November 23, 2024   6:49:51 AM ICT
เว็บบอร์ด > ห้องข่าว > ออมเท่าไหร่ พอใช้ยามเกษียณ
 

Chaipat
สมาชิก

จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
โพสต์: 7
วันที่: 26/08/2015 @ 13:37:21
คุณชอบกระทู้นี้หรือไม่

ผลการโหวต
ชอบ
0.00%
0 คน

ไม่ชอบ
0.00%
0 คน

พูดถึงคำว่า “เกษียณ” นึกถึงอะไรกันบ้างครับ
“เย้! ไม่ต้องตื่นเช้าไปทำงานแล้ว”
“ดีใจจัง จะได้มีเงิน มีเวลา ทำในสิ่งที่อยากจะทำได้ทั้งวันแล้ว”

ทุกคนมีภาพความฝัน สำหรับชีวิตหลังเกษียณแตกต่างกันไป เป็นเวลาที่มีความหมาย ที่จะได้ทำงานเพื่อความเพลิดเพลินของชีวิต โดยไม่ต้องมีเจ้านายมาคอยกดดันอีกต่อไปแล้ว

เป็นช่วงเวลาที่เรารอคอยมาทั้งชีวิต รู้สึกผ่อนคลาย สัมผัสได้ถึงอิสรภาพในการใช้ชีวิต ตื่นนอนตอนไหนก็ได้ที่อยากจะตื่น อยากทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำได้ตลอดทั้งวัน ได้ไปเที่ยวต่างประเทศอย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่ากลับมาต้องทำยอดเท่าไร ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องกลับมาสะสางงานที่กองท่วมหัวไว้ยังไง

หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ใหญ่ใจดี ที่คอยแจกเงินให้ลูกหลานตอนสงกรานต์ มันช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และน่าตื่นเต้นจริงๆนะครับ เวลาเราจินตนาการถึงสิ่งที่เราจะได้ทำทั้งหมดนี้

แต่พอเวลาผมไปถามเพื่อนๆว่า “เริ่มเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณรึยัง เพื่อน!” ส่วนใหญ่คำตอบที่ผมได้รับมักเป็นแบบนี้ครับ

“เอาไว้ก่อน กว่าจะเกษียณ ยังอีกตั้งหลายปี”
“ยังไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บเลยว่ะ ต้องไปจ่ายอย่างอื่นอีกเพียบ”
“…” (อืม! อันนี้หนักหน่อย ยังไม่เคยแม้แต่จะคิด)

และแล้ววันเวลาก็ผ่านไปปีแล้ว ปีเล่า จนเรารู้สึกว่ามีชีวิตที่เพียบพร้อมครบสมบูรณ์แล้ว มีรถหรูคันงาม มีบ้านหลังใหญ่ ได้พาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศทุกปี แต่เอ๊ะ! ลืมอะไรน้า? เราลืมเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณ และเมื่อวันนั้นมาถึง เราจะเป็นอย่างไร ถ้าเงินที่เก็บไว้มีไม่พอสำหรับใช้จ่ายไปตลอดชีวิต

เพราะการเกษียณเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน ใช้เวลาหลายสิบปี กว่าที่จะผ่านเส้นกาลเวลาในแต่ละปี จนกระทั่งเราจากโลกนี้ไป ลองมองไปรอบๆตัวเราสิครับ มองไปที่ผู้คนที่เกษียณอายุ ออกจากงานไปแล้ว สุขสบายหรือยังต้องทำงานหนักอยู่ ยังต้องพึ่งพาลูกหลานดูแลอยู่มั้ย

แล้วลองนึกถึงวันที่เราต้องออกจากงาน ขาดรายได้ สภาพร่างกาย สุขภาพอาจไม่ดีเท่าวันนี้ ถ้าวันนี้เรายังไม่เรียนรู้วิธีที่จะจัดการเรื่องการเงิน ชีวิตในปัจจุบันยังต้องใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่ แล้วอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่ผมได้บอกเล่ามาทั้งหมดก็เพื่อชักชวนคุณมองไปให้ไกลกว่าค่าใช้จ่ายในวันนี้ และเริ่มเก็บเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคต

ต้องเตรียมเงินเท่าไร ถึงพอใช้หลังเกษียณ

บางทีเราอาจจะนึกภาพการเงินในชีวิตหลังเกษียณของเราไม่ออก ผมจึงพัฒนา Excel เพื่อช่วยให้การวางแผนเกษียณอายุง่ายยิ่งขึ้น และทำให้คุณได้มองเห็นภาพชีวิตหลังเกษียณของตัวเองได้อย่างชัดเจน

ดาวน์โหลดโปรแกรมวางแผนเกษียณอายุ

การใช้โปรแกรมวางแผนเกษียณอายุ จะแสดงให้เห็นถึงกระแสเงินสด (cash flow) ในช่วงหลังเกษียณอายุ และทำให้เราทราบถึง

1. จำนวนเงินกองทุนเกษียณอายุของเราในช่วงหลังเกษียณอายุในแต่ละปี
2. จำนวนค่าใช้จ่ายของเราในช่วงหลังเกษียณอายุในแต่ละปี
3. แสดงการเติบโตของเงินกองทุนเกษียณอายุของเราในแต่ละปี

และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่โปรแกรมนี้แสดงให้เห็นคือ เงินกองทุนเกษียณอายุจะถูกใช้หมดในปีสุดท้าย ด้วยระยะเวลาที่เราประเมินว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณไว้พอดีเป๊ะ

หน้าที่ของเราคือการป้อนข้อมูลต่อไปนี้ลงในตาราง

1. ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือน ขึ้นกับว่าเราออกแบบชีวิตไว้อย่างไร ต้องใช้เงินเท่าไร อย่าลืมค่ารักษาพยาบาลด้วยนะครับ
2. อายุที่เราต้องการเกษียณ ถึงตอนนี้จะทำให้เราทราบว่าเหลือเวลาเท่าไรสำหรับเก็บเงิน
3. ช่วงระยะเวลาหลังเกษียณ ส่วนนี้ประเมินไว้เยอะๆ ไว้ก่อนจะดีกว่าครับ คงไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ ถ้าเงินที่เราเตรียมไว้ใช้ จะต้องหมดก่อน

ผลตอบแทนจากการลงทุน ถ้าเป็นช่วงก่อนเกษียณควรเน้นการเจริญเติบโตของเงินลงทุนโดยนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี ช่วงหลังเกษียณเราไม่จำเป็นเสี่ยงมากควรเน้นการรักษาเงินต้นด้วยการนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทน 4% (ตรงนี้ผมไกด์ไลน์ให้ ส่วนเวลาไปลงทุนจริงๆนี่ขึ้นอยู่กับคุณแล้วล่ะ ว่าชอบ asset ไหน แล้ว asset นั้นให้ผลตอบแทนเท่าไร)



ตัวอย่าง ภัทรชัย โปรแกรมเมอร์หนุ่มวัย 35 ปี วางแผนที่จะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี โดยเขาต้องการค่าใช้จ่ายต่อ 25,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 20 ปี จนถึงอายุ 80 ปี (อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% ต่อปี) ถ้าเราใช้โปรแกรมวางแผนเกษียณอายุ จะได้ตัวเลขสำคัญ 2 ตัวเลขคือ

1. จำนวนเงินกองทุนเกษียณอายุของภัทรชัยจะมี 11.5 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะดูแลเขาไปตลอดชีวิต
2. จำนวนเงินที่เขาต้องลงทุนวันนี้เท่ากับ 12,000 บาทต่อเดือน ที่จะทำให้เขาสร้างเงินกองทุนเกษียณอายุได้ 11.5 ล้านบาท

หลังจากได้ตัวเลขที่เราต้องลงทุนในแต่ละเดือนมาแล้ว หลายๆครั้งผู้คนที่ผมไปให้คำปรึกษาไม่สามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนเงินที่คำนวณจากโปรแกรมวางแผนเกษียณอายุนี้ได้ ไม่ต้องตกใจครับ เราสามารถลงทุนด้วยเงิน 15% ของรายได้ของเราได้ เพราะรายได้เราเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งโดยปกติแล้วจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับเกษียณอายุของคนทั่วไปแล้วครับ นอกจากนี้เงินจำนวนนี้ยังไม่มากเกินไปสำหรับการลงทุน และยังช่วยให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันอีกด้วย

ลงทุนเพื่อการเกษียณที่ไหนดี

ถึงตอนนี้เราจะทำอะไรดีกับเงิน 15% ของรายได้ จะเอาไปลงทุนที่ไหนดี ผมแนะนำให้คุณลงทุนเป็นสเต็ปตามนี้ครับ

1. ลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มสิทธิ (สะสมได้ตั้งแต่ 2%-15% ของรายได้)

2. ลงทุนผ่านกองทุน RMF ให้ครบ 15% ของรายได้ (ถ้าสเต็ปแรกสะสมไม่ถึง 15% ให้มาทำที่สเต็ปนี้ให้ครบ ถ้านายจ้างให้สิทธิออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3% ให้มาลงทุนเพิ่มในกองทุนรวม RMF อีก 12% ของรายได้ เท่านี้คุณก็สามารถลงทุนเพื่อการเกษียณอายุได้เท่ากับ 15% ของรายได้แล้วครับ แต่ถ้าเราทำอาชีพอิสระ หรือโชคร้ายบริษัทที่ทำอยู่ไม่มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ก็มาจัดกองทุน RMF ให้ครบ 15% ได้เลยครับ เพราะเค้าให้สิทธิลดหย่อนสูงสุด 15% ของรายได้พอดิบพอดีเลย)

เราเลือกการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุผลตามนี้ครับ

1. ได้สิทธิลดหย่อนภาษี เงินที่เราสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ชอบมั้ยครับ?

2. ได้เงินสมทบ ฟรี!! นายจ้างจะให้เงินสมทบกับเราไม่ต่ำกว่าเงินที่เราสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพครับ เช่น ถ้าคุณมีรายได้ 50,000 บาท บริษัทให้สิทธิออมสูงสุด 10% ของรายได้ หมายความว่า คุณออมเงินเพื่อการเกษียณอายุได้ 5,000 บาทต่อเดือน และนายจ้างยังช่วยออมเงินเพิ่มพิเศษให้อีก 5,000 บาท นั่นหมายถึง เป็นการการันตีผลตอบแทนให้คุณเพิ่มจากเงินออมของคุณอีก 100% ดับเบิ้ลเงินออมของคุณจาก 5,000 บาท ให้เป็น 10,000 บาท เริ่มรักนายจ้างขึ้นมาบ้างรึยังครับ แต่ถ้าคุณยังไม่สะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก นั่นหมายความว่าคุณปฏิเสธเงินที่ได้มาฟรีๆ ก้อนนี้ไปนะครับ

3. สะดวก และเป็นการออมแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องกลัวลืม ไม่ต้องกลัวว่าเดือนไหนจะใช้ตังค์หมดแล้วไม่ได้ออม บริษัทจัดการกองทุนที่นายจ้างคุณใช้บริการอยู่จะจัดการหักเงินของคุณเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนที่คุณจะเห็นเงินซะอีก


สำหรับที่เข้าเพลสมาเป็นอันดับสองในการออมเงินเพื่อการเกษียณ คือ กองทุน RMF หรือชื่อแบบไทยๆว่า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ข้อดีของการลงทุนใน RMF นอกจากผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีอีกด้วย

ข้อแนะนำอีกอย่างนึง คือ เนื่องจากการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุเป็นการลงทุนระยะยาว คุณควรเน้นให้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้มากเข้าไว้ เพื่อเน้นการเจริญเติบโตของเงินลงทุน

มาถึงตอนนี้การที่จะมีเงินเกษียณหลายๆล้าน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ยากเลยใช่มั้ยครับ ถ้าคุณสามารถลงทุนได้ 15% ของรายได้ทุกๆเดือน สมมติผมอายุ 35 ปี มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ทำการลงทุนตามแผนนี้ ถ้าผมเกษียณตอนอายุ 60 ปี ผมจะมีเงินอย่างน้อยๆ 5 ล้านบาท นี่คิดแบบเคสเลวร้ายสุดๆ เจ้านายไม่รัก ไม่ขึ้นเงินเดือนให้ ตลอดระยะเวลาการทำงานเลยนะ

เริ่มลงทุนเมื่อไร

ให้ทำเป็นลำดับตามนี้ครับ

1. ปลดหนี้ (ยกเว้นหนี้บ้าน)
2. มีเงินฉุกเฉินเพียงพอ
3. ใช้เงินก้อนเล็ก ทำประกันชีวิต (สำหรับคนที่มีครอบครัว) และประกันสุขภาพระยะยาว

ถ้าคุณผ่านด่านอรหันต์สามขั้นตอนด้านบนนี้ไปแล้ว มันถึงเวลาที่คุณต้องปฏิบัติการลงทุน ตามสโลแกน “ทำก่อน ทำจริง ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ยั่งยืน” แล้วครับ ฟังดูคุ้นๆนะ 555

Action Step

1. ลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มสิทธิ
2. ลงทุนผ่านกองทุน RMF ให้ครบ 15% ของรายได้

อ่านบทความบนเว็บไซต์

-ชัยภัทร
About Chaipat | Facebook | LinkedIn
ไฟล์แนบ
ไฟล์แนบ Retirement-Calculator.xls


แก้ไขโดย: ผู้ดูแลระบบ
วันที่: 26 สิงหาคม 2558 @ 14:15:42

 กลับขึ้นบน
firstcy
สมาชิก

จังหวัด: นครราชสีมา
โพสต์: 64
#1 วันที่: 02/04/2018 @ 19:32:20 :
 กลับขึ้นบน

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com