โดย กาญจนา หงษ์ทอง
ทำไมนักลงทุนจำนวนไม่น้อยจึง "ล้มเหลว" และเดินไปไม่ถึง "เส้นชัยแห่งการลงทุน"
บางคนอาจจะคิดว่าเพราะโชคไม่ดี ดวงไม่เฮง มือไม่ขึ้น แต่ลองนั่งทบทวนดูให้ดี คุณจะพบว่ามีหลุมพรางการลงทุนมากมาย ที่คุณพลาดท่าเดินตกลงไปครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้คุณไม่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนสักที
อาจจะมีหลายสาเหตุผสมผสานปนเปกัน ทำให้คุณขาดทุนบ้าง บาดเจ็บบ่อย แต่อาจจะมีอีกหลายสาเหตุที่คุณยังนึกไม่ถึง
Fundamentals ฉบับนี้ หยิบหลุมพรางทางการลงทุนมาบอกเล่า คุณจะได้รู้ว่าที่ผ่านมามีหลุมพรางไหนบ้างที่ทำให้คุณยังไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน
***************
ไม่ใส่ใจหาความรู้- ซื้อขายบ่อยเกินไป
เมื่อตัดสินใจลงทุน นักลงทุนทุกคนย่อมหวังที่จะได้รับผลตอบแทนสูง และมีความเสี่ยงในการลงทุนต่ำแต่มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถบรรลุสิ่งที่หวัง
หรือแม้กระทั่งนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ก็ยังอาจจะพลาดพลั้งได้บางครั้ง อะไรบ้างที่น่าจะเป็นเหตุของความผิดพลาดนั้น ซึ่งหากทราบแล้ว ก็จะได้พยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด
Fundamentals ฉบับนี้รวบรวมความเห็นของคนในแวดวงการเงิน ถึงหลุมพรางทางการลงทุน ที่ทำให้นักลงทุนหลายต่อคนล้มเหลว
@ไม่ทำความรู้จักกับตัวเอง "ดร.สันติ กีระนันทน์" ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ทัศนะว่าประเด็นแรกเลยที่ทำให้นักลงทุนล้มเหลวเพราะไม่ทำความรู้จักกับตัวเอง อาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่เป็นความจริง
ทั้งนี้ เพราะนักลงทุนหลายคน ใช้แนวทางของผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบการลงทุนของตัวเอง โดยไม่แยกแยะความแตกต่างของต้นแบบกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความทนได้ต่อความผันผวน วิธีการตัดสินใจ เวลาที่มีติดตามการลงทุนของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างเหล่านั้น ทำให้เกิดความแตกต่างของผล แม้ว่าจะพยายามเลียนแบบวิธีการของผู้ที่ประสบความสำเร็จก็ตาม
@เล็งผลเลิศมากเกินไป อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนล้มเหลว ดร.สันติ บอกว่า เป็นเพราะนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนที่มากเกินไป ซึ่งเป็นธรรมชาติของนักลงทุนที่ย่อมต้องการซื้อที่ราคาต่ำสุด และขายที่ราคาที่สูงสุด
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครที่จะทราบได้ว่าเมื่อไรที่ราคาจะสูงสุดหรือเมื่อไรที่ราคาจะต่ำสุด หรือราคาสูงสุดและราคาต่ำสุดอยู่ที่ไหน
ทางที่อาจจะปลอดภัยกว่าก็คือ การประมาณราคาซื้อขายที่ยอมรับได้ (ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับในกำไร หรือขาดทุนที่จะเกิดขึ้นก็ตาม) แล้วก็ปฏิบัติตามกรอบที่กำหนดไว้ โดยอาจจะต้องกำหนดระยะเวลาที่ยอมรับไว้ด้วย และเมื่อตัดสินใจไปแล้ว ไม่ต้องเสียใจมากเกินไป หากผลที่ได้นั้น ไม่ได้เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
@ไม่ใส่ใจหาความรู้ ดร.สันติ ยังบอกอีกว่า ผู้ที่เรียกตัวเองว่านักลงทุน จำนวนไม่น้อย ไม่ค่อยใส่ใจทำการบ้านคือ การศึกษาให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ที่ตนเองจะลงทุน แต่คอยสังเกตคนอื่น และบางครั้งก็ทำ "ตามแห่" คนอื่นไป
ในเรื่องนี้ ต้องระลึกถึงเสมอว่า เรากำลังตัดสินใจบนการได้มาหรือเสียไปซึ่ง "เงิน" ของเรา ถ้าเราไม่ระวังเงินของเราเอง ใครจะมาระวังเงินของเราแทนตัวเรา
นอกจากนั้น การเกิดขึ้นของทางเลือกในการลงทุน และเครื่องมือที่ใช้บริหารการลงทุนใหม่ๆ มีอยู่เรื่อยๆ หากไม่ศึกษาให้รู้จักสิ่งเหล่านั้น ก็นับว่านักลงทุนจะเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย
@ติดตามดูมากเกินไป ในข้อนี้ ตรงข้ามกับข้อที่ 3 ดร.สันติ บอกว่านักลงทุนบางคน มีสัมมนาอะไรที่ไหน มีเรื่องอะไรที่ไหน จะต้อง "ตามไปดู" ทุกที่ แต่ก็เป็นเพียงแค่ "ดู" โดยไม่ "คิด" เรื่องนี้สำคัญมาก หากยอมเสียเวลาที่จะไปหาความรู้จากแหล่งต่างๆ จากผู้รู้มากหลายแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้อง "คิด" ตามไปด้วย เพราะไม่มีใครที่สามารถให้สูตรสำเร็จการลงทุนใดๆ ได้ ต้องศึกษาให้เข้าใจและคิดวางแผนด้วยตัวเอง
@ไม่ไว้ใจตัวเอง หลายครั้งที่นักลงทุนจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว (หลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลดีแล้ว) กลับลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ ดร.สันติ แนะว่าต้องพยายามหาความเห็นของคนอื่นประกอบ หากการหาความเห็นประกอบนั้น ทำอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ก็จะเป็นการปรึกษาหารือที่ดี
แต่บางคนก็ทำมากเกินไป จนกระทั่งได้ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายขัดแย้งกัน จนไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลย นักลงทุนบางคนเคยตัดสินใจผิดพลาดมาในอดีต ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเองอีก เพราะกลัวผิดซ้ำซาก ต้องไปคอยถามความเห็นของผู้อื่นจนไม่เป็นตัวของตัวเอง อย่าลืมว่า
"ทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า การทำอะไรมากเกินไป เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดได้เสมอ ควรจะพยายามทำทุกอย่างให้อยู่ในความพอดีก็จะผิดพลาดน้อยลง"ดร.สันติ ให้ทัศนะ
@ไม่ได้ใส่ใจลงทุนอย่างจริงจัง "ดร.สมจินต์ ศรไพศาล" กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ ให้เหตุผลที่ทำให้นักลงทุนล้มเหลวจากการลงทุนว่าบางคนอาจจะเกิดจากไม่ได้ออม จึงไม่ได้ลงทุน หรือบางคนได้ออมแต่ไม่ได้ใส่ใจลงทุนอย่างจริงเป็นจัง ก็เลยได้ดอกเบี้ยเล็กๆ น้อยๆ จากเงินฝาก ไม่ได้สร้างความมั่งคั่งเป็นเรื่องเป็นราว
เขาบอกว่า ทางแก้ทางหนึ่งก็คือ ลงทุนให้เป็นอัตโนมัติเสียเลยอย่างพวกโครงการรวยอัตโนมัติ หรือ Automatic Millionair program (AMP) ก็จะช่วยได้ดี
@มองอดีตมากกว่ามุ่งอนาคต นอกจากนี้ ดร.สมจินต์ ยังบอกว่า ถ้านักลงทุนได้ลงทุน และมองอดีตมากกว่ามุ่งอนาคต ชอบลงทุนแบบตามๆ กระแส ก็อาจจะล้มเหลวได้
ทางที่ดีควรตั้งสติให้ดี ยืนทวนกระแสได้ในเวลาที่ควรด้วยการพยายามมองแบบมุ่งอนาคต มองกว้างครอบคลุมทางเลือกการลงทุน ทั้งหุ้น ทั้งตราสารหนี้ ทั้งเงินฝาก เป็นต้น
@ซื้อขายบ่อยเกินไป ชนวนแห่งความล้มเหลวของการลงทุนอีกประการหนึ่ง คือ ซื้อขายบ่อยเกินไป โดยเฉพาะขายเร็วเมื่อกำไรเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าขาดทุนมักถือนานเพราะทำใจไม่ได้ ซึ่งดร.สมจินต์ กล่าวความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราซื้อหุ้นได้ถูกต้องแล้วบริษัทดีจริง มีกำไรควรจะถือให้นานตั้งใจเป็นเจ้าของจริงจัง แต่ถ้าซื้อผิดควรตัดใจกำจัดจุดอ่อนเสียแต่เนิ่นๆ ดีกว่า
@ดูปัจจัยพื้นฐานน้อยเกินไป อีกประเด็นหนึ่ง ดร.สมจินต์ บอกว่าที่นักลงทุนล้มเหลวก็เพราะหวังจับกระแสการเข้าออกของเงินมากเกินไป ดูปัจจัยพื้นฐานน้อยเกินไป หุ้นขึ้นลงด้วยสองปัจจัยเสมอ คือ ปัจจัยแรก คือ ความสามารถในการทำกำไร ซึ่งคือปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของหุ้น
ปัจจัยที่สอง คือ กระแสเงินเข้าออกของตลาดหุ้นโดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ หากเราจะคาดเดาต่างชาติมากเกินไปจะลำบากมาก เพราะเป็นการยากเหลือเกินหรืออาจเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำไปที่จะทำเช่นนั้น
ดังนั้น จึงควรดูเรื่องความสามารถในการทำกำไรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แล้วดูระดับราคาที่เหมาะสมเป็นหลัก แล้วพิจารณาเรื่องกระแสเงินลงทุนต่างๆเป็นองค์ประกอบ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ เมื่อเราลงทุนเพราะปัจจัยพื้นฐานดีราคาเหมาะสมแล้ว หากราคาจะผันผวนด้วยเพราะกระแสเงินต่างชาติบ้าง เราก็จะไม่ตกใจ
@ความโลภและความกลัว ประการสุดท้าย ในมุมมองของ ดร.สมจินต์ เขาคิดว่า ความโลภและความกลัว เป็นต้นเหตุของการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้เสมอ หากความผันผวนของหุ้นเป็นตัวมากเกินไปสำหรับนักลงทุนบางคน การลงทุนแบบที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างดีอย่าง TDEX (ThaiDEX SET50 ETF) ก็เป็นทางเลือกที่จะลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี
@ลงทุนไม่เหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยง "อดิศร เสริมชัยวงศ์"กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ทัศนะถึงเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนล้มเหลวจากการลงทุนว่า ก่อนที่จะพูดถึงสาเหตุที่จะทำให้การลงทุนล้มเหลวนั้นอยากจะให้ทุกคนให้เวลาศึกษาและพิจารณา ถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้กระจ่างถ่องแท้เสียก่อน โดยที่ปัจจัยแรกที่สุดที่เราจะต้องคำนึงถึงนั้น ก็ง่ายและอยู่ใกล้ตัวมากที่สุดก็คือ ความต้องการของตัวเอง หรือการวางแผนทางการเงินให้กับตัวเองก่อนนั่นเอง เมื่อวางแผนแล้วถึงค่อยมาพิจารณาเรื่องการลงทุนต่อไป
เพราะว่าถ้าขาดการวางแผนอย่างรอบคอบแล้ว เราคงไม่สามารถที่จะวางเป้าหมาย วัตถุประสงค์ของการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งก็คงทำให้เราไม่สามารถจะประเมินได้ว่า การลงทุนที่ทำไปสำเร็จหรือล้มเหลว
"การวางแผนทางการเงินจะว่าง่ายก็ง่ายนะแต่ไม่ค่อยจะมีใครทำกันนะ เริ่มต้นจริงๆ ก็คือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้เป็นประจำ นี่คือ จุดเริ่มต้นของการออมเงินอย่างมีวินัย เพราะถ้าไม่ออม ล้มเหลวในการลงทุนแน่ๆ เพราะคงจะไม่มีเงินให้ลงทุนและนำไปสู่การลงทุนอย่างมั่นคง หลังจากนั้นก็เริ่มมองออกไปในอนาคต กลับมาดูแผนการในชีวิตของเราอีกครั้งว่า เราฝันที่จะมี จะใช้ จะเที่ยว จะทำ หรือมีภาระ ต้องสำรองเงินเผื่อ ต้องใช้จ่ายดูแลในเรื่องใดๆ บ้าง และที่สำคัญอย่าลืมกันเงินออมไว้ใช้ตอนเกษียณอายุด้วย มาถึงตรงนี้เราก็จะมีภาพคร่าวๆ ว่า ในช่วงเวลา 4-5 ปี ข้างหน้า เราควรจะมีเงินออมเท่าไร และเมื่อไรต้องใช้เงิน หรือส่วนไหนเก็บออม ลงทุนระยะยาวๆ ได้ ส่วนไหนเผื่อไว้ต้องใช้ในอนาคตอันใกล้ "
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อจะนำเข้ามาถึงความผิดพลาดอันแรกของผู้ลงทุนทั่วไป คือ จัดการแบ่งการลงทุนไม่เหมาะสมกับเป้าหมายการออม และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ บางคนนำเงินที่รู้ว่าจะต้องใช้ใน 3-4 เดือนข้างหน้าไปลงทุนในหุ้น บางคนนำเงินที่เก็บไว้ใช้ตอนเกษียณไปฝากประจำ 3 เดือน เกือบทั้งหมด จะเร็วจะช้าก็จะพบว่าเราไม่พอใจเลยกับการลงทุนที่มีอยู่ เพราะผลที่ได้จะไม่ตอบสนองสอดรับกับแผนชีวิตที่วางไว้ หรือความจำเป็นที่เกิดขึ้น
@ขาดการศึกษาข้อมูลลงทุนอย่างถี่ถ้วน อีกประการที่อดิศรมองว่าทำให้นักลงทุนล้มเหลว เพราะไม่ค่อยได้ทำกัน ก็คือ การตั้งเป้าหมายผลตอบแทนในการลงทุนที่สมเหตุสมผล ถ้าไม่มีการตั้งเป้าหมายในส่วนของผลตอบแทน เราจะประเมินผลได้อย่างไร อันนี้ทำให้เราประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนไม่ได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องลงทุนอะไรบ้างเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ตั้งใจ ก็เลยทำให้จัดแบ่งการลงทุนผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น
สาเหตุหลักของข้อผิดพลาดในจุดนี้ก็คือ ขาดการศึกษาข้อมูลของตลาดการลงทุนและทางเลือกต่างๆ อย่างถี่ถ้วน รับฟังข้อมูลเพียงผิวเผิน และขาดการติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างเป็นประจำ
นอกจากศึกษาภาวะตลาดการลงทุนแล้ว ก็น่าจะต้องมาดูรายละเอียดของการจัดสรรสัดส่วนในการลงทุนว่าเหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ไหม ในแต่ละช่วงเวลา และให้ผลตอบแทนเพียงพอหรือไม่
ในจุดนี้เราอาจจำเป็นที่จะต้องคอยกลับมาดูแผนชีวิตหรือผลตอบแทนที่คาดหวังด้วยว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้พอเพียงหรือไม่หลายครั้งอาจจะต้องปรับลดลง เพราะเราไม่อยากให้ความเสี่ยงของการลงทุนมีมากไป ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ก็ชวนให้พูดถึงความผิดพลาดอีกประการที่เป็นกันมากคือ ปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำเหตุผล เช่น แทนที่จะปรับเป้าหมายผลตอบแทนลงตามภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนแปลง เวลาดอกเบี้ยปรับตัวลง กลับไปเพิ่มการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูงเข้าไป หรือพอเห็นการลงทุนบางอย่างลงไปแล้วให้ผลตอบแทนดีก็เพิ่มสัดส่วนไปจนเกินสมควรด้วยความหวังว่าจะได้กำไรมากๆ ก็ต้องระมัดระวัง และเตือนตัวเองให้กลับไปดูวัตถุประสงค์ในการออมเงินและความเสี่ยงที่เรารับได้อยู่ตลอดเวลา
"จากที่ผมพูดมาทั้งหมด ก็อยากจะสรุปว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องยากแต่ต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวังและสม่ำเสมอในการดูแลจัดการ" อดิศรให้แง่คิด
คุณก็เป็นนักลงทุนที่ถึงเส้นชัยแห่งการลงทุนได้ ถ้ารู้ให้เท่าทันหลุมพรางที่คอยจ้องจะลากเราลงไป พอรู้แล้วว่ามีกับดักอยู่ตรงไหนบ้าง คราวนี้หลบให้พ้นละกัน
|