May 4, 2024   2:25:14 AM ICT
อัตราส่วนราคา (Price Multiples)
ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินได้ฟังคำว่า P/E ratio และ P/BV ratio มากันจนคุ้นหู ซึ่งอัตราส่วนทั้งสองนี้มักจะถูกใช้ในการเปรียบเทียบหุ้นของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกันว่ามีราคาถูกหรือแพง นอกจากนี้ อัตราส่วนราคาทั้งสอง ยังสามารถนำไปใช้ในการหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นได้อีกด้วย อันที่จริงแล้ว ยังมีอัตราส่วนราคาอื่นๆ อีกที่นิยมใช้ในการหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น ดังนั้น Fun Fund สัปดาห์นี้ จึงขอเสนอเรื่องของ อัตราส่วนราคา (Price Multiples) รวมไปถึงเหตุผลและข้อจำกัดของการใช้อัตราส่วนแต่ละชนิด

อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น หรือ P/E ratio เป็นอัตราส่วนที่ใช้ในการหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นที่นิยมใช้กันแพร่หลายที่สุด เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่ากำลังความสามารถในการสร้างผลกำไรซึ่งวัดได้ด้วยผลกำไรต่อหุ้นนั้น เป็นเครื่องตัดสินหลักของมูลค่าการลงทุน อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนนี้จะไม่สามารถใช้ได้ในกรณีที่บริษัทมีผลกำไรเป็นลบหรือขาดทุน อีกทั้งหากผลกำไรของบริษัทมีความผันผวนมาก ก็อาจทำให้การหามูลค่าของหุ้นด้วยการใช้อัตราส่วนนี้ทำได้โดยยาก นอกจากนั้น การใช้นโยบายการบัญชีที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัทก็จะทำให้การเปรียบเทียบระหว่างบริษัทบิดเบือนไป

อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น หรือ P/BV ratio เป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้ไม่แพ้อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น โดยเฉพาะในการหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นของบริษัทที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหลัก เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทประกันต่างๆ ซึ่งข้อดีของการใช้อัตราส่วนนี้ก็คือ มูลค่าทางบัญชีเป็นมูลค่าสะสมและมักจะมีค่าเป็นบวก แม้บริษัทจะมีผลประกอบการขาดทุน และมูลค่าทางบัญชีจะค่อนข้างมีความผันผวนน้อยกว่าผลกำไรของบริษัท โดยในส่วนของข้อด้อยก็คือ มูลค่าทางบัญชีจะละเลยสินทรัพย์ที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอาจทำให้มูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์มีความแตกต่างจากมูลค่าตลาดอย่างมีนัยสำคัญ และอีกเช่นเคย การใช้นโยบายการบัญชีที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัทก็จะทำให้การเปรียบเทียบระหว่างบริษัทมีโอกาสบิดเบือนได้

อัตราส่วนราคาต่อยอดขายต่อหุ้น หรือ P/S ratio เป็นอัตราส่วนที่สามารถใช้ได้แม้แต่กับบริษัทที่อยู่ในฐานะที่ยากลำบาก (Distressed firms) เนื่องจากยอดขายจะเป็นบวกเสมอแม้ผลกำไรหรือมูลค่าทางบัญชีจะเป็นลบ ซึ่งข้อดีของอัตราส่วนนี้ก็คือ ยอดขายของบริษัทจะถูกตกแต่งให้ดูดีกว่าความเป็นจริงได้ยากกว่าในกรณีของผลกำไรและมูลค่าทางบัญชี นอกจากนั้น ยอดขายจะมีความผันผวนน้อยกว่าผลกำไรของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยของการใช้อัตราส่วนนี้ก็คือ การเติบโตของยอดขายไม่ได้หมายความถึงผลกำไรที่เติบโตตามไปด้วย อีกทั้งอัตราส่วนนี้มิได้สะท้อนถึงความแตกต่างของโครงสร้างต้นทุนของแต่ละบริษัท และถึงแม้ว่าการตกแต่งยอดขายจะกระทำได้ยาก แต่ความแตกต่างในวิธีการรับรู้รายได้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเปรียบเทียบระหว่างบริษัทต่างๆ ได้

นอกจากอัตราส่วนราคาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีอัตราส่วนราคาอื่นๆ อีก เช่น อัตราส่วนราคาต่อกระแสเงินสดต่อหุ้น (P/CF ratio) ซึ่งอาจจะมีความยุ่งยากในการใช้งานมากกว่า ทั้งนี้ ในการหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัว ผู้ลงทุนต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อด้อยของแต่ละอัตราส่วน และเลือกใช้ให้เหมาะกับหุ้นนั้นๆ จึงจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากเครื่องมือที่เรียกว่า อัตราส่วนราคา (Price Multiples) นี้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

เข้าชม: 2,553

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com