April 30, 2024   10:47:14 AM ICT
ความเข้าใจผิด 5 ประการเกี่ยวกับตลาดทุนไทย
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัยและบริการข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมยังคงมีความเข้าใจที่ผิดและมีความรู้สึกในด้านลบต่อตลาดทุนไทยอยู่มาก โดยจะเห็นได้จาก เมื่อครั้งที่มีการประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 49 เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก จนเป็นเหตุให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงกว่า 108 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ลดลงกว่า 8 แสนล้านบาท แต่ยังมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นในแง่ลบต่อนักลงทุนและการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งที่จริงแล้วก็ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่างจากผู้ส่งออกเช่นกัน

ฝ่ายวิจัยและบริการข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้มีการศึกษาถึงเรื่องนี้ โดยสามารถสรุปออกมาเป็นประเด็นของความเข้าใจผิดที่สำคัญ 5 ประการที่มีต่อตลาดทุนไทย พร้อมกับเปิดเผยข้อเท็จจริงที่คัดค้านกับความเข้าใจผิดดังกล่าว ได้แก่

ความเข้าใจผิดที่ 1 “ตลาดทุนเป็นแค่แหล่งเงินทุนทางเลือกเฉพาะกลุ่มบุคคล ไม่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจจริง (Real Sector) อย่างระบบธนาคารพาณิชย์”

ข้อเท็จจริง: น้อยคนนักจะทราบว่า ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจมากกว่าการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทเอกชนระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านล้านบาท มากกว่าสินเชื่อสุทธิที่ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 9 แสนล้านบาท หรือมากกว่าประมาณ 1.8 เท่า โดยเฉพาะในหลังช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่สถาบันการเงินของไทยประสบปัญหาทำให้เอกชนมาระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น รวมไปถึงธนาคารพาณิชย์เองที่ต้องพึ่งแหล่งทุนในประเทศแทนการหาพันธมิตรจากต่างชาติ จนทำให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่กลายเป็นของต่างชาติไป

/

และหากรวมตลอดกว่า 30 ปีที่ตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งมา มีบริษัทเอกชนระดมทุนไปแล้วทั้งสิ้น 2.45 ล้านล้านบาท และหากนับรวม Market Capitalization กับยอดตราสารหนี้คงค้างจะพบว่า มีขนาดรวมกันเป็น 1.6 เท่าของยอดเงินสินเชื่อคงค้างจากระบบธนาคารพาณิชย์ เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ไม่แพ้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ

ความเข้าใจผิดที่ 2 “คนที่มีส่วนได้เสียกับตลาดทุนเป็นแค่คนกลุ่มน้อย มีแต่พวกเศรษฐี คนรวย”

ข้อเท็จจริง: แม้ปัจจุบันจะมีผู้เปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ เพียงประมาณ 4 แสนบัญชี แต่ผู้ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น แต่ยังมีชนชั้นกลาง หรือผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทุนผ่านทางกองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคมกว่า 12.7 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 18,000 บาท/คน/เดือน

รวมไปถึงผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตก็เป็นผู้ลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อมเช่นกัน เพราะบริษัทประกันชีวิตส่วนหนึ่งนำเงินประกันไปลงทุนในตลาดทุนในระยะยาวคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น จากการขยายการลงทุนของบริษัทที่สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนอีกด้วย

ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับตลาดทุนจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในวงแคบ และเป็นผู้มีรายได้ดีเท่านั้น

/


ความเข้าใจผิดที่ 3 “ตลาดหุ้นก็คือบ่อนการพนันดีดีนี่เอง มีไว้เพื่อเก็งกำไร”

ข้อเท็จจริง: คนส่วนใหญ่มักนิยมที่จะบริโภคข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ทำให้ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน มักมีข่าวในแง่ลบมากกว่าแง่บวก เช่น ข่าวการปั่นหุ้น และทำให้ผู้ที่ไม่มีความเข้าใจตลาดทุนดีพอเกิดทัศนคติในด้านลบขึ้นได้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว จำนวนหุ้นที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่ามีการปั่นหรือทำราคานั้น มีเพียง 5.5% ของหุ้นทั้งหมด คิดเป็น 1.5% ของ Market Capitalization ในปี 2549 เท่านั้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ต่างก็พยายามอย่างยิ่งที่จะให้การลงทุนเป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

/


ความเข้าใจผิดที่ 4 “หุ้นตก เป็นแค่ตัวเลข เดี๋ยวก็ขึ้น ไม่ได้มีผลอะไรมากนัก”

ข้อเท็จจริง : ราคาหุ้นที่ลดลงก็ไม่ต่างอะไรกับความมั่งคั่ง (Wealth) ที่หายไปจริง เหมือนกับสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น บ้าน เงินฝากธนาคาร ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเหมือนกัน เช่น หากราคาบ้านตกลง ผู้ที่ยังอยู่อาศัยไม่รู้สึกกระทบ แต่จริง ๆ แล้วราคาบ้านที่ลดลง หมายถึงความมั่งคั่ง (Wealth) ลดลง ใช้ค้ำประกันเงินกู้ยากขึ้น ถ้าจะขายก็ได้ราคาต่ำ อีกทั้งการลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัยไม่ขยายตัว การจ้างงานไม่เพิ่มขึ้น แรงงานขาดรายได้ก็บริโภคลดลง ส่งผลเป็นลูกโซ่ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงในที่สุด

นอกจากนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน รวมถึงกองทุนเพื่อการเกษียณอายุต่าง ๆ ซึ่งกระทบต่อเงินออมหลังเกษียณของสมาชิกกองทุน เพราะยังต้องอาศัยผลตอบแทนจากหุ้นที่ให้ผลตอบแทนปีละ 12% ในขณะที่เงินฝากธนาคารให้ผลตอบแทนประมาณ 7% ต่อปี แม้ส่วนต่างจะดูไม่มาก แต่หากคิดเป็นผลตอบแทนรวมสะสมตั้งแต่ปี 2518 – 2548 หุ้นให้ผลตอบแทนรวมกว่า 2,900% ในขณะที่เงินฝากธนาคารให้ผลตอบแทนเพียง 795% เท่านั้น

ความเข้าใจผิดที่ 5 “ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีไว้เลี่ยงภาระภาษี”

ข้อเท็จจริง: แม้การยกเว้น Capital Gain Tax จากการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้มองว่า รัฐบาลสูญเสียรายได้ แต่หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง และไต้หวัน ก็มีการยกเว้น Capital Gain Tax เช่นกัน

ตลาดหุ้นส่งเสริมรายได้ให้ภาครัฐในหลายช่องทาง เช่น ส่งเสริมให้บริษัทมีความโปร่งใสทางการเงิน ตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยลดการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทจดทะเบียนมีสัดส่วนถึง 29% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมด

ตลาดทุนช่วยลดภาระต่อผู้เสียภาษี เพราะผู้ถือหุ้นหรือผู้ที่ลงทุนพันธบัตรจะรับภาระโดยตรง หากบริษัทที่ระดมทุนผ่านตลาดทุนประสบปัญหาการดำเนินงาน แต่ถ้าบริษัทกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์แล้วมีปัญหาในระบบธนาคารพาณิชย์ รัฐบาลจะต้องเข้าช่วยเหลือธนาคารและผู้ฝากเงิน ดังวิกฤติทางการเงินที่ผ่านมา ที่รัฐบาลต้องรับภาระช่วยเหลือระบบสถาบันการเงินเป็นยอดรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันตลาดทุนโดยรวมก็สร้างรายได้ภาษีให้ภาครัฐในปี 2548 อย่างน้อย 9.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเกือบ 8% ของงบประมาณรายจ่ายในปีเดียวกัน

*** เรียบเรียงจากบทความ “ความเข้าใจผิด 5 ประการเกี่ยวกับตลาดทุนไทย” โดยดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และวิธาน เจริญผล สายงานวิจัยและบริการข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเสนอแนะก่อนที่จะมีการนำเสนอสรุปผลการศึกษาออกมาเป็นรายงานที่ชัดเจนอีกครั้ง

Money channel
เข้าชม: 1,679

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com