April 30, 2024   11:43:31 AM ICT
ลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"ดร.พิชิต อัคราทิตย์"

ลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เป้าหมายของแต่ละคนก็สามารถที่จะกำหนดได้ ก็ควรกำหนดให้มันดี อย่าให้มันผิดกฎหมาย อย่าให้มันมากเกินไปจนไปไม่ได้ แล้วความสุขจริงๆ ก็ไม่ได้ขึ้นกับว่าจะต้องมีทรัพย์สินอยู่มากๆ ให้มุ่งดูเรื่องของคุณภาพชีวิตคุณภาพความเป็นอยู่จะดีกว่า

********

เป้าหมายทางการเงินใช่จะมีแต่เป้าหมายในเชิงปริมาณเท่านั้น ยังมีเป้าหมายทางการเงินเชิงคุณภาพด้วยเช่นเดียวกัน แต่คนเราส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นในเรื่องของวัตถุ ตัวเลขในเชิงปริมาณเป็นสำคัญ แต่เป้าหมายทางการเงินสำหรับ "ดร.พิชิต อัครทิตย์" กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี แล้ว เป็นการวางแผนการออมและการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กันไป

โดยดร.พิชิต บอกว่า คนที่อยู่ในวงการไฟแนนซ์มีข้อจำกัดในเรื่องของการลงทุนพอสมควร ซึ่งจะทำให้รูปแบบการลงทุนของคนที่อยู่ในวงการไฟแนนซ์แตกต่างกับประชาชนโดยทั่วไปอยู่บ้าง แต่หลักการของ Personal Finance คือทำยังไงให้การบริหารทรัพย์สินส่วนบุคคลไปถึงเป้าหมายที่อยากจะได้

เพราะฉะนั้นมันจะรวมกิจกรรมหลายอย่างตั้งแต่ "การหาเงิน" "การใช้จ่ายเงิน" แล้วมีส่วนเหลือเป็นเรื่องของ "การลงทุน" ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้มีความสำคัญเสมอเหมือนกัน ซึ่งเป้าหมายหลักของตัวเองในการบริหารจัดการสินทรัพย์ของตัวเองและครอบครัวก็เป็นไป เพื่อที่จะทำให้ "คุณภาพชีวิตดีขึ้น" ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนี้ในนิยามของแต่ละปัจเจกบุคคลอาจจะแตกต่างกันออกไป

สำหรับตัวเองคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจะเกี่ยวข้องกับความจำเป็นทางด้านร่างกายในเรื่องของความเป็นอยู่ส่วนหนึ่งและความจำเป็นในเรื่องที่เกี่ยวกับการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เป็นความสุขทั้ง "ทางกาย" และ "ทางใจ" เป็นเรื่องที่เราต้องตอบให้ได้ว่าเราอยากจะได้อะไร

"ถ้าเรามีโอกาสดูแลความมั่นคงทางการเงินของชีวิตเราในเรื่องการเป็นอยู่ได้ แล้วก็มีโอกาสที่จะหาความสุขทางใจในเรื่องเกี่ยวกับการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เรื่องการหาความรู้ เรื่องของการทำให้มีความสุขทางใจมากขึ้น คงไม่ใช่เรื่องของความสุขจากการมีกินมีใช้อย่างเดียว มีเงินเยอะๆ มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตแบบนั้นมันไม่ใช่ มันเป็นความสุขทางใจในเรื่องของศาสนา คือความสุขที่มันสูงกว่าความสุขทางด้านวัตถุ นั่นคือเป้าหมายในเรื่องของการออมการลงทุนของผม เราก็พยายามจะบริหารทรัพย์สินของเราให้มีความเป็นไปได้ในลักษณะอย่างนั้น ไม่ใช่หาให้มากที่สุด แต่ว่าหาให้เพียงพอที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้"

ดร.พิชิต บอกว่า คนเราโดยทั่วไปควรจะแบ่งรายได้ที่หามาเป็น 3 เรื่อง หลักๆ ด้วยกัน เรื่องที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายประจำวันเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวมีชีวิตอยู่ได้ เรื่องที่ 2 เป็นเงินสำรองเพื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉินซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ แล้วเรื่องที่3 จึงจะเป็นเรื่องของพอร์ตการลงทุน ซึ่งทั้ง3 เรื่องนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นเรื่องของ "วินัยในการบริหารจัดการ" การลงทุน

เพราะคนเราสามารถที่จะตั้งเป้าหมายในชีวิตได้ แล้วก็สามารถที่จะวางแผนโดยอาศัยตรรกะวางแผนย้อนกลับมาจากเป้าหมายว่าตัวเองจะสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร จะต้องเก็บเงินสัดเท่าไรเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ แต่การวางแผนยังยากน้อยกว่าการบริหารจัดการเยอะ โดยเฉพาะเรื่องจะต้องเก็บเงินเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงิน เพราะคนส่วนใหญ่ "บริหารตัวเองไม่ได้" คือไม่มีวินัยทางการเงิน ถ้าเป็นรัฐบาลก็เรียกว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่มีวินัยทางการคลัง

"เป้าหมายของแต่ละคนก็สามารถที่จะกำหนดได้ ก็ควรกำหนดให้มันดี อย่าให้มันผิดกฎหมาย อย่าให้มันมากเกินไปจนไปไม่ได้ แล้วความสุขจริงๆ ก็ไม่ได้ขึ้นกับว่าจะต้องมีทรัพย์สินอยู่มากๆ ให้มุ่งดูเรื่องของคุณภาพชีวิตคุณภาพความเป็นอยู่จะดีกว่า เพราะการตั้งเป้าหมายอย่างนั้นแม้แต่คนที่ไม่มีเงินเลยก็ยังสามารถบริหารจัดการให้ไปถึงวัตถุประสงค์ในชีวิตอย่างนั้นได้"

หลังจากนั้นก็วางแผน แล้วก็ต้องมีวินัยการเงินที่ดีมากๆ คือเมื่อวางแผนแล้วต้องพยายามบริหารจัดการตัวเองให้ได้อย่างที่วางแผนเอาไว้ เขาเป็นตัวอย่างอันหนึ่งของผู้ที่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย แต่ก็สามารถส่งเสียตัวเองเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกมาได้โดยตลอด ทำให้ตัวเองสามารถที่จะมีหน้าที่การงานพอที่จะดูแลตัวเองได้ เรื่องเกี่ยวกับวินัยทางการเงินจึงมีความสำคัญกับเขาค่อนข้างมาก ในเรื่องที่จะเก็บเงินเพื่อเอาไปใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ดร.พิชิตก็มีรูปแบบการบริหารเงินที่เป็นไปในท่วงทำนองเดียวกัน โดยประมาณ 70% ของรายได้ที่หามาได้เป็นส่วนของค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้แก่ค่าใช้จ่ายประจำวัน การเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน และการประกันชีวิต ที่เหลืออีกประมาณ 30% จึงจะเป็นเรื่องของพอร์ตการลงทุน ซึ่งในส่วนนี้ประมาณ 50-60% จะลงทุนอยู่ในทรัพย์สินประเภทคุ้มครองเงินต้นที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคง ที่เหลือจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนหุ้นและเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศผ่านกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศประมาณ 30-40%

ดร.พิชิต ยังบอกอีกว่า เนื่องจากตัวเองไม่ใช่คนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่ต้องใช้สินค้าที่มียี่ห้อ ส่วนใหญ่ก็จะใช้ไปเพื่อสร้างสมดุลให้กับความสุขทางกายและความสุขทางใจไปพร้อมๆ กัน เช่น การหาวิชาความรู้ให้ตัวเอง เรื่องการเรียนหนังสือ การซื้อข่าวสารข้อมูลต่างๆ ซึ่งทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้วิธีที่จะหาความสุขกับตัวเองได้เป็นความสุขที่สูงขึ้น ประณีตขึ้นอีกระดับ

นอกจากนี้ ยังใช้ประกันเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยง ในส่วนที่เป็นภาวะฉุกเฉินควบคู่กับการกันเงินสำรองเอาไว้ด้วยควบคู่กันไป ในยามที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ยามที่มีอุบัติเหตุ ยามที่ตกงาน หรือแม้แต่ยามที่เราตายไปแล้ว โดยการนำประกันเข้ามาช่วยในส่วนนี้ ซึ่งช่วยแบ่งเบาการจัดพอร์ตในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของภาวะฉุกเฉินลงไปได้มากพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคิด เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

"เมื่อก่อนคนโดยทั่วไปจะคิดว่าเราจะใช้จ่ายเงินเท่าไร เหลือแล้วค่อยเก็บ แต่ถ้าเรามีวัตถุประสงค์จริงๆ เราอาจจะต้องใช้วัตถุประสงค์นั้นตั้ง แล้วทอนกลับมาว่าเหลือเงินเท่าไร แล้วค่อยเอาไปใช้จ่าย ถ้าทำได้อย่างนั้นวินัยการเงินได้ถึงขนาดนั้นโอกาสสำเร็จก็เยอะ สำหรับประชาชนทั่วไปผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องฝึกๆ ตั้งแต่เด็กด้วย ไม่ใช่เฉพาะความรู้อย่างเดียว พ่อแม่เองก็ต้องฝึกลูกให้รู้จักวินัยการเงินตั้งแต่เด็กๆ ไม่งั้นเขาจะใช้จ่ายตามใจตัวเองมากเกินไป ในวันหนึ่งข้างหน้าก็จะลำบาก ผมยังเชื่อว่าคนเราไม่จำเป็นต้องมีมรดกมากๆ ก็สามารถที่จะไปถึงวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้ ถ้าเกิดเรามีวินัยการเงินที่ดีเพียงพอ"

ดร.พิชิตฝากไว้ว่า หากเราไม่แพ้ใจตัวเอง รักษาวินัยทางการเงินเอาไว้ให้ดี เชื่อว่าทุกคนจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้อย่างแน่นอน

เข้าชม: 1,663

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com