มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 11
ผู้อ่านหุ้นสามัญประจำบ้านท่านใดสนใจจะลงทุนในตลาดหุ้นจริงๆ มาถึงบัดนี้ผู้เขียนก็คาดหมายว่าท่านคงจะไปเปิดพอร์ตฯเล่นหุ้นกับโบรกเก้อร์บริษัทใดบริษัทหนึ่งแล้ว และบัดนี้มาถึงขั้นตอนสั่งซื้อหุ้นกันล่ะเพราะจะขายหุ้นเลยก็ยังไม่ได้เนื่องจากไม่มีหุ้นอยู่ในพอร์ตสักตัว
เมื่อท่านเลือกหุ้นที่หมายตาไว้ว่าจะลงทุนตัวนี้แหละอีกทั้งเลือกระดับราคาของหุ้นว่าต่ำสมใจและเหมาะสมที่จะซื้อด้วยมีโอกาสจะทำกำไรจากราคาหุ้นที่จะสูงขึ้นในอนาคตหรือจะได้ปันผลจากหุ้นตัวนั้น การสั่งซื้อสามารถทำได้ 3 ทาง คือ
1. สั่งตรงที่ห้องค้าของโบรกเก้อร์เลย โดยนักลงทุนจะเดินทางไปที่ทำการของโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งโบรกเกอร์บางบริษัทจะมีกระดานอีเล็คโทรนิคแสดงการเคลื่อนไหวของสภาวะซื้อขายหุ้นจริงให้ชมได้เห็นภาพรวม พร้อมโต๊ะที่ตั้งคอมพิวเตอร์ให้นักลงทุนเลือกตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน การสั่งซื้อนั้นนักลงทุนสั่งได้ที่เจ้าหน้าที่ของโบรกเกอร์ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักลงทุนแต่ละคนโดยตรง
โบรกเก้อร์บางบริษัทจะจัดโต๊ะเก้าอี้เหมือนที่ทำงานที่กั้นเป็นคอกๆ แต่ละคอกจะตั้งคอมพิวเตอร์เพื่อให้นักลงทุนติดตามสภาวะซื้อขายจริงในตลาด รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ได้ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เมื่อนักลงทุนจะซื้อขายหุ้นตัวใดก็สามารถยกหูโทรศัพท์ที่จัดเตรียมไว้ไปยังตัวแทนโบรกเก้อร์ที่รับผิดชอบนักลงทุนคนนั้นให้ทำรายการได้ทันที
2. โทรศัพท์สั่งซื้อขายหุ้นจากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไป ณ ที่ทำการของโบรกเก้อร์
3. ป้อนคำสั่งซื้อขายเอง หากเป็นการเล่นหุ้นผ่านระบบอินเตอร์เน็ท
การสั่งซื้อหรือขายหุ้นแต่ละครั้งนั้น นักลงทุนต้องสั่งซื้อหรือขายหุ้นแต่ละตัวไม่ต่ำกว่า 100 หุ้น ทั้งนี้เป็นไปตามการกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ 1 หน่วยซื้อขาย หรือ 1 BOARD LOT = 100 หุ้น
เช่น ถ้าท่านต้องการตั้งซื้อหุ้นปตท.ซึ่งมีอักษรย่อคือ PTT ณ ราคาหุ้นละ 150 บาท ท่านก็ต้องสั่งซื้อตั้งแต่ 100 หุ้นขึ้นไป
ในกรณีสั่งซื้อหรือขายต่ำกว่า 100 หุ้น นักลงทุนต้องขอให้โบรกเก้อร์ทำรายการที่กระดานเศษหุ้นให้
อย่างไรก็ตามหุ้นหรือหลักทรัพย์ตัวใดที่มีราคาขายตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป เป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน 6 เดือน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะกำหนดหน่วยซื้อขายหรือบอร์ดล็อต =50 หุ้น
การสั่งซื้อหรือขายหุ้น นักลงทุนต้องเสนอราคาให้ตรงกับกับช่วงราคาการปรับขึ้น-ลงของราคาซื้อขายหุ้นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้คือ
หุ้นตัวใดที่ราคาต่ำกว่า 2 บาท ช่วงราคาคือ 0.01 บาท หรือ 1 สตางค์ หุ้นราคา 2 - 5 บาท ช่วงราคาคือ 0.02 บาท หรือ 2 สตางค์ หุ้นราคา 5 - 10 บาท ช่วงราคาคือ 0.05 บาท หรือ 5 สตางค์ หุ้นราคา 10 - 25 บาท ช่วงราคาคือ 0.10 บาท หรือ 10 สตางค์ หุ้นราคา 25 - ต่ำกว่า 50 บาท ช่วงราคาคือ 0.25 บาท หรือ 25 สตางค์ หุ้นราคา 50 - ต่ำกว่า100 บาท ช่วงราคาคือ 0.50 บาท หรือ 50 สตางค์ หุ้นราคา 100 - ต่ำกว่า 200 บาท ช่วงราคาคือ 1บาท หุ้นราคา 200 - ต่ำกว่า 600 บาท ช่วงราคาคือ 2 บาท หุ้นราคา 600 - ต่ำกว่า 1,000 บาท ช่วงราคาคือ 4 บาท หุ้นราคา 1,000 บาทขึ้นไป ช่วงราคาคือ 6 บาท เช่น
เช่นเมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2547 หุ้น ปตท. ปิดที่ 152 บาท หากวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2547 นักลงทุนต้องการซื้อหรือขายหุ้นปตท.ต้องทำคำสั่งที่ 152 บวกหรือลบไปช่วงละ 1 บาท เช่น 150/151/152 บาท ฯลฯ แต่จะสั่งซื้อหรือขายที่ 151.50 บาท หรือ 151.25 บาทไม่ได้
อย่างไรก็ตามหากไม่ใช่การป้อนคำสั่งเองทางอินเตอร์เน็ท นักลงทุนที่เริ่มการซื้อขายใหม่ๆ ก็ไม่ต้องไปเคร่งเครียดกับช่วงราคาของหุ้นให้มากนัก เพราะนี่คือการเล่นหุ้นไม่ใช่การสอบไล่ เนื่องจากจะมีตัวแทนของโบรกเก้อร์คอยกำกับและดูแลให้อีกชั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ตามราคาซื้อขายหุ้นในแต่ละวันของหุ้นแต่ละตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุดหรือลดลงต่ำสุดได้ไม่เกิน30เปอร์เซ็นต์ของราคาซื้อขายสุดท้ายหรือราคาปิดของวันก่อนหน้าเช่น หุ้น ปตท. ราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายหรือที่เรียกว่าราคาปิดของวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2547 คือ 152 บาทต่อหุ้น ดังนั้นในวันถัดมาคือวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2547 นั้นราคาหุ้นปตท.จะซื้อขายสูงกว่า 152+45 คือ 197 บาทไม่ได้ เพราะราคา 197 บาทนี้คือราคาสูงสุด 30 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกกันว่าราคาชนเพดานหรือซิลลิ่ง (CEILING) ของ ปตท. ในวันที่ 23 มีนาคม
อันว่าราคาซิลลิ่งหรือราคาชนเพดานนี้นักลงทุนที่มีหุ้นตัวนั้นๆ อยู่ชอบนักชอบหนา เพราะการขายที่ซิลลิ่งไม่แคล้วต้องได้กำไร (ยกเว้นต้นทุนที่ซื้อมาราคาสูงกว่าซิลลิ่ง)
นักลงทุนบางคนเล่นหุ้นมานับ 10 ปี อาจจะยังไม่เคยขายหุ้นได้ในราคาซิลลิ่งเลยก็มี
ในทางตรงกันข้ามหากหุ้นปตท.ราคาตกมาก การซื้อขายหุ้น ปตท. ในวันอังคารที่ 23 มีนาคม จะทำกันต่ำกว่าราคา 152-45 = 107 บาทไม่ได้ เพราะ 107 บาทคือราคาต่ำสุด 30 เปอร์เซ็นต์ หรือราคาฟลอร์ (FLOOR) ของหุ้นปตท.ในวันที่ 23 มีนาคม
ราคาฟลอร์นี่แหละที่นักลงทุนผู้ถือหุ้นตัวนั้นต้องการหนีห่างให้ไกลนับพ้นลี้ เพราะหากต้องขายหุ้นณ ราคานี้แล้วถ้าจะได้กำไรก็น้อยเต็มที (แสดงว่าซื้อมาในราคาต่ำจริงๆ) แต่ร้อยทั้งร้อยมักจะขาดทุนด้วยกันทั้งนั้น
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 12
ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้เป็นช่วงกลางคืนของวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2547 โดยในช่วงเย็นของวันดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตกต่ำค่อนข้างมากกล่าวคือต่ำกว่า 650 จุด ผิดกับช่วงปลายปี 2546 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2547 ที่ดัชนีตลาดพุ่งเป็นติดจรวจแตะ 800 จุดเศษๆ
ตามตำนานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดทุน หรือตลาดหุ้นซึ่งเปิดการซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2518 นั้น ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "ดัชนี" หรือเซ็ทอินเด็ก (SET Index) เคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อวันที่4 มกราคม พ.ศ. 2537 ที่ระดับ 1,753.73 จุด ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2519 ดัชนีตลาดอยู่ในจุดที่ต่ำสุดที่ 76.43 จุด และในแต่ละวันเราๆ ท่านๆ จะได้ยินข่าวดัชนีเป็นบวก / ดัชนีเป็นลบ / ดัชนีเคลื่อนไหวในวงแคบ ฯลฯ จนคุ้นหู แม้แต่คนที่ไม่เล่นหุ้นก็ยังอุตส่าห์นำเลขท้ายของดัชนีในช่วงปิดตลาดแต่ละวันที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปแอบเล่นเป็นหวยหุ้นในบางพื้นที่ก็มี คำถามคือดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือดัชนีตลาดหุ้นหรือเซ็ทอินเด็กซคืออะไร และดัชนีบ่งบอกอะไร จำเป็นไหมที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นต้องสนใจดัชนี ซึ่งเราก็จะมาหาคำตอบ ณบัดนี้
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) เป็นวิธีการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคิดคำนวณขึ้น เพื่อเป็นตัวชี้แนะให้เห็นสภาพของตลาดหุ้นโดยทั่วไปในขณะนั้น
ถ้าดัชนีตลาดเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นหรือดัชนีเป็นบวกที่เรียกว่า ”หุ้น (ดัชนี) ขึ้น” แสดงว่า ภาวะตลาดหุ้นดีขึ้น แต่หากเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามถ้าดัชนีลดลงหรือดัชนีเป็นลบที่เรียกกันว่า ”หุ้น (ดัชนี) ตก” ก็แสดงให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์กำลังซบเซา
สูตรการคิดดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคือ ใช้มูลค่าตลาดโดยรวมของหุ้นสามัญทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่คิด เทียบกับหรือหารด้วยมูลค่าตลาดโดยรวมของหุ้น ณ วันฐานคือวันที่ 30 เมษายน 2518 ซึ่งเป็นวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการและมีหุ้นซื้อขายอยู่เพียง16 ตัว โดยสูตรจะเป็นดังนี้ ดัชนี
= มูลค่าตลาดโดยรวมของหุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัวณวันที่คิดX100 / มูลค่าตลาดโดยรวมของหุ้นสามัญ ณ วันฐาน (30เมษายน2518)
เมื่อได้ตัวเลขดัชนีขณะหนึ่งออกมาแล้ว การจะเห็นได้ชัดว่าดัชนีเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นทำได้โดยการเปรียบเทียบกับวันทำการก่อนหน้านั้น เช่นดัชนีลดลงจากเมื่อวานนี้จำนวนกี่จุด หรือดัชนีเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้จำนวนกี่จุด
ณ เวลานี้ที่ท่านกำลังเริ่มเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นอาจจะอ่านแล้วงุนงงสงสัย อย่างไรก็ตามหลักของเราคือการเล่นหุ้นไม่ใช่การสอบไล่ที่ต้องทำข้อสอบให้สอบผ่านและได้คะแนนดี แต่การเล่นหุ้นมีเป้าหมายเพื่อลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำไรงอกเงยจากเงินที่ลงไป ดังนั้นเราปล่อยให้การคำนวณดัชนีเป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไป
เพียงแต่เราจำกันง่ายๆ ว่า หากดัชนีตลาดหรือเซ็ทอินเด็กซสูงกว่าวันก่อนหรือดัชนีเป็นบวกหรือดูง่ายๆ คือทั้งกระดานจะมีสีเขียวมากกว่ามีแดงหรือสีส้มนั้น แสดงว่ามูลค่าหลักทรัพย์หรือหุ้นทั้งหมดในตลาดสูงกว่าวันก่อนหรือ”หุ้นขึ้น” นักลงทุนที่ถือหรือมีหุ้นอยู่ก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะชอบเพราะมูลค่าหุ้นในพอร์ตจะเพิ่ม หากขายแล้วมักจะได้กำไร
แต่ในภาวะดัชนีเป็นบวก นักลงทุนที่จ้องจะซื้อหุ้นเข้าพอร์ตมักไม่ค่อยชอบ เพราะอาจจะต้องซื้อในราคาที่แพง และบางคนจะตั้งกติกาสำหรับตัวเองไว้เลยว่าจะไม่ซื้อหุ้นเมื่อดัชนีเป็นบวก
ในทางกลับกันหากดัชนีตลาดหรือเซ็ทอินเด็กต่ำกว่าเมื่อวันก่อนหรือดัชนีเป็นลบ หรือพูดง่ายๆ คือทั้งกระดานมักจะมีสีแดงมากกว่าสีเขียวนั้น แสดงว่ามูลค่าหลักทรัพย์ทั้งหมดในตลาดลดลงหรือ ”หุ้นตก” นักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ก่อนหน้านั้นมักจะไม่ชอบเพราะหากขายออกไปอาจจะขาดทุน
แต่ในสภาวะที่ดัชนีตลาดเป็นลบ นักลงทุนที่รอซื้อหุ้นจะชอบเพราะสามารถเลือกซื้อหุ้นได้ในราคาถูก อย่างเช่นวอร์เรน บัฟเฟทท์นักลงทุนในตลาดหุ้นที่ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันที่ติดอันดับต้นๆของมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของโลกและบางปีสามารถแซงบิลเกต เจ้าพ่อไมโครซอฟมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยซ้ำ เคยพูดว่าวันใดที่นักลงทุนเกิดการแตกตื่นเทขายหุ้นออกมาอย่างหนักแบบไม่ลืมหูลืมตาโดยไม่ได้ดูพื้นฐานที่แท้จริงของหุ้นแต่ละตัวนั้น ตื่นเช้าขึ้นมาวอร์เรน บัฟเฟทท์แทบอยากเต้นรำด้วยความยินดี เพราะสามารถเลือกซื้อหุ้นดีในราคาถูกเข้าพอร์ตได้เต็มที่
ดังนั้นก็มาถึงบทสรุปสำหรับคำตอบสำหรับคำถามที่สองว่านักลงทุนในตลาดหุ้นต้องสนใจดัชนีตลาดแน่นอน เพราะดัชนีเป็นตัวชี้วัดสภาพตลาด อีกทั้งสามารถใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจซื้อขายด้วย
อย่างไรก็ตามทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น เพราะยังมีนักลงทุนประเภทหนึ่งที่ไม่ให้ความสนใจมากมายต่อสภาพตลาดรวมไม่ว่าจะเป็นดัชนีหรือสภาพแวดล้อมหรือวงจรเศรษฐกิจ หรือภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศหรือโลก นักลงทุนประเภทนี้เมื่อซื้อหุ้นตัวใดแล้วจะถือหุ้นตัวนั้นระยะยาวอาจจะเป็นปีบางคนถือห้าปีหรืออย่างวอร์เรน บัฟเฟทท์อาจจะถือหุ้นตัวนั้นตลอดไปถ้าหากพื้นฐานของบริษัทหรือหุ้นนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง
นักลงทุนประเภทนี้ได้ชื่อว่าลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VALUE INVESTOR หรือ VI) ไม่ใช่ลงทุนแบบเก็งกำไร หรือเล่นหุ้นเป็นการพนัน โดยนักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่าจะศึกษาพื้นฐานของบริษัทที่จะเข้าไปซื้อหุ้นทุกๆด้านก่อนจะตัดสินใจควักเงินลงทุน ว่าบริษัทประกอบธุรกิจเยี่ยมหรือไม่ ผู้บริหารยอดหรือไม่ มีอนาคตหรือคู่แข่งทางธุรกิจมากมายอันจะกระทบต่อการทำกำไรในอนาคตหรือไม่ อัตราการจ่ายปันผลเป็นอย่างไรต่อเนื่องหรือไม่ ฯลฯ
เมื่อเลือกได้แล้วนักลงทุนเหล่านี้ก็คอยอย่าใจเย็นจนกว่าราคาหุ้นบริษัทนั้นๆ จะตกลงมาเป็นที่พอใจดังเช่นช่วงนักลงทุนคนอื่นๆ แย่งกันขายหุ้นจนไม่ลืมหูลืมตา พวกเขาจึงจะเข้าไปซื้อ ถือเป็นการซื้อที่ได้ส่วนลดอีกต่างหาก เมื่อซื้อเสร็จแล้วก็คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเงินปันผล หรือคอยจนกว่านักลงทุนคนอื่นๆ เริ่มเห็นคุณค่าของหุ้นที่เขาซื้อไว้แล้วมาแย่งกันซื้อภายหลังจนราคาพุ่งเกินพื้นฐานที่แท้จริง หรือเมื่อได้ราคาพอใจนักลงทุนประเภทนี้จึงจะขายหุ้นออกพร้อมกำไรซึ่งมักจะก้อนโต
ดังนั้นนักลงทุนประเภทนี้จึงจะไม่ค่อยสนใจดัชนีตลาดรายวันหรือระยะสั้นว่าจะขึ้นหรือลง ไม่สนใจปัจจัยต่างๆ ที่จะมากระทบตลาด ไม่สนใจแนวต้าน แนวรับหรือการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค แต่จะสนใจเฉพาะปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่ถืออยู่
ไม่ว่าดัชนีตลาดหรือเซ็ทอินเด็กซจะขึ้นหรือลง นักลงทุนเหล่านี้จะบอกว่า ”เล่นหุ้น (รายตัวที่พื้นฐานดี) ” ไม่ได้เล่น ”ดัชนี”
หนึ่งนักลงทุนประเภทนี้ในเมืองไทยที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ ดร.นิเวศน์ เหมวิชรวรากร ผู้เขียนหนังสือชื่อ ”ตีแตก กลยุทธ์ลงเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต”
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 13
ขณะปิดต้นฉบับบทความหุ้นสามัญประจำบ้านตอนที่ 13 อยู่นี้เป็นวันช่วงต้นเดือนเมษายน 2547 อันเป็นเทศกาลที่บริษัทจดทะเบียนต่างๆในตลาดหุ้นที่มีผลการดำเนินงานปี 2546 ออกมาดีจ่ายแล้ว หรือกำลังจ่าย หรือจะจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุน ที่ซื้อหุ้นบริษัทนั้นๆ
โดยปกติแล้วบริษัทส่วนใหญ่จะประกาศจ่ายปันผลช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกๆ ปี ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นระยะที่นักลงทุนที่พิจารณาเน้นคุณค่าของบริษัทหรือที่เรียกันว่า VALUE INVESTOR ทั้งหลาย เฝ้ารอผลของเงินที่ลงไปซื้อหุ้นผลิดอกออกลูกมาเป็นเงินปันผลให้ชื่นใจ ชนิดเลือกได้ถูกตัวหรือบริษัทแล้ว บางบริษัทเคยจ่ายปันผลสำหรับปีดำเนินงาน 2545 สูงถึงร้อยละ 8-9 ก็มี
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2546 ที่กำลังจ่ายอยู่นี้บางบริษัทที่นักลงทุนตาดีได้จ่านปันผลร้อยละ8ก็มีอีกเหมือนกัน
เมื่อประกอบกับนักลงทุนหน้าใหม่หลายคนอาจจะสงสัยว่าเครื่องหมาย XD ที่กำกับหุ้นแต่ละตัวบนกระดานนั้นความหมายคืออะไร และบ่งบอกอะไรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและนักลงทุนที่ถือหุ้นตัวนั้นอยู่ จึงขอให้โอกาสนี้อธิบายเรื่อง XD เพื่อประโยชน์ของนักลงทุนรายใหม่ทั้งหลาย
แน่นอนบริษัทที่สามารถจ่ายปันผลจากผลการดำเนินงานให้กับผู้ถือหุ้นได้นั้นย่อมเป็นบริษัทที่ผลการดำเนินงานออกมาดีมีกำไร และผู้บริหารมีนโยบายจ่ายกำไรคืนผู้ถือหุ้นจะเป็นอัตราส่วนเท่าไรก็แล้วแต่เพราะแต่ละบริษัทมีนโยบายไม่เหมือนกัน เช่น
ปตท.หรือชื่อย่อ PTT จะจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2546 ให้ผู้ถือหุ้น 4 บาทต่อหุ้น
ธนาคารกรุงไทยหรือ KTB จะจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2546 จำนวน 0.47 บาทต่อหุ้น
ศุภาลัย SPALI หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2546 จำนวน 0.50 บาทต่อหุ้น เป็นต้น
แต่การจ่ายปันผลนี้จำเป็นที่ต้องมีขั้นตอนการดำเนินงาน อีกทั้งจะต้องบอกว่านักลงทุนซื้อหุ้นช่วงใดจะได้เงินปันผลและไม่ได้เงินปันผลสำหรับสำหรับปีการดำเนินการนั้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะให้เครื่องหมาย XD เป็นการบ่งบอก
XD คำเต็มคือ EXCLUDING DIVIDEND ถ้ากำกับอยู่หลังหลักทรัพย์หรือหุ้นตัวใดวันใดมีความหมายคือ ผู้ซื้อหุ้น ณวันนั้นหรือหลังจากนั้นไม่ได้สิทธิรับเงินปันผลงวดที่บริษัทกำลังจะจ่าย ดังนั้นนักลงทุนคนใดที่ต้องการจะได้รับเงินปันผลจากบริษัทใดสำหรับผลการดำเนินการงวดนั้นจะต้องซื้อหุ้นตัวดังกล่าวก่อนวันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย XD กำกับหุ้นตัวนั้น
หากนักลงทุนซื้อหุ้นเมื่อตลาดฯขึ้น XD แล้ว ก็จะต้องไปรอผลการดำเนินงานของบริษัทในงวดหรือปีถัดไปว่าผลจะออกมาอย่างไรและบริษัทจะจ่ายผลปันหรือไม่ เท่าใด
กำหนดเวลาการขึ้นเครื่องหมายXD นักลงทุนสามารถตรวจสอบได้จากหนังสือพิมพ์ หรือสอบถามโบรเกอร์ที่เปิดบัญชีอยู่
เมื่อถูกขึ้นเครื่องหมาย XD แล้ว ปกติราคาหุ้นตัวนั้นมักจะตกลงใกล้เคียงกับจำนวนของปันผลที่จะได้รับ ยกเว้นหุ้นตัวนั้นแข็งหรือมีคุณค่าสูงจริง ธุรกิจมีโอกาสทำกำไรดีในปีถัดไป อีกทั้งสภาพตลาดหุ้นโดยรวมขณะนั้นส่งเสริม ราคาของหุ้นในวันขึ้น XD ก็อาจจะตกลงไม่มาก
อย่างไก็ตามทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น มีอยู่หลายครั้งหลายโอกาสที่หุ้นบางบริษัทหลังจากช่วงขึ้นเครื่องหมาย XD ผ่านพ้นไปแล้ว ราคาหุ้นกลับเพิ่มขึ้นเป็นของแถมพิเศษให้ผู้ถือหุ้นประเภทนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ VALUE INVESTOR ได้เฮก็เคยมี
ปรากฎการณ์นี้ยังไม่นับรวมในกรณีที่นักลงทุนแบบเก็งกำไร หรือพวกเล่นสั้นจะพากันใช้โอกาสการประกาศผลการดำเนินการและประกาศจ่ายปันผลของบริษัทเข้ามาผสมโรงเก็งกำไรหุ้นอันมีผลต่อราคาหุ้นตัวนั้นๆ อีกต่างหาก
ดังนั้นในบทสรุปของคำอธิบายคือเครื่องหมาย XD จะมีได้ก็ต่อเมื่อหุ้นนั้นๆต้องจ่ายปันผลได้ เพราะหลายบริษัทไม่ได้จ่ายปันผลเพราะผลดำเนินงานไม่ดีหรือขาดทุน การลงทุนหรือซื้อหุ้นปันผลจะให้ประโยชน์ทั้งสองด้านคือประโยชน์จากปันผล และราคาหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเงินปันผลส่งเสริมให้ราคาหุ้นตัวนั้นสูงขึ้น
แต่การจะเลือกซื้อหุ้นบริษัทใดมีปันผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลการศึกษา และพิจารณาแต่ละบริษัทของนักลงทุนแต่ละคนที่ต้องศึกษาหาข้อมูลที่มีให้ค้นคว้ามากมายทั้งในเว็ปไซด์ของโบรกเกอร์ต่างๆและตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งหน้าเศรษฐกิจของหนังสือหลายฉบับเช่นผู้จัดการรายวัน กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ ฯลฯ
ยังมีนักลงทุนเป็นจำนวนมากที่ซื้อหุ้นด้วยเหตุผลเพียง "เขาบอกว่าดี" หรือ "เขาบอกว่ามันจะขึ้น" หรือตัดสินใจขายหุ้นออกไปเพียงเพราะเหตุผล "เขาบอกว่ามันจะตก"
การลงทุนในลักษณะผีบอกเช่นนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยเปรียบเทียบไว้ว่า “เหมือนยิงปืนโดยไม่ได้เล็งเป้า”
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 14
ในทุกตลาด คำที่สะท้อนราคาสินค้ามีอยู่สองคำ คือ "ถูก” กับ “แพง”
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหุ้นซึ่งสินค้า คือ หลักทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ เมื่อมีการซื้อขายกันก็ย่อมมีหุ้นราคาถูก กับหุ้นราคาแพงเช่นกัน
นักลงทุนหลายคนชอบซื้อ-ขายหุ้นราคาสูง อย่างเช่น หุ้น ปตท. ชื่อย่อ PTT ที่ราคาปิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2547 อยู่ที่ 158 บาทต่อหุ้น หรือ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ชื่อย่อ PTTEP ราคาปิด 284 บาทต่อหุ้น หรือปูนซิเมนต์ไทยชื่อย่อ SCC ราคาปิด 240 บาทต่อหุ้น
นักลงทุนอีกบางประเภทบอกไม่ชอบเล่นหรอกหุ้นราคาสูงเพราะแพง ชอบหุ้นราคาต่ำเพราะถูกดีเป็นประเภทสามตัวร้อย หรือห้าตัวร้อย หรือห้าสิบตัวร้อยก็มี เช่น สยามสหบริการ ชื่อย่อ SUSCO ราคาปิดเมื่อ 16 เมษายน 2547 คือ 1.27 บาทต่อหุ้น หรือดิจิตอล ออนป้า อินเตอร์เนชั่นแนล ชื่อย่อ DOI ราคาปิด 1.28 บาท ต่อหุ้น เป็นต้น
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น หุ้นราคาสูงหาใช่หุ้นแพง และหุ้นราคาต่ำก็หาใช่หุ้นถูกเสมอไปไม่ เพราะการวัดความถูก-แพงของหุ้นแต่ละตัวนั้น ไม่ได้วัดกันที่ราคาสูงหรือต่ำของราคา แต่วัดจากสิ่งที่เรียกกันติดปากและเราท่านมักจะได้ยินกันบ่อยๆ คือ ค่า พี/อี หรือ P/E Ratio ต่างหาก
ค่า พี/อี หรือชื่อเต็ม Price/Earnings Ratio ซึ่งใช้วัดความถูก-แพงของหุ้นนี้หาได้โดย นำราคาต่อหุ้นที่นักลงทุนซื้อ (เงินที่จ่ายออกไป) หารด้วย กำไร (ผลตอบแทนที่จะได้กลับมา) งวด 1 ปีที่ผ่านมาของหุ้นตัวนั้น เช่น หุ้น ปตท. จ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำป ี2546 จำนวน 4 บาทต่อหุ้น หากนักลงทุนซื้อหุ้น ปตท. ที่ราคา 158 บาทต่อหุ้น ค่า พี/อี ของหุ้น ปตท. จะเท่ากับ 11.2 เท่า (158 หารด้วย 4) หุ้นสยามสหบริการ ซึ่งจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2546 จำนวน 0.05 บาทต่อหุ้น หากนักลงทุนซื้อ ณ ราคา 1.27 บาทต่อหุ้น ค่า พี/อี จะเท่ากับ 16.3 เท่า (1.27 หารด้วย 0.05)
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าหุ้นสยามสหบริการราคา 1.27 บาทต่อหุ้น ย่อมแพงกว่าปตท.ซึ่งราคา 158 บาทต่อหุ้น ถึงแม้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือพูดง่ายๆ ว่าการเล่นหุ้นนั้น ยังมีตัวแปรอีกมากมายที่จะกระทบต่อราคาหุ้นแต่ละบริษัท เช่น โอกาสทำกำไรในอนาคต ข่าวลือ การเก็งกำไร ฯลฯ แต่การซื้อหุ้นโดยเอาหลังพิงหุ้นที่มีค่า พี/อ ีต่ำเข้าไว้ ก็ถือว่าปลอดภัยไปแล้วส่วนหนึ่ง เพราะโดยหลักการแล้วหุ้นค่า พี/อี ยิ่งต่ำ ราคาหุ้นตัวนั้นก็ยิ่งถูกเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งก็จะมีคิดราคา พี/อี ของกลุ่มหุ้นออกมา เช่น เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2547 ค่า พี/อี ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์คือ 11.41 เท่า หรือเมื่อเปรียบเทียบกับ พี/อ ีของตลาดโดยรวม ซึ่งปัจจุบันหากไม่นับรวมบริษัทที่อยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการค่า พี/อี จะเป็นประมาณ 11.3 เท่า โดยค่า พี/อี ของทั้งตลาด ของกลุ่มธุรกิจและของหุ้นแต่ละตัวนี้ สามารถตรวจสอบได้ในตารางหุ้นของหนังสือพิมพ์ธุรกิจทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ หรือผู้จัดการรายวัน เป็นต้น
ย้อนไปในอดีตเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 1,753.73 จุด ณ.วันนั้นค่า พี/อี ตลาดหุ้นโดยรวมอยู่ที่ 31.49 เท่า นักลงทุนไทยก็เคยเล่นกันมาแล้ว ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศกลับทยอยขายหุ้นออก เพราะเห็นว่าหุ้นแพงเกินปัจจัยพื้นฐาน โดยคิดง่ายๆ ที่ปัจจัยเงินปันผลอย่างเดียว เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นตัวใดวันนั้นค่า พี/อี 31.49 เท่า ถ้าบริษัทนั้นจ่ายเงินปันผลทุกปีสม่ำเสมอก็อีกประมาณ 32 ปี จึงจะมีรายรับคุ้มกับราคาที่จ่ายออกไป
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ “นายกฯทักษิณ คุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย แนะว่า "ค่า พี/อี มาตรฐาน 15 หากเล่นที่ 13-14-15 ไม่เป็นไร (แต่ถ้า) พี/อี 30 ไปเล่นอันตรายแล้วครับ “
เบนจามิน เกรแฮม บิดาของแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investment แนะนำว่าโดยทั่วไปแล้ว หุ้นที่น่าสนใจเข้าไปซื้อควรจะมีค่า พี/อี ต่ำกว่าค่า พี/อี เฉลี่ยของหุ้นทั้งตลาด และควรจะต่ำกว่าค่า พี/อี ในอดีตของตัวมันเองอีกด้วย โดยเขาชอบซื้อหุ้นที่ค่า พี/อี ไม่เกิน 7-10 เท่า และควรจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีค่า พี/อี เกิน 20 เท่าของผลกำไรปีที่ผ่านมา หรือค่า พี/อี 25 เท่าของผลกำไรเฉลี่ยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นบทสรุปจากค่า พี/อี คือ หากนักลงทุนจ้องเลือกหุ้นที่มีประวัติจ่ายเงินปันผลดี มีแนวโน้มจะทำกำไรสูงได้ในอนาคตไว้แล้ว รอจังหวะเข้าซื้อในช่วงราคาที่มีส่วนลด คือ ช่วงที่นักลงทุนส่วนใหญ่เทขายหุ้นทิ้งชนิดแดงเดือดทั้งกระดานก็จะซื้อหุ้นได้ในระดับ พี/อี ต่ำ หลังจากนั้นถือไว้ขายเมื่อราคาสูงขึ้น ถ้าทำได้ดังนี้ก็น่าจะเป็นการซื้อหุ้นได้ถูก และขายได้ราคาแพง
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 15
นอกจากค่า พี/อี ที่ได้กล่าวถึงในหุ้นสามัญประจำบ้านตอนที่ 14 ไปแล้ว ยังมีศัพท์คำหนึ่งที่เรา-ท่านมักจะได้ยินกันบ่อยๆในวงการค้าหุ้นคือคำว่า "พี/บี เรโช" ซึ่งเมื่อได้ยินครั้งแรกก็ชวนให้งุนงงสงสัยไม่น้อยว่าคืออะไร และสำคัญอย่างไรและมีประโยชน์อะไรในการลงทุนในตลาดหุ้น จึงขออธิบายสั้นๆดังนี้
พี/บี เรโช หรือ Price per Book Ratio หรือ P/B Ratio คือ การวัดว่าราคาซื้อขายหุ้น หรือราคาตลาดหรือ Price ของหุ้นตัวนั้นสูงเป็นกี่เท่าของมูลค่าตามบัญชีของหุ้น
โดยค่า พี. หรือ Price ซึ่งเป็นตัวตั้งนั้น คือราคาตลาดของหุ้นตัวนั้นที่นักลงทุนซื้อ-ขายกัน ส่วน บี. ซึ่งเป็นตัวหารนั้น มาจากคำว่า “Book Value” หรือ “มูลค่าตามบัญชี” ของหุ้นตัวนั้น อันเป็นความพยายามที่จะหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นแต่ละตัวว่าเป็นเท่าใด เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการลงทุนซื้อ-ซื้อขายหุ้นตัวนั้น
โดยค่า "Book Value” หรือ "มูลค่าตามบัญชี 1 หุ้นของหุ้นแต่ละตัวนี้สามารถคำนวนได้จากค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหุ้นตามงบดุลย์ล่าสุดของบริษัทตามสูตรดังนี้
มูลค่าตามบัญชี = สินทรัพย์รวมของบริษัท - หนี้สินรวมของบริษัท ------------------------------------------------------------- จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกมาและเรียกชำระค่าหุ้นแล้ว
สิปกร ขาวสอาด ซึ่งเขียนหนังสือ "กลยุทธ์สู้หุ้น” ได้อธิบายและแปลความหมายมูลค่าทางบัญชีที่คิดออกมาตามสูตรข้างต้นให้เข้าใจง่ายๆ ว่า หากบริษัทเลิกกิจการและสามารถนำสินทรัพย์รวมถึงหนี้สินต่างๆไปแปรเป็นรูปเงินสดได้ตามมูลค่าที่ระบุในงบดุลแล้ว ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินคืนในจำนวนเท่ากับมูลค่าตามบัญชีต่อการถือหุ้นบริษัทนั้น 1 หุ้นเช่น
เมื่อดูตารางหุ้นจากหนังสือพิมพ์กรุงธุรกิจรายวันแล้ว ณ วันที่ 23 เมษายน 2547 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น เมื่อนำสินทรัพย์ของบริษัท หักด้วยหนี้สิน หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทที่เรียกชำระค่าหุ้นแล้วจะมีมูลค่าทางบัญชีเท่ากับ 40.20 บาทต่อหุ้น ดังนั้นหากปตท.เลิกกิจการ เมื่อ 23 เมษายน 2547 ผู้ที่ถือหุ้น ปตท. อยู่จะได้เงินสดคืน 40.20 บาทต่อหุ้น
ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า ถ้าหุ้นปตท.มีมูลค่าตามบัญชีของหุ้น 40.20 บาทแล้ว เหตุใดนักลงทุนจึงซื้อ-ขายหุ้น ปตท. ในราคาสูงกว่ามูลค่าตามบัญชีของหุ้น โดย ณ วันที่ 23 เมษายน 2547 หุ้นปตท.ปิดที่ 152 บาทต่อหุ้น
คำตอบคือการคำนวนมูลค่าตามบัญชีของบริษัทต่างๆ นั้น ไม่สามารถสะท้อนมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริงของหุ้นตัวนั้นๆ ได้ เช่นราคาที่ดินที่บริษัทซื้อไว้ที่มูลค่าอาจจะเพิ่มขึ้นทุกปี หรือเครื่องจักรอาจจะเหลือมูลค่าทางบัญชีทั้งๆ ที่เป็นเศษเหล็ก และที่สำคัญการคำนวนมูลค่าทางบัญชีนี้ไม่สามารถสะท้อนผลการทำกำไรของบริษัทในอนาคตได้ ดังเช่น หุ้น ปตท. ซึ่งถึงแม้จะมีมูลค่าทางบัญชี 40.20 บาทต่อหุ้น แต่เมื่อคิดทุกอย่างรวมกันเช่นการคาดการณ์กำไรในอนาคต ชื่อเสียง ยี่ห้อและอื่นๆ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ซ่อนอยู่และอาจจะรวมไปถึงการเก็งกำไรแล้ว ณ วันที่ 23 เมษายน 2547 นัดลงทุนตัดสินใจซื้อขายหุ้นในราคา 152 บาทต่อหุ้น ซึ่งถือเป็นราคาตลาด หรือ Price ณ วันนั้น
ทีนี้คำถามก็คือ เมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้นแต่ละตัวแล้ว ราคาตลาดเท่าใดจึงจะเหมาะสมสำหรับลงทุนในหุ้นตัวนั้น
หนังสือ "กลยุทธ์ลงทุนแบบเน้นคุณค่า" หรือ "Value investing MADE EASY" เขียนโดย Jenet Lowe แปลและเรียบเรียงโดย พรชัย รัตนนทชัยสุข อ้างอิงได้ว่าบริษัททั่วๆ ไปในตลาดหลักทรัพย์นั้น ราคาตลาดของหุ้นแต่ละตัวจะซื้อ-ขายกันประมาณ 3 เท่าของมูลค่าตามบัญชี หรือที่พูดกันในหมู่คนเล่นหุ้นคือ พี/อี เรโช ไม่ควรเกิน 3 ถ้าเกินกว่านี้จะถือว่ามีความเสี่ยงสูง
ดังนั้นหากท่านรอซื้อหุ้นที่ดี ผู้บริหารเยี่ยม มีอนาคตในการทำกำไรและจะจ่ายปันผลสูงได้ในระดับราคาที่ พี/อี เรโช ยิ่งต่ำก็ยิ่งจะเป็นผลดีต่อพอร์ตการลงทุนของท่านเอง
เบนจามิน เกรแฮม ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เคยแนะนำไว้ว่า หุ้นที่น่าสนใจควรซื้อขายในราคา P/B เรโชต่ำกว่า1.2 เท่า ยิ่งต่ำกว่านั้นก็ยิ่งยอด
เมื่อมาถึงจุดนี้จึงขอสรุปสำหรับมือใหม่หัดเล่นหุ้นว่าเมื่อท่านศึกษาหุ้นแต่ละตัวดีแล้วว่าทำธุรกิจยอด ผู้บริหารเยี่ยม มีอนาคตที่จะทำกำไรในอนาคตแล้ว และรอซื้อเมื่อหุ้นตัวนั้นมีค่า พี/อี เรโช ไม่เกิน 10 เท่า และค่า พี/บี เรโช ไม่เกิน 3 เท่าแล้วละก็ โอกาสขาดทุนย่อมน้อย โอกาสกำไรย่อมมาก อีกทั้งมีโอกาสได้ปันผลตอนสิ้นปีด้วย ที่สำคัญหากพลาดท่าเสียทีบริษัทเกิดเจ็งขึ้นมา ก็จะไม่เจ็บตัวมากนัก
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 16
ุ้การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้รวมถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหุ้น
“ความเสี่ยง” เป็นของคู่กับตลาดหุ้น เหมือนเดือนคู่ดาว ชายคู่หญิง ไวรัสคู่คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ดังนั้นเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดหุ้นนักลงทุนต้องทำใจให้ได้กับความเสี่ยง แถมบางคนยังบอกอีกว่า High Risk ,High Return . หรือเสี่ยงสูง (ก็มีโอกาส) กำไรสูง
อย่างไรก็ตามในฐานะนักลงทุนหน้าใหม่ หากมีโอกาสลดความเสี่ยงและมีโอกาสเล่นหุ้นได้กำไรย่อมเป็นที่พึงปรารถนา
มีหลายวิธีที่นักลงทุนในตลาดหุ้นสามารถลดความเสี่ยง หรือบริหารความเสี่ยงให้กลายเป็นกำไรได้ หนึ่งในวิธีการลดความเสี่ยงคือการเลือกซื้อหุ้นปันผลและตรวจสอบประวัติย้อนหลังการจ่ายผลพร้อมทั้งศึกษาคาดหมายผลการดำเนินงานที่จะออกมาในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อถึงเทศกาลจ่ายปันผลหุ้นที่ซื้อไว้มีโอกาสสูงที่บริษัทจะจ่ายปันผลกลับมาให้อีก
อันว่าปันผลนั้นเป็นส่วนกำไรของบริษัทที่แบ่งจ่ายให้ผู้ถือหุ้นตามสิทธิของแต่ละหุ้น
ปันผลของหุ้นสามัญจะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นมากหรือน้อยนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละปี โดยคณะกรรมการบริษัทจะประกาศการจ่ายปันผลเป็นคราวๆ ไป และการจ่ายปันผลอาจจะจ่ายเป็นเงินสดหรือจ่ายเป็นหุ้นก็ได้
แม้เงินปันผลของบริษัทต่างๆที่จ่ายให้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นแต่ละงวดจะถูกหักภาษีณที่จ่าย แต่หากเลือกซื้อหุ้นถูกบริษัทเงินปันผลก็เป็นผลประโยชน์ให้นักลงทุนได้อุ่นใจ ช่วยลดความตื่นเต้นกังวลจากการขึ้นลงรายวันของราคาหุ้นได้เช่น
ถ้าไปดูตรวจดูภาวะของตลาดหุ้นของวันจันทร์ที่10 พฤษภาคม 2547เมื่อปิดการซื้อขาย ซึ่งวันนั้นสื่อมวลชนหลายค่ายขนานนามเป็นวัน “จันทร์ดำ” หรือ “Black Monday” เพราะดัชนีตลาดหุ้นติดลบถึง 31.18 จุด โดยปิดที่ 605.62 จุด นั้น ตัวอย่างเงินปันผลที่บางบริษัทจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นงวดปีที่แล้วจะเป็นดังนี้
ประกันภัยไทยวิวัฒน์ หรือTVI ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่มประกันชีวิตและประกันภัย จ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2546 จำนวน 40 สตางค์ต่อหุ้น หากคาดหมายว่าปีการดำเนินงาน 2547 บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้เท่าเดิมคือ 40 สตางค์ต่อหุ้น ราคาปิดของ TVI ณ วันที่10 พฤษภาคม 2547 คือ 3.76 บาทต่อหุ้น และนักลงทุนซื้อTVI ที่ราคานี้ ประมาณต้นปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงจ่ายปันผลก็จะได้เงินปันผลตอบแทนถึงร้อยละ 10.64 โดยหุ้นจะมีค่าพี/อีเท่ากับ 7.62 และค่า พี/บี เท่ากับ 0.62
หรือไทยวาฟู้ดโปรดักส์ ชื่อย่อ TWFP หุ้นในหมวดอาหารและเครื่องดื่มจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2546 จำนวน 9 บาทต่อหุ้น หากคาดหมายว่าปีการดำเนินงาน 2547 บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้เท่าเดิม ราคาปิดของ TWFP ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2547 คือ 96 บาทต่อหุ้น และนักลงทุนซื้อ TWFP ที่ราคานี้ ประมาณต้นปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลจ่ายปันผลก็จะได้ปันผลตอบแทนร้อยละ 9.37 โดยค่า พี/อี จะเท่ากับ 10.6 ค่า พี/บี เท่ากับ 1.39 เป็นต้น
อย่างไรก็ตามมนุษย์คือเสรีภาพแห่งความแตกต่าง นักลงทุนในตลาดหุ้นบางคนอาจจะเห็นว่าการซื้อหุ้นถือระยะยาวเพื่อรอปันผลนั้นให้ผลตอบแทนในรูปของปันผลน้อยและช้า สู้เล่นแบบเก็งกำไรซื้อเร็วขายเร็วดูสภาวะตลาดและจับหุ้นให้ถูกตัวไม่ได้เพราะเห็นผลเร็วดี ซึ่งวิธีการเล่นนี้ย่อมไม่มีใครผิดใครถูกเพราะต้องดูที่ผลสรุปว่าทำแล้วขาดทุนหรือได้กำไรมากหรือน้อย
แต่อย่างน้อยการเสี่ยงโดยมีปันผลรองรับ หากเกิดเหตุการณ์แบบวัน “จันทร์ดำ” ขึ้น และพอร์ตติดลบแดงสดใสแต่ไร้ความหวังแล้วล่ะก็ยังพอจะอุ่นใจได้ว่าสิ้นปีจะได้ปันผล
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 17
จันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2547 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือดัชนีตลาดหุ้นปิดต่ำลงกว่า 600 จุด อยู่ที่ 581.61 จุด ลดลงจากเมื่อวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2547 จำนวน28.11 จุด
ก่อนหน้านี้วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2547 ซึ่งสื่อมวลชนสายหุ้นบางค่ายขนานนามเป็นวัน ”จันทร์ดำ” หรือ ”Black Monday” นั้น ดัชนีตลาดหุ้นลดลงจากวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2547 ถึง 31.18 จุด มาปิดที่ 605.62 จุด ซึ่งเป็นการปิดต่ำสุดในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายนปีที่แล้วเป็นต้นมา
สภาพของตลาดหุ้นที่ราคาหุ้นตกต่ำอย่างหนัก ส่งผลให้ดัชนีไหลลงเรื่อยๆ อยู่ในลักษณะทรงกับทรุด หรือซึมเป็นระยะเวลานานเป็นเดือน หรือหลายเดือน และปริมาณซื้อขายประจำวันก็ลดน้อยถอยลงลงด้วยนั้น วงการเรียกว่าเป็นภาวะ "ตลาดหมี" หรือ “Bear Maket” เปรียบได้กับการเคลื่อนไหวของหมีที่อืดอาดเชื่องช้า คนเล่นหุ้นส่วนใหญ่จะขยับไม่ค่อยออก นักเก็งกำไรก็จะออกจากตลาดหุ้นยุติกิจกรรมซื้อขายชั่วคราว และนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะขาดทุนหรือพอร์ตติดลบคือเป็นสีแดง อันเป็นภาวะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ชอบ
ยกเว้นนักลงทุนประเภทเน้นคุณค่าหรือ Value Investor จะใช้จังหวะนี้เลือกซื้อหุ้นราคาถูกและดีมีอนาคตเข้าพอร์ต เพื่อลงทุนระยะยาว หรือพวกนักลงทุนประเภทสวนตลาดซึ่งเรียกกันในหมู่คนเล่นหุ้นว่า”ชาวสวน”จะช้อนซื้อหุ้นไว้รอขายในช่วงตลาดขึ้น
ในทางกลับกันย้อนกลับไปเมื่อประมาณปลายปี 2546 ตลาดหุ้นไทยคึกคักสุดขีด ส่งให้ตลาดหุ้นไทยขยายตัวสูงที่สุดในโลก ราคาหุ้นแต่ละตัวปรับระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดในวันทำการสิ้นปีที่ 772.15 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปี และทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2540 พอเข้าต้นปีใหม่ 2547 ดัชนียังไต่อันดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เกือบจะถึง 800 จุด
ด้านมูลค่าการซื้อขายของตลาดในช่วงนั้น ก็โป่งพองต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานไปเป็นวันละประมาณสี่หมื่นล้านบาทบ้าง ห้าหมื่นล้านบาทบ้าง จนเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 มูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ 64,264 ล้านบาท มีเงินใหม่ๆเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก และนักเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรก็เข้ามาผสมโรง เพราะส่วนใหญ่จะเล่นแล้วได้กำไร
ภาวะตลาดหุ้นคึกคักเหมือนกับกระทิงเปลี่ยวจึงถูกขนานนามเป็น”ตลาดกระทิง”หรือ ”Bull Market” ซึ่งเป็นภาวะที่ราคาหุ้นโดยทั่วไปมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานเป็นเดือน หรืออาจนานกว่านั้น อีกทั้งปริมาณซื้อขายก็เพิ่มมากขึ้น
แต่เมื่อตลาดคึกคักและร้อนสุดขีด นักลงทุนอีกประเภทหนึ่งจะเกิดอาการกลัวความสูงของราคาหุ้นจึงจะพากันขายหุ้นออก เพื่อรอจังหวะช้อนซื้อเมื่อตลาดตกต่ำอีกรอบ
แต่โลกนี้ย่อมมีข้อยกเว้น บางครั้งนักลงทุนคิดว่าขายหุ้นได้ราคาสูงแล้ว เป็นไปได้อีกเช่นกันที่ราคาหุ้นที่ขายไปแล้วจะยังพุ่งสูงขึ้น
ในทางตรงกันข้ามหากคิดว่าซื้อหุ้นได้ราคาถูกแล้ว ก็เป็นไปได้เช่นกันที่หุ้นบริษัทนั้นจะตกลงอีก
ดังนั้นในฐานะนักลงทุนหน้าใหม่เพื่อให้สบายใจก็ให้ยึดหลักที่ว่าไม่มีใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนรายย่อยหรือแมลงเม่าทั้งหลายจะซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำที่สุด และขายได้ในราคาสูงที่สุด
ขอเพียงเข้า-ออกตลาดให้ถูกรอบหมี-กระทิง และไม่ว่าจะซื้อ-ขายหุ้นก็ให้ได้ราคาที่พอใจนับว่าดียิ่งแล้ว
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 18
“….สูตรของเราที่ว่า ให้ซื้อ (หุ้น) ธุรกิจชั้นเยี่ยม ซึ่งบริหารโดยผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถ ในราคาที่เหมาะสม จะสร้างความสำเร็จที่สมเหตุสมผลให้เราอย่างแน่นอน” วอร์เรน บัฟเฟตต์
“….ถ้าเป็นผู้หญิงที่เราต้องการจีบ หุ้นของผมก็เป็นผู้หญิงประเภทกุลสตรี ไว้ใจได้ในความซื่อสัตย์ ไม่เซ็กซี่หวือหวา แต่คุณกอดไว้ได้จนตาย ผมอยากเชียร์ให้คนสนใจหุ้นประเภทนี้มากๆ เพราะถ้าคนสนใจ หุ้นผมย่อมมีราคาเพิ่มขึ้น” จากหนังสือชื่อตีแตก โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
“ฉันเก่งฉันเฮงฉันทึ่ง ฉันจึงไม่หาความหมาย(ศึกษาบริษัทและหาข้อมูล) หวังกินเงินคนอื่นมากมาย สุดท้ายฮิ….หายตายเอง” บุคคลที่ใช้นามแฝง Weekest จาก www.pantip.com โต๊ะสินธร
การเริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหุ้นนั้นไม่ยาก แต่ที่ยากคือลงทุนอย่างไรไม่ให้ขาดทุนเฉกเช่นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ และยากที่สุดคือลงทุนอย่างไรให้ได้กำไร เพราะความเสี่ยงนั้นเป็นของคู่กับตลาดหลักทรัพย์ตลอดเวลา จนบางคนที่ชอบหวือหวาใช้คติประจำใจว่า”เสี่ยงมากก็ได้มาก”
แต่หากต้องการลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดและมีโอกาสทำกำไรจากตลาดหุ้นได้นั้น ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จและมีประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นไม่ว่าจะเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้นหมื่นล้านของโอมาฮา ซึ่งติดกลุ่มมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก หรือดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งเป็นผู้นำการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของบริษัท(ไม่ใช่เก็งกำไร)ในประเทศไทยและผู้เขียนหนังสือชื่อ “ตีแตก กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต” รวมทั้งกลอนสี่สุภาพล้อเลียนนักลงทุนที่เล่นหุ้นแบบไม่ได้ศึกษาหรือหาข้อมูลบริษัทที่จะซื้อโดยบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า Weekest ที่โต๊ะสินธร ใน www.pantip.com นั้นล้วนบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่าต้องศึกษาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่เราจะซื้อหุ้นให้ถ่องแท้ก่อนการตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้เพื่อให้ได้หุ้นที่ทำธุรกิจชั้นเยี่ยม ผู้บริหารชั้นยอด มีอนาคตในการทำกำไร ไม่ใช่การเล่นหุ้นแบบ”ผีบอก” หรือ”เขาว่ามันจะขึ้น…”หรือ “เขาว่าจะปั่น….”โดยไม่รู้พื้นฐานของบริษัท
ข้อมูลของบริษัทที่นำหุ้นเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นมีให้ค้นคว้ามากมายเช่นที่ห้องสมุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือหาได้จากบทวิเคราะห์วิจัยและคาดหมายผลการดำเนินการของบริษัทต่างๆที่ทำโดยโบรกเกอร์ที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ธุรกิจต่างๆ หรือเว็ปไซด์ของโบรกเกอร์นั้นๆ
ก่อนที่จะซื้อหุ้นของบริษัทใด นักลงทุนบางคนหาความมั่นใจถึงขนาดไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัทนั้นๆก็มี
เมื่อเลือกได้บริษัทที่จะซื้อหุ้นแล้วหลังจากนั้นก็รอซื้อในจังหวะที่ได้ราคาตามต้องการ แล้วขายในไปช่วงราคาที่หวังไว้ และที่สำคัญการติดอาวุธโดยการศึกษาเพื่อเจริญรอยตามผู้ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างดีในตลาดหุ้นแล้วนำมาปรับใช้กับอุปสัยส่วนตัวให้สอดคล้องกันน่าจะเป็นวิถีทางที่น่าจะกระทำ ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำหนังสือต่างๆที่น่าสนใจให้ศึกษาดังนี้
1.กลยุทธ์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า Value Investing Made Easy โดย Janet Low แปลและเรียบเรียงโดย พรชัย รัตนนนทชัยสุข 2. THE NEW BUFFETTOLOGY ลงทุนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ โดย Mary Buffet และ David Clark เรียบเรียงโดย พรชัย รัตนนนทชัยสุข 3. ตีแตก กลยุทธการเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 4.กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ โดยเทพ รุ่งธนาภิรมย์ 5.กลยุทธ์สู้หุ้น โดยสิปปกร ขาวสะอาด 6.ลงทุนหุ้นเงา พันเท่าแค่เอื้อม โดยเฝยหง ฯลฯ
อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะอ่านตำรา และเลียนแบบดาราแล้วจะประสบความสำเร็จและร่ำรวยในการลงทุนกันทุกคน ทั้งนี้เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมีความเสี่ยงทุกฝีก้าว และเหตุการณ์ไม่คาดคิดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ
ด้วยเหตุนี้สำหรับมือใหม่หัดเล่นนั้น การแบ่งเงินออมมาลงทุนในตลาดหุ้น หรือที่เรียกกันว่าเป็นการลงทุนด้วยเงินเย็น น่าจะเหมาะสมกว่าการลงทุนด้วยเงินกู้หรือการเล่นมาร์จิ้น
ทั้งนี้เผื่อหากเลือกซื้อหุ้นชั้นดีแล้วราคายังตกดอกเบี้ยจะไม่ไล่ล่า และไม่ถูกบังคับขายหุ้นที่เลือกไว้ดีแล้วออกไปจนทุนหายและกำไรหด เพราะผู้ลงทุนสามารถรอคอยปันผลหรือรอคอยราคาหุ้นจะสูงขึ้นได้อย่างใจเย็น เฉกเช่นที่วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ว่า ระยะเวลาของการถือหุ้นแต่ละตัวที่เลือกแล้วคือตลอดไป
หรือหุ้นตัวใดถ้าถือไม่ได้ถึงห้าปีก็ไม่ควรจะถือแม้เพียง5นาที
ส่วนดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เคยเขียนไว้ในบทความของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็วๆนี้ว่า จะตรวจสอบคุณภาพของหุ้นในพอร์ตทุกไตรมาส(3เดือน)
ซึ่งบ่งบอกว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้เล่นเก็งกำไร เข้า-ออกหลายรอบ แต่เป็นการซื้อหุ้นเพื่อลงทุนจริงๆด้วยเงินเย็น
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 19
นอกเหนือจากชื่อย่อของหุ้นบริษัทต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารสั่งซื้อสั่งขายหุ้นแล้ว ท่านผู้อ่านเมื่อเข้าสู่วงการหุ้นเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะต้องได้ยินได้ฟังศัพท์แสงต่างๆ ที่ใช้ในหมู่นักลงทุนหลายคำที่มีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย หรือแม้กระทั่งศัพท์แสลงเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเมื่อได้ฟังครั้งแรกอาจจะไม่เข้าใจและเกิดความงุนงงได้ แต่เมื่อได้ยินก็ขออย่าได้คิดว่ายาก เพราะอีกไม่นานก็จะคุ้นเคยไปเอง
ผู้เขียนเคยพบนักเล่นหุ้นบางคนมีอาวุโสที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษในระดับอ่านออก-เขียนได้ต้องคอยถามตัวแทนโบรกเกอร์ว่าตัวนี้ตัวนั้นคือหุ้นตัวไหนด้วยซ้ำ ยังสามารถลงทุนและจำอักษรย่อของหุ้นแต่ละตัว และจำศัพท์แสงที่เกี่ยวกับวงการหุ้นได้ อีกทั้งยังทำกำไรจากการลงทุนอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านที่ติดตามบทความหุ้นสามัญประจำบ้าน ซึ่งถือเป็นหรือกำลังจะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ผู้เขียนจึงรวบรวมศัพท์แสงในวงการจากแหล่งอ้างอิงต่างๆมาให้เป็นการปูพื้นต่อไป ดังนี้
หุ้นชั้นดี หรือหุ้นบลูชิบ (Blue-Chip Stock) คือหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลการดำเนินงานที่มั่นคง และสามารถรักษาระดับของการจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ บริษัทเหล่านี้จะมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งการดำเนินงาน การบริหาร มีภาพลักษณ์ที่ดี อย่างเช่นบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน )ที่ใช้ชื่อย่อ SCC /บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ใช้ชื่อย่อ ปตท.สผ.หรือ PTTEP ซึ่งเมื่อราคาหุ้นตัวนี้สูงขึ้นจนผู้ถืออยู่ได้กำไรงามก็จะขนานนามเป็น “พี่เทพ” เป็นต้น
ด้วยเหตุที่อัตราการเจริญเติบโตไม่หวือหวาราคาหุ้นชนิดนี้มักจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น หรือหากตลาดปรับตัวลดลงราคาหุ้นประเภทนี้ก็จะลดลงก็ไม่มากถึงขั้นถูกถล่มจมดิน การลงทุนหุ้นประเภทนี้ความเสี่ยงจึงไม่สูง ยิ่งสามารถซื้อได้ในช่วงตลาดแตกตื่นที่นักลงทุนส่วนใหญ่เทขายหุ้นขายลดแหลกแจกแถมแบบไร้สติตามสูตรของนักลงทุนระดับโลกวอร์เรน บัฟเฟตต์ ด้วยแล้วนักลงทุนระยะยาวที่ไม่มีเวลาเฝ้ากระดานหุ้น หรือติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจึงเหมาะมากที่จะมีประดับพอร์ต เพราะรอไปรอมาสักวันหนึ่งราคาหุ้นที่ซื้อไว้จะขึ้นไปสู่ระดับที่เหมาะสมเอง
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 20
หุ้นเก็งกำไร (Speculative Stock)
หุ้นเก็งกำไรเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในภาษาตลาดว่าหุ้นปั่น ซึ่งโสภณ ด่านศิริกุล ผู้เขียนหนังสือชื่อคัมภีร์หุ้นให้นิยามง่ายๆว่า เป็นหุ้นของกิจการที่ไม่ได้มีประวัติการดำเนินงานที่ดี หรือมีเครื่องพิสูจน์ผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนว่าจะทำกำไรได้ดีอันจะนำมาสู่การจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่เป็นหุ้นที่คนนิยมเล่นกัน
และจากผลของความไม่แน่นอนของผลการดำเนินงานของบริษัทนี่เอง ทำให้การเล่นหุ้นกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนค่อนข้างสูง แต่ก็มีโอกาสทำกำไรอยู่มากจากราคาของหุ้นที่ขึ้น-ลง หากรู้จักจังหวะเข้า-ออกเหมาะสม และการจะเล่นหุ้นประเภทนี้ให้ได้กำไรจึงขึ้นอยู่กับการติดตามข่าวสารวงใน หรือข่าวลือต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าซื้อหุ้นตัวนั้นหรือบริษัทนั้นได้ก่อนคนอื่นหรือก่อนราคาหุ้นขึ้น และสามารถขายหรือออกจากหุ้นตัวนั้นได้ทันก่อนที่คนอื่นจะขายหรือราคาหุ้นจะตกลงมา
ผู้ที่เล่นหุ้นประเภทนี้จำเป็นต้องประเมินตัวเองก่อนว่ามั่นใจเรื่องข้อมูลข่าวสารเพียงใด ถ้าคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนอื่น และเข้าซื้อและขายออกได้เร็วกว่าคนอื่น ก็สามารถเข้าเล่นหุ้นประเภทนี้ได้
อย่างไรก็ตามมีทัศนะที่น่าสนใจของเบนจามิน เกรแฮม ซึ่งเป็นบิดาของการลงทุนประเภทเน้นคุณค่าของบริษัทหรือ Value Investing ที่อยู่ตรงกันข้ามกับหุ้นเก็งกำไรที่อ้างอิงโดยวอร์เรน บัพเฟตต์ นักลงทุนหมื่นล้านจากโอฮาม่าว่า “เบน เกรแฮม อาจารย์ที่ปรึกษาของผมเคยพูดไว้ว่า การเก็งกำไรไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งผิดศีลธรรม และไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คุณร่ำรวย”
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 21
แนวต้าน และ แนวรับ เป็นศัพท์ในวงการหุ้นที่แม้กระทั่งผู้ไม่สนใจหุ้นและตลาดหุ้นก็ยังได้ยินหรือได้ฟังกันบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักวิเคราะห์ของบริษัทโบรกเก้อร์หรือสถาบันต่างๆที่คาดหมายแนวต้าน - แนวรับของหุ้นแต่ละบริษัทในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งแนวต้าน - แนวรับของดัชนีตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน
คำว่า แนวต้าน หรือ Resistance สำหรับหุ้นแต่ละตัวหมายถึงระดับราคาของหุ้นบริษัทนั้นที่สูงขึ้นถึง ณ ราคาหนึ่ง แล้วส่งผลให้ผู้ถือหุ้นจำนวนมากต้องการขายหุ้นหรือปล่อยหุ้นตัวนั้นออกมาพร้อมๆกัน จนให้กำลังซื้อหุ้นตัวนั้น ณ ระดับราคานั้นเหือดหายไป ณ ระดับราคานั้นคือแนวต้าน
สำหรับแนวต้านของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือดัชนีตลาดหุ้น หมายถึงระดับดัชนีของตลาดไต่สูงขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่ง เมื่อถึงจุดนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ต้องการถือหุ้นที่มีอยู่ในพอร์ตอี |