May 3, 2024   4:02:28 AM ICT
ลงทุนแบบ ก้นบุหรี่ (Cigar Butt Investing)

     เห็นคุณวิบูลย์เขียนถึงอาจารย์ เกรแฮม ทำให้ผมนึกถึง วิธีการลงทุน ตามแบบท่านอาจารย์ผู้นี้ คือ แบบก้นบุหรี่ จริงๆ แล้วเป็นคำเหน็บแนมของ Warren Buffett ต่อการลงทุนแบบถอดแบบจากท่านเกรแฮม เขากล่าวว่า มันเป็นเสมือนการหยิบก้นบุหรี่ ที่คนอื่นทิ้งไว้ที่พื้น แต่มันยังคงมียาสูบเหลืออยู่ แล้วเราเก็บมาสูบ แม้มันจะยังคงมีควันอยู่ แต่มันก็สูบได้อีกครั้งสองครั้ง ก็ต้องทิ้งแล้ว แต่มันเป็นของฟรีครับ

ผมเองใช้การลงทุนแบบนี้ก็บ่อยเหมือนกันครับ สำหรับผมแล้วการลงทุนแบบนี้ใช้ได้ผลดีทีเดียว แต่ในระยะยาวแล้วจะไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไรนัก หากไม่ขายหุ้นนั้นออกไปก่อนเมื่อราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงราคาที่แท้จริงในระยะสั้นๆ ในแบบของเกรแฮมจะขายเมื่อราคาปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ของราคาที่ซื้อ แต่สำหรับลูกศิษรุ่นต่อๆ มาของเกรแฮมได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้นซึ่งได้ผลดีทีเดียว

สำหรับหลักการนั้นฉบับก่อนคุณวิบูลย์กล่าวไว้แล้ว ท่านใดสนใจลองกลับไปอ่านได้ครับ มาครั้งนี้ผมจะลงรายละเอียดและยกตัวอย่างมานำเสนอพอแต่หน้ากระดาษจะอำนวย

วิธีคิดในการเลือกซื้อหุ้นตามแบบก้นบุหรี่นี้ต้องใช้งบการเงิน โดยเฉพาะงบดุลเป็นสำคัญครับ เพราะเราต้องหา NET-net Asset Value บางท่านเรียกหุ้นแบบนี้ว่า NET-NET Stock อย่าเข้าใจผิดว่าซื้อเช้า ขายสาย หรือซื้อสายขายบ่าย หรือถ้าเหลือความหวังเล็กๆ น้อยเข้าสนามรบตอนเช้าแล้วขอตายตอนปิดตลาดนะครับ

NET-NET Stock นี้ซื้อแล้วถือรอราคาปรับตัวขึ้น ใช้เวลาพอสมควรนะครับ ไม่เสี่ยงขนาดนั้น การลดความเสี่ยงของการลงทุนแบบนี้ใช้การวิเคราะห์งบดุล และกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นแบบนี้หลายๆ บริษัท

สูตรของ NET-net Asset Value เป็นดังนี้ครับ

NET-net Asset Value = สินทรัพย์หมุนเวียน - หนี้สินหมุนเวียน - หนี้สินระยะยาว

จะเห็นว่า NET-net Asset Value คือเอาสินทรัพย์หมุนเวียนมาหักเอาหนี้สินทั้งสั้นและยาวออกให้หมด สังเกตว่าเขาไม่เอาสินทรัพย์คงที่หรือ Fixed Assets มาคิดเลย ยังไม่พอนะครับ เราจะต้องซื้อหุ้นแบบนี้ในราคา 1/3 NET-net Asset Value อีกต่างหาก

ลำพังหาหุ้นที่ NET-net Asset Value ต่ำกว่าราคาหุ้นก็ยากอยู่แล้ว นี่ต้องหาหุ้นที่ต่ำกว่า NET-net Asset Value ถึงสามเท่าอีก ยิ่งไปกันใหญ่ ผมเคยหาตอนตลาดประมาณ 200 - 300 จุด เอาหุ้นที่กำลังซื้อขายได้ก็ยังหาไม่เจอเลยครับ ที่มีอยู่ก็กำลังจะไปไม่รอดแล้วครับ

เมื่อหาไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร มีลูกศิษย์ของอาจารย์เกรแฮมท่านหนึ่งคือ Walter Schlosse ได้ใช้หลักการ NET-net Asset Value ก่อนแต่หลังๆ ใช้ไม่ได้ เขาเลยใช้ สินทรัพย์ที่จับต้องได้ทั้งหมดหรือ Total tangible Assets หักด้วยหนี้สินระยะสั้นหรือ Current Liabilities มาหักลบกัน

แล้วมองหาหุ้นที่ราคาต่ำกว่าค่าที่หาได้นั้น ไม่จำเป็นต้องมีราคาต่ำกว่าค่าที่หาได้ถึงสามเท่าครับ ซึ่งก็ใช้ได้ผลดี เพราะถ้าดูแล้ว(ตามความเห็นของผม) เราควรเอาสินทรัพย์ที่มีตัวตนทั้งหมดเช่นโรงงาน เครื่องจักรที่ยังใช้งานได้ สินค้าคงเหลือ และลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้สูญเพราะเห็นอยู่ว่ามันมีอยู่จริง ส่วนหนี้สินระยะสั้นหรือ Current Liabilities ต้องตัดออกแน่ๆ เพราะยังไงต้องจ่ายเจ้าหนี้ภายในหนึ่งปี

หากไม่มีจ่ายเราไม่ควรไปยุ่งเพราะบริษัทก็คงไม่มีเหลือจ่ายผู้ถือหุ้นเหมือนกัน ส่วนหนี้สินระยะยาวนั้นเชื่อว่าหากบริษัทยังพอไปได้เจ้าหนี้ก็ยังคงยอมประนอมหนี้ให้ได้ ไม่น่าห่วงนักซึ่งเราก็เห็นกรณีอย่านี้มากมาย เช่นแปลงหนี้เป็นทุน ลดหนี้ ตัดดอก เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างที่ผมจะยกมาให้ดูกันนั้นเป็นตัวอย่างในอดีตทั้งนั้นครับ เพราะเพื่อไม่ให้เกิดการชี้นำ เป็นเพื่อการยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษาจริงๆ ผมขอยกกรณีหุ้น ATC ในอดีตที่เศรษฐกิจดีราคาสูงมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤติราคาร่วงเอาร่วงเอา จนราคามาอยู่แถวๆ 3 - 5 บาท แต่ถ้าเราไปดูสินทรัพย์แล้วพบว่ามีมากเอาการ แต่หนี้สินก็ไม่น้อย

แต่อย่าลืมว่า บริษัทนี้ตั้งมาได้ไม่นานเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ก็ยังคงมีสภาพดีอยู่ แถมบริษัทนี้มีการดำเนินธุรกิจแบบเป็นรอบ ที่ราคา 3-5 บาท ถือว่าต่ำมากๆ เอาจำนวนหุ้นคูณราคาแล้ว สร้างโรงงานขนาดนี้ไม่ได้แน่ พอราคาผ่านไปไม่นานประมาณ ปีสองปี ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นแบบไม่เคยให้เห็นเลขหลักเดียวอีกเลย ขณะนี้ราคาก็อยู่ 60 กว่าบาท(ขณะเขียนต้นฉบับ) ใครซื้อไว้แล้วใจแข็งถือมาจนทุกวันนี้รวยไม่รู้เรื่องครับ ผมเองรับสารภาพว่าซื้อแถว 3 - 5 บาท แต่จากหลักการก้นบุหรี่แล้วคาบไว้นานไม่ได้เลยคายเร็วไปหน่อยเลยอดรวยเลย และนี่คือจุดอ่อนของหลักการแบบนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งค่อนข้างคลาสสิกมากครับ กรณีหุ้น APRINT เมื่อหลายปีก่อนราคาร่วงมาแถวๆ 7 - 10 กว่าบาท ในขณะที่ Book Value ก็สูงกว่าราคามาก แถมบริษัทมีกำไรและจ่ายปันผลตลอดไม่เคยขาดเลย ราคาหุ้นแม้จะปรับตัวสูงขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีมาหลายปี

แต่เนื่องจากเป็นหุ้นที่ไม่ค่อยหวือหวาจึงไม่ค่อยมีคนสนใจ ปรากฏว่าเวลาผ่านไปราคาก็สะท้อนมูลค่าจนได้ เป็นกรณีคลาสสิกอย่างไรหรือครับ ก็ตรงที่ว่าเป็นบริษัทที่ดีไม่ขาดทุนจ่ายปันผลตลอด มูลค่าตามบัญชีสูงกว่าราคาหุ้นมาก จัดว่าเป็นบริษัทที่ไม่วิกฤติเลยแต่ราคาวิกฤติมากจริงๆ ใครซื้อแล้วถือไว้สบายใจไม่ต้องระแวง ลุ้นปันผลอย่างเดียวครับ

ว่าไปแล้วถ้าขยันหาเราจะพบหุ้นก้นบุหรี่มากมายในช่วงวิกฤติ และหากถือมาจนปัจจุบันเราก็แทบไม่ต้องทำอะไรเลย ราคาปรับตัวขึ้นเอง แต่ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าหายากมากครับ ถึงมีก็ถือได้สั้นๆ ไม่ยาวจนราคาปรับตัวขึ้นหลายเท่าตัว และเราต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะมีนวัตกรรมใหม่ทางการเงินและการบัญชีมากมาย ตบแต่งบัญชีได้แนบเนียนมาก การปล่อยข่าวลือ การปั่นหุ้น สารพัดวิธีการจนผมเองก็งงไปหมด หากมีโอกาสจะเอามาคุยให้ฟังครับ

การลงทุนแบบก้นบุหรี่นี้ค่อนข้างใช้ได้ผลดีในยามเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้หุ้นราคาตกมากเกินกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ควรจะเป็น

แต่จุดอ่อนของมันก็คือเราไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลเชิงคุณภาพของมัน ทำให้บางครั้งเราอาจพลาดท่าได้ หรือเราอาจขายออกเร็วเกินไปได้

หากเราตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ครับ อีกอย่างหนึ่งคือจิตใจต้องมั่นคงไม่หวั่นไหวง่ายๆ แม้ซื้อแล้วราคาจะลงมาอีก

เราต้องตรวจดูให้ชัดยิ่งขึ้นว่าเป็นอย่างที่เราคิดหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่วิเคราะห์ไว้ราคาลงมาถือเป็นการลดราคาท้าวิกฤติครับ รีบตะครุบด่วน!

ที่มา บทความของ คุณ มนตรี นิพิฐวิทยา จาก www.bangkaokbizweek.com

เข้าชม: 2,164

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com