April 30, 2024   12:10:09 PM ICT
ตรวจสุขภาพการเงินตามวัย

เมื่อรู้กันแล้วว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงสุขภาพทางการเงินอันย่ำแย่ "พจนี คงคาลัย" แนะว่าเพื่อความสมบูรณ์และมั่นคงทางการเงิน เราจึงต้องหมั่นตรวจเช็คสุขภาพทางการเงิน เธอบอกว่า วิธีตรวจสอบนั้น สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ วัยเริ่มศึกษาเล่าเรียน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ยังไม่มีรายได้ พ่อแม่ต้องปลูกฝังนิสัยการดูแลสุขภาพเงินให้ลูกในเรื่องการใช้จ่ายและการหัดเก็บออมเงินจะด้วยวิธีการหยอดกระปุกหรือเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารก็แล้วแต่

ปัญหาสุขภาพเงินช่วงนี้คือ นอกจากไม่ปลูกฝังนิสัยการออมให้ลูกแล้วพ่อแม่บางคนยังสร้างนิสัยการใช้จ่ายที่ผิดๆ ให้ลูกอีกด้วย พ่อแม่หลายคนไม่มีเวลาให้ลูกใช้เงินเลี้ยงลูกแทน จึงทำให้สุขภาพเงินของลูกไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็ก

เมื่อวัยเริ่มทำงาน การดูแลสุขภาพเงิน คือ การบริหารจัดการกับเงินเดือนหรือรายได้ที่หามาได้ อันดับแรก ต้องเก็บก่อนจะเก็บหนึ่งส่วนใช้ 3 ส่วนหรือสูตรไหนก็ตาม ที่แน่ๆ ต้องเก็บให้ได้ทุกเดือน ซึ่งช่วงแรกของวัยเริ่มทำงานค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังไม่มากควรเน้นเก็บให้มาก เรียนรู้เรื่องการลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยขึ้นส่วนเงินที่เหลือก็ต้องรู้จักบริหารจัดการเรื่องการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะที่สำคัญต้องไม่ก่อหนี้สิน เพราะเปรียบเสมือนการเพาะเชื้อโรคร้ายในร่างกายจนในที่สุดจะกลายเป็นโรคมะเร็งรักษาไม่หาย ตายลูกเดียว

ปัญหาสุขภาพเงินของคนส่วนใหญ่ในช่วงวัยนี้คือ การใช้จ่ายเกินตัว ชอบใช้เงินอนาคตจนเกิดปัญหาสุขภาพเงินอ่อนแอเกิดหนี้สินล้นพ้นตัว

เมื่อทำงานมาช่วงระยะหนึ่งถึง วัยที่เริ่มสร้างฐานะ เพื่อเตรียมตัวมีครอบครัว หรือเริ่มแต่งงานมีครอบครัว ช่วงนี้เป็นช่วงที่เริ่มมีภาระหนี้สิน เช่น กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ฯลฯ การตรวจเช็คสุขภาพเงินช่วงนี้ที่สำคัญ คือ เช็คความสามารถในการผ่อนชำระและเลือกราคาบ้านที่เหมาะสมเมื่อมีหนี้สินแล้วก็ต้องมีวินัยเรื่องการผ่อนชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายอย่างประหยัด วางแผนการมีลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ควรก่อหนี้สินพร้อมกันหลายอย่างในเวลาเดียวกันและที่ขาดไม่ได้ต้องแบ่งเงินบางส่วนสำหรับเก็บออม ปัญหาสุขภาพเงินช่วงนี้อาจเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว หรือการขาดรายได้กะทันหัน

สุขภาพการเงินเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยก่อนเกษียณ สุขภาพการเงินเริ่มมั่นคงแข็งแรง เงินเดือนสูงขึ้น รายได้มากขึ้น ช่วงนี้ต้องหมั่นเช็คสุขภาพการเงินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ สัดส่วนของการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงต้องลดลง เน้นการออมและการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำระยะเวลาของการลงทุนต้องสัมพันธ์กับจำนวนปีที่เหลืออยู่ก่อนเกษียณ เช่น การใช้จ่ายต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ปัญหาสุขภาพเงินของคนช่วงวัยนี้คือ บางรายยังเก็บเงินไม่ได้หรือไม่ได้คิดที่จะเก็บ เนื่องจากไม่เคยเช็คสุขภาพเงิน วินัยการออมจึงไม่แข็งแรง

สุขภาพเงินวัยเกษียณ ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายให้อยู่ในงบประมาณ เพราะไม่มีรายได้จากเงินเดือนอีกแล้ว มีแต่รายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก การลงทุนก็ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังเน้นความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง

ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้นจากนี้ไปขอให้หมั่นตรวจเช็คสุขภาพการเงินเป็นประจำ เพื่อชีวิตที่สดใสในอนาคต

Bangkokbiznews

เข้าชม: 1,623

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com