May 4, 2024   10:39:10 AM ICT
เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานมาจากแนวคิดในการสร้างความ "พอมี" (คือการผลิต) "พอกิน-พอใช้" (คือการบริโภค) ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากไร้ขัดสน ยังมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น การพัฒนาประเทศก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ

 เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับคนทุกกลุ่ม มิใช่แค่เกษตรกร

 การสร้างความ "พอกิน-พอใช้" ในเศรษฐกิจพอเพียงนี้ มุ่งไปที่ประชาชนในทุกกลุ่มสาขาอาชีพที่ยังมีชีวิตอย่าง "ไม่พอกิน-ไม่พอใช้" หรือยังไม่พอเพียง ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เพียงคนชนบทหรือเกษตรกร เป็นแต่เพียงว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังยากจนนั้น มีอาชีพเกษตรกรมากกว่าสาขาอาชีพอื่น ทำให้ความสำคัญลำดับแรกจึงมุ่งเข้าสู่ภาคเกษตรหรือชนบทที่แร้นแค้น จนมีรูปธรรมของการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงออกมาเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ อันเป็นที่ประจักษ์ในความสำเร็จของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ "พอมี" "พอกิน-พอใช้" หรือสามารถพึ่งตนเองได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

 ปัจจุบัน คนในสังคมเมืองกำลังมีชีวิตอย่าง "ไม่พอกิน-ไม่พอใช้" ต้องประสบกับปัญหาหนี้สินจากการบริโภคไม่เป็น เกิดเป็นความเครียด ความบีบคั้นทางจิตใจ ที่แม้จะมีสาธารณูปโภคหรือเครื่องอำนวยความสะดวกที่เจริญกว่า แต่ก็เป็นความยากจนรูปแบบหนึ่งตามนิยามของความยากจนที่แปลว่า "เข็ญใจ (ด้านจิตใจ) ไร้ทรัพย์ (ด้านวัตถุ)" ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสภาพ "ไม่พอกิน-ไม่พอใช้" ของคนชนบทแต่ประการใด การแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมือง จึงต้องสร้างให้เกิดความ "พอมี" "พอกิน-พอใช้" อันเป็นรากฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

 ฉะนั้น ทัศนคติที่ว่า ฐานะหรือรายได้ตอนนี้ยังไม่พอเพียงเลย แล้วจะให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้อย่างไร จึงไม่ถูกต้อง ตรงกันข้าม การดำเนินวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงนี้แหละ ก็คือ การพลิกจาก "ความไม่พอเพียง" ให้เกิดเป็น "ความพอเพียง" ในชีวิต

 เศรษฐกิจพอเพียง มิใช่จุดหมาย (End) แต่เป็นวิถีทาง (Means)

 เมื่อบุคคลมีความ "พอมี" "พอกิน-พอใช้" แล้ว มิได้หมายความว่า การพัฒนาจะสิ้นสุดลงอยู่เพียงนั้น เนื่องจากความ "พอกิน-พอใช้" นั้น เป็นเรื่องของ "ปาก-ท้อง" เป็นเรื่องความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นเรื่องของ "เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน" ที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิต (พอมี) และการบริโภค (พอกิน-พอใช้)

 ดังนั้น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงมุ่งหมายที่จะให้บุคคลมีความพอเพียงในเรื่องปาก-ท้องเป็นเบื้องต้น แต่มิได้สิ้นสุดอยู่เพียงเท่านี้ ความพอเพียงในทางเศรษฐกิจแห่งตน จะก่อให้เกิดความพร้อมและศักยภาพที่จะพัฒนาสู่ขั้นต่อไป อันได้แก่ เรื่องของ "หัว(คิด)-(จิต)ใจ"

 เศรษฐกิจพอเพียง จึงมิได้มีบทบาทเป็นเพียงวิถีทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนหรือการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในทางวัตถุเท่านั้น แต่ยังเป็นพาหนะส่งให้บุคคลมีการพัฒนาชีวิตในทางจิตใจและในทางปัญญา หากบุคคลนั้นมีเงื่อนไขหรือปัจจัยที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งก็คือการพัฒนา "เงื่อนไขความรู้" (หัวคิด) และ "เงื่อนไขคุณธรรม" (จิตใจ) ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 สำหรับบุคคลที่ยังรีรอหรือยังขาดเงื่อนไขในการพัฒนาจิตใจและปัญญาไปในทางที่สูงขึ้น แต่มีความสามารถในการทำให้ตนเองมีความ "เหลือกิน-เหลือใช้" ในชีวิต ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังเสนอแนวทางให้บุคคลนั้นสามารถพัฒนาออกไปในทางข้างหรือในแนวกว้าง ด้วยการพิจารณาว่าจะบริหารจัดการส่วนที่เหลือกิน-เหลือใช้นั้นให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

 ซึ่งเป็นเรื่องของ "เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า" ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดสรรผลผลิต (แบ่งปัน) ซึ่งต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยตรง

 ฉะนั้น ทัศนคติที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้การพัฒนาตนเองหยุดชะงักหรือถอยหลัง และยังไม่คบค้าสมาคมกับผู้อื่น จึงไม่ถูกต้อง ตรงกันข้าม เศรษฐกิจพอเพียงมิได้สิ้นสุดที่ความพอเพียงในทางเศรษฐกิจแห่งตน แต่ยังเป็นวิถีทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง ทั้งในเชิงลึกที่ก้าวสูงขึ้นและในเชิงราบที่แผ่กว้างออกไปสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว และไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไปได้

 ยังมีอีกหลายแง่มุมที่เป็นเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะได้พยายามประมวลผ่านทางคอลัมน์พอเพียงภิวัตน์ในโอกาสต่อไป

*************

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เข้าชม: 1,508

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com