November 23, 2024   10:54:16 AM ICT
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน (Factors In Stock Investment)
หลังจากทราบแหล่งข้อมูล และวิธีการศึกษาข้อมูลสำคัญ ๆ ที่ เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นแล้ว ถึงจุดนี้เราอยากให้คุณได้ ทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน ซึ่งก็มีความสำคัญต่อทิศทางตลาดหลักทรัพย์ หรือมีผลต่อ ราคาหุ้น ที่อยู่ในความสนใจของคุณด้วยเช่นกัน
   
  1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ ปัญหาทางเศรษฐกิจอาจส่ง ผลกระทบต่อปัญหาอื่น ๆ ได้อีกมากมาย และก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้ลงทุนได้มากที่สุด ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงได้แก่
          - สภาพคล่องทางการเงิน เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หมายความว่าธุรกิจหรือกิจการทั้งหลาย ขาดเงินหมุนเวียนที่จะใช้ในการดำเนินงาน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา 
          - อัตราดอกเบี้ย เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยจะขยับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของ กิจการ หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ สูงขึ้นตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากสภาพคล่องทางการเงินมีมาก อัตรา ดอกเบี้ยจะลดต่ำลง ผู้คนในสังคมจะมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมขยายตัว ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงการลงทุน ในหลักทรัพย์ก็จะได้รับผลดีตามไปด้วย 
          - อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหรือค่าเงิน ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ จะเกิดขึ้นเฉพาะอุตสาหกรรม ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ หากค่าของเงินบาทอ่อนตัวลง ย่อมทำให้ ค่าใช้จ่าย ในการสั่งสินค้าเข้ามาผลิตหรือจำหน่ายสูงขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับกิจการที่ส่งออกสินค้า หรือบริการ อาจได้รับผลดี อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยซึ่งอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ และมี ภาระหนี้สินต่างประเทศค่อนข้างมาก ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง จะส่งผลในทางลบแก่ธุรกิจ 
          - การผลิต ซึ่งภาพโดยกว้างอาจหมายรวมไปถึงตลาดการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันคือ ตลาดต่างประเทศ หากอุตสาหกรรมภาคการผลิต และบริการของเรา สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้า ที่ตรงตามความต้องการ ของประเทศคู่ค้าได้ ทั้งยังมีราคาและคุณภาพเหมาะสมหรือดีกว่าสินค้า จากประเทศคู่แข่ง มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากภาครัฐ ปัจจัยเหล่านี้ ก็จะส่งผลให้สามารถจำหน่ายสินค้าหรือบริการได้ดีขึ้น นำเงินตราจากต่างประเทศเข้ามาเสริมสร้างสภาพคล่องได้มากขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนที่มีมากขึ้น จะกระจายผลดีไปยังกิจการอื่น ๆ ภายในประเทศได้ 
          - ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า หากอยู่ในสภาพดี ความต้องการ สินค้าย่อมมีมากขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายและเม็ดเงินที่กลับเข้ามาในประเทศไทยในทางตรงข้าม หากเศรษฐกิจของ ประเทศคู่ค้าประสบปัญหา จะทำให้ยอดจำหน่ายสินค้า และบริการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศลดน้อยลง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
     2. ปัจจัยทางการเมือง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัย การเมืองในประเทศ เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดอัตราภาษี การส่งเสริมการลงทุน การหาตลาดต่างประเทศ เป็นต้น      3. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปัจจัยจากธรรมชาติอันได้แก่ ฝนแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติต่าง ๆ รวมทั้งความไม่สงบ ภายในประเทศหรือบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ      4. ปัจจัยเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์หรือตัวหลักทรัพย์ เช่น การเกิดข่าวลือการเก็งกำไรที่มากเกินไป จนปัจจัยพื้นฐาน รองรับไม่ไหว กฎระเบียบที่เข้มงวดหรือหย่อนยานจนเกินไป อัตรามาร์จิน (Margin) และดอกเบี้ยที่ไม่เอื้อต่อนักลงทุน เหล่านี้คือปัจจัยทางลบของตลาด ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวหลักทรัพย์ เช่น ผลกำไร ฐานะการเงินของบริษัทจดทะเบียน การประกาศเพิ่มทุน การประกาศจ่ายเงินปันผล หรือแม้แต่ข่าว เกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ก็อาจส่งผลกระทบ ต่อราคาหลักทรัพย์ได้ทั้งสิ้น

การวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์โดยอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าว มาข้างต้น เรียกว่า "การวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัย พื้นฐาน" (Fundamental Analysis) อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนอาจเคยได้ยินคำว่า "การวิเคราะห์ทางเทคนิค" (Technical Analysis) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์หุ้นโดยอาศัยข้อมูลตัวเลข การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และมูลค่าการ ซื้อขายหุ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ มาคาดคะเนแนวโน้มของหุ้น ในอนาคต การวิเคราะห์ในลักษณะนี้ มีรายละเอียดและ วิธีการที่ซับซ้อน ผู้สนใจต้องศึกษาเพิ่มเติม จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น


_______________________
ที่มา
www.set.or.th
เข้าชม: 5,082

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com