November 23, 2024   10:59:28 AM ICT
มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ (ตอนที่1-10)

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 1 ขณะนี้เรื่องของตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหุ้น / ดัชนีหุ้น / หุ้นขึ้น-หุ้นตก / รายใหญ่ / รายย่อย / นักลงทุนต่างชาติ / แมงเม่า / ปั่น - ไม่ปั่นหุ้น กำลังเป็นข่าวและเป็นที่สนใจกันทั่วไป อีกทั้งตำนานของตลาดหุ้นและผู้เล่นหุ้นมีทั้งกลุ่มที่ประความสำเร็จกลายเป็นมหาเศรษฐี บางปีเป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ของโอมาฮา ในทางตรงกันข้ามเมื่อตลาดหุ้นนิวยอร์คตกต่ำในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1929 นั้นนักเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร บางคนถึงขนาดฆ่าตัวตายเพราะหมดเนื้อหมดตัว สำหรับประเทศไทยเมื่อคราวตลาดหุ้นตกต่ำอันเนื่องจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ.2540 นั้น มีนักลงทุนคนหนึ่งพยายามฆ่าตัวตาย ณ ตึกสินธร ที่ทำการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขณะนั้น ในทางตรงกันข้าม ตำนานนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ประสบความสำเร็จดั่งเช่นดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้นำการลงทุนหุ้นชนิดเน้นคุณค่าในประเทศหรือคนอื่นๆ ได้ปรากฎให้เป็นที่รับรู้กันเป็นระยะๆ ในเมื่อเรื่องของหุ้น และตลาดหุ้น มีสีสัน และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจ ถึงขนาดรัฐบาลประกาศเพิ่มมูลค่ารวมของตลาด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีออกมาคาดการณ์ระดับดัชนีหุ้นเป็นต้น ดังนั้น เพื่อความเข้าใจอันดีของประชาชนทั่วไป ที่อาจได้รับรู้แต่ความเคลื่อนไหว แต่ยังไม่รู้จักตลาดหุ้น และ หุ้น สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์จึงจัดทำรายงานเรื่องนี้ นำเสนอเป็นตอนๆ ดังนี้ สำหรับการประกอบธุรกิจทุกประเภท นอกจากปัจจัยด้านคน และการบริหารงานแล้ว ”เงินทุน” คือปัจจัยสำคัญยิ่ง ในการดำเนินงานเพื่อการลงทุนและขยายกิจการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ”ตลาดหุ้น” หรือ ”ตลาด” คือศูนย์กลางซื้อ-ขาย ”หุ้น” หรือที่เรียกเป็นทางการว่า ”หลักทรัพย์” ให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่เสนอขายหุ้นให้กับประชาชน เพื่อบริษัทสามารถระดมทุนนำเงินไปลงทุน หรือขยายกิจการได้ บริษัทต่างๆ ที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนได้นั้น เรียกเป็นทางการว่า ”บริษัทจดทะเบียน” และหุ้นที่นำมาขายนั้นเรียกเป็นทางการว่า ”หลักทรัพย์รับอนุญาต” แต่ภาษาชาวบ้านก็เรียกกันง่ายๆ ว่า ”หุ้น” โดยหุ้นแต่ละตัว จะมีอักษรย่อเป็นภาษาอังกฤษที่ใชกำกับ ซึ่งตัวย่อดังกล่าว จะเห็นทางหน้าจอโทรทัศน์ที่รายงานการซื้อขายสด เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน ) ใช้ชื่อย่อ PTT
บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อ KTB
บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อ SCC
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน ) ใช้ชื่อย่อว่า THAI เป็นต้น
ปัจจุบัน บริษัทที่เสนอขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้กับประชาชน มีทั้งหมดประมาณ 300 กว่าบริษัท และบริษัทต่างๆ ยังทยอยเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน เพื่อนำหุ้นเข้าเสนอขายผ่านตลาดหุ้นตามนโยบายรัฐบาล เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย / การไฟฟ้านครหลวง / การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค / องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ประชาชนที่ซื้อ หรือขายหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้นเรียกว่า ”นักลงทุน” หรือ ”ผู้ถือหุ้น” ซึ่งโดยหลักการแล้ว ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากเงินปันผล อันเนื่องจากบริษัทที่นักลงทุนซื้อหุ้นไว้ดำเนินการประกอบกิจการได้กำไร ซึ่งเงินปันผลนี้จะจ่ายเป็นรายปี หรือรายงวด ขณะเดียวกัน ผลประโยชน์อีกทางหนึ่งคือส่วนต่างของราคาหุ้นที่ซื้อไว้ กล่าวคือ ผู้ลงทุนซื้อหุ้นไว้ที่ระดับราคาหนึ่ง แล้วต่อมาราคาเพิ่มขึ้นจนเป็นที่พอใจ ก็ขายหุ้นออกไป การขายครั้งนั้นก็ถือว่าได้กำไร ในทางตรงกันข้าม หากผู้ลงทุนไปซื้อหุ้นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน นอกจากอาจจะไม่ได้รับเงินปันผลแล้ว ราคาหุ้นของบริษัทที่ซื้อไว้ อาจตกต่ำลงมากว่าเมื่อครั้งที่เข้าไปซื้อ หากในช่วงราคาตก ผู้ลงทุนขายหุ้นออกไป ผลก็คือ ขาดทุนจากการลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าราคาหุ้นที่ซื้อไว้ จะสูงขึ้นหรือตกต่ำลง ผู้ลงทุน อาจจะถือครองหุ้นนั้นต่อไปนานเท่าใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ลงทุนเอง ตามข้อมูลของบริษัทที่ศึกษามาหรือได้รับ “หุ้น” หรือ ”หลักทรัพย์รับอนุญาต” ของบริษัทต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ทำการซื้อขายในตลาดฯ ได้นั้น มีทั้งหมด 4 ประเภท คือ หุ้นสามัญ /หุ้นบุริมสิทธิ์/ หุ้นกู้/ และหลักทรัพย์ที่รัฐบาลค้ำประกัน หุ้นประเภทที่เป็นที่รู้จักกันดีและเป็นส่วนใหญ่ของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ คือ หุ้นสามัญ หุ้นสามัญดังที่ยกตัวอย่างมาคือ PTT / KTB / SCC / THAI เป็นต้น คือหุ้นที่แสดงความเป็นเจ้าของบริษัท ผู้ถือหรือซื้อหุ้นสามัญ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทที่ออกหุ้นนั้น ๆ บริษัทเอกชนทุกบริษัทต้องมีหุ้นประเภทนี้ ในกรณีที่การดำเนินการธุรกิจประสบผลดี ผู้ถือหุ้น มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งจากกำไรที่บริษัทนั้นหามาได้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ ถ้าบริษัทได้กำไรดี นอกจากผู้ถือหุ้นจะได้ส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งตามปกติจะจ่ายกันทุกปีแล้ว ราคาของหุ้นที่ซื้อไว้ ก็ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นด้วย หากนักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นออกไปขณะนั้น ผลคือ ได้กำไร ในทางตรงกันข้าม หากการดำเนินการของบริษัทนั้นขาดทุน ผู้ถือหุ้นก็ต้องได้รับส่วนแบ่งจากการขาดทุนด้วย จนอาจจะไม่ได้รับปันผลในปีนั้นๆ อีกทั้งราคาของหุ้น ก็อาจจะตกต่ำลงกว่าตอนที่ซื้อไว้ หากขายหุ้นออกไป ในช่วงที่หุ้นราคาตกต่ำกว่าราคาเมื่อครั้งซื้อมา ผลคือ ขาดทุน สรุปง่ายๆ ผู้ถือซื้อ หรือลงทุน ในหุ้นสามัญของบริษัทต่าง ๆ ที่เสนอขายและหมุนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหุ้น ต้องรับภาระความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัทเต็มที่ ขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสรับส่วนแบ่งจากความสำเร็จของธุรกิจด้วยเช่นกัน

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 2 ดังที่ได้เกริ่นมาตั้งแต่รายงานตอนต้นแล้วว่า ตลาดหุ้น คือแหล่งหรือศูนย์กลางระดมเงินทุนให้กับบริษัทเอกชน เพื่อนำไปใช้ก่อตั้งหรือขยายกิจการ อันจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์ จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ ”ตลาดทุน” ตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือ Paris Bourse ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1681 (หรือ 100 ปีก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี) แต่ตลาดดังกล่าว ยังไม่ใช้ใบหุ้นซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจอย่างจริงจังตามลักษณะของตลาดหุ้น แห่งแรกคือตลาดหลักทรัพย์ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเริ่มธุรกิจซื้อขายหุ้นเมื่อปี พ.ศ. 2145 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่กว่าตลาดหุ้นแห่งนี้ จะพัฒนาเป็นตลาดที่เข้มแข็งได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 100 ปี ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ ที่เรามักจะได้ยินได้ฟังความเคลื่อนไหวบ่อยๆ คือตลาดหุ้นนิวยอร์ค (New York Stock Exchange หรือ NYSE) ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2335 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตลาดหุ้นของไทย หรือชื่อเรียกเป็นทางการว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นั้น จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ จัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์และระดมเงินทุนในประเทศ สนับสนุนให้ประชาชน มีส่วนเป็นเจ้าของกิจการและอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการเข้าไปซื้อหรือถือหุ้นบริษัทต่างๆ ตลอดจนให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ให้เกิดความยุติธรรมในการซื้อขายหุ้น เมื่อประกาศใช้กฎหมายแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand หรือชื่อย่อคือ SET) เริ่มทำการซื้อขายวันแรกวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 มีที่ตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 อาคารศูนย์การค้าสยาม ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยนายศุกรีย์ แก้วเจริญ เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก มีหลักทรัพย์หรือหุ้นของ16 บริษัท เข้าซื้อขาย และดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันนั้น ถือเป็นมาตรฐานคือ 100 จุด การซื้อ - ขายหุ้นในระยะแรก ผู้ซื้อ - ขายหรือนักลงทุน ใช้วิธีการประมูลผ่านตัวแทนนายหน้าซื้อขายหุ้น หรือที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์ วิธีการดังกล่าวเรียกกันว่า "เคาะกระดานหุ้น" ประชาชนที่ไปซื้อ - ขายหุ้นมักจะพูดกันง่ายๆ ว่า ”ไปตลาด” ต่อมาได้พัฒนาเป็นกระดานอีเลคทรอนิคส์ ซึ่งเป็นกระดานหุ้นขนาดใหญ่ในห้องค้าของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทโบรคเกอร์ต่างๆ โดยที่ห้องค้านี้ จะมีนักลงทุนที่เป็นลูกค้า ผู้ลงทะเบียนไว้กับบริษัทโบรคเกอร์แต่ละแห่ง เข้าไปซื้อขายหุ้นที่มีอักษรย่อของหุ้นแต่ละตัว ปรากฏบนกระดานเมื่อตลาดหุ้นเปิดทำการ หรือเป็นช่วงของการซื้อ - ขาย จะปรากฏสีสันที่แสดงสภาวะราคาของหุ้นแต่ละตัว และสภาวะตลาดหุ้นโดยรวม เป็นไฟกระพริบสามสี หากหุ้นตัวใด ซื้อ - ขาย ณ ระดับราคา สูงกว่าวันทำการก่อนหน้านั้น ราคาและปริมาณซื้อขายหุ้นจะเป็นสีเขียว ยกตัวอย่างเช่น หุ้นหรือหลักทรัพย์บริษัทเขียวส่อง จำกัด ซื้อขายครั้งสุดท้าย ซึ่งเรียกกันว่า ”ราคาปิด” ของวันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2547 ที่ 50 บาท วันต่อมา คือวันอังคารที่ 20 มกราคม 2547 หากซื้อ - ขายกันสูงกว่า 50 บาท หุ้นตัวนี้จะแสดงเป็นสีเขียว
หากซื้อ - ขายเท่ากับวันก่อน จะแสดงเป็น สีส้ม
และหากซื้อ - ขายราคาต่ำกว่าวันก่อน จะแสดงเป็นสีแดง
พูดง่ายๆ คือหากหุ้นตัวใดเป็นสีเขียว คือ หุ้นขึ้น สีแดง คือ หุ้นตัวนั้นราคาตก และต่อมา จึงมีการเปรียบเปรยกันว่า สีแดงนั้นเหมือนกองไฟที่แมลงเม่า หรือแมงเม่าที่เปรียบเสมือนนักลงทุนรายย่อย บินเข้าไปหานั่นเอง ในลักษณะเดียวกัน หากจะดูเบื้องต้นง่าย ๆ แล้ว เมื่อกระดานหุ้นทั้งหมด ปรากฎสีเขียวมากกว่าสีแดง ก็คือ หุ้นขึ้น แต่หากสีแดงมากกว่าสีเขียว สภาวะนั้นคือ หุ้นตก จนถึงทุกวันนี้ เมื่อการซื้อขายหุ้น ทันสมัยถึงขั้นออนไลน์สภาวะซื้อขายจริง มาถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่บ้านของลูกค้า ของบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ หรือ โบรคเกอร์ และถึงขั้นที่นักลงทุน สั่งซื้อ - ขายหุ้น ผ่านระบบอินเตอร์เน็ทได้แล้ว สีเขียว สีส้ม และสีแดง ยังเป็นสัญลักษณ์ของหุ้นขึ้น หุ้นทรงตัว และหุ้นตกอยู่ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีที่ตั้ง ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ ถูกตราขึ้นเพื่อใช้แทนฉบับเดิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาธุกิจหลักทรัพย์หรือหุ้น ให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ตลอดจนวางมาตรฐานให้ธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีอยู่และจะเกิดขึ้นใหม่ ให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ และกิจกรรมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ที่สำคัญคือ มีการตั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เพื่อทำหน้าที่ดูแลพัฒนาตลาดทุนหรือตลาดหุ้นทั้งระบบ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ถือเป็นองค์กรอิสระ มีกรรมการไม่เกิน 11 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่กำหนดกฎข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของตลาดทุนหรือตลาดหุ้น รวมถึงการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชน ดูแล การกระทำที่ไม่เป็นธรรม และเรื่องอื่น ๆ ในส่วนของการดำเนินงานรายวันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหุ้นนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต.จะมีบทบาทเฉพาะการกำหนดนโยบายหลัก ๆ โดยการให้ความเห็นชอบในการออกกฎข้อบังคับสำคัญๆ ของตลาดหลักทรัพย์ แต่ ก.ล.ต.จะไม่มีส่วนไปเกี่ยวข้อง กับการดำเนินการประจำวันของตลาดหลักทรัพย์ ข่าวที่ได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ เกี่ยวกับ ก.ล.ต. คือ การเข้าไปตรวจสอบการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ การกล่าวโทษหรือจับผู้ทำราคาหรือปั่นหุ้นเป็นต้น

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 3 หลังจากที่ได้แนะนำ หรือตลาดหุ้น หรือตลาดทุนซึ่งเป็นแหล่งระดมทุน ให้กับบริษัทต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในกิจการและการขยายกิจการไปแล้ว โดยสังเขปทั้งตลาดสำคัญ ๆ ของโลกและของไทยที่มีชื่อเป็นทางการว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้ว บัดนี้เราจะมารู้จักตัวประกอบสองตัวที่สำคัญของตลาดหุ้น นั่นคือ บริษัทต่างๆ ที่นำสินค้าคือหลักทรัพย์หรือหุ้น เข้ามาขายหรือระดมทุนจากนักลงทุนซึ่งเป็นผู้ซื้อ บริษัทที่จะนำหลักทรัพย์หรือหุ้น ขายให้กับประชาชนได้นั้น ต้องมีเงื่อนไขตามกำหนด และจะต้องได้รับอนุญาตจากกรรมการกำกับหลักทรัพย ์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ก่อน จึงจะนำหลักทรัพย์หรือหุ้น เข้ามาขายให้กับนักลงทุนได้ และบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำหลักทรัพย์หรือหุ้น เข้ามาระดมทุนหรือขายในตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ได้นี้ จึงถูกเรียกชื่อเป็นทางการว่า ”บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 300 กว่าบริษัท และมีบริษัทต่างๆ ทยอยเข้ามาในตลาด เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกซื้อเป็นระยะๆ บริษัทที่เข้าสู่ตลาดแล้ว เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อ PTT / บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ชื่อย่อ PTTEP / ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อ KTB เป็นต้น ส่วนสินค้าคือหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่บริษัทต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตให้นำมาระดมทุนหรือขายให้กับประชาชนนั้น มีชื่อเป็นทางการที่จะได้ยินผู้ประกาศทางโทรทัศน์ เจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ กลต. เรียกอย่างเป็นทางการเสมอว่า ”หลักทรัพย์จดทะเบียน” แต่นักลงทุนหรือประชาชนทั่วไปก็เรียกกันสั้นๆ ง่ายๆ และตรงเป้าว่า ”หุ้น” ตัวหุ้นนี้ บริษัทต่างๆ เขาจะออกมาเป็นตราสารให้กับผู้ซื้อ หรือที่เรียกกันว่า ”ใบหุ้น” ซึ่งเดิม ใบหุ้นหนึ่งใบ อาจจะมีหุ้นของบริษัทนั้นอยู่หลายหุ้น ส่งผลให้เกิดความยุ่งยาก เมื่อจะซื้อขายหรือเปลี่ยนมือเพียงบางส่วน ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้ตั้งบริษัทขึ้นมาหนึ่งแห่งชื่อว่า ”บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด” เพื่อทำหน้าที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ของหุ้น ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด และหุ้นที่จดทะเบียนนี้ไม่ต้องออกเป็นใบหุ้น แต่จะบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ ทำให้การแยกและการโอนหุ้นทำได้ง่าย สมัครใจ ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่นำออกขายทั้งหมด และต้องไม่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านการแต่หากผู้ถือหุ้น ต้องการได้ตราสารหรือใบหุ้นของบริษัทจดทะเบียนมาเก็บไว้เอง ก็สามารถขอให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ นี้ ออกใบหุ้นให้ก็ได้ และเมื่อได้ใบหุ้นแล้ว จะนำไปฝากเพื่อง่ายต่อการขายก็ได้ แต่ต้องขายผ่านบริษัทตัวแทนค้าหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ต่างๆ ที่จะได้แนะนำในโอกาสต่อไป หลายครั้ง หากประชาชนทำใบหุ้นหาย เมื่อไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานแล้ว สามารถขอให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ออกใบหุ้นใหม่ได้ นักลงทุนที่ซื้อ - ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นใบหุ้นของบริษัทที่ซื้อ - ขาย เพราะสั่งหรือกระทำผ่านโบรกเกอร์ และบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ จะทำหน้าที่บันทึกการถือครองและการเปลี่ยนมือหุ้นไว้ทั้งหมด ดังนั้น การซื้อขายจึงสะดวกสบาย ในกรณีที่นักลงทุนซื้อหุ้น เมื่อครบกำหนดจ่ายเงิน โบรกเกอร์สามารถหักจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าโดยอัตโมมัติ หากเป็นการขายเมื่อครบกำหนดรับเงิน โบรกเกอร์จะนำเงินเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติเช่นกัน เรียกง่ายๆ ว่าในยุคโลกาภิวัตรออนไลน์นี้ การซื้อขายหุ้นของบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปรียบเสมือนการซื้อขายสัญลักษณ์ หรือตัวย่อของบริษัทที่มีราคากำกับ ที่ประชาชนจะเห็นเป็นตัววิ่งหน้าจอโทรทัศน์ หรือกระดาน หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ออนไลน์ไปได้ทั่วนั่นเอง หุ้นบริษัทจดทะเบียนฯ นี้ ตลาดหลักทรัพย์จะจัดไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อความสะดวกในการลงทุน อีกทั้งเป็นภาพรวมรายกลุ่มที่สามารถอ้างอิงได้ว่า นอกจากหุ้นรายบริษัทแล้ว ช่วงไหนเวลาใด หุ้นของกลุ่มใด เป็นที่สนใจหรือถูกเทขายจากนักลงทุนบ้าง กลุ่มของบริษัทจดทะเบียนฯ นี้ เราจะได้ยินกันบ่อยๆ เช่น กลุ่มธนาคาร / กลุ่มพลังงาน / กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง / กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือชื่อเรียกง่ายๆ คือกลุ่มที่ดิน / กลุ่มธุรกิจการเกษตร / กลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหลายนี้ ไม่ใช่จะยืนยงอยู่ในตลาดฯ ตลอดไป เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเพิกถอนสถานภาพ การเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทใดๆ ก็ได้ เพื่อไม่ให้ได้รับอนุญาตซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป การเพิกถอนหลักทรัพย์หรือหุ้น ของบริษัทใดออกจากตลาดนั้น อาจจะเป็นเพราะบริษัทดังกล่าว ขอเพิกถอนออกไปเองโดยเพิกถอน เกินกว่าร้อยละ10 ของจำนวนหุ้นที่นำออกจำหน่ายทั้งหมด หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะมีคำสั่งให้เพิกถอนออกไป อันเนื่องจากกระทำผิดข้อบังคับของตลาดฯ อย่างร้ายแรง หรืออาจจะเป็นเพราะการดำเนินการหรือฐานะของบริษัทตกต่ำลง จนอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อนักลงทุน สำหรับกรณีหลัง ที่บริษัทจดทะเบียนมีปัญหาด้านการเงิน หรือมีปัญหาด้านผลการดำเนินงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่เพิกถอนหุ้น หรือหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวออกไปทันที แต่จะจัดให้หลักทรัพย์ดังกล่าว เข้าไปอยู่ในกลุ่มบริษัท ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และประกาศให้ผู้ลงทุนทราบโดยทั่วไป กลุ่มดังกล่าวมีชื่อเป็นทางการว่ากลุ่ม ”บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน (COMPANIES UNDER REHABILITATION)“ หรือนักลงทุนจะเรียกง่ายๆ ว่า ”รีแฮป” และหากบริษัท สามารถแก้ไขปัญหาได้ ตามแผนหลักทรัพย์หรือหุ้นของบริษัท ก็จะพ้นจากการเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน กลับเข้าไปซื้อขายในกลุ่มปกติ แต่ถ้าไม่ ตลาดหลักทรัพย์เห็นว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ตลาดหลักทรัพย์ก็จะเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว ออกไป  

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 4 หลังจากบริษัทต่างๆ ได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ให้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวคือ เป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว บริษัทดังกล่าวก็จะเริ่มขั้นตอนนำหุ้นเสนอขายให้กับประชาชน การจะนำหุ้นขายให้กับประชาชนนั้น เริ่มแรกบริษัทที่ได้รับอนุญาต จะกำหนดราคาของหุ้นไว้บนใบหุ้น หรือเรียกเป็นทางการว่า "มูลค่าที่ตราไว้" หรือ PAR VALUE หรือเรียกกันสั้นๆ ในหมู่นักลงทุนว่า "ราคาพาร์" หรือ "ราคาหน้าหุ้น" อันเป็นข้อมูลที่แสดงให้ทราบ ถึงมูลค่าเงินลงทุนเริ่มแรกสำหรับหุ้นนั้นแต่ละหน่วย อีกทั้งยังใช้แสดงให้ทราบถึงทุนจดทะเบียนตามกฎหมาย เช่น บริษัทเขียวส่องมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งเป็น 10 ล้านหุ้น ดังนั้นมูลค่าของหุ้น 1 หุ้นจะเท่ากับ 10 บาท หุ้นบริษัทเขียวส่องจึงมีราคาพาร์ 10 บาทนั่นเอง ปัจจุบันเราจะเห็นว่า บริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น มูลค่าที่ตราไว้หรือราคาพาร์ของหุ้น มีทั้ง 10 บาท 5 บาท และ 1 บาท ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น ต้องดูด้วยว่าหุ้นของบริษัทนั้นราคาพาร์เท่าใด หลังจากนั้น บริษัทจดทะเบียนจะเสนอขายหลักทรัพย์หรือหุ้น ให้กับประชาชน ทั่วไปหรือ PUBLIC OFFERING โดยจะต้องเสนอขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับเป็นผู้จัดจำหน่ายแทน อีกทั้งต้องทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ที่ กลต. กำหนด หลักเกณฑ์ที่ประชาชนได้พบได้เห็นได้ฟังบ่อยๆ ในการเสนอขายหุ้นแต่ละครั้ง อันเป็นข้อบังคับของกลต. คือ จะมีข้อความกำกับการเสนอขายหุ้น หรือผู้ประกาศ มักจะประกาศเร็วมากแทบฟังไม่ทันว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ " ราคาของหลักทรัพย์หรือหุ้น ที่บริษัทเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปนี้ จะรู้จักกันในชื่อราคาไอพีโอ (PUBLIC OFFERING PRICE ) หรือมักจะเรียกกันง่ายๆ ว่า "ราคาอันเดอร์ไรท์" (UNDERWRITE) หรือ "ราคาจอง" ซึ่งจะสูงกว่าราคาพาร์ เพื่อที่บริษัทจะได้นำส่วนต่างที่เหลือไปลงทุน ยกตัวอย่างหุ้นหรือหลักทรัพย์ ที่ประชาชนได้ลงทุนอย่างกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้ คือ หุ้นของบริษัทปตท. จำกัด มหาชน 1 หุ้น ราคาพาร์ 10 บาท เปิดให้ประชาชนจองเป็นการทั่วไป ในราคาจองหรือราคาไอพีโอที่ 35 บาทต่อ 1 หุ้น โดยเปิดให้จองซื้อได้ผ่านธนาคารต่างๆ หลายแห่ง ปรากฎว่า ประชาชนจองซื้อหมดภายในเวลาไม่กี่นาที การที่บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกลต. ให้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชน ในราคาจองเป็นการทั่วไปครั้งแรก ผ่านการจัดจำหน่ายของบริษัทจัดจำหน่ายนั้น เรียกการขายหุ้นดังกล่าวว่า เป็นการขายหุ้นใน "ตลาดแรก" (PRIMARY MARKET) เมื่อประชาชนจ่ายเงินซื้อหุ้นจองของบริษัทจดทะเบียนที่สนใจไปแล้ว หากต้องการเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนหุ้นเป็นเงิน ก็สามารถทำได้เมื่อต้องการ โดยการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เราจะเห็นบรรยากาศหรือสภาวะการซื้อขายผ่านหน้าจอโทรทัศน์ / การรายงานทางวิทยุ หรือสื่อมวลชนทุกวันทำการนั่นเอง ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงมีบทบาทในฐานะตลาดรอง (SECONDARY MARKET) เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ ช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้น และสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ว่า เมื่อซื้อหุ้นในตลาดแรกหรือหุ้นจองไปแล้ว หุ้นที่ซื้อไป จะสามารถเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนเป็นเงินได้เมื่อต้องการ คือ นำหุ้นไปซื้อ - ขายหรือเปลี่ยนมือในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง เพียงแต่ว่า จะเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนเป็นเงินได้เท่าใด ได้กำไรหรือขาดทุนนั้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท / อุปสงค์ / อุปทานของหุ้น จังหวะของการซื้อ - ขาย รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งระดับประเทศและโลก ที่ต่างมีผลต่อสภาวะการซื้อขายหุ้นทั้งนั้น สรุปแล้ว บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์หรือกลต. ให้ขายหุ้นกับประชาชนได้นั้น สามารถระดมทุนไปใช้ในกิจการ ในขณะที่ผู้ซื้อหุ้นหรือนักลงทุน จะได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาหุ้น ที่ซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรอง หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือบางครั้งอาจจะขาดทุนก็เป็นได้ แต่หากเลือกหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการดี ธุรกิจเยี่ยม ผู้บริหารยอด ก็ยังจะได้รับเงินปันผลตอบแทนในแต่ละงวด  

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 5 ท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านหุ้นสามัญประจำบ้านตั้งแต่ตอนที่หนึ่ง-สี่นั้น ขณะนี้คงรู้แล้วว่าหุ้นและตลาดหุ้นคืออะไร รวมทั้งรู้ด้วยว่าตลาดแรกหรือที่เรียกกันว่าตลาด ”หุ้นจอง” หรือหุ้นราคา IPO เป็นอย่างไร ทีนี้มาติดตามรายละเอียดกันว่าระบบการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดรอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ต่อจากตลาดแรกนั้น ทำงานกันอย่างไร ย้อนกลับไปเมื่อท่านจ่ายเงินจองหุ้นเรียบร้อยยกตัวอย่างเช่น จองซื้อหุ้นบริษัทปตท.จำกัดมหาชน (PTT ) ในราคาจองหรือ IPO หุ้นละ 35 บาท และได้ใบหุ้นมาแล้ว หากท่านต้องการตัดขายเป็นบางส่วน หรือต้องการขายทั้งหมดต้องทำอย่างไร คำตอบคือท่านต้องนำหุ้นที่จองซื้อได้ไปขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า ”ตลาด” หรือท่านที่จองซื้อหุ้นไม่ได้ เพราะคนแย่งกันมากอย่างเช่น หุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เปิดให้ประชาชนจองเป็นการทั่วไปอย่างกว้างขวาง แต่ขายหมดอย่างรวดเร็วภายในเวลาประมาณ 3 นาที หากท่านต้องการเข้าไปลงทุนในหุ้นตัวนี้จริง ๆ ท่านจะทำอย่างไร คำตอบก็คือท่านก็ต้องไปซื้อหุ้นปตท.ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นกัน
ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงทำหน้าที่เป็นแหล่งซื้อ-ขายเปลี่ยนมือหุ้นที่ผ่านการจองมาแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้ชื่อว่า ”ตลาดรอง” ที่จะมีทั้งผู้เสนอซื้อเสนอขายหุ้นหรือหลักทรัพย์แต่ละตัว ที่ปัจจุบันมีให้เลือกประมาณ 300 กว่าบริษัท และจะยังมีบริษัทจดทะเบียนใหม่เพื่อได้รับอนุญาตเข้ามาซื้อ-ขายในตลาดให้เลือกลงทุนอยู่ตลอด
เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดทำการระยะแรกการซื้อขายหุ้นใช้วิธีประมูล แบบเคาะกระดานซื้อ-เคาะกระดานขายอย่างที่เคยกล่าวมาแล้ว โดยนักลงทุนที่ต้องการซื้อหรือขายหุ้น จะแจ้งให้ตัวแทนของบริษัทนายหน้าหรือโบรคเกอร์ให้เสนอซื้อหรือขายหน้ากระดาน ราคาของหุ้นแต่ละตัวจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของหุ้นตัวนั้น หุ้นตัวใดที่นักลงทุนต้องการซื้อมากแต่คนขายออกมาน้อย หากต้องการจริง ๆ ผู้ซื้อก็ต้องเพิ่มราคาเสนอซื้อให้สูงขึ้น ในทางกลับกันหุ้นตัวใดที่นักลงทุนต้องการขายมากกว่าซื้อ หากจะขายให้ได้ขายก็ต้องลดราคาลง อันเป็นที่มาของหุ้นแต่ละตัวขึ้นหรือลง หลังจากการเคาะกระดานซื้อ-ขายแล้ว ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้นำวิธีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ หรือหุ้นที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่นำคำสั่งซื้อ หรือขายหุ้นในตัวที่ตรงกันมาจับคู่เพื่อให้เกิดการซื้อขาย เรียก ”การจับคู่โดยอัตโนมัติ” (AUTOMATCHING) วิธีการคือ นักลงทุนแต่ละคนจะแจ้งความประสงค์ผ่านตัวแทนนายหน้าซื้อขายหุ้น ที่ตนเองเป็นลูกค้าอยู่ว่าต้องการซื้อ-ขายหุ้นตัวใดจำนวนกี่หุ้น ในราคาเท่าใด ตัวแทนนายหน้าจะป้อนคำสั่งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์จะรับเอาคำสั่งซื้อ และขายทั้งหมดของแต่ละหลักทรัพย์ไปจัดเรียงลำดับสิทธิที่จะได้ซื้อหรือขายก่อนและหลัง โดยใช้หลักคำสั่งซื้อที่เสนอราคาสูงสุด หรือคำสั่งขายที่เสนอราคาต่ำสุดจะได้รับสิทธิซื้อ หรือขายก่อน แต่หากมีหลายคำสั่งที่เสนอราคามาเท่ากัน คำสั่งที่ส่งเข้ามาก่อนจะได้รับสิทธิก่อน เมื่อคอมพิวเตอร์พบว่ามีคำสั่งซื้อ-ขายในราคาที่ตรงกัน ก็จะจับคู่คำสั่งโดยอัตโนมัติทำให้เกิดการซื้อขายขึ้นมาทันที หากยังไม่มีคำสั่งซื้อและคำสั่งขายที่ตรงกัน คอมพิวเตอร์ก็จะรวบรวมคำสั่งซื้อ-ขายทั้งหมดไว้ เพื่อรอรับคำสั่งซื้อขายที่จะเข้ามาใหม่ เพื่อจับคู่ซื้อขายจนกว่าตลาดจะปิดทำการในแต่ละวัน และเมื่อตลาดปิดทำการในแต่ละวันแล้ว คำสั่งซื้อ-ขายที่ค้างอยู่ถือเป็นอันยกเลิกไม่มีผลในวันรุ่งขึ้น เมื่อตลาดเปิดทำการวันใหม่ก็ต้องป้อนคำสั่งใหม่ ขบวนการจับคู่ซื้อ-ขายด้วยคอมพิวเตอร์นี้จะไม่มีการแทรกแซงใด ๆ จากบุคคลใด ๆ ส่งผลทำให้ให้ตลาดมีมาตรฐาน และเกิดความมั่นใจว่า นักลงทุนทุกคนทั้งผู้ซื้อหรือขายหุ้นไม่ว่าจะเป็นรายย่อย รายใหญ่ หรือนักลงทุนต่างชาติ ต่างได้รับความเป็นธรรมโดยเท่าเทียมกัน นอกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะจัดหาคอมพิวเตอร์ไว้จับคู่ซื้อ-ขายหุ้นแล้ว ตลาดยังจัดเตรียมนายหน้าซื้อ-ขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เรียกกันว่า โบรคเกอร์ไว้ให้บริการนักลงทุนเลือกใช้บริการอีก ซึ่งจะได้กล่าวในตอนต่อไป

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 6 หลังจากท่องเว็บและอ่าน ”หุ้นสามัญประจำบ้าน” มาแล้ว 5 ตอน หากท่านที่รู้เรื่องหุ้นดี เคยลงทุนในตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาแล้ว เรื่องที่เขียนก็เป็นเรื่อง ”หมู ๆ” คือเรื่องง่าย ๆ สำหรับท่าน

แต่คำว่า ”หมู” นี้ในกลุ่มนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะชุมชนชาวหุ้นที่ติดต่อกันผ่านเว็บบอร์ดของเว็บไซด์ต่าง ๆ เช่น โต๊ะสินธรใน PANTIP.COM หรือโต๊ะกระทิงเขียวใน GREENBULL.NET หรือ TALADHOON.COM ฯลฯ กลัวกันนักหนาเนื่องด้วยคำว่า ”ขายหมู” นั้นหมายความว่า นักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปณระดับราคาหนึ่ง เมื่อขายออกไปแล้วราคาหุ้นตัวนั้นยังเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อเนื่อง พฤติกรรมดังกล่าว คือ การขายหมูนั่นเอง

คู่กับ ”ขายหมู” คือคำว่า ”อยู่ดอย” ซึ่งหมายความว่า เมื่อนักลงทุนตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไป ณ ระดับราคาที่ต้องการแล้ว หลังจากนั้นหุ้นตัวที่ซื้อราคากลับตกต่ำลงจากราคาที่ซื้อไว้อย่างมากและต่อเนื่อง พฤติกรรมดังกล่าวคือการติดหุ้นที่ราคาสูง เปรียบเสมือนการอยู่ดอย

แต่ไม่ว่าจะเป็นการขายหมูหรืออยู่ดอย หุ้นสามัญประจำบ้านตอนนี้จะพาท่านที่เริ่มสนใจ และยังไม่มีประสบการณ์เข้าใกล้สถานการณ์จริงหากต้องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหุ้น

อันดับแรกหากท่านจะไปซื้อของอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากต้องรู้ว่าของที่จะซื้อคืออะไร (ในที่นี้คือหุ้นแต่ละตัว) แล้วท่านก็ต้องรู้ว่าร้าน หรือตลาดที่ท่านจะไปซื้อนั้นเปิด-ปิดเวลาเท่าใด

สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหุ้น ซึ่งมีสินค้าคือหลักทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ให้เลือกซื้อ-เลือกขายนั้นก็เหมือนตลาดหรือร้านค้าทั่วไปคือมีเวลาเปิด-ปิดทำการ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเปิดทำการในวันจันทร์-ศุกร์ ปิดทำการเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดธนาคาร วิธีการดูง่าย ๆ คือ หากวันในที่ธนาคารเปิดทำการวันนั้นตลาดหุ้นก็เปิด แต่หากธนาคารหยุดทำการตลาดหุ้นก็ปิด

ในแต่ละวันทำการ (ของตลาดหุ้น) ตลาดจะเปิดซื้อขาย (TRADING SESSION) สองช่วงคือ การซื้อขายภาคเช้าเริ่มเปิดเวลา 10.00 น. - 12.30 น. หลังจาก 12.30 น. ก็จะพักการซื้อขาย (INTERMISSION) แล้วไปเปิดอีกครั้งในช่วงบ่ายเวลา 14.30 น. - 16.30 น.

อย่างไรก็ตามระหว่างเวลา 9.30 น. - 10.00 น.นั้นจะเป็นช่วงก่อนเปิดตลาดภาคเช้า (PRE-OPENING PERIOD 1) ที่บริษัทตัวแทนซื้อ-ขายหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ทั้งหลายที่รับคำสั่งซื้อ-ขายหุ้นจากนักลงทุน ที่สมัครเป็นลูกค้าสามารถส่งคำสั่งซื้อ-ขายเข้าไปรอในระบบเพื่อทำการเรียงลำดับราคาซื้อขายได้

ส่วนระหว่างเวลา 14.00 - 14.30 น.ก็จะเป็นช่วงก่อนเปิดตลาดในภาคบ่าย (PRE-OPENING PERIOD 2) ก็จะเป็นเวลาที่เปิดให้โบรกเกอร์ส่งคำสั่งเข้าระบบเพื่อทำการเรียงลำดับซื้อขายได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามระหว่างช่วงเวลาซื้อ-ขายของตลาดในแต่ละวันนั้น ลูกค้าหรือนักลงทุนสามารถสั่งซื้อ-ขายหลักทรัพย์ หรือเปลี่ยนหรือถอนคำสั่งซื้อ-ขายได้ตลอดโดยกระทำผ่านโบรกเกอร์ เพียงแต่หากยังมีคำสั่งซื้อ-ขายหุ้นตัวนั้นรออยู่ คำสั่งที่ป้อนเข้าไปใหม่ก็ต้องไปรอคิวตามลำดับก่อนหลังและระดับราคาซื้อ-ขายหุ้นตัวนั้น

หลังจากตลาดปิดทำการซื้อ-ขาย เวลา16.30 น. แล้วหลังจากนั้นไปจนถึงเวลาประมาณ 16.45 น. อาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้นเล็กน้อยเป็นช่วงที่ยังเปิดให้สามารถซื้อ-ขายหลักทรัพย์กันนอกเวลาทำการได้ (CALL MARKET) จนกว่าตลาดจะปิดทำการซื้อ-ขายจริง (MARKET CLOSE)

เมื่อรู้วัน-เวลาทำการของตลาดหุ้นแล้ว หุ้นสามัญประจำบ้านตอนต่อไปจะแนะนำวิธีติดต่อให้บริษัทโบรกเกอร์ เพื่อให้เป็นตัวแทนซื้อขายหุ้นให้ท่าน รวมทั้งบริการที่โบรกเกอร์จัดเตรียมไว้ให้ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นยุคนี้ สะดวกในระดับที่ทั้งปีนักลงทุนอาจจะไม่ต้องไปพบ หรือเจอตัวแทนนายหน้า หรือตัวแทนโบรกเกอร์ หรือไม่ต้องไปที่ตลาดเลยก็ยังได้

 

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 7 หลังจากติดตามหุ้นสามัญประจำบ้านมา 6ตอนแล้ว บัดนี้มาถึงขั้นตอนสำคัญที่ผู้เริ่มสนใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องการรู้คือ การจะซื้อ-ขายหลักทรัพย์หรือหุ้นนั้นทำอย่างไร ต้องไปซื้อ-ขายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เลยหรือไม่ เพราะตามปกติแล้วเมื่อจะซื้อของจากตลาดสด ร้านค้า หรือศูนย์การค้า ฯลฯ ผู้ซื้อก็จะไปที่ร้านจำหน่ายสินค้าที่ต้องการ

แต่ช้าก่อนค่ะ ในกรณีนี้ไม่เหมือนกับการซื้อขายสินค้าทั่วไปเพราะถึงแม้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางซื้อ - ขายหุ้นก็จริง แต่ตลาดฯจะไม่ทำธุรกิจโดยตรงกับนักลงทุนประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนทั่วไปที่นับรวมทั้งรายย่อยที่ถูกแซวเป็นแมงหรือแมลงเม่าไปจนถึงนักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนประเภทสถาบันหรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า กองทุน และนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะหากตลาดฯทำธุรกิจกับนักลงทุนเป็นรายๆแล้วล่ะก็สถานการณ์คงวุ่นวายไปหมด ด้วยเหตุนี้ตลาดฯจึงมีบริษัทนายหน้าที่ได้รับอนุญาตค้าหลักทรัพย์ติดต่อกับนักลงทุนประเภทต่างๆแทน

ดังนั้นแทนการติดต่อซื้อ-ขายหุ้นกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยตรงนักลงทุนทั้งสามประเภทจึงต้องซื้อ-ขายหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าบริษัทนายหน้าหรือโบรกเกอร์ (Broker) ที่จะทำหน้าที่คอยรับคำสั่งซื้อขายหุ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกและติดต่อกับตลาดหลักทรัพย์แทน

นอกจากนี้ยังมีบริษัทซับโบรกเกอร์ (Sub-Broker) หรือบริษัทนายหน้าช่วง ที่ทำหน้าที่รับคำสั่งซื้อขายหุ้นจากนักลงทุนเช่นเดียวกับโบรกเกอร์ เพียงแต่บริษัทซับโบรกเกอร์ไม่ได้เป็นเป็นสมาชิกรับอนุญาตของตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเหตุนี้เมื่อรับคำสั่งซื้อขายหุ้นจากนักลงทุนแล้ว ซับโบรกเกอร์จึงต้องส่งคำสั่งไปยังโบรกเกอร์ก่อน หลังจากนั้นโบรกเกอร์จะส่งคำสั่งไปยังระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

ดังนั้นเมื่อต้องการเป็นนักลงทุนซื้อขายหุ้น อันดับแรกก็ต้องไปติดต่อกับบริษัทโบรกเกอร์ ซึ่งมีอยู่หลายแห่งให้เลือก เช่นโบรกเกอร์เบอร์หนึ่งบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัดหรือBLS โบรกเกอร์เบอร์สองบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัดหรือTSC โบรกเกอร์เบอร์47บริษัทหลักทรัพย์ ซิมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือZMICO หรือจะไปติดต่อกับบริษัทซับโบรกเกอร์ก็ได้ เพื่อขอเปิดบัญชีลูกค้าเพื่อซื้อขายหุ้นที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ”เปิดพอร์ต” โดยคำว่าพอร์ตนี้ย่อมาจากคำว่าPortfolioนั่นเอง

เมื่อโบรกเกอร์เปิดบัญชีซื้อ-ขายหุ้น หรือเปิดพอร์ตให้แล้วนักลงทุนจึงจะสั่งซื้อขายหุ้นตามความประสงค์ได้

ในกรณีที่เกิดปัญหาเช่นพนักงานฟังคำสั่งซื้อ หรือขายของนักลงทุนหรือป้อนคำสั่งซื้อขายผิดพลาด หรือนักลงทุนบิดพลิ้วอ้างว่าไม่ได้สั่งซื้อหรือขายหุ้น โบรกเกอร์ต้องรับผิดชอบต่อตลาดหลักทรัพย์โดยต้องจ่ายเงิน หรือโอนหุ้นให้กับตลาดก่อนแล้วจึงจะมาตรวจสอบและจัดการปัญหาภายหลัง เช่นหากมีหลักฐานนักลงทุนที่บิดพลิ้วสั่งซื้อหุ้นจริงโบรกเกอร์ก็ต้องดำเนินการบังคับให้จ่ายเงินเป็นต้น

ด้วยเหตุที่ต้องรับผิดชอบต่อตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว โบรกเกอร์แต่ละแห่งจึงต้องมีมีเงื่อนไขในการพิจารณาเปิดบัญชีให้กับลูกค้า ซึ่งจะไม่เหมือนกันในรายละเอียด แต่หลักการใหญ่ๆแล้วจะใช้มาตรฐานเดียวกันคือจะพิจารณาจากฐานะการเงินและความน่าเชื่อถือของผู้ขอเปิดบัญชี โดยดูจากหลักฐานต่างๆที่แสดงถึงทรัพย์สิน กระแสรายได้ หรือตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกค้าหรือบุคคลที่ค้ำประกันเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการอนุมัติวงเงินซื้อขายหุ้นว่าจะเปิดวงเงินให้นักลงทุนแต่ละคนสามารถซื้อ-ขายหุ้นได้วันละเท่าใด

นักลงทุนบางคนอาจจะได้วงเงินซื้อขาย 500,000 บาทต่อวัน บางคนอาจจะได้1ล้าน หรือ3ล้านบาทต่อวันเป็นต้นสุดแต่การพิจารณาประเมินของโบรกเกอร์

เมื่อนักลงทุนผ่านขั้นตอนและได้รับอนุมัติให้เปิดพอร์ตซื้อขายหุ้นได้แล้ว การสั่งซื้อหรือขายหุ้นต้องกระทำผ่านพนักงานของบริษัทโบรกเกอร์ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกค้าคนนั้นเท่านั้น อีกทั้งในการสั่งซื้อหรือขายหุ้นไม่ว่าจะเป็นการสั่งโดยตรงที่ห้องค้าของบริษัทโบรกเกอร์หรือสั่งผ่านโทรศัพท์ นักลงทุนจะต้องอ้างอิงหมายเลขบัญชีซื้อขายหุ้นที่โบรกเกอร์อนุมัติมาให้ทุกครั้งเพื่อป้องกันการสวมรอยหรือความผิดพลาดอื่นๆ

หมายเลขบัญชีซื้อขายหุ้นของนักลงทุนแต่ละคนนี่แหละที่ในยุคของโลกออนไลน์ ที่แม้กระทั่งการลงทุนในตลาดหุ้นโบรกเกอร์ยังออนไลน์ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งข้อมูล ”เรียลไทม์ “ ที่แสดงสภาวะซื้อขายหุ้นจริงราวกับนั่งอยู่ในห้องค้าของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาถึงบ้านลูกค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ทนั้น เมื่อใช้คู่กับระหัสผ่าน (Pass Word) ที่โบรกเกอร์ให้มาแล้ว ไม่ว่านักลงทุนจะอยู่ที่ไหนในประเทศไทย หากมีอินเตอร์ มีคอมพิวเตอร์แล้วล่ะก็ ทุกคนสามารถเปิดดูสภาวะซื้อขายจริงได้เท่าเทียมกันแม้เวลาอาจจะเหลื่อมล้ำเล็กน้อยก็ตาม

และเมื่อประกอบกับหากใช้โทรศัพท์สั่งซื้อขายหุ้นแล้ว หากกระบวนการไปเป็นอย่างราบรื่น ไม่เกิดปัญหาการโต้แย้งเรื่องคำสั่งซื้อขาย หรือไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินค่าหุ้น แทบทั้งปีทั้งนักลงทุนและตัวแทนโบรกเกอร์ไม่จำเป็นต้องพบหน้ากันเลยก็ยังได้ เพราะการจ่ายค่าซื้อหุ้นหรือรับเงินจากการขายหุ้นของลูกค้าสามารถกระทำผ่านระบบบัญชีได้ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อๆไป

แต่อย่าลืมว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้นโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ฉันใดก็ฉันนั้นเมื่อนักลงทุนสั่งซื้อหรือขายหุ้น จะต้องเสียค่าธรรมเนียมซื้อขาย(Commission Fee)หรือเรียกกันง่ายๆว่า”ค่าคอม” ร้อยละ 0.25 ของวงเงินซื้อหรือขายให้แก่โบรกเกอร์ทุกครั้ง นั่นคือซื้อหุ้นก็เสียค่าคอม ขายหุ้นก็เสียค่าคอม หรือภาษาตลาดคือ”เจอทั้งขาไปและขากลับ”

ดังนั้นไม่ว่าสั่งซื้อแล้วหุ้นตัวนั้นจะตกหรือไปต่อ สั่งขายหุ้นแล้วได้กำไรหรือขาดทุน โบรกเกอร์ยังจะคิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.25 จากนักลงทุนอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายครั้งที่หากนักลงทุนคนใดไม่ได้กำไรจากการซื้อ-ขายหุ้นเป็นกอบเป็นกำก็มักจะเปรียบเปรยว่า “พอได้ค่าคอม”หรือ”ไม่คุ้มค่าคอม”

 

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 8 ณ บัดนี้ท่านผู้อ่านหุ้นสามัญประจำบ้านทุกคนผ่านการปูพื้นเรื่องหลักทรัพย์หรือหุ้น และตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหุ้นหรือตลาดทุนมาพอสมควรแล้ว หากท่านใดที่ไม่สนใจจะลงทุนในตลาดหุ้นก็สามารถนำเงินไปฝากกินดอกเบี้ยกับธนาคารหรือนำเงินไปลงทุนด้านอื่น ๆ ได้ตามอัธยาศัย แต่หากท่านสนใจจะลงทุนในตลาดหุ้น อันดับแรกท่านต้องเลือกบริษัทตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตหรือเรียกง่ายๆว่าโบรกเกอร์ก่อน เมื่อเลือกได้แล้วก็ถึงขั้นตอนการขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น หรือเปิดบัญชีเล่นหุ้น หรือเปิดพอร์ตเล่นหุ้นสุดแต่จะเรียกกัน ซึ่งการเปิดพอร์ตนี้ท่านจำเป็นต้องไป ณ ที่ทำการของบริษัทโบรกเกอร์ พร้อมเตรียมเอกสารอันประกอบด้วย 1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาใบสำคัญคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทางในกรณีเป็นชาวต่างชาติ 2.สำเนาทะเบียนบ้าน 3.สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี 4.สำเนาใบแจ้งรายการบัญชีธนาคาร (Bank Statement) หรือสำเนาสมุดคู่ฝากบัญชีออมทรัพย์ย้อนหลัง 6 เดือน เอกสารข้อสี่นี้เป็นหลักฐานสำคัญที่บริษัทโบรกเกอร์จะใช้ดูฐานะและศักยภาพของผู้ขอเปิดบัญชีเล่นหุ้น หากท่านรับเงินเดือนประจำผ่านธนาคารก็ขอให้สำเนาสมุดคู่ฝากไปแสดง หากไม่มีเงินเดือนประจำการแสดงตัวเลขบัญชีเงินฝากที่บ่งบอกฐานะทางการเงินและกระแสหมุนเวียนของเงินจะเป็นข้อมูลที่บริษัทโบรกเกอร์ใช้ตัดสินใจว่าจะเปิดบัญชีให้ตามคำขอหรือไม่ และหากเปิดจะให้วงเงินเล่นหุ้นได้วันละเท่าใด ซึ่งแต่ละคนจะได้วงเงินไม่เท่ากัน บัญชีเล่นหุ้นที่โบรกเกอร์อนุมัตินั้นจะมีทั้งหมดสามประเภท แต่วันนี้จะขอแนะนำบัญชีที่ใช้เป็นการทั่วไปและเหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่จะเริ่มต้นคือบัญชีประเภทเงินสด บัญชีเงินสด (Cash Account) คือบัญชีซื้อขายหุ้นทั่วไป โดยโบรกเกอร์จะให้วงเงินซื้อขายแก่ลูกค้า และลูกค้าจะซื้อขายหุ้นได้ไม่เกินวงเงินจำนวนนั้นในแต่ละวันทำการ หลังจากอนุมัติแล้วท่านสามารถเป็นนักลงทุนโดยบัญชีเงินสดดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขดังนี้

เมื่อสั่งซื้อหุ้น(ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติต่อวัน)แล้ว นักลงทุนต้องจ่ายเงินค่าหุ้นบวกภาษีบวกค่าคอมมิสชั่นในวันทำการของตลาดที่สามถัดจากวันที่ซื้อเช่น

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 นักลงทุนสั่งซื้อหุ้น ปตท. หรือ PTT จำนวน 500หุ้น ราคาหุ้นละ160บาท และได้รับการยืนยันจากโบรกเกอร์ว่าซื้อได้แล้ว การนับวันต้องจ่ายเงินคือไม่นับวันเสาร์ที่ 28 และวันอาทิตย์ที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ตลาดปิดทำการ ดังนั้นในกรณีนี้นักลงทุนต้องจ่ายเงินค่าหุ้น ปตท.ทั้งหมดรวมภาษีรวมค่าคอมมิสชั่นเป็นเช็คหรือนำเงินเข้าบัญชีจำนวน 80,214 บาทให้โบรกเกอร์วันในพุธที่ 3 มีนาคม 2547
ทำนองเดียวกันหากนักลงทุนสั่งขายหุ้นปตท.ในวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2547 เมื่อคำสั่งได้รับการยืนยันว่าขายได้แล้ว นักลงทุนรายนี้จะได้รับเงินค่าหุ้นหักภาษีหักค่าคอมมิสชั่นเป็นเช็คจากโบรกเกอร์เป็นเงิน 79,786 บาทในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2547
การเล่นหุ้นแบบบัญชีเงินสดนั้นเดิมลูกค้าต้องคอยนำเช็คค่าหุ้นไปจ่ายให้โบรกเกอร์ ขณะเดียวกันเมื่อขายหุ้นก็ต้องรับเช็คจากโบรกเกอร์มาขึ้นเงิน แต่ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคออนไลน์มีความสะดวกสบายกว่าเดิมทั้งนี้เพราะโบรกเกอร์นำวิธีการหักและนำเงินเข้าบัญชีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน การหักเงินค่าซื้อหุ้นจากบัญชีและนำเงินค่าขายหุ้นเข้าบัญชีนี้ สามารถทำได้ง่าย ๆ กล่าวคือ เมื่อไปขอเปิดพอร์ตเล่นหุ้นนั้นนักลงทุนสามารถขอใช้บริการโดยการแจ้งชื่อธนาคารและสาขาที่นักลงทุนมีบัญชีเงินฝากอยู่ให้โบรเกอร์ช่วยดำเนินการติดต่อธนาคารและสาขาเจ้าของบัญชีเพื่อขออนุมัติหักเงินเมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นและนำเงินเข้าบัญชีเมื่อนักลงทุนขายหุ้น โดยการเซ็นต์ยินยอมของนักลงทุนเจ้าของบัญชี การดำเนินการของโบรกเกอร์กับธนาคารสาขาเจ้าของบัญชีของนักลงทุนมักจะใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์เศษ เมื่อธนาคารสาขาอนุมัติแล้วธุรกิจซื้อขายหุ้นโดยแบบบัญชีเงินสดและการหักและนำเงินเข้าบัญชีก็เริ่มได้ ยกตัวอย่างเช่น วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อสั่งซื้อหุ้น ปตท. 500 หุ้น ๆ ละ 160 บาท ได้แล้ว หน้าที่ของนักลงทุนคือตั้งแต่ช่วงเที่ยงของวันพุธที่ 3 มีนาคม 2547 ต้องมีเงินในบัญชีเพียงพอ 80,214 บาทซึ่งเป็นค่าหุ้นรวมภาษีรวมค่าคอมมิสชั่น เพราะโบรกเกอร์จะหักเงินจากบัญชีโดยอัตโนมัติ ในทำนองเดียวกันหากวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2547 นักลงทุนสั่งขายหุ้น ปตท. 500 หุ้น ๆ ละ 160 บาท และคำสั่งขายได้รับการยืนยันแล้ว บ่ายวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2547 เงินค่าขายหุ้นหักภาษีหักค่าคอมมิสชั่นจำนวน 79,786 บาทจะเข้าบัญชีนักลงทุนโดยอัตโนมัติเช่นกัน เมื่อเปิดพอร์ตเล่นหุ้นแล้ว นักลงทุนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดจึงสามารถโทรศัพท์สั่งซื้อขายหุ้นและสอบถามเพื่อยืนยันคำสั่งซื้อขาย รวมทั้งถามถึงจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเมื่อซื้อหุ้น และเงินที่จะได้รับเมื่อขายหุ้นได้ นอกเหนือจากนั้นโบรกเกอร์ทุกบริษัทยังมีบริการออนไลน์ข้อมูลเรียลไทม์หรือสภาวะซื้อขายหุ้นจริงให้นักลงทุนถึงบ้าน ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้หมายเลขบัญชีและระหัสผ่านที่โบรกเกอร์ให้มาเปิดดูข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่บ้านหรือที่ใดก็ได้ ทั้งนี้รวมทั้งการตรวจสอบและยืนยันคำสั่งซื้อขายแต่ละรายการก็สามารถทำได้เอง ไม่นับรวมข้อมูลของหุ้นแต่ละตัว รวมทั้งสภาวะและการคาดหมายแนวโน้มหุ้นในแต่ละช่วงเวลาที่โบรกเกอร์จะให้บริการเป็นประจำด้วย เมื่อประกอบกับการใช้บริการหักบัญชีเมื่อขายและนำเงินเข้าบัญชีเมื่อซื้อหุ้นด้วยแล้ว การลงทุนหรือเล่นหุ้นจึงเป็นไปอย่างง่ายดายโดยทั้งปีอาจจะไม่ต้องไปพบหน้าตัวแทนโบรกเกอร์ด้วยซ้ำ (เพียงแต่ลงทุนแล้วจะได้กำไรหรือขาดทุนเท่านั้น) แต่ด้วยความสะดวกสบายดังนี้นักลงทุนก็ต้องระมัดระวัง กล่าวคือในกรณีซื้อหุ้นต้องอย่าสั่งซื้อเพลินเกินห้ามใจ เพราะไม่เช่นนั้นวันที่สามหลังจากวันสั่งซื้อหากเงินในบัญชีไม่พอจ่ายและหาเงินมาใส่บัญชีไม่ทัน ท่านจะถูกโบรกเกอร์ปรับ และเสียเครดิตได้

มารู้จักหุ้นกับตลาดหุ้นกันเถอะ ตอนที่ 9

การเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหุ้นประเภทเงินสดตามที่บรรยายในบทความตอนที่แล้วนั้น น่าจะเพียงพอและเหมาะสมสำหรับมือใหม่ที่กำลังจะหัดเล่นหุ้นทั้งหลาย แต่ยังมีบัญชีอีก 3ประเภทที่ท่านผู้อ่านน่าจะรู้ไว้ใช่ว่า เผื่อวันข้างหน้าสนใจอาจจะใช้บริการได้ บัญชีทั้ง 3 ประเภทนี้ ได้แก่

1. บัญชีแคชบาลานส์ (CASH BALANCE หรือ PRE-PAID หรือ CASH DEPOSIT) เป็นบัญชีที่นักลงทุนจะฝากเงินเงินไว้กับโบรกเกอร์จำนวนหนึ่ง แล้วโบรกเกอร์คิดดอกเบี้ยให้ เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นโบรกเกอร์ก็จะหักเงินค่าหุ้นวันที่สามหลังสั่งซื้อ หากเงินที่ฝากอยู่ไม่พอค่าหุ้นที่สั่งซื้อ นักลงทุนก็จะหาเงินมาใส่ในบัญชีให้ครบ ในกรณีที่ขายหุ้น วันที่สามหลังวันขายเงินก็จะมาอยู่ในบัญชีลูกค้า

2. บัญชีเครดิตบาลานส์ (CREDIT BALANCE หรือ MARGIN ACCOUNT) หรือที่รู้จักกันเป็นการทั่วไปในหมู่นักลงทุนว่าเป็นการเล่นหุ้นแบบ”มาร์จิ้น” หรือเล่นแบบ”สินเชื่อ”นั่นเอง บัญชีประเภทนี้เป็นบัญชีที่นักลงทุนจะกู้เงินโบรกเกอร์เพื่อซื้อหุ้น โดยนักลงทุนจะต้องวางเงินสดหรือสินทรัพย์ไว้กับบริษัทโบรกเกอร์จำนวนหนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการซื้อหุ้น เมื่อประมาณการทรัพย์สินที่วางแล้วโบรกเกอร์จะอนุมัติวงเงินเล่นหุ้นให้ซึ่งจะมากกว่าหลักประกันที่วางค้ำไว้ ส่วนเกินจากหลักประกันที่วางไว้นั้นถือเป็นสินเชื่อหรือมาร์จิ้น

            การเล่นหุ้นโดยบัญชีประเภทมาร์จิ้นนี้จริงอยู่นักลงทุนสามารถเล่นได้มากกว่าจำนวนหลักประกันที่วางไว้กับบริษัทโบรกเกอร์ แต่ข้อเสียคือเมื่อวางหลักประกันไว้แล้ว หากในช่วงที่ตลาดหุ้นตกอย่างหนัก หรือแม้ตลาดจะไม่ตกแต่หุ้นที่นักลงทุนมีอยู่ในพอร์ทเกิดราคาตกกว่ามาตรฐานหลักประกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โบรกเกอร์จะใช้เกณฑ์เรียกหลักประกันเพิ่มจากนักลงทุนคนนั้น(MARGIN CALL)เพื่อให้เข้าเกณฑ์ของตลาด และหากนักลงทุนไม่สามารถหาหลักประกันมาเพิ่มได้ก็ต้องเจอกับมาตรการสุดท้ายคือจะถูกบังคับขายหุ้นในพอร์ท(FORCED SALE)ออกไปทั้งๆที่หุ้นกำลังราคาตกซึ่งจะทำให้ขาดทุน

3. บัญชีซื้อขายทางอินเตอร์เน็ท (INTERNET TRADING) เป็นบัญชีที่นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์ที่ให้บริการเปิดบัญชีประเภทนี้ที่มีอยู่หลายบริษัท นับตั้งแต่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซด์ของโบรกเกอร์ กรอกรายละเอียดเอกสารการเปิดบัญชี ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ให้โบรกเกอร์หรือให้พนักงานรับส่งเอกสารมารับ เมื่อโบรกเกอร์พิจารณาอนุมัติเปิดบัญชีและวงเงินให้แล้วจะแจ้งผลให้นักลงทุนทราบรวมทั้งจัดส่งเอกสารต่างๆที่ใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ไปให้นักลงทุน

     ที่สำคัญคือเอกสารอันระบุ USER NAME และPASSWORD และPIN ที่ต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่ถูกฉีกขาด เพราะเ

เข้าชม: 10,048

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com