ตลาดเงิน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินไม่เปลี่ยนแปลงมาก ท่ามกลางสภาพคล่องที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีการนำสภาพคล่องเข้ามาลงทุนในช่วงต้นสัปดาห์ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้เท่าเดิมที่ 5.25% ตามคาด ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืน (Overnight) ยังคงหนาแน่นทั้งสัปดาห์อยู่ที่ 4.55% เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1, 7 และ 14 วัน ที่ปิดค่อนข้างทรงตัวตลอดสัปดาห์ที่ 4.50%, 4.53125-4.5625% และ 4.53125-4.5625% ตามลำดับ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 4.03% ในวันศุกร์ ขยับลงจาก 4.06% เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยปรับลงโดยเฉพาะระยะสั้น โดยมีแรงหนุนจากความต้องการลงทุนที่มีอยู่มากตามการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่เพิ่มขึ้นของทางการไทย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวขยับขึ้น จากแรงขายทำกำไร แม้ว่าปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาส 2/2549 จะลดลงเมื่อเทียบกับรายงานข่าวที่เปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 4.59% ในวันพฤหัสบดี ปรับขึ้นจาก 4.55% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ในวันจันทร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯขยับขึ้นเมื่อเทียบกับวันศุกร์ก่อนหน้า อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนรอผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ปรับตัวลงในวันอังคาร เนื่องจากรายงานยอดการขออนุญาตก่อสร้างบ้านในเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลงเกินคาดและการทบทวนปรับลดยอดการก่อสร้างบ้านใหม่ในเดือนมกราคมลงจากเดิม ถึงแม้ว่ายอดการก่อสร้างบ้านใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่มขึ้นจะมีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นในช่วงแรกก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะระยะสั้นปรับลงแรง ภายหลังเฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม พร้อมเปิดเผยแถลงการณ์หลังการประชุมที่ทำให้ตลาดตีความว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไปของเฟดจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้กลับมาเคลื่อนไหวปกติ (มีความชันเป็นบวก) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้ขยับสูงขึ้นอีกครั้งในวันพฤหัสบดี หลังจากที่ตลาดไม่แน่ใจว่าแถลงการณ์ของเฟดซึ่งบ่งชี้ถึงท่าทีที่ผ่อนคลายลงต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ จะนำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอนาคตอันใกล้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทในประเทศ (Onshore) แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 9 ปีครึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ก่อนที่จะอ่อนค่าลงปลายสัปดาห์ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงินบาทถูกเสนอราคาที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ส่วนระดับแข็งค่าสุดที่มีการทำธุรกรรมคือ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ) ในวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสูงสุดในรอบ 9 ปีครึ่ง ตามปัจจัยบวกจากแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก ถึงแม้ว่าการเทขายดังกล่าวจะชะลอตัวลงบ้างในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากที่ธปท.ได้ออกมากล่าวเตือนว่ามาตรการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าเต็มจำนวน ไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบกับมีความต้องการเงินดอลลาร์ฯ จากผู้นำเข้า และแรงซื้อดอลลาร์ฯ ที่นักค้าเงินคาดว่าจะเป็นการเข้าแทรกแซงค่าเงินจาก ธปท. ก็ตาม อย่างไรก็ตาม เงินบาทอ่อนแรงลงชัดเจนในวันศุกร์ ตามทิศทางการอ่อนค่าของเงินสกุลภูมิภาคเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ประกอบกับทิศทางเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันปรับโพสิชั่นด้วยซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม เงินบาทปิดที่ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับปลายสัปดาห์ก่อนหน้า
ในสัปดาห์นี้ (26-30 มีนาคม 2550) ธนาคารพาณิชย์จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเริ่มเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ ในขณะที่ การเตรียมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือน และความต้องการกู้ยืมที่อาจมีเพิ่มขึ้นในช่วงปิดงวดบัญชีสิ้นปีของญี่ปุ่น อาจทำให้สภาพคล่องในตลาดเงินตึงตัวขึ้นเล็กน้อย อัตรากลางของอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืนจึงอาจขยับขึ้นเล็กน้อย หรือปรับตัวในกรอบประมาณ 4.55-4.56%