หลังจากการเลือกตั้งจบลงไป คำถามที่อยู่ในใจของหลายคน ก็คือ “เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร”
ก่อนอื่นขอฟันธงว่า จากข้อมูลต่างๆ เศรษฐกิจไทยจะไปได้ดี ขยายตัวได้ประมาณ 5% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยตัวเลขการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนภาครัฐและเอกชน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การขยายตัวของสินเชื่อ แม้กระทั่งการจัดเก็บภาษีของภาครัฐที่เก็บได้เกินเป้าไปพอสมควร ต่างก็ชี้ว่า แรงส่งทางเศรษฐกิจนั้นดีกว่าที่คาดไว้ และไทยกำลังเข้าสู่วัฏจักรของการขยายตัว และการลงทุนรอบใหม่
ทั้งนี้ เรายังจะได้รับผลดีจาก 1. เศรษฐกิจเอเชียที่ไปได้ กำลังผงาดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก ขณะที่สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นยังคงประสบกับปัญหาของตน ที่ต้องแก้ไขไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ภาคเอกชนบางส่วนของทั้ง 3 ประเทศ กำลังหาลู่ทางเพื่อย้ายฐานการผลิตเข้ามายังเอเชียตะวันออก 2. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ รอบใหม่ ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมจีนตอนล่างกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน และ 3. การเปิดเสรีในอาเซียน ที่จะช่วยเปิดตลาดและหลอมรวมให้ฐานการผลิตในภูมิภาคเป็นหนึ่งเดียวกัน
ช่วงจังหวะนี้จึงเป็นช่วงที่ดี ที่ภาคเอกชนไทยจะคิดถึงเรื่องของการลงทุนรอบใหม่ เพื่อวางอนาคตของบริษัทตนเองต่อไป
แล้วความเสี่ยงสำคัญคืออะไร
หนึ่ง - การเมือง คงจะส่งผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก จากประสบการณ์ในอดีต ก็น่าจะรับได้ เพราะเราเคยเผชิญกับปัญหาไม่แน่นอนทางการเมืองมามากระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง การปฏิวัติ การปิดสนามบิน การยิงกัน การเผาเมือง แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ในอัตราประมาณ 5% ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว (ปรับลดลงมาประมาณ 1% จากที่ควรจะเป็น)
ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ภาคเอกชน ถ้าภาครัฐช่วยทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพการเมืองและเศรษฐกิจไว้ให้ได้ในระดับหนึ่ง เอกชนก็ไปกันได้
ที่น่ากังวลใจจริงๆ ก็คือ รัฐบาลจะทำอะไรหลังการเลือกตั้ง 1. ถ้ามัวแต่ทะเลาะกัน สร้างปมที่ไม่จำเป็น ให้เกิดการประท้วงอีกรอบ ก็จะน่าเสียดายมาก เพราะเราจะเสียโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจที่เปิดขึ้น เนื่องจากช่วง 4 ปีข้างหน้า จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเอเชีย ที่จะผงาดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก ดึงดูดให้ต่างชาติย้ายฐานเข้ามาในภูมิภาค ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยต้องทำตัวในดี ให้เป็นที่น่าสนใจของทุกคน ฉวยโอกาสรอบนี้ไว้ให้ได้ และ 2. ถ้ารัฐบาลใหม่เดินผิดทาง ไปทำประชานิยมตามที่สัญญาไว้ทั้งหมดระหว่างการหาเสียง ก็จะส่งผลลบกับประเทศ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลยังจัดเก็บภาษีได้ไม่มากนัก ตรงนี้ ก็ต้องขอให้รัฐบาลใหม่แกล้งลืมบางนโยบายที่ประกาศออกไปแล้วบ้าง ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบไปได้ระดับหนึ่ง แล้วเมื่อมีเงินมากขึ้น สามารถจ่ายได้ ค่อยไปทำกันในช่วงนั้น
สอง - ต่างประเทศ สหรัฐและยุโรป ยังซึม แก้ไขปัญหาไม่จบ ฟื้นได้แต่จะไม่ดีมาก และผลพวงจากวิกฤติจะอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง โดยเรายังต้องจับตามองวิกฤติในยุโรป จนกว่าสหภาพยุโรปจะตอบโจทย์เศรษฐกิจได้ครบถ้วน ซึ่งตอนนี้ ถ้าพูดไปแล้ว หมอยังจ่ายยาไม่ตรงกับโรค ทำแบบขอไปที ตามปัญหาที่เกิดขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ยังมีปัญหาย้อนกลับมาให้แก้เรื่อยๆ โดยประเทศที่ต้องจับตามอง ก็คือ กรีซ สเปน ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ส่วนสหรัฐเองก็จะ 3 วันดี 4 วันไข้ ข้อมูลดีบ้างไม่ดีบ้าง และยังมีคำถามเรื่องปัญหาเพดานหนี้ รวมทั้งเรื่องแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงต่อไปว่าจะมาจากที่ไหน หลังจากรัฐบาลสหรัฐมีแนวโน้มว่าจะเริ่มรัดเข็มขัดตามข้อเรียกร้องของ ส.ส.พรรครีพับลิกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทั้งสองประเทศยังจะมีสภาพคล่องที่ล้นอยู่ในระบบอีกระยะ อันจะนำมาซึ่งความผันผวนของค่าเงินของประเทศต่างๆ ที่ขึ้นเร็ว ลงเร็ว (เมื่อเร็วๆ นี้ ค่าเงินบาทวิ่งไปแตะ 31 บาท จาก 29.8 บาทในช่วงก่อนหน้า และปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 30.5 บาท/ดอลลาร์) รวมทั้งราคาสินค้า Commodities ต่างๆ ก็ยังจะผันผวนมาก (น้ำมันโลกลดลงจาก 113 ดอลลาร์/บาร์เรลมาที่ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอีกรอบหนึ่ง ส่วนราคาทองคำ เงิน และราคาสินค้าเกษตรต่างๆ ก็ปรับตัวสวิงไปมาเช่นกัน) นอกจากนี้ Sentiment ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เราก็อาจจะถูกกระทบเป็นช่วงๆ ได้อีกด้วย
สาม - ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพ จากการสำรวจ CEO survey ล่าสุดพบว่า บริษัทประมาณ 75% จะมีต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และประมาณ 50% จะปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดย 1. ราคาน้ำมันโลกที่ยังคงเป็นความเสี่ยงอยู่ ซึ่งการยกเลิกกองทุนน้ำมันจะช่วยได้ตอนต้นเท่านั้น แต่ถ้าราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นอีกรอบ ก็จะกระทบกับราคาน้ำมันในประเทศและต้นทุนขนส่งได้อีกเช่นกัน และ 2. บริษัทจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่อาจจะมากกว่าที่คิดไว้ จากนโยบายการหาเสียงของรัฐบาลระหว่างการเลือกตั้ง
ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางไปอีกระยะ ซึ่งภาคเอกชนไทยต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไป
ในภาพรวม เราน่าจะบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้กันได้ถึงในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจไทยก็น่าจะไปได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ
หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติม หรือเสนอแนะได้ที่ “Blog ดร. กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ
Tags : กอบศักดิ์ ภูตระกูล กอบศักดิ์ ภูตระกูล คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "อนาคตเศรษฐกิจไทย" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ | เข้าชม: 2,334 |
|