April 30, 2024   10:19:26 AM ICT
เสี่ยงแค่ไหนที่คุณรับได้

สรวิศ อิ่มบำรุง

"ความเสี่ยง" และ "ผลตอบแทน" ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับ "การลงทุน"

แต่นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ จะมองแต่เรื่องของ "ผลตอบแทน" เป็นหลัก ซึ่งทุกคนรู้เสมอว่าตัวเองลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ นั้น ต้องการผลตอบแทนเท่าไร

เมื่อถามกลับถึงเรื่อง "ความเสี่ยง" มีนักลงทุนอีกไม่น้อยที่เกิดอาการใบ้รับประทาน เพราะไม่สามารถตอบได้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ตัวเองสามารถจะยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยระดับไหน

ทั้งที่ความเสี่ยงจะเป็นตัวที่บอกถึงระดับของผลตอบแทน ที่ผู้ลงทุนสามารถคาดหวังจากการลงทุนนั้นๆ ได้

แล้วคุณล่ะ รับความเสี่ยงได้แค่ไหน ถ้าคุณเองก็ยังไม่แน่ใจ Fundamentals สัปดาห์นี้จะพาคุณมาค้นหาระดับความเสี่ยงที่คุณสามารถที่แบกรับมันได้

.....................

ใครที่กำลังมองหาช่องทางลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับตัวเอง เชื่อว่าตัวเลขผลตอบแทนทุกคนล้วนมีอยู่ในใจด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าถามว่าแล้วคุณรับความเสี่ยงได้แค่ไหน หลายคนมักจะไม่มีคำตอบหรือไม่รู้ว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน ซึ่งนั่นอาจจะทำให้คุณไม่สามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองได้ แต่วันนี้เรามีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำให้คุณลองตรวจวัดระดับความเสี่ยงกันดู

@วัดระดับความเสี่ยงที่รับได้จากปัจจัยภายนอก เกี่ยวกับเรื่องนี้ "ธีรวุฒิ สินธวถาวร" ผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดการลงทุน บล.พรูเด้นท์ สยาม บอกว่า เมื่อดูจากตารางที่ 1 จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถจะเช็คความเสี่ยงของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยดูจากปัจจัยภายนอกเป็นองค์ประกอบในการชี้วัดระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถจะรับได้ โดยใช้เกณฑ์ต่างๆ ดังนี้

-อายุ ถ้าคุณอายุมากแล้ว หมายความว่าคุณจะมีเวลาในการทำงานเหลืออยู่ไม่มาก เพราะฉะนั้นถ้าคุณลงทุนในอะไรที่เสี่ยงเกินไป ถ้ามันพลาดขึ้นมา เวลาที่คุณจะหารายได้มาชดเชยเพื่อที่จะฟื้นกลับขึ้นมาได้จะน้อยลง แต่ถ้าคุณอายุเพิ่งเริ่มต้นวัยทำงาน 24-25 ปี คุณยังมีแนวโน้มที่จะหารายได้มาชดเชยการขาดทุนได้ มีโอกาสที่จะได้เงินเดือนมากขึ้น อันนั้นก็สามารถที่จะเสี่ยงในการลงทุนได้มากกว่า เพราะคุณยังมีเวลาทำงานได้อีก 20-30 ปี จึงสามารถที่จะลงทุนในอะไรที่เสี่ยงได้มากกว่า

"ส่วนมากคนอายุต่ำกว่า 30 ปี ยังไม่ได้แต่งงาน มีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานได้ง่ายกว่า แต่พออายุมากขึ้น โอกาสที่คุณจะเปลี่ยนงานหรือโอกาสที่เงินเดือนคุณจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วมากๆ อาจจะเริ่มยากขึ้น ภาระต่างๆ ก็มีเพราะเริ่มมีครอบครัว เริ่มมีบุตร ซึ่งอายุที่มากขึ้นก็จะทำให้คุณเสี่ยงได้น้อยลง"

-รายได้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายประจำ ถ้าคนที่เงินเดือนแต่ละเดือนเมื่อหักลบด้วยค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายแล้วเหลืออยู่ไม่มาก เป็นกลุ่มคนที่รับความเสี่ยงเกี่ยวกับการลงทุนได้ไม่มากนัก เพราะว่าคุณจำเป็นต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อจะไปจุนเจือค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เสี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเงินเดือนคุณแต่ละเดือนหักด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วเหลือมาก ก็สามารถจะรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

-ความผันผวนของรายได้ อาชีพแต่ละอาชีพ รูปแบบของรายได้ที่ได้รับมาจะไม่เหมือนกัน คนทำงานบริษัทอาจจะบอกว่าคุณได้รับเป็นเงินเดือนในอัตราที่แน่นอน ความผันผวนของรายได้ก็จะน้อย บางคนอาจจะมีเป็นคอมมิชชั่นช่วงไหนขายดีก็ได้มากหน่อย ช่วงไหนขายไม่ดีก็ได้น้อย ความผันผวนของรายได้ก็จะมากขึ้นมาอีกนิด หรือคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง รายได้อาจจะวูบวาบ บางช่วงอาจจะขายไม่ดี อาจจะไม่มีรายได้ไป 2 เดือน แบบนี้ความผันผวนของรายได้ก็จะสูงขึ้น จากเกณฑ์ข้อนี้ สรุปว่าผู้ที่มีความผันผวนของรายได้สูง ก็รับความเสี่ยงได้น้อย

-สถานะครอบครัว รายได้ของครอบครัวเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายของครอบครัวแล้วเป็นอย่างไร หากรายได้เมื่อเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครอบครัวแล้ว ถ้าภาระเยอะ ก็เสี่ยงได้น้อย เพราะสิ่งที่คุณไปลงทุนเกิดขาดทุนขึ้นมาอาจจะไปกินเงินส่วนที่จำเป็นสำหรับภาระในอนาคตของครอบครัวคุณได้ เช่นเงินผ่อนบ้าน เงินเลี้ยงบุตร เป็นต้น

-ประสบการณ์ในการลงทุน คนที่มีประสบการณ์ในการลงทุนมามากกว่า ย่อมรับความเสี่ยงได้มากกว่า ซึ่งเรื่องราวของประสบการณ์ในการลงทุนนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับระดับของการศึกษาแต่ประการใด ถ้าคุณไม่เคยลงทุนมาก่อนที่ผ่านมาฝากแบงก์อย่างเดียว อันนั้น ถ้าคุณจะเริ่มลงทุนคุณอาจจะต้องเริ่มจากอะไรที่ความเสี่ยงน้อยๆ ก่อน ส่วนใครที่เคยผ่านช่วงที่ตลาดหุ้นตก ตลาดตราสารหนี้เลวร้าย ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากก็สามารถที่จะรับความเสี่ยงได้มากกว่า

นอกจากนี้ ประสบการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจจะหมายถึงความหลากหลายของการลงทุน รู้จักการลงทุนต่างๆ รู้จักผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็จะทำให้ผู้นั้นสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

@วัดมุมมองต่อความเสี่ยงและผลตอบแทน โดยธีรวุฒิ บอกว่า ในส่วนของตารางที่ 1 นั้น เป็นการเช็คระดับความเสี่ยงโดยทั่วๆ ไป ทำให้ดูชัดเจนขึ้น ถ้าลักษณะของใครมาตกทางฝั่งซ้ายของตารางที่ 1 มากหน่อย ก็แสดงว่าคุณรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างน้อย แต่ถ้ามาตกทางฝั่งขวาของตารางที่ 1 มากหน่อย ก็แสดงว่าคุณรับความเสี่ยงได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกมิติของความเสี่ยง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมส่วนตัวหรือมุมมองของผู้ลงทุนเองด้วย บางคนลงทุนในอะไรที่เสี่ยงนิดเดียวก็คิดว่าเสี่ยงมากแล้ว ในขณะที่อีกคนลงทุนในอะไรที่เสี่ยงมาก เขาอาจจะยังรู้สึกสบายๆ ตรงนั้นก็แล้วแต่มุมมองที่บุคคลมีต่อความเสี่ยงด้วยเช่นเดียวกัน

"ในขณะที่ตารางที่ 1 เป็นการวัดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกโดยเอาลักษณะภายนอกเข้ามากำหนดว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน แต่เรื่องภายในจากความรู้สึกความคิดของตัวเราเองต่อความเสี่ยงนั้น อาจจะต้องมาดูกันด้วยตารางที่ 2 ที่จะบอกถึงมุมมองของตัวคนๆ นั้น ว่าเขามองถึง "ความเสี่ยง" หรือ "ผลตอบแทน" อย่างไร เป็นมุมมองความเสี่ยงที่วัดมาจากภายใน"

จากตารางที่ 2 บนสมมติฐานว่าคุณไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจาก "ทางเลือก A" และ "ทางเลือก B" 2 ทางเลือก โดยทางเลือก A ถ้าคุณลงทุนจะได้รับผลตอบแทนแน่ๆ 4% ต่อปี ในขณะที่ทางเลือก B นั้นถ้าคุณลงทุนคาดว่าจะได้ผลตอบแทน 7% แต่ไม่การันตี โดยคุณมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดถึง 15% และแย่ที่สุดคือ คุณมีโอกาสขาดทุน 1% คำถาม คือ ให้เลือก 2 ทางเลือกนี้ คุณจะเลือกทางเลือกไหน

สมมติคุณเลือกทางเลือก B ก็ถามใหม่ว่า ให้คุณมีทางเลือกอีก 2 ทางเลือกเหมือนเดิม คือ "ทางเลือก a" และ "ทางเลือก b" โดยทางเลือก a ผลตอบแทนเหมือนเดิม คือ 4% ต่อปี ในขณะที่ทางเลือก b นั้น ผลตอบแทนคาดหวังเท่าเดิม 7% แต่โอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดขยับเพิ่มขึ้นเป็น 20% แต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนต่ำสุดก็อาจจะติดลบถึง 6% คุณจะเลือกทางเลือกไหน ถ้าคุณเลือกทางเลือก b ในความหมายนี้ก็คือ "คุณพร้อมที่จะรับความเสี่ยง" ได้พอสมควรในความรู้สึกของตัวคุณเอง แต่ถ้ามาถึงตรงนี้แล้วคุณเลือกทางเลือก a เพื่อรับผลตอบแทน 4% ชัวร์ๆ ไม่เลือกเอา 7% แบบต้องลุ้น แถมมีโอกาสที่จะขาดทุนด้วย ก็แสดงว่า "คุณพร้อมที่จะรับความเสี่ยงหากความเสี่ยงนั้นไม่สูงจนเกินไป"

ลองมาเริ่มต้นกันใหม่ สมมติคุณเลือกทางเลือก A ก็มีอีก 2 ทางเลือกให้เลือก คือ "ทางเลือก a" และ "ทางเลือก b" โดยทางเลือก a คุณยังคงได้รับผลตอบแทน 4% ต่อปี แต่ทางเลือก b ผลตอบแทนที่คาดหวังเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10% แต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดและต่ำสุดยังคงเท่าเดิม

หากคุณเลือกทางเลือก a ในความหมายนี้ก็หมายความว่า "คุณไม่พร้อมที่จะรับความเสี่ยง"เพราะคุณเลือกเอาชัวร์ๆ 4% ดีกว่าเป็นของตาย แต่ถ้าคุณเลือกทางเลือก B ก็แสดงว่า "คุณพร้อมที่จะรับความเสี่ยงได้ หากได้ผลตอบแทนที่สูงเพียงพอ" ขึ้นกับเหตุและผลว่าการลงทุนนั้นมันเหมาะสมหรือเปล่า

"ตารางที่ 2 เป็นตัววัดความรู้สึกของเรา ถึงแม้ว่าการวัดระดับความเสี่ยงในตารางที่ 1 อาจจะดูว่าคุณรับความเสี่ยงได้มากก็จริง แต่พอไปลงทุนในหุ้นจริงๆ ใจไปหมดแล้ว นอนไม่หลับ อันนี้เป็นการวัดมุมมองต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงจากมุมมองภายใน"

@สินทรัพย์ที่ลงทุนคุณคิดว่าเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ธีรวุฒิ บอกว่า ถ้าได้ตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดแล้วลองดูว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนดังกล่าวนั้น มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เพื่อประเมินดูว่ามุมมองในเรื่องของความเสี่ยงและผลตอบแทนของคุณนั้นเป็นอย่างไร

จากตารางที่ 3 นี้ เป็นสเกลมาตรฐานโดยทั่วๆ ไปเพื่อบอกถึงความเสี่ยงของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามสเกลนี้ สมมติล่าสุดคุณลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแล้วคุณมองว่ามันเสี่ยงน้อย ไปเทียบกับในสเกลก็พบว่าพันธบัตรรัฐบาลเสี่ยงน้อยจริง เพราะฉะนั้นมุมมองความเสี่ยงของคุณก็เป็นไปตามคนทั่วๆ ไป

แต่บางคนเพิ่งไปซื้อวอร์แรนท์มาตัวหนึ่ง พอถามว่าคุณคิดว่าวอร์แรนท์เสี่ยงมากหรือน้อย หากคุณบอกว่าวอร์แรนท์ความเสี่ยงน้อย หรือเสี่ยงกลางๆ รู้สึกเฉยๆ แสดงว่าโดยตัวคุณเองแล้วมีแนวโน้มที่จะรับความเสี่ยงได้มากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้ามุมมองของคุณเป็นไปในลักษณะนี้อยู่แล้ว การลงทุนที่มีความเสี่ยง ก็จะไม่ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจ เพราะขนาดคุณไปลงทุนในอะไรที่คนทั่วไปมองว่าเสี่ยงมาก แต่คุณยังรู้สึกเฉยๆ เลย เพราะฉะนั้นคุณก็สามารถที่จะรับความเสี่ยงได้มาก ลงทุนในอะไรที่เสี่ยงมากได้อย่างสบาย

ในทางตรงข้ามถ้าคุณลงทุนในเงินฝากออมทรัพย์หรือตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยมาก แต่เมื่อถามว่าคุณคิดว่ามันเสี่ยงมากหรือน้อย แล้วในความรู้สึกของคุณคิดว่ามันเสี่ยงพอสมควร แสดงว่าคุณเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้น้อยแล้ว การลงทุนในประเภทหลังๆ ไม่ต้องไปพูดถึงเลย เพราะลงทุนไปคุณก็ประสาทเสีย ถึงแม้ว่าปัจจัยภายนอกจะบอกว่าคุณรับความเสี่ยงได้มากก็ตาม แต่ในความรู้สึกของคุณมันไม่ใช่ เพราะขนาดเงินฝากออมทรัพย์หรือตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่เสี่ยงน้อยที่สุด คุณยังรู้สึกว่ามันเสี่ยงเลย

"ความเสี่ยงมันมี 2 ด้าน เราจะไปบังคับให้ทุกคนว่าคุณวัดความเสี่ยงออกมาแล้วเป็นอย่างนี้ รับความเสี่ยงได้มาก ไม่ใช่ มันต้องอยู่ที่มุมมองของเราที่มีต่อผลตอบแทน และความเสี่ยงด้วยควบคู่กันไป"

@ประยุกต์ความเสี่ยงไปใช้ในการจัดพอร์ตลงทุน โดยธีรวุฒิบอกว่า เมื่อรู้ว่าตัวเองสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับไหน ก็ควรจะนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดพอร์ตการลงทุนต่อไปให้เหมาะสม พอเรารู้ความเสี่ยงของเราแล้ว เราก็ต้องรู้ความเสี่ยงของสิ่งที่จะไปลงทุนแล้ว ถ้าคุณยังไม่รู้อย่างแท้จริงว่าของนั้นๆ ที่คุณไปลงทุนมันเสี่ยงแค่ไหน คุณก็อาจจะจับคู่ผิดพลาดก็ได้ เช่น คุณคิดว่ามันไม่เสี่ยง ทั้งที่มันก็มีความเสี่ยง หรือคุณคิดว่าสินทรัพย์นั้นเสี่ยงสุดๆ แต่จริงๆ มันอาจจะอยู่ในระดับที่คุณพอรับได้ก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณวัดความเสี่ยงของตัวเองตรงนี้แล้ว ก็ควรจะนำไปใช้ในการจัดพอร์ตการลงทุนของตัวเองให้เหมาะสมต่อไปด้วย เพื่อทำให้พอร์ตการลงทุนของตัวคุณเองเกิดประโยชน์เต็มที่

"คนส่วนใหญ่พอบอกว่าเราไม่รู้ ก็เลยเลือกจะไม่ลงทุนในอะไรที่เสี่ยงๆ เลยแล้วกัน อันนั้นก็จะทำให้เราเสียประโยชน์ไป เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้สินทรัพย์ที่จะไปลงทุน แล้วพยายามจับแมทช์มันให้ได้ การจัดพอร์ตการลงทุนของคุณก็น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดขึ้นมาได้จริง"

ทั้งหมดนี้ คงช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวคุณเองได้มากขึ้นเพื่อนำไปเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ไม่ลงทุนแบบขาดๆ เกินๆ อีกต่อไป

เข้าชม: 1,545

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com