อาจจะปรับตัวลดลงน้อยกว่าหุ้นประเภทอื่นๆ หากกองทุนนั้นๆ เน้นลงทุนในหุ้นที่ให้ปันผลสูง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นโดยรวม โดยหากหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นคุณภาพดี ก็จะเอื้อให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว
สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ประสงค์จะได้รับเงินรายได้จากกองทุนเป็นประจำ ก็สามารถใช้กลยุทธ์การลงทุนนี้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ไม่ต่างจากการลงทุนในหุ้นโดยตรง โดยที่ความผันผวนของผลตอบแทนมีน้อยกว่า ทั้งนี้ ผู้ลงทุนอาจผสมการลงทุนด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวกับการลงทุนประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือตราสารหนี้เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นบนความเสี่ยงที่ลดลงได้ (ที่มา : Evaluation of BuyWrite and Volatility Indexes, Fund Evaluation Group LLC 2007 โดยความร่วมมือของ CBOE)
ก่อนจากขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องอ่านหนังสือชี้ชวนก่อนตัดสินใจลงทุนค่ะ
bangkokbiznews |