April 30, 2024   3:00:55 PM ICT
ปั้น 4 หมื่นให้เป็น 100 ล้านแบบดร.ทนง พิทยะ

โดยสรวิศ อิ่มบำรุง

ชื่อของ "ดร.ทนง พิทยะ" คงไม่ได้คุ้นเฉพาะบทบาทของการเป็นอดีตรัฐมนตรีคลัง แต่เขายังเป็นนักการเงินชั้นครูคนหนึ่งของแวดวงการเงินการธนาคาร ปัจจุบันดร.ทนงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ บลจ.ทหารไทย หนึ่งในคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของบลจ.ทหารไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนของ บลจ.ทหารไทยในปัจจุบัน

วันนี้เราจะมารู้จักอีกแง่มุมในชีวิตของเขาเกี่ยวกับเรื่องราวของการลงทุนที่น่าสนใจมิใช่น้อย ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 40,000 บาท จนปัจจุบันนี้เขามีเงินเป็น 100 ล้านบาท ด้วยระยะเวลาการลงทุนเพียง 10 ปีเท่านั้น เส้นทางการลงทุนของดร.ทนง พิทยะ จึงน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าชีวิตในด้านอื่นๆ ของเขาแม้แต่น้อย

ดร.ทนง บอกว่า เนื่องจากตัวเองเป็นนักลงทุนระยะยาวการลงทุนก็จะดูจังหวะของ "ภาวะเศรษฐกิจ" เป็นหลัก ดังนั้น จังหวะเศรษฐกิจก็คือช่วงขาขึ้นหรือขาลง เชื่อว่าวัฏจักรเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ก็จะสนใจตรงนั้นเป็นหลัก

การกระจายการลงทุน ก็จะพยายามให้สะท้อนถึงจังหวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำมาโดยตลอด เหมือนตอนที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 280 จุด ก็เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากขึ้น แต่พอเศรษฐกิจเริ่มนิ่ง การเติบโตเริ่มชะลอ ก็จะย้ายจากหุ้นมาอยู่ในตราสารหนี้หรือเงินฝากมากขึ้น โดยวิธีการลงทุนก็จะดู "จังหวะ" และพยายามที่จะไม่หวือหวา ไม่เก็งกำไรอะไรมากมาย

ปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของดร.ทนง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ เท่าๆ กัน ส่วนแรกเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนที่สองเป็นเรื่องของการลงทุนทั้งในรูปของเงินฝาก ตราสารหนี้ และหุ้น ส่วนที่สามเป็นทรัพย์สินที่อยากจะมีอยากจะได้ เป็นเรื่องของความสำราญของชีวิต เช่น บ้าน การแต่งบ้าน รถยนต์ เครื่องประดับ นาฬิกา เป็นต้น

นอกจากนี้ ดร.ทนงยังมีการลงทุนในธุรกิจอยู่บ้าง แต่ไม่มากมากอะไรนัก โดยดร.ทนงยอมรับว่า การไปร่วมลงทุนในธุรกิจกับเพื่อนหรือลูกศิษย์นั้น เหมือนกับ venture capital คือมันเสียได้ตลอดเวลาเหมือนกัน ตรงนี้ก็ต้องทำใจนิดหนึ่ง แต่ถ้าบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่เราเข้าไปลงทุนมีกำไรขึ้นมา บางครั้งมันก็คุ้มค่าเหมือนกัน

สมมติเราลงทุนไว้ 5 บริษัทๆ ละ 5 ล้านบาท เมื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งกำไรขึ้นมา มันจะคัฟเวอร์ 4 บริษัทที่เหลือได้ ดังนั้น สิ่งที่เป็นการลงทุนในธุรกิจที่เหลืออยู่จริงๆ ก็คือ การลงทุนใน "แบล็คแคนยอน" ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่แบล็คแคนยอนมีร้านแค่ 2-3 ร้าน แต่ตอนนี้มีสาขาทั่วประเทศเป็น 100 สาขา ส่วนนี้เราก็มองเป็นการลงทุนระยะยาวจริงๆ เป็นการช่วยสร้างธุรกิจ แม้ว่าตั้งแต่ลงทุนมานี้จะไม่เคยได้รับเงินปันผลเลยแม้แต่ครั้งเดียวก็ตาม

"แต่เรามองเป็นการลงทุนระยะยาวช่วยสร้างงานให้กับคนอีกเป็นจำนวนมาก และในอนาคตหากแบล็คแคนยอนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เงินที่เราลงทุนไว้ก็น่าจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ชดเชยสิ่งที่เราสูญเสียจากการลงทุนในตัวอื่นได้ มันก็เป็นแนวทางว่าถ้าเรามีเงินแล้วอยากจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น เราต้องกระจายความเสี่ยง ผมเชื่อในหลักกระจายความเสี่ยง"

สำหรับการลงทุนในหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ดร.ทนงมีทั้งที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมและลงทุนในหุ้นรายตัวด้วยตัวเอง เมื่อตลาดหุ้นเริ่มไม่ค่อยดี ดร.ทนงจะย้ายการลงทุนในหุ้นมาสู่การลงทุนระยะยาวผ่าน "กองทุนเปิดทหารไทย SET50" และ "กองทุนเปิดทหารไทยจัมโบ้25" ซึ่งเป็นกองทุนที่มีสไตล์การบริหารแบบ Passive

โดยเชื่อว่าการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น ตราบใดที่เศรษฐกิจยังเป็นบวกอยู่ ตลาดหุ้นก็น่าจะสะท้อนในระยะยาว คือ ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นไปตามภาวะการแข่งขันของโลก ของการลงทุนทางเศรษฐกิจ ของนักลงทุนต่างๆ ในโลกด้วยเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมาผลตอบแทนค่อนข้างจะดี เริ่มลงทุนในกองทุนเปิดทหารไทย SET50 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2001 เพิ่งมาขายไปเมื่อปี 2006 ได้กำไรไป 200% ส่วนกองทุนเปิดทหารไทยจัมโบ้ 25 นั้น ลงทุนมาได้ประมาณ 2 ปี กว่า กำไรเฉลี่ย 7% ต่อปี ก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีทีเดียว

"แต่การลงทุนในกองทุนประเภท Passive จะต้องใจเย็นกับมัน อยู่มา 5 ปี จึงจะขาย 5 ปีนี้ใส่เงินเข้าไปแล้วไม่ได้ไปดูเลย เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจมันเริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็น่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีความเชื่อแบบนั้น ลงทุนในกองทุนดัชนีก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนเช่นเดียวกัน เพราะส่วนตัวผมเชื่อมั่นในกองทุนที่บริหารแบบ Passive ด้วย ว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้ในระยะยาว จากประวัติศาสตร์ของการลงทุนกองทุนที่เป็นอินเด็กซ์ฟันด์ในระยะยาวผลตอบแทนจะชนะกองทุนที่เลือกหุ้นเป็นตัวๆ ไป และกองทุนที่เป็นอินเด็กซ์ฟันด์ก็เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย"

ส่วนการลงทุนในหุ้นรายตัวนั้น ดร.ทนงบอกว่า จะต้องมองดูจังหวะในการเข้าลงทุน ซึ่งจะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะอุตสาหกรรม และแนวโน้มของตลาดหุ้นเป็นหลัก โดยพิจารณาทั้ง 2 อย่างนี้ประกอบกันไป แต่ปัจจุบันไม่มีการลงทุนในหุ้นรายตัวเลย เพราะยังไม่ใช่จังหวะในการลงทุน และโดยส่วนตัวเองแล้วก็เป็นนักลงทุนระยะยาวไม่ได้ซื้อขายหุ้นรายวัน แต่จะถือลงทุนอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี

หุ้นแต่ละตัวที่จะเข้าลงทุนนั้น ก็จะมีเป้าหมายอยู่ในใจ ว่าแต่ละตัวน่าจะทำกำไรได้ประมาณ 30% ในเวลา 1 ปี แต่ถ้า 1 ปี ไปได้แค่ 10% ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้า 1 ปีราคาไปถึง 30% ก็ขาย ถึงราคาหุ้นจะขึ้นไปอีกก็ตาม ก็จะขายเพราะตัวเองจะถือหุ้นระหว่าง 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยจะลงทุนในหุ้นไม่มากนัก ไม่เกิน 10 ตัวในแต่ละครั้ง

"วิธีการลงทุนในหุ้นรายตัวของผมจะตรงข้ามกับคนอื่น ผมจะมีจุดว่ากำไรเท่าไรแล้วถึงจะตัดทิ้ง ไม่ใช่ขาดทุนเท่าไรแล้วถึงจะตัดทิ้ง ส่วนใหญ่หุ้นที่ลงทุนไว้ถ้ากำไร 30% ผมจะตัดทิ้งแล้ว ผมจะไม่แคร์ว่าราคาจะขึ้นไปอีกเท่าไร ผมจะตัดขายเพื่อทำกำไรโดยที่ไม่โลภมาก ส่วนมากจะเลือกหุ้นตัวที่มีอนาคตแล้วส่วนมากจะขายออกภายใน 1 ปี ถ้าลงทุนในหุ้นเป็นตัวๆ ผมจะไม่เก็บยาว แต่ถ้าเป็นกองทุนดัชนีหรืออินเด็กซ์ฟันด์นั้น ต้องทำใจว่าผมจะเก็บอย่างน้อย 5 ปี ไม่เคยซื้อวันต่อวันเลย"

ดร.ทนง บอกว่า พื้นฐานของการลงทุนของเขา คือ ความสามารถที่จะลดความเสี่ยงได้ดีกว่าคนอื่น เพราะด้วยความเสี่ยงที่เท่ากัน คุณเองก็สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าคนอื่น หรือด้วยผลตอบแทนระดับเดียวกันคุณสามารถมีความเสี่ยงในระดับที่น้อยกว่าคนอื่น

นี่เป็นเส้นทางของอดีตขุนคลังที่คุณหรือใครก็เดินตามรอยได้

/

เข้าชม: 2,664

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com