May 15, 2024   7:54:14 PM ICT
ค่าเงินบาทอ่อน อาหาร- เชื้อเพลิง-เคมีภัณฑ์ รับประโยชน์
อัตราแลกเปลี่ยนไม่ช่วยทำให้ดุลการค้าดีขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นด้วย เช่นโครงสร้างต้นทุน การใช้ทรัพยากร

ในการสัมมนาประจำปีของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือสกว.เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ นักวิชาการของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนองานวิจัยเรื่อง ?The Response of Thailand?s International Trade to Price and Exchange Rate? ซึ่งเป็นการศึกษาถึงผลจากการปรับราคาและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อการนำเข้าและการส่งออกของสินค้าประเภทต่างๆ

ทั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทนั้นจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหาร เชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ โดยที่การเปลี่ยนแปลงด้านราคาสินค้านั้นกลับส่งผลต่อปริมาณการส่งออกและนำเข้าสินค้าอย่างหลากหลายในแต่ละอุตสาหกรรม

โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นซึ่งหากดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพีแล้วจะพบว่าส่วนหนึ่งมาจากการค้าระหว่างประเทศ โดยจะเห็นว่ามีการส่งออกและการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการส่งออกมีมากกว่าการนำเข้าจึงทำให้ดุลการค้าเป็นบวก รวมถึงการมีนโยบายของรัฐที่เน้น Dual track policy ที่มีการพยายามกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศควบคู่ไปกับนโยบายรากหญ้าต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีการเจรจาการค้าทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีกับประเทศต่างๆ มากขึ้น

ดังนั้น ในงานวิจัยชิ้นนี้จึงได้มีการพิจารณาถึงการตอบสนองของลูกค้าที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและระดับอัตราแลกเปลี่ยน โดยวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือต้องการชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการส่งออกและนำเข้าของสินค้าแต่ละหมวดอุตสาหกรรมซึ่งวัดโดยความยืดหยุ่นของราคาส่งออกหรือนำเข้า (Export/Import price elasticity) จึงมีการศึกษาว่าการที่ผู้ผลิตในประเทศลดราคาสินค้าส่งออกลงนั้น ลูกค้าจะมีการตอบสนองต่อสินค้าของไทยเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระดับใด ซึ่งสามารถชี้ให้เห็นถึงระดับการเพิ่มขึ้นของการค้าของประเทศ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตอาจจะไม่เสียประโยชน์มากนักจากการที่ราคาสินค้าลดลง เช่น ราคาสินค้าลด 1% แต่ปริมาณการส่งออกมีเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% แสดงว่าได้ประโยชน์จากการส่งออก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตไม่เสียประโยชน์จากการลดราคาสินค้า เป็นต้น

นอกจากความยืดหยุ่นด้านราคาแล้วเป้าหมายการวิจัยอีกอย่างหนึ่งคือการพิจารณาถึงระดับของการทดแทนของสินค้าในตลาดโลก (Substitution degree) คือถ้าสินค้าส่งออกมีระดับการทดแทนของสินค้าสูง การที่ประเทศไทยลดราคาสินค้าประเภทนั้นลงก็จะทำให้ผู้ซื้อเปลี่ยนมาซื้อสินค้าของไทยมากขึ้นได้ และวัตถุประสงค์สุดท้ายคือการพิจารณาถึงความยืดหยุ่นด้านรายได้ (Income elasticity) ซึ่งการที่ระดับความยืดหยุ่นของรายได้มีเพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตขึ้นซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อดุลการค้าด้วย

โดยในการวิจัยนั้น ผู้วิจัยได้แยกข้อมูลสินค้าออกเป็น 9 หมวดสินค้าตามการแยกหมวดของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้1. หมวดอาหาร 2. หมวดเครื่องดื่มและยาสูบ 3. หมวดวัตถุดิบ 4. หมวดน้ำมันและเชื้อเพลิง 5. หมวดน้ำมันจากพืชและสัตว์ 6. หมวดเคมีภัณฑ์ 7. หมวดสินค้าอุตสาหกรรมทั่วไป 8. หมวดเครื่องจักร และ 9. หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท คือสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน

ทั้งนี้ผลจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น พบว่าสินค้าที่น่าจะได้ประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงคือ สินค้าประเภทอาหาร เชื้อเพลิง และเคมีภัณฑ์ เช่นเดียวกันกับในกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลลบต่อการหมวดสินค้าประเภทอาหาร เชื้อเพลิง และเคมีภัณฑ์ เช่นกัน

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาพบว่านโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่ช่วยทำให้ดุลการค้าดีขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นด้วย เช่นโครงสร้างต้นทุน การใช้ทรัพยากร ประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้กล่าวถึง

นอกจากนี้ผลจากการศึกษายังพบว่าปริมาณการส่งออกตอบสนองต่อราคามีผลค่อนข้างหลากหลาย โดยผลที่ได้นั้นแสดงถึงความไม่ยืดหยุ่น (Inelastic) นั่นคือ ถ้าราคาสินค้าเปลี่ยนแปลง 1% มูลค่าการส่งออกหรือนำเข้าจะเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 1% หมายความว่าถ้าขึ้นราคาสินค้า 1% ปริมาณการส่งออกนำเข้าจะลดลงน้อยกว่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในทุกอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามถ้ามีการลดภาษีจากการเปิดเสรีทางการค้าแล้วสินค้าที่น่าจะได้ประโยชน์คือสินค้าที่มี own price สูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนต่างๆ

ส่วนระดับของการทดแทนสินค้าระหว่างสินค้าส่งออกและสินค้าในตลาดโลกนั้น จะพิจารณาโดยใช้ความยืดหยุ่นของราคาสินค้าระหว่างประเทศ (Cross-price elasticity) ซึ่งค่าที่เป็นบวกมากนั้นก็จะแสดงถึงการทดแทนระหว่างสินค้าส่งออกของไทยกับสินค้าในต่างประเทศได้มากขึ้น เช่นเดียวกับการนำเข้าถ้าสินค้าที่มีค่านี้สูงจะเป็นสินค้าที่มีระดับการทดแทนของการนำเข้าสูง นอกจากนี้การลดภาษีจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าของไทย ถ้ามีระดับของ cross price elasticity ของการส่งออกสูง

อย่างไรก็ตามความยืดหยุ่นของสินค้านำเข้าและส่งออกนั้นค่อนข้างมีความยืดหยุ่นน้อย ซึ่งแสดงว่าราคาและปริมาณการส่งออกนั้นมีผลต่อกันค่อนข้างน้อย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่สินค้าส่งออกของไทยนั้นเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อประเทศต่างๆ ในโลก ในขณะที่สินค้านำเข้านั้นเป็นสินค้าที่มีความต้องการในประเทศสูง โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค และเครื่องจักร

ส่วนความยืดหยุ่นต่อรายได้นั้นพบว่าสินค้าของประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นได้รับผลจากรายได้ของโลกในกรณีของการส่งออก และมีผลต่อรายได้ภายในประเทศในกรณีของการนำเข้า ดังนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นจะมีผลทำให้ปริมาณการส่งออกมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง น้ำมันจากพืชและสัตว์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะส่งผลของการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องดื่มและยาสูบ เชื้อเพลิง เครื่องจักร และวัตถุดิบ

นอกจากนี้ ในแง่ของการนำเข้าแล้วการเติบโตของเศรษฐกิจไทยซึ่งวัดโดยการเพิ่มขึ้นของจีดีพีนั้นจะมีผลทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นและมีผลทำให้ดุลการชำระเงินแย่ลง ขณะเดียวกันในแง่ของการส่งออกแล้ว มูลค่าของการส่งออกของไทยจะได้รับผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ซึ่งจากการที่ค่าความยืดหยุ่นของการส่งออกมีมากกว่าการนำเข้าจึงทำให้ดุลการชำระเงินของไทยเป็นบวกหากภาวะเศรษฐกิจของไทยดีเท่ากับเศรษฐกิจโลก

ที่มา www.bangkokbiznews.com

 

เข้าชม: 1,528

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com