Isabella สมาชิก
จังหวัด: กรุงเทพมหานคร โพสต์: 17 | วันที่: 13/12/2014 @ 10:03:02 คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่ ผลการโหวต ตราสารทางการเงิน (Financial Instruments) คือ หลักฐานแสดงการถือครองและสิทธิเรียกร้องต่างๆ ที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์นำออกมาจำหน่ายเพื่อระดมเงินจากผู้ลงทุน และนำมาจดทะเบียนเพื่อให้มีการซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งปัจจุบันมีตราสารทางการเงินที่ซื้อขายกันในตลาดรองมากกว่า 1,000 ชนิด ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ตลอดจนสามารถกระจายการลงทุนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตราสารทางการเงินที่ทำการซื้อขายในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ........
1.1 ตราสารทุน (Equity) เป็นตราสารที่ให้สิทธิการเป็น เจ้าของกิจการ แก่ผู้ลงทุน ดังนั้น ในฐานะเจ้าของกิจการ ผู้ลงทุนจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีถ้ากิจการมีผลการดำเนินงานดี และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือไม่ได้ผลตอบแทนถ้าผลการดำเนินงานของกิจการไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย
1.2 ตราสารหนี้ (Debt) เป็นตราสารที่ให้สิทธิการเป็น เจ้าหนี้ของกิจการ แก่ผู้ลงทุน ซึ่งในฐานะเจ้าหนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นๆ ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ โดยผู้ออกตราสารหนี้จะระบุอัตราผลตอบแทน กำหนดวันจ่ายดอกเบี้ย และวันครบอายุหรือกำหนดไถ่ถอนตราสารไว้อย่างชัดเจน
1.3 หน่วยลงทุน (Unit Trust) เป็นตราสารที่ออกจำหน่ายและบริหารการลงทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) เพื่อระดมเงินเข้า กองทุนรวม ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ผู้ลงทุนมีฐานะเป็น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของกองทุนรวม จึงมีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งจุดเด่นของการลงทุนในกองทุนรวมก็คือ การมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนดูแลการลงทุนให้ จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลาดูแลการลงทุนด้วยตัวเอง
1.4 ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) เป็นสัญญาทางการเงินที่ทำขึ้นในปัจจุบัน เพื่อตกลงซื้อขายหรือให้สิทธิในการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) เช่น หุ้นสามัญ ดัชนีหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ ในอนาคต กล่าวคือ ทำสัญญาตกลงกันวันนี้ว่าจะซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงจำนวนกี่หน่วย ที่ราคาเท่าใด แล้วจะส่งมอบและชำระราคากันเมื่อใด ลักษณะเฉพาะของตราสารอนุพันธ์ คือ มีอายุสัญญาจำกัด เมื่อครบอายุสัญญา มูลค่าของตราสารก็จะหมดลง นอกจากนี้ ราคาตราสารอนุพันธ์ก็จะผันผวนไปตามราคาสินทรัพย์อ้างอิง ผู้ลงทุนจึงมักใช้ตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม หลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกัน จึงให้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงที่มากน้อยแตกต่างกัน การจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ชนิดใดเป็นจำนวนเท่าใดและเมื่อใด จึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการลงทุนระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และความคาดหวังในผลตอบแทนที่จะได้รับของผู้ลงทุนแต่ละคน ซึ่งมักแปรผันไปตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลา
ที่มา http://www.tsi-thailand.org/index.php?option=com_content&task=view&id=1805&Itemid=1547
|