April 30, 2024   12:49:17 PM ICT
ตกงาน...อย่าตกใจ

โดยกาญจนา หงษ์ทอง

ธรรมชาติของอุบัติเหตุชีวิต มักมาเยือนโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า!!!!

วันดีคืนดี คุณอาจจะถูกเลิกจ้างกะทันหัน มีรายชื่อติดกลุ่มพนักงานที่ถูกเลย์ออฟ หรือบางทีบริษัทที่คุณเป็นลูกจ้างอยู่กลับปิดกิจการลงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

ถ้าเป็นคุณจะเตรียมรับมือกับเรื่องร้ายเหล่านี้ยังไง ?????

แน่นอนว่า สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือปัญหาด้านสุขภาพใจและสุขภาพทางการเงิน ที่โดยมากคนส่วนใหญ่มักเตรียมตัวรับมือกับเรื่องพวกนี้ไม่ทัน

Fundamentals ฉบับนี้ ไม่อยากให้คุณประมาทกับเรื่องพวกนี้ ถึงแม้วันนี้จะไม่มีเค้าลางว่าหน้าที่การงานของคุณจะสั่นคลอน เก้าอี้ยังเหนียวแน่น แต่ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้บ้างก็ไม่เสียหายอะไร เผื่อวันร้ายๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต จะได้ตั้งรับได้อย่างทันท่วงที

*******

สภาพเศรษฐกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ แบบนี้ แทบเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ หลายคนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพทางการเงินอันย่ำแย่

ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่บีบรัดมากขึ้น รายได้วิ่งตามไม่ทันค่าใช้จ่าย อัตราการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีเผลอๆจะน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ปัญหานั้นคงไม่เท่าไหร่ ถ้าคุณมีการเตรียมตัวที่ดีพอ มีเงินสำรองตุนไว้ในบัญชีเงินฝาก แต่โดยมากผู้ถูกเลิกจ้างก็มักจะขาดความพร้อมกันเป็นส่วนใหญ่

แม้ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเอง แต่เอาเป็นว่าถ้าการถูกเลิกจ้างเกิดขึ้นกับคุณจริงๆ ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจหรือฟูมฟายไป Fundamentals ฉบับนี้รวบรวมเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ มาฝากเพื่อให้คุณสามารถรับมือกับสภาวะการเลิกจ้างได้ด้วยสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง

@สำรวจสัญญาจ้างงานและผลประโยชน์ที่ควรได้รับ....ตรงนี้เป็นผลประโยชน์ของคุณโดยตรง เพราะฉะนั้นเมื่อถูกออกจากงาน ควรสำรวจสัญญาการจ้างงานและผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับให้ถูกต้อง นั่นคือจำนวนเงินค่าชดเชยที่พึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

เช่น ถ้าคุณเป็นลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้คุณไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือถ้าทำงานมาติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 3 เดือน หรือประเภทที่ปักหลักอยู่บริษัทนี้มานานกว่าติดต่อจนครบ 10 ปีขึ้นไป แบบนี้บริษัทต้องจ่ายชดเชยให้ให้ไม่น้อยกว่า 10 เดือน

ใครจะได้เท่าไหร่ ก็ให้นับอายุงานของตัวเองเป็นหลัก ถ้าทำมานานก็ได้มากหน่อย ทำไม่นานก็ได้น้อยหน่อย แต่ก็ยังมีลูกจ้างบางประเภทที่แม้ว่าจะถูกเลิกจ้าง ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เช่นกรณีที่ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง รวมไปถึงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย

เหนืออื่นใด คุณอาจต่อรองเรื่องเงินชดเชย กับฝ่ายบุคคลของบริษัทที่เลิกจ้างคุณได้ อย่าลืมถามเรื่องงานด้วย เพราะอาจมีตำแหน่งงานที่คุณสามารถ โยกย้ายไปทำได้ โดยที่คุณไม่รู้มาก่อน

@การเสียภาษีของเงินก้อนที่ได้รับ....นอกเหนือจากปฏิบัติภารกิจต่างๆ แล้วในเวลาเดียวกันสิ่งที่คุณต้องไม่ลืมคือ ติดต่อกระทรวงแรงงานทันที เพื่อรายงานสถานภาพของคุณเอง และตรวจสอบว่าในฐานะผู้ถูกเลิกจ้างนั้นคุณจะมีสิทธิพิเศษ หรือได้รับสิทธิผ่อนผัน ทางด้านการเงินหรือภาษีอย่างไรบ้าง

@สรุปงบดุลทั้งหมดของตัวเอง...."อัจฉรา โยมสินธุ์"อาจารย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นว่าเมื่อตกอยู่ในภาวะเลิกจ้าง อันดับแรกอย่าเพิ่งตกอกตกใจ สรุปและสำรวจข้อมูลด้านการเงินของตัวเองทั้งหมด ว่าทุกวันนี้เรามีหนี้สินเท่าไหร่ มีสินทรัพย์อะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายรายเดือนเท่าไหร่ ไปจนถึงมีรายได้สุทธิเท่าไหร่ หรือบางคนอาจจะมีรายได้พิเศษจากด้านอื่นอีก

"เพราะเมื่อรู้สถานการณ์ที่แท้จริงแล้ว คุณก็จะสามารถวางแผนได้อย่างทันท่วงที หรือหาลู่ทางให้กับตัวเองได้ ไม่แน่นะตอนนี้นี่แหละที่คุณจะได้มีโอกาสคิดและทบทวนชีวิต ว่าตัวเองมีความถนัด ความช่ำชองหรือประสบการณ์ในเรื่องไหน และอาจกลายเป็นอาชีพใหม่ได้ในที่สุด บางคนที่ไม่ได้ตกงาน ก็อาจจะซ้อมตกงานไปพลางๆ ด้วยการคิดไว้ล่วงหน้าก่อนก็ได้ เพราะการรู้ล่วงหน้า จะได้หาลู่ทาง และวางแผนได้ทัน"

ผู้ตกงานบางคนที่เป็นพนักงานบัญชีมาเกือบครึ่งชีวิต พอถูกเลิกจ้างขึ้นกะทันหัน เขาโละของเก่าไปเปิดท้ายขายของตามตลาดนัด นั่นทำให้เขาค้นพบอาชีพใหม่ที่ชื่นชอบและยึดเป็นอาชีพหลักมาจนถึงทุกวันนี้

@ ได้เงินก้อนจากค่าชดเชยต้องระมัดระวังในการใช้....เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ อัจฉราแนะว่าอย่าลืมว่าคุณจะทำอะไรให้ชีวิตเสี่ยงหรือผาดโผนไม่ได้ คุณอาจจะนึกดีใจที่อย่างน้อยก็ไม่ได้เดินออกจากบริษัทด้วยมือเปล่า แต่มีเงินก้อนนี้ติดตัวมาด้วย บางคนเลยเอาเงินไปทำธุรกิจที่ใฝ่ฝันอยากทำ โดยลืมดูไปว่าเหมาะกับภาวะในปัจจุบันหรือเปล่า หรือมีศักยภาพในการทำกำไรแค่ไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นหากจะทำธุรกิจก็ต้องระมัดระวังที่สุด และถ้าบังเอิญว่าโชคดีได้งานใหม่ คุณก็ต้องเอาเงินไปใช้หนี้ให้มากที่สุด ถ้าหากมีหนี้ก็ควรใช้หนี้ไม่ใช่เอาเงินไปลงทุน

@สร้างพลังใจให้ตัวเอง....สิ่งหนึ่งที่อัจฉราแนะว่าควรทำเมื่อตกงานคือ สร้างพลังใจให้ตัวเอง คุณต้องเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของตัวเอง ข้อสำคัญต้องอดทนให้มาก คุณอาจจะตกงาน แต่ก็ลองมองโลกในแง่บวกเข้าไว้ ว่าเป็นช่วงที่ชีวิตได้มีโอกาสพักผ่อนซะที จะได้ไม่เครียด

@อย่าลืมจัดการเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ....เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการออมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ขาดช่วงแม้มีการเปลี่ยนงาน เงื่อนไขของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงมีการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างที่มีการออมในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วระยะหนึ่ง และต่อมาได้ลาออกจากงานหรือเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ สามารถขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมต่อไปได้ เมื่อสมาชิกได้งานใหม่กับนายจ้างที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาชิกสามารถขอโอนย้ายเงินไปเข้ากองทุนใหม่ได้ โดยยังไม่ต้องรับเงินออกจากกองทุน ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกยังไม่มีภาระภาษี เนื่องจากเงินที่ขอคงไว้ยังไม่ถือเป็นเงินได้ของสมาชิก

ประเด็นนี้ ถ้าคุณมีเงินสำรองติดตัวไว้อยู่แล้ว หรือไม่เดือดร้อนเรื่องการเงินจนเกินไป แนะว่าอย่าเพิ่งถอนเงินก้อนนี้ออกมาใช้จ่าย แต่ถ้าไม่มีเงินสำรองติดบัญชีเอาไว้เลย ท้ายที่สุดเงินก้อนนี้อาจจะเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่จะช่วยกู้สถานการณ์ในยามยากให้คุณได้ เพราะฉะนั้นระหว่างที่ยังมีงานให้ทำอยู่ จำไว้ว่าอย่าอิดออดกับการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเด็ดขาด

สำหรับสมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพจากกองทุนแล้ว แต่ยังไม่อยากรับเงินจากกองทุน อันดับแรกให้รีบไปแจ้งความประสงค์ให้คณะกรรมการกองทุนหรือบริษัทจัดการทราบ ว่าจะขอคงเงินไว้ในกองทุน พร้อมแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารไว้ แต่การคงเงินมีกำหนดเวลาให้คงไว้ได้เป็นเวลา 1 ปี นับแต่สิ้นสมาชิกภาพ

โดยบริษัทจัดการจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสมาชิกในการขอคงเงินไว้ ไม่เกินรายละ 500 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการที่บริษัทจัดการต้องมีภาระดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากพ้น 1 ปีแล้วสมาชิกยังไม่มาแจ้งให้โอนย้ายเงินไปยังกองทุนอื่น บริษัทจัดการจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่สมาชิกแจ้งไว้ พร้อมทั้งหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากร ซึ่งสมาชิกต้องนำเงินที่ได้รับไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในปีนั้น

@รีบหางานใหม่....อย่ามัวแต่จมอยู่กับความเศร้าโศกหรือนั่งอมทุกข์ เมื่อกลายเป็นคนตกงานอย่างกะทันหัน ก็รีบมองหางานใหม่และเริ่มกระบวนการสมัครงานทันที บางคนที่ไม่เคยเปลี่ยนงานเลยอาจลำบากหน่อยที่จะต้องนั่งทำประวัติส่วนตัวหรือเรซูเม่ขึ้นมาใหม่ แต่สำหรับคนที่เปลี่ยนงานเป็นประจำแค่หยิบประวัติการทำงานของคุณมารื้อปรับขยับใหม่ อัพเดทให้ทันสมัยและเติมความสามารถที่เพิ่มขึ้นของคุณเข้าไป

จากนั้นก็เริ่มมองหางานตามหนังสือพิมพ์หรือเวบไซต์ ส่งประวัติการทำงานของคุณไปยังเป้าหมายที่เลือกไว้ หรือส่งประวัติไปให้เวบไซต์ที่รับสมัครงานต่างๆ เพื่อให้นายจ้างที่กำลังมองหาพนักงานอยู่ได้มีโอกาสเห็นเรซูเม่ของคุณ

@มีเงินสำรองติดบัญชี....เป็นกฎเหล็กของการวางแผนการเงินเลยก็ว่าได้ ว่าคุณควรจะมีเงินสำรองติดบัญชีเอาไว้รับมือกับเรื่องฉุกเฉินของชีวิต ซึ่งในกรณีที่คุณเกิดตกงานกะทันหันขึ้นมา อย่างน้อยในช่วงที่คุณตกงาน เงินก้อนนี้จะช่วยคุณผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะโดยปกติคนเรามักจะมีภาระค่าใช้จ่ายประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ และค่ากินอยู่ตามปกติ

ลองนึกดูเล่นๆ สิว่าถ้าในยามหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ คุณมีรายจ่ายรายเดือนเห็นๆ อยู่ แต่ถ้าไม่เงินสำรองเป็นก๊อกสองเอาไว้ใช้จ่ายจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคุณ เมื่อชักหน้าไม่ถึงหลัง ท้ายสุดคงต้องหันไปกู้หนี้ยืมสินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมมติว่าคุณเคยมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท คุณควรจะมีเงินสำรองสัก 60,000 บาท อย่างน้อยในช่วง 6 เดือนแห่งสุญญากาศ ก็ใช้เวลาตรงนี้เร่งหางานใหม่ซะ อาจไม่ง่ายนัก แต่เงินก้อนนี้จะช่วยคุณซื้อเวลาจากความย่ำแย่

อัจฉราฝากทิ้งท้ายถึงผู้ที่ยังอยู่ในสถานภาพตกงานว่า คนเราประมาทกับชีวิตไม่ได้ ในวันที่มีงานการทำก็ให้ออมเงินสำรองเอาไว้ด้วย

ถ้าที่ผ่านมา คุณไม่เคยมีเงินสำรองติดกระเป๋าเลย นับตั้งแต่วันนี้ขอให้คุณเริ่มเก็บออม เผื่อว่าตกงานคราวหน้าคุณจะได้มีเงินออมเอาไว้รับมือกับเรื่องร้ายๆ ของชีวิต

เข้าชม: 1,698

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com