May 4, 2024   2:39:33 AM ICT
เศรษฐกิจพอเพียงกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
หลักของเศรษฐกิจพอเพียงให้ยึดถือแนวทางในการปฏิบัติตน 3 ข้อ ได้แก่

 

1.ความพอประมาณ

2.ความมีเหตุผล

3.สร้างภูมิคุ้มกัน

และเงื่อนไขประกอบแนวทางข้างต้นอีก 2 ข้อ คือ

1.การแสวงหาความรู้

2.การรักษาคุณธรรม

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายหลักของการพัฒนาประเทศ ก็เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์จากชาวต่างประเทศ ที่เกรงว่านโยบายนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เพราะตีความไปว่าจะกลายเป็นนโยบายกีดกันทางการค้าตามนโยบายพึ่งตนเอง (self sufficiency)

ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงการยึดครองกิจการบางอย่างเป็นของรัฐ (nationalization) และการเพิ่มกฎเกณฑ์การควบคุม (regulation)

ข้อกังขาข้างต้นได้รับการชี้แจงจากรัฐบาลว่าเป็นความเข้าใจผิดของชาวต่างประเทศ

แต่การชี้แจงนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ข้อสงสัยของชาวต่างประเทศและชาวไทยบางคนได้ จนต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชี้แจงเรื่องนี้ ซึ่งก็ถูกยุบไปเมื่อเกิดกระแสต่อต้านประธานกรรมการ (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์)

การชี้แจงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยาก เพราะ ทั้งนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง และประเด็นที่วิจารณ์กันข้างต้น มีรายละเอียดที่สร้างความเข้าใจให้ตรงกันได้ยากมาก

แม้ว่านโยบายพึ่งตนเอง การครอบครองกิจการบางอย่างของรัฐ และการสร้างกฎเกณฑ์ควบคุมธุรกิจจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ทุกอย่างก็มีข้อเสีย เมื่อเห็นกันว่าข้อเสียมีมากเกินไปก็มีการผลักดันนโยบาย free trade, privatization และ deregulation ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ปัญหาที่ขัดแย้งกันอยู่ก็คือจุดที่พอดีของแต่ละนโยบายอยู่ตรงไหน และในรายละเอียดควรยกเลิกอะไร ลดทอนอะไร และเพิ่มเติมอะไร

หลักสำคัญในการแก้ประเด็นปัญหาข้างต้น ก็คือ 1.หลักความพอประมาณ จะเป็นเครื่องเตือนสติว่าแต่ละนโยบายข้างต้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะต้องคำนึงทั้งสองด้าน จึงต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบคอบและชั่งน้ำหนักให้ได้จุดที่พอดี

2.หลักความมีเหตุผล เป็นเครื่องมือที่จะต้องใช้ในการหาคำตอบข้างต้นให้เหมาะสม และ ใช้บรรเทาความขัดแย้งอันอาจเกิดจากจุดยืน ที่ต่างกัน

3.หลักภูมิคุ้มกัน เป็นการสร้างความพร้อมในการรับมือกับความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจ

คำพังเพยหนึ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งคือ “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” จากภาษิตนี้เราอาจขยายความต่อได้ว่า การตัดสินว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดีต้องดูจากผลในระยะยาว ในทางเศรษฐศาสตร์เราจะมองผลระยะยาวจากการวิเคราะห์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทฤษฎีว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นสรุปอย่างกระชับได้ว่า ปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

1.ทุน (ทางกายภาพ)

2.ทุนมนุษย์ (ความรู้และฝีมือ)

3.ทุนสังคม

ใน 3 ปัจจัยนี้ ทุนทางกายภาพเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายที่สุด และทุนสังคมเป็นสิ่งที่เข้าใจยากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เราอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า ปัจจัยทั้ง 3 นี้เกิดจาก

1.ความอดทน

2.ความอดออม

3.ความซื่อสัตย์

ความอดออมเป็นที่มาของการสร้างทุน ทั้งทางกายภาพและทุนมนุษย์ แต่ทุนมนุษย์ยังต้องอาศัยความอดทนเพิ่มเข้ามาด้วย ทั้งความอดทนในการศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนฝีมือ ความอดทนในการค้นคว้าวิจัย และความอดทนต่อสิ่งเย้ายวน

ทุนสังคมเป็นสิ่งที่ช่วยให้การพัฒนาปัจเจกบุคคลเป็นไปได้ง่ายขึ้น และก่อให้เกิดความร่วมมือและลดความขัดแย้งกันในสังคม

หัวใจสำคัญข้อหนึ่งของทุนสังคมคือ ความเชื่อใจกัน (trust) ความเชื่อใจกันอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์

หลักเศรษฐกิจพอเพียงมีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับการสร้างความอดออม อดทน และซื่อสัตย์ การบริหารรายรับรายจ่ายอย่างมีเหตุผลและมีความพอประมาณเป็นการสร้างความอดออม

การสร้างภูมิคุ้มกันทำให้เราต้องมีความอดทนอดกลั้น ไม่หลงระเริง การมีคุณธรรมย่อมต้องรวมความซื่อสัตย์เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้


โพสทูเดย์
เข้าชม: 1,533

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com