May 4, 2024   9:53:44 AM ICT
เฮดจ์ฟันด์ Hedge Fund

มีHedge Fund หรือที่บางคนเรียกว่ากองทุนป้องกันความเสี่ยง แต่ส่วนใหญ่มักจะเรียกทับศัพท์ว่า เฮดจ์ฟันด์ นั้น เป็นสิ่งที่เริ่มคุ้นหูนักลงทุนไทยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ผมเชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้จริง ๆ ว่ากองทุนพวกนี้เขาทำงานกันอย่างไร

สิ่งที่รับรู้กันก็คือ เฮดจ์ฟันด์เป็นกองทุนที่กล้าได้กล้าเสีย เข้าเร็วออกเร็ว ชอบ ? ลาก ? และ ? ทุบ ? หุ้น ทำกำไรในประเทศต่าง ๆ แล้วก็จากไป บางคนบอกว่าทำตัวเหมือน ? อีแร้ง ? จิกเนื้อกินเหยื่อ ทิ้งไว้แต่ ? ซาก ? เปรียบไปแล้วกองทุนเฮดจ์ฟันด์ก็คล้ายกับนักลงทุน ? ขาใหญ่ ? ระดับโลกที่มีสไตล์การเล่นไม่ต่างไปจากนักลงทุน ? ขาใหญ่ ? บางกลุ่มในตลาดหุ้นไทย แต่นี่เป็นเพียงมุมหนึ่งของเฮดจ์ฟันด์ที่เราเห็น หลักการ แนวคิด และวิธีการทำงานของเฮดจ์ฟันด์นั้นน่าสนใจและนักลงทุนควรเรียนรู้ไว้บ้าง

เริ่มในปี 1949 โดย Alfred Jones นักเขียนบทความใส้แห้งซึ่งมีความคิดว่าน่าจะมีกลยุทธ์การลงทุนที่สามารถทำกำไรได้เวลาตลาดหุ้นตก เพราะไม่ว่าคุณจะเลือกหุ้นลงทุนเก่งแค่ไหน แต่ถ้าตลาดหุ้นเป็นขาลง หุ้นส่วนใหญ่ก็จะตกลงมาด้วยและพอร์ตก็จะขาดทุน ปัญหาก็คือ เราไม่สามารถคาดได้ว่าเมื่อไรตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลงและนี่เป็นความเสี่ยงที่ควรได้รับการป้องกัน

วิธีแก้ก็คือ เราจะต้องสร้างพอร์ตหุ้นที่มีทั้งหุ้นที่เราซื้อลงทุน ( เรียกว่า Long Position) และหุ้นที่เราขายชอร์ต (Short Position) นั่นคือหุ้นที่เรายืมเขามาขายตอนที่ราคาสูงและหวังและรอกลับไปซื้อมาคืนเขาเมื่อราคาหุ้นตกลงมา ด้วยวิธีนี้ เมื่อตลาดหุ้นขึ้น พอร์ตก็จะมีกำไรจากหุ้นที่เราถือ (Long) และเวลาตลาดหุ้นตก พอร์ตก็จะมีกำไรจากหุ้นที่เราขายชอร์ตไว้ เรียกว่าไม่ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะลงพอร์ตของเราก็ทำกำไรได้ถ้าเราเลือกหุ้นถูกตัวโดยไม่ต้องสนใจภาวะตลาด

นอกจากวิธีการลงทุนที่จะถือทั้งหุ้นที่ดีและขายชอร์ตหุ้นที่เห็นว่าเป็นหุ้น ? เน่า ? พร้อมกันแล้ว Jones ซึ่งต่อมาเอาดีทางการเป็นผู้บริหารกองทุนยังกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนการบริหารกองทุนแบบแบ่งกำไรหรือ Profit Sharing กับคนลงทุน นั่นคือ ถ้าพอร์ตมีกำไร เขาขอแบ่ง 20% แต่ถ้าขาดทุนก็ไม่คิดค่าบริการ แทนที่จะเป็นอัตราเป็นเปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินสุทธิอย่างกองทุนปกติซึ่งไม่ว่ากองทุนจะกำไรหรือขาดทุน ผู้จัดการกองทุนก็ได้เงินเท่ากัน

นั่นก็คือรูปแบบเริ่มต้นของเฮดจ์ฟันด์ของ Alfred Jones ซึ่งในช่วงหลายสิบปีแรกของธุรกิจนี้ก็ไม่มีอะไรหวือหวา จนกระทั่งถึงเมื่อประมาณ 20-30 ปีมานี้เองที่เฮดจ์ฟันด์เริ่มเป็นที่นิยมของนักลงทุนรายใหญ่ ๆ เนื่องจากผลงานการลงทุนที่โดดเด่นของ ? เซียน ? บางคนอย่างจอร์จโซรอส และ จูเลียน โรเบิร์ตสัน แห่ง Tiger Fund ตำนานแห่งการลงทุนของเฮดจ์ฟันด์ เป็นต้น

นอกจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นแล้ว เฮดจ์ฟันด์เองก็มีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่จะสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้น ดังนั้น เฮดจ์ฟันด์จึงมักจะกู้เงิน หรือใช้เงินกู้มาลงทุนด้วย และนี่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย เพราะเฮดจ์ฟันด์นั้นจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (Partnership) ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการกู้เงินมาใช้ เช่นเดียวกับการไม่มีข้อบังคับให้ต้องเปิดเผยข้อมูลและถูกข้อจำกัดมากมายจากผู้คุมกฎต่าง ๆ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เฮดจ์ฟันด์ต้องปรับตัวมากก็คือขนาดของเงินกองทุนที่เติบโตขึ้นมากทำให้เฮดจ์ฟันด์ต้องหา ? ที่ลงทุน ? ที่ต้องใหญ่และมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับ และนั่นทำให้เฮดจ์ฟันด์จำนวนมากเข้ามาเล่นในตลาดพันธบัตร ตลาดเงิน ตลาดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และตราสารอนุพันธ์ทั้งหลายซึ่งเป็นตลาดที่มีปริมาณการซื้อขายมหาศาลและมีสภาพคล่องสูงสุด

เช่นเดียวกัน เฮดจ์ฟันด์พร้อมที่จะเข้าไปเล่นในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และโลหะมีค่าทั้งหลาย ตั้งแต่เรื่องของน้ำมัน โลหะเงิน ทอง หรืออะไรก็ตามที่มองแล้วว่าจะมีโอกาสทำกำไรมหาศาลเนื่องจากความไม่สมดุลในตลาด สำหรับเฮดจ์ฟันด์แล้ว อะไรที่สามารถทำกำไรได้มากและเร็วนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิสมัย เพราะการทำกำไรของกองทุนก็คือเม็ดเงินผลตอบแทนมหาศาลที่ผู้จัดการจะได้รับจากส่วนแบ่งกำไรที่ตกลงกัน

วิวัฒนาการที่แพร่หลายมากในระยะหลังของเฮดจ์ฟันด์นั้น แน่นอน คือการขยายขอบเขตการลงทุนออกไปทั่วโลกที่เรียกว่า Global Macro Investing นั่นก็คือการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ที่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่การลงทุนเหล่านี้จะเป็นการลงทุนในระดับประเทศ คือมองภาพใหญ่ จะไม่มองหาหุ้นหรือหลักทรัพย์เป็นรายตัว เพราะฉะนั้นเฮดจ์ฟันด์จึงมักเล่นเก็งกำไรเงินตราของประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

ถ้าจะลงทุนในหุ้นก็มักจะเป็นกลุ่มหุ้นหลัก ๆ ของแต่ละประเทศซึ่งก็เป็นตัวแทนของความแข็งแกร่งหรือการทำกำไรของธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างของประเทศไทยก็น่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มแบ็งค์ซึ่งเป็นตัวแทนของความเฟื่องฟูหรือความล้มเหลวของธุรกิจทั้งประเทศ มีขนาดใหญ่พอ และมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงพอที่จะทำให้เฮดจ์ฟันด์สามารถเข้าและออกได้ตลอดเวลาเมื่อต้องการ

การวัดผลงานของเฮดจ์ฟันด์นั้นจะเน้นไปที่การ ? ทำเงิน ? มากกว่าที่จะไปเปรียบเทียบกับตัววัดอื่น ๆ เช่นดัชนีตลาดหลักทรัพย์หรืออัตราดอกเบี้ยอย่างที่ใช้กันในการวัดผลงานของกองทุนรวมทั่วไป เหตุผลอย่างหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเฮดจ์ฟันด์นั้นออกแบบมาเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงทิศทางของการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์

ว่าที่จริงเฮดจ์ฟันด์นั้นเป็นกองทุนที่ผู้บริหารสามารถใช้เครื่องมือและกลยุทธ์ทุกชนิดที่จะใช้ในการลงทุนโดยเป้าหมายมีเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือการทำกำไรให้มากและเร็วที่สุด และเป็นกองทุนที่สามารถดึงดูดผู้บริหารการลงทุนมืออาชีพที่มีความสามารถและความทะเยอทะยานสูงสุด เพราะกองทุนสามารถให้ผลตอบแทนมหาศาลแก่ผู้จัดการที่ทำผลงานได้สุดยอด สำหรับเฮดจ์ฟันด์แล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นขีดหรือข้อจำกัด

ผมคงไม่ต้องบอกว่าความเสี่ยงของการลงทุนในเฮดจ์ฟันด์นั้นก็หาขีดจำกัดไม่ได้เช่นกัน และนี่จึงทำให้เฮดจ์ฟันด์ไม่ใช่การลงทุนของนักลงทุนรายย่อยทั่ว ๆ ไป แต่เป็นเรื่องของคนมีสตางค์ที่ชอบเสี่ยงและรับความเสี่ยงได้

และทั้งหมดนั้นก็คือคุณลักษณะอย่างย่อของเฮดจ์ฟันด์ที่สยายปีกครอบคลุมตลาดการเงินทั่วโลกและเป็นที่หวาดระแวงของผู้คุมกฎและรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่อาจจะตกเป็นเป้าหมายในการเข้า ? โจมตี ? โดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศที่อาจจะไม่รู้ว่าคลื่นใหญ่น่าสนุกที่ถาโถมเข้ามานั้น อาจจะเป็นสึนามิที่สามารถสร้างความเสียหายได้มหาศาล

บทความ เฮดจ์ฟันด์ โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร  ไทยหุ้น.คอม ขอขอบคุณครับ

เข้าชม: 2,353

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com