May 4, 2024   5:53:58 AM ICT
มาตรฐานของ Value Investor

ผมเป็น Value Investor มานาน และเมื่อมองย้อนหลังกลับไปก็พบว่าความคิดและมุมมองของตนเองเกี่ยวกับธุรกิจและการใช้ชีวิตส่วนตัวโดยเฉพาะทางด้านการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก พูดให้ชัดเจนก็คือ มาตรฐานในการพิจารณาให้เกรดกิจการต่าง ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกันข้าม การใช้เงินและบริโภคส่วนตัวเน้นคุณค่ามากขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ เรื่องที่หนีห่างจากมาตรฐานของสังคมออกไป

เหตุผลที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนแปลงนี้ผมคิดว่ามาจากการที่ได้เห็น ได้ศึกษา วิเคราะห์กิจการต่าง ๆ มากมาย และได้ลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทจำนวนมากโดยอิงหลักการของ Value Investment ซึ่งในระหว่างกระบวนการเหล่านี้มันช่วยสอนให้รู้ว่าหุ้นและบริษัทแบบไหนเป็นของดีซื้อแล้วได้กำไร แบบไหนลงทุนแล้วขาดทุน สอนให้รู้ว่าความเสี่ยงนั้นคืออะไร และสอนให้จิตใจมีความสุขุมมั่นคงในสังคมที่สับสนวุ่นวายและบ่อยครั้งไร้เหตุผลของผู้คนในตลาดหลักทรัพย์

ก่อนที่จะเป็น Value Investor ผมเคยลงทุนในกิจการบางอย่างโดยไม่ได้คิดอะไรอย่างรอบคอบ มองเห็นแต่อนาคตและผลตอบแทนที่สวยหรูจากกิจการที่อยู่ใน ? ธุรกิจแห่งอนาคต ? แต่ตัวบริษัทมีองค์ประกอบของความสำเร็จเพียงน้อยนิด โชคดีที่เป็นการลงทุนจำนวนน้อย บทเรียนที่ได้จึง ? ไม่แพงจนเกินไป ?

ผมเคยมีหน้าที่การงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการดูผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทต่าง ๆ มากมายเป็นเวลานับสิบ ๆ ปี ก่อนที่จะเป็น Value Investor นั้น ดูเหมือนว่าเกือบทุกบริษัทก็ดูดีใช้ได้ไปหมด ต่อมาเมื่อเป็น Value Investor ใหม่ ๆ บริษัทเหล่านั้นดูเหมือนว่าจะมีจุดอ่อน หลาย ๆ บริษัทไม่ดีหรือไม่แข็งแรงพอที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ตอนหลังเมื่อกลายเป็น Value Investor ที่มุ่งมั่นและผ่านประสบการณ์มามากขึ้น ผมก็แทบจะหาบริษัทที่ดูดีไม่ได้เลย

ก่อนที่จะเป็น Value Investor ผมเห็นนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการบริหารงานโดยใช้วิธีการใต้โต๊ะเอาเปรียบคนอื่น รายงานตัวเลขที่ไม่เป็นจริง ตัดสินใจทางธุรกิจอย่างสุ่มเสี่ยงโดยใช้เงินของคนอื่น ทุกสิ่งที่ทำนั้นลึกลับซับซ้อนเหมือนอยู่ในมุมมืดและผมก็ไม่รู้สึกอะไร ผมคิดว่านั่นคือ ? ธุรกิจ ? เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย แต่เมื่อเป็น Value Investor แล้ว ผมรู้สึกว่าผมไม่สามารถที่จะรับกับพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสได้ เพราะฉะนั้นผมจึงระมัดระวังมากที่จะลงทุนในบริษัทที่ผมไม่แน่ใจว่าบริษัทมีบรรษัทภิบาลที่ดีแม้ว่าจะเป็นหุ้นที่น่าสนใจมากในแง่ของตัวกิจการและราคาหุ้น

ผมมักจะตื่นเต้นเมื่อผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการเสนอแผนการและประมาณการที่สดใสของบริษัทหลังจากที่กิจการเริ่มดีขึ้นมีกำไรอย่างก้าวกระโดดแม้ว่ากำไรจะยังน้อยนิด แต่เมื่อนำไปประกอบกับภาวะของอุตสาหกรรมที่สดใสแล้วดูเหมือนว่าหนทางข้างหน้าของบริษัทจะปูด้วยกลีบกุหลาบ นั่นเป็นความคิดก่อนที่ผมจะเป็น Value Investor เดี๋ยวนี้ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นกับบริษัทที่มีประวัติดีย้อนหลังเพียงแค่ ? ปีที่แล้ว ? แต่มี ? อนาคตที่สดใส ? ยาวมาก มาตรฐานของผมก็คือบริษัทจะต้องดีต่อเนื่องมานานและอนาคตก็จะดีเหมือนเดิมต่อไปอีกนาน

ผมเคยเรียนมาและเขาบอกว่าบริษัทควรมีหนี้เงินกู้บ้าง เพราะการกู้เงินจะทำให้กำไรในส่วนของเจ้าของสูงขึ้นหรือกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น แต่การกู้เงินก็ไม่ควรมากเกินไปเพราะจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อการล้มละลายสูงขึ้น มาตรฐานของเงินกู้ที่พอเหมาะก็คือ เงินกู้ไม่ควรจะมากกว่าส่วนของทุน ในเมืองไทยเองนั้น บริษัทส่วนใหญ่มีหนี้เงินกู้สูงกว่าทุน บางทีสูงกว่า 3- 4 เท่าก็มี ก่อนเป็น Value Investor ผมรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เดี๋ยวนี้ผมเองไม่ได้ดูว่าหนี้ไม่ควรเกินกี่เท่าของทุน แต่ดูว่าหนี้นั้นจะสามารถใช้คืนได้ด้วยกำไรหมดในกี่ปี ถ้าเกิน 3-4 ปีผมก็ไม่สบายใจแล้ว มาตรฐานของผมก็คือ บริษัทไม่ควรมีหนี้เงินกู้เลยยกเว้นธุรกิจบางประเภท สำหรับผมแล้ว บริษัทที่ดีเยี่ยมจริง ๆ ควรมีกำไรและเงินสดมากจนไม่ต้องพึ่งแบงค์

สมัยก่อนเวลาลงทุนซื้อหุ้นถือไว้สักพัก ได้กำไร 10-20% ผมก็รู้สึกว่าหุ้นตัวนั้นเยี่ยม หรือเราคิดถูก หรือซื้อหุ้นถูกเวลา ผมก็มักจะขายไปทำกำไรแล้วหาหุ้นตัวใหม่ที่จะ ? เล่น ? ต่อ ผมไม่ค่อยสนใจว่ากำไรของบริษัทจะเป็นอย่างไรแต่สนใจว่าหุ้นตัวนั้นจะมีข่าวอะไรน่าสนใจหรือใครจะมาเล่นหรือตลาดน่าจะดีขึ้นซึ่งจะทำให้หุ้นตัวนั้นวิ่งขึ้นตาม แต่การเป็น Value Investor ทำให้ผมมองแต่หุ้นที่มีความแข็งแกร่ง มีกำไรดี หุ้นมีราคาถูกที่ผมจะซื้อแล้วถือไว้ยาวนานและมองดูราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นเท่าตัวหรือหลาย ๆ เท่าตัว มาตรฐานก็คือ ถ้าซื้อหุ้นแล้วก็ต้องหวังว่าจะต้องทำกำไรเป็นเท่าตัวภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี การขายเมื่อได้กำไรเพียง 10-20% นั้นไม่อยู่ในความคิดเลย

เรื่องส่วนตัวเช่นการซื้อทรัพย์สิน ความสะดวกสบายและฐานะทางสังคมนั้นผมก็รู้สึกว่าเปลี่ยนไปมาก ก่อนการเป็น Value Investor การใช้เงินในหลาย ๆ เรื่องนั้น นอกจากความคุ้มค่าแล้ว ผมก็ยังคิดถึงเรื่องอื่น ๆ อีกหลายอย่างซึ่งไม่เกี่ยวกับคุณค่า ยกตัวอย่างเช่น การซื้อบ้านก็จะอยากได้บ้านที่ใหญ่โตกว่าความจำเป็นมาก ส่วนหนึ่งคงคิดว่าบ้านใหญ่ก็ดูสะดวกสบายหรูหราและเป็นการ ? ลงทุน ? อย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ความคุ้มค่าคือปัจจัยหลักในการเลือกซื้อเกือบทุกอย่างที่เป็นความจำเป็นและความสุขของชีวิต ความหรูหรา ความพึงพอใจ หรือ ? หน้าตา ? ก็เป็นคุณค่าอย่างหนึ่งเพียงแต่เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักน้อย

สิ่งที่สรุปได้จากประสบการณ์ของผมก็คือ Value Investment นั้นเป็นแนวความคิดหรือปรัชญาที่มีพลังสามารถเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของคนปฎิบัติได้ และยิ่งคุณมีความเป็น Value พันธุ์แท้มากขึ้นเท่าไร ความคิดของคุณก็จะเปลี่ยนมากขึ้นเท่านั้น จนบางทีอาจจะทำให้เราแปลกแยกจากสังคมบางครั้งอย่างไม่รู้ตัว ผมเองบอกไม่ได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ แต่นี่คือวิถีของ Value Investor ที่มักกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ที่สูงหรือเข้มงวดกว่าคนกลุ่มอื่น

ที่มา บทความของ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เข้าชม: 2,560

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com