April 30, 2024   1:49:24 PM ICT
ความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยง

จุมพล สายมาลา : www.ingfunds.co.th

 

          แน่นอนว่า การลงทุนทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยงควบคู่กันไปเสมอ การลงทุนในต่างประเทศก็เช่นกัน ซึ่งได้แก่

          -ความเสี่ยงตามประเภทตราสารที่ลงทุน เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ ก็มีความเสี่ยงหลักๆ คือ ความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) ความเสี่ยงจากผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่กระทบต่อราคาตลาดของตราสาร (Interest rate Risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของตราสารที่ลงทุน (Liquidity Risk) เป็นต้น

          -ความเสี่ยงในระดับมหภาคของประเทศผู้ออกตราสารได้แก่ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

          -ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างสกุลเงินของประเทศของผู้ลงทุนกับสกุลเงินของตราสารที่ไปลงทุน

การบริหารความเสี่ยง

          การลงทุนที่ดีนอกจากจะต้องเลือกการลงทุนที่ให้โอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่คาดหวังแล้ว ยังต้องมีการวิเคราะห์ และบริหารความเสี่ยงในการลงทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย ซึ่งแนวทางที่ดีในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้แก่

          -การกำหนดให้มีการกระจายการลงทุนให้เพียงพอ

          -กำหนดแนวทางบริหารกองทุน (Investment Limit) เช่น สัดส่วนการลงทุนต่อประเทศ สัดส่วนการลงทุนต่อผู้ออกตราสาร  สัดส่วนการลงทุนต่ออันดับความน่าเชื่อถือ เป็นต้น

          -ต้องมีทีมงานนักวิเคราะห์ที่สามารถวิเคราะห์การลงทุน ได้ทั้งในและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

การลงทุนผ่านกองทุนรวม

          จากปัจจัยหลากหลายข้างต้น เช่น เรื่องการวิเคราะห์และความรู้ความเข้าใจในตลาดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเครื่องมือต่างๆ ด้านการลงทุน  ความเสี่ยง และการบริหารความเสี่ยง  จึงทำให้ผู้ลงทุนต้องใช้เวลา และความรู้ความสามารถอย่างสูงในการลงทุน  ซึ่งถ้าผู้ลงทุนมีข้อจำกัดในความสามารถดังกล่าวแล้ว  การลงทุนผ่านกองทุนรวม (Mutual Funds) จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะ

            -มีมืออาชีพบริหารกองเงิน

            -มีการกระจายการลงทุนและบริหารความเสี่ยง

            -สามารถขายออกได้เมื่อต้องการเงินสด หรือมีสภาพคล่องสูงนั่นเอง

            -มีทางเลือกรูปแบบการลงทุนมากมาย

            -สะดวกสบาย

            -มีกลไกปกป้องผู้ลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ข้อดีของการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย

        -กระจายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ที่มีรูปแบบทางเศรษฐกิจต่างจากประเทศไทย แต่เข้าใจได้ง่าย เพราะอยู่ในภูมิภาคเอเชียเช่นเดียวกัน

          -แนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและดุลการชำระเงิน  สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อยอดการส่งออกลดลงทำให้เครดิตดีขึ้น  การส่งออกของประเทศเหล่านี้ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นสภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย มีแนวโน้มที่อาจจะขยายตัวสูงกว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวม

          -ความเสี่ยงต่ำ เพราะเป็นสินทรัพย์การลงทุนประเภทตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารทุนหรือหุ้น   

          -การถือครองตราสารหนี้ในต่างประเทศของภูมิภาคเอเชีย จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ในประเทศ เช่น ในไทย หุ้นกู้ของ KTB จะมีอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศสูงกว่าเมื่อนำไปออกเสนอขายต่างประเทศ เพราะสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศจะจัดให้หุ้นกู้ KTB มีอันดับความน่าเชื่อถือ ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ดังนั้นจึงต้องเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าที่อยู่ในประเทศ จึงจะจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในหุ้นกู้นั้น

 

Bangkokbiznews

เข้าชม: 1,681

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com