May 4, 2024   2:19:36 AM ICT
ฟิวเจอร์ส.. ลงทุนอนาคต

ขั้นตอนที่มีการคำนวณให้ทุกวันว่า กำไรขาดทุนอยู่เท่าไหร่ โดยคำนวณ จากราคาที่กำหนดในสัญญากับราคาจริงๆของหลักทรัพย์ นี้เรียกว่า Mark to Market ซึ่งเป็นกลไกป้องกันความเสี่ยงจากอาการดินพอกหางหมู เพราะรับจ่ายกันทุกวัน ไม่ต้องติดค้างไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนเหมือนเวลาซื้อหุ้น

คุณๆ ก็อาจสงสัยว่า แล้วพอครบกำหนดสัญญาที่ว่า จะมีการขนของมาส่งให้กันจริงๆหรือ อย่างเช่น ที่เราอ่านข่าวเมืองนอก ว่ามีการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าทองคำ จะเอาทองคำขนกันมาอย่างไร เพราะฟิวเจอร์สมีการกำหนดวันหมดอายุชัดเจน หากถึงวันแล้ว ถ้ายังถือฟิวเจอร์สไว้ ผู้ซื้อก็ต้องมารับมอบและจ่ายเงินค่าสินค้าที่เหลือ (ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล) ส่วนผู้ขายก็ต้องมาส่งมอบและรับเงินค่าสินค้าตามที่ตกลงไว้ (ซึ่งก็เป็นของปริมาณมหาศาลเหมือนกัน)

เนื้อเรื่อง : ตอนนี้เป็นตอนที่สามแล้วครับ ของเรื่องที่เกี่ยวกับกับตราสารอนุพันธ์ ในสองฉบับที่ผ่านมา เราคุยกันว่า ตราสารอนุพันธ์กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ หลังจากที่ทางตลาดหลักทรัพย์ได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาเพื่อเรื่องนี้ ในรูปของบริษัท แล้วก็ปูพื้นกันมาว่า จริงๆแล้วตราสารอนุพันธ์ไม่ใช่ผู้ร้าย เหมือนที่เราได้ยินมาว่า เป็นพวกเดียวกับเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) ที่คอยจ้องโอกาสงามๆ แล้วก็งาบ.... บุกถล่มด้วยกำลังเงิน แล้วก็ฉวยเอากำไร (เพราะไม่ต้องลงเงินทั้งหมด แค่วางเงินประกัน ก็เลยเหมือนมีเงินลงทุนบนหน้าตักมากกว่า) แต่ตราสารอนุพันธ์มีประวัติเริ่มต้นมาจากการป้องกันความเสี่ยง แล้วต่อมาถึงพัฒนาเป็นโอกาสในการทำกำไร ฉบับนี้ เราจะมาคุยกันถึงตราสารอนุพันธ์ที่เรียกว่า ฟิวเจอร์ส (Futures) ครับ

ฟิวเจอร์ส (Futures) หมายถึง สัญญาที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันที่จะซื้อขายสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคต โดยได้ตกลงราคาและจำนวนไว้ตั้งแต่วันทำสัญญา ในศัพท์เทคนิค (ที่นักลงทุนใช้กันอยู่ทั่วไป) ผู้ที่ซื้อฟิวเจอร์ส เรียกว่ามีฐานะซื้อ หรือ Long Position ส่วนผู้ที่ขายฟิวเจอร์ส เรียกว่า Short Position ในตอนที่ทำสัญญา ก็แค่จ่ายเงินค่าสัญญา หรือจะเรียกว่า เงินมัดจำก็ได้ พอครบกำหนดสัญญา ผู้ขายก็เอาของมาส่ง ผู้ซื้อก็จ่ายเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด

สินค้าส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิง เดิมทีเดียวเริ่มต้นกันที่ พวกสินค้าเกษตร เพราะสมัยก่อนโน้น ควบคุมผลผลิตกันได้ยาก เลยต้องล๊อคกันไว้ล่วงหน้าด้วยสัญญาฟิวเจอร์ส ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด ถั่วเหลือง เนย ไข่ แม้กระทั่ง เนื้อหมู แล้วต่อมาถึงได้มีสัญญาล่วงหน้าพวก เงินตราสกุลต่างๆ หรือพวกหุ้น สัญญาฟิวเจอร์สที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินทรัพย์อ้างอิง เรียกกันว่า Commodity Futures Contract ส่วนสัญญาฟิวเจอร์สเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ เรียกว่า Financial Futures Contract

ถ้าจะเทียบกับการซื้อขายหุ้น ที่คุณๆ รู้จักกันดี ก็อาจจะรู้สึกว่าคล้ายๆ กัน แต่เนื่องจากการซื้อขายฟิวเจอร์ส เป็นการทำสัญญา ดังนั้น การจ่ายเงินก็จ่ายแค่ค่าใบสัญญา การจ่ายเงินหรือที่เรียกแบบซีเรียสว่า การชำระราคาจึงต่างจากการซื้อหุ้น คือ ไม่ต้องจ่ายค่าซื้อขายเต็มจำนวน แต่จ่ายเงินมัดจำเพียงบางส่วนที่เรียกว่า เงินประกัน (Margin) เพื่อเป็นยันต์กันว่าคนซื้อคนขายจะไม่เบี้ยวจากสัญญาฟิวเจอร์สที่ทำไว้ เช่น 10% ของขนาดสัญญา เป็นต้น

แต่ไม่ได้จ่ายชำระค่าสินค้าทั้งหมดแบบหุ้น เงินประกันนี้เรียกเก็บจากทั้งคนซื้อและคนขาย เหมือนเป็นเงินมัดจำว่าผู้ลงทุนจะไม่เบี้ยว จากเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ โปรดสังเกตุนะครับว่า เรียกเก็บทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะอันนี้เป็นเรื่องการทำสัญญากันล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนหรือ Underlying Assets อะไรทำนองนั้นแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในการซื้อขายหุ้น ไม่ต้องคำนวณกำไรขาดทุน เพื่อเรียกเงินเพิ่มหรือจ่ายกำไรในแต่วัน แต่จะรับรู้กำไรขาดทุน เมื่อขายหุ้นออกไปเท่านั้น แต่สำหรับการซื้อขายฟิวเจอร์ส จะคล้ายๆกับการซื้อขายหุ้นด้วยระบบมาร์จิ้น เพราะในแต่ละวัน ราคาฟิวเจอร์สมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการคำนวณกำไรขาดทุนทั้งของคนซื้อและคนขาย และดูว่าเงินประกันที่ ี่วางไว้นั้นเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่พอก็เรียกเก็บเพิ่ม โดยในทุกๆวัน ทั้งสำนักหักบัญชีและโบรกเกอร์จะคำนวณกำไรขาดทุนของ คนซื้อคนขาย เพื่อดูว่าต้องเรียกเงินประกันเพิ่มจากคนที่ขาดทุนหรือไม่

ถ้าขาดทุนจนไม่ไหวแล้ว ก็เอาเงินมาเพิ่ม ส่วนคนที่ได้กำไร ก็อาจขอถอนเงินไปใช้ก็ได้ ซึ่งขั้นตอนที่มีการคำนวณให้ทุกวันว่า กำไรขาดทุนอยู่เท่าไหร่ โดยคำนวณ จากราคาที่กำหนดในสัญญากับราคาจริงๆของหลักทรัพย์ นี้เรียกว่า Mark to Market ซึ่งเป็นกลไกป้องกันความเสี่ยงจากอาการดินพอกหางหมู เพราะรับจ่ายกันทุกวัน ไม่ต้องติดค้างไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนเหมือนเวลาซื้อหุ้น ส่วนขั้นตอนในเวลาที่จะซื้อขายฟิวเจอร์สที่เป็นรูปธรรมนั้น มีกระบวนการไม่ต่างไปจากการซื้อขายหุ้น คือ เปิดบัญชี และส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ นั่นเองครับ

คุณๆ ก็อาจสงสัยว่า แล้วพอครบกำหนดสัญญาที่ว่า จะมีการขนของมาส่งให้กันจริงๆหรือ อย่างเช่น ที่เราอ่านข่าวเมืองนอก ว่ามีการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าทองคำ จะเอาทองคำขนกันมาอย่างไร เพราะฟิวเจอร์สมีการกำหนดวันหมดอายุชัดเจน หากถึงวันแล้ว ถ้ายังถือฟิวเจอร์สไว้ ผู้ซื้อก็ต้องมารับมอบและจ่ายเงินค่าสินค้าที่เหลือ (ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล) ส่วนผู้ขายก็ต้องมาส่งมอบและรับเงินค่าสินค้าตามที่ตกลงไว้ (ซึ่งก็เป็นของปริมาณมหาศาลเหมือนกัน)

แต่ถ้าไม่อยากมีภาระผูกพันไปจนถึงวันนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติกัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่เป็นคนขายฟิวเจอร์ส ก็จะไปซื้อฟิวเจอร์สอีกอันหนึ่ง เพื่อเอามาล้างภาระที่จะทำตามเงื่อนไข ส่วนคนที่ซื้อฟิวเจอร์ส ก็สามารถล้างฐานะได้ด้วยเหมือนกัน ด้วยการขายฟิวเจอร์สออกไป เรียกว่า จับแพะชนแกะ เอ๊ย Offset Position ..งงไหมครับ ว่า อ้าว ! แล้วมันบริหารความเสี่ยงอย่างไรหรือกำไรขาดทุนตรงไหน ก็ตรงส่วนต่างระหว่างราคาที่ไป Offset นั่นแหละครับ พอล้างไปแล้ว ถ้าฟิวเจอร์สที่เราซื้อมามีราคาถูกกว่า ก็ได้กำไร แล้วก็กำไรนั่นแหละไปหักกลบกับราคาค่างวดที่เกิดขึ้นจริง

ถ้าจะยกตัวอย่างของการซื้อขายฟิวเจอร์สกับการลงทุนในตลาดหุ้น ดูกรณีแรกก่อนนะครับ ถ้าเป็นการซื้อขายฟิวเจอร์สเพื่อ ลดความเสี่ยงในการลงทุน เช่น คุณๆที่มีพอร์ตการลงทุนอยู่ แต่กลัวหุ้นตก (แค่กลัวนะครับ ถ้าเชื่อมั่น ก็ขายหุ้นเถอะครับ ไม่ต้องมาเทรดฟิวเจอร์ส) ก็สามารถเลือกที่จะ ? ขายฟิวเจอร์สหุ้น ? เมื่อราคาหุ้นถึงระดับที่คาดว่าจะตก คราวนี้ ถ้าหุ้นตกจริง แทนที่จะขาดทุนในพอร์ตอย่างเดียว (เพราะถือเอาไว้ ไม่ได้ขาย) ก็จะมีกำไรจากการ Offset Position ของสัญญาฟิวเจอร์ส

เนื่องจาก ทำสัญญาว่าจะขายหุ้นให้ พอถึงเวลา หุ้นที่สัญญาไว้มีราคาถูกลง ก็เหมือนสัญญาว่าจะส่งของให้แพงๆ แต่พอถึงวันส่งของ ของถูกลงก็ใช้เงินน้อยลงมาซื้อใช้ให้แหละครับ รวมเบ็ดเสร็จผลสุดท้าย ก็เลยได้ลดความเสี่ยงในการลงทุน เพราะสามารถ นำกำไรจากฟิวเจอร์สมาชดเชยกับผลขาดทุนของหุ้นที่มีอยู่ นั่นเอง

อีกด้านหนึ่ง ถ้าจะมองถึง การลงทุนในฟิวเจอร์สเพื่อหากำไร ก็สามารถทำได้เหมือนกัน เช่น ถ้าคุณเชื่อว่าหุ้นจะขึ้น แทนที่จะไปซื้อหุ้น ซึ่งต้องใช้เงินเต็มมูลค่าของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ก็เข้าไปซื้อฟิวเจอร์สหุ้นแทน หรือขายฟิวเจอร์สหุ้นเมื่อคาดว่าหุ้นจะตก ซึ่งเป็นการลงทุนที่ทำได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำ เพราะจ่ายเพียงเงินประกันบางส่วน แต่ไม่ต้องจ่ายชำระค่าสินค้าทั้งหมดแบบการซื้อหุ้น เพราะเราซื้อขายกันที่สัญญาเท่านั้น เลยได้ประโยชน์ตรงตัวทวีคูณของจำนวน

เช่น ถ้ามีกำหนดวางเงินประกันที่ 10% ของ ขนาดสัญญา ก็แปลว่า ใช้เงินแค่หนึ่งในสิบที่ควรจะเป็นเท่านั้น หรือมองแบบเข้าข้างตัวเอง (และเก็งกำไรหน่อยๆ) ก็เหมือนมีเงินเพิ่มขึ้น เป็น 10 เท่า นั่นแหละครับ

* บทความตีพิมพ์ลงคอลัมน์ Investment Appetizer วารสาร business.com
คุณ เกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ

เข้าชม: 2,532

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com