kaisel สมาชิก
จังหวัด: กรุงเทพมหานคร โพสต์: 3,380 | วันที่: 06/11/2006 @ 14:32:02 คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่ ผลการโหวต พิษของพารา...ใครว่าธรรมดา
ภญ.อัมพร จันทรอาภรณ์กุล
พาราเซตามอล (paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen)
เป็นยาบรรเทาอาการปวด (analgesics)
ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร และการแข็งตัวของเลือด
เหมือนยากลุ่มเอ็นเซด (non-steroidal anti-inflammatory; NSAIDs)
เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หากใช้ในขนาดการรักษาปกติ
ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้พิษสงของยานี้เท่าไหร่
นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์
เป็นเหตุให้ปริมาณการใช้ยาตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
พาราเซตามอลกลายเป็นยาประจำบ้านที่ขายดิบขายดี
เป็นอะไรก็กินแต่พาราเซตามอล ปวดศีรษะ ไข้หวัด ก็พาราเซตามอล ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ก็พาราเซตามอล ยิ่งกว่านั้นบางรายปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ก็กินพาราเซตามอล
ซึ่งพาราเซตามอลก็คงไม่ได้ช่วยอะไร ทำได้แค่ให้สบายใจขึ้นเพราะได้กินยาแล้ว
บ้างก็มัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง
ไม่ยอมไปหาหมอรักษากัน พลอยทำให้โรคที่เป็นลุกลามมากขึ้น ต้องเสียเงินรักษามากขึ้นโดยใช่เหตุ
ในหลายประเทศได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา
ได้มีการสำรวจวิจัยพบว่ามีการใช้ ยาพาราเซตาอลเกินขนาดมากขึ้นทุกปี
และมีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการเกิดพิษของพาราเซตามอลจำนวนมาก จนน่าตกใจ
จนต้องออกมารณรงค์ให้ใช้ยาพาราเซตามอลเฉพาะ
เมื่อมีความจำเป็น และเผยแพร่ความรู้เรื่องพิษของยาให้ประชาชนตระหนักมากยิ่งขึ้น
ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ ใบปลิว เอกสารกำกับยา หรืออินเตอร์เน็ต
อันตรายจากการใช้ยาพาราเซตามอลที่พบได้มากที่สุด คือ
พิษต่อตับ ทำให้ตับวาย
รองมาเป็นเรื่องของการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือตีกับยาอื่นนั้นเอง
ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ
? ที่เกิดจากความตั้งใจ
ทุกคนคงทราบกันดี นั่นคือ การกินพาราเซตามอลประชดชีวิต การฆ่าตัวตาย
ซึ่งบางรายก็แค่ต้องการประท้วง เรียกร้องความสนใจ
นึกว่าพิษของพาราเซตามอลเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะพาราเซตามอลจะทำให้ตับเสียการทำงานหรือตับวายได้
ซึ่งหากได้รับยาต้านพิษไม่ทันเวลาก็จะทำให้เสียชิวิตได้
? ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ
เนื่องจากพาราเซตามอลที่ผลิตออกจำหน่ายในปัจจุบันนั้น
มีหลายรูปแบบ หลายความแรง หลายยี่ห้อ
ซึ่งเป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะทราบ ได้แก่ รูปของยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม
และการนำพาราเซตามอลไปผสมกับยาอื่นๆ ได้แก่
ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้หวัด ยาแก้ปวด เป็นต้น
ทำให้เกิดการกินยาซ้ำซ้อนโดยไม่รู้ตัว หากเป็นระยะเวลาไม่นานแค่ 2 ถึง 3 วันก็ยังพอไหว
หากระยะเวลานานเป็นเดือนการเกิดพิษต่อตับคงเกิดอย่างแน่นอน
ดังนั้นทางที่ดี ก่อนกินยาอะไรควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดเสียก่อน
และหากไม่แน่ใจว่าเป็นยาอะไร เป็นยาสูตรผสมหรือไม่ ก็ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทุกครั้ง
เรื่องที่น่าคิดอีกเรื่อง คือ การกินพาราเซตามอลร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
เช่น เหล้า ไวน์ รัม ยีน หรือ เบียร์
เพราะตัวแอลกอฮอล์เองเป็นที่ทราบกันดีว่าหากได้รับในปริมาณมาก
หรือต่อเนื่องกันนานๆ ก็ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง ตับวายได้
หากกินร่วมกับพาราเซตามอลก็จะเท่ากับเป็นการเหยียบคันเร่งให้ตับพังได้เร็วยิ่งขึ้น
คณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายให้มีการพิมพ์คำเตือนบนฉลากยาพาราเซตามอลว่า
?ห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์?
เนื่องจากเกิดคดีพิพากษาเกี่ยวกับการกินยาพาราเซตามอลร่วมกับไวน์เป็นประจำ
ของชาวเวอร์จิเนียรายหนึ่งจนทำให้ตับวาย
จนต้องมีการปลูกถ่ายตับใหม่
บริษัทผู้ผลิตยาแพ้คดีต้องจ่ายเงินชดใช้ถึง 8 ล้านดอลลาร์
เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเตือนคุณผู้อ่านก็คือ
เรื่องของยาตีกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง
แต่เดิมไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย
คิดว่าพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่มีพิษสงอะไร ไม่ตีกับยาอื่น
แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว
เนื่องจากระยะหลังนักวิจัยได้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
เพราะคนใช้ยาพาราเซตามอลมากขึ้น ยังกับพาราเซตามอลเป็นขนมอย่างนั้นแหละ
ตัวอย่างหนึ่งที่ดิฉันพบเองก็คือ
พาราเซตามอลตีกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวหนึ่งในผู้ที่เป็นเลือดข้น
กล่าวคือพาราเซตามอลทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงได้หากได้รับในปริมาณมาก
อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
ซึ่งเท่ากับไปเสริมฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดจนทำให้ผู้นั้นเกิดเลือดออกผิดปกติขึ้น
ทางที่ดีคุณควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็นในขนาดการรักษาปกติ
คือ ยาพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
(เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็กินแค่ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ก็เพียงพอ)
และหากไม่มีอาการแล้วก็ควรหยุดกินยาทันที
หรือหากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 วันแล้ว
อาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมจะดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง
จากหนังสือ Health today ฉบับเดือนสิงหาคม 254 [/color:c4d2195e7b">[/size:c4d2195e7b">
|