April 30, 2024   12:25:00 PM ICT
Dual listing กับ Arbitrage จุดเปลี่ยนของตลาดหุ้นไทย

การนำ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กลับมาเทรดในตลาดหุ้นไทยในวันนี้(22 มิ.ย.)นั้น ถือเป็นการสร้างปรากฎการณ์การพัฒนาตลาดหุ้นหน้าใหม่ของเมืองไทย ที่มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ใน 2 ตลาดหลักทรัพย์ (Dual listing)บริษัทแรกของเมืองไทย และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาตลาดหุ้นไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่าตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ
          -Dual listing คืออะไร?
          นายวิกรานต์ ปวโรจน์กิจ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ DTAC กล่าวว่า ลักษณะของ Dual listing คือการที่บริษัทมีหุ้นจดทะเบียนอยู่ใน 2 ตลาดหลักทรัพย์ หรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งมีหลายรูปแบบ คือ
          1. การจดทะเบียนในตลาดท้องถิ่นก่อน แล้วพัฒนาไปจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศซึ่งลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ชัดในตลาดหุ้นญี่ปุ่น
          "ในกรณีนี้การจดทะเบียนในตลาดท้องถิ่นก่อนที่จะก้าวไปจดทะเบียนในต่างประเทศ จะเป็นที่นิยมของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่มีมากถึง 200 กว่าบริษัท ซึ่งมีบางรายจดทะเบียน 3 ตลาดเลยก็ยังมี ซึ่งรูปแบบนี้นักลงทุนไทยก็ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน"นายวิกรานต์กล่าว
          ที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่สนใจเข้ามาปรึกษากับทางโบรกเกอร์ว่า ทำให้อย่างไร ถึงจะสามารถนำบริษัทที่เคยอยู่ในตลาดหุ้นไทย ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศได้ ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน คงบอกได้อย่างเดียวว่า มีการประเมินความเสี่ยงบ้างแล้วหรือยัง ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำเพราะต้องการลดการพึ่งพิงตลาดเดียว
          2.การจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศก่อน แล้วย้อนกลับมาจดทะเบียนในตลาดท้องถิ่น กรณีนี้จะเห็นได้ชัดจาก DTAC ที่เป็นบริษัททำธุรกิจในไทย แต่ยังจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ได้เลย และในอนาคตอาจจะได้เห็นบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)กลับมาอีกบริษัทก็เป็นได้
          ส่วนรูปแบบสุดท้าย คือการรวมกิจการของ 2 บริษัทต่างประเทศที่ต่างก็จดทะเบียนในแต่ละตลาด โดยยังคงสถานะบริษัทจดทะเบียนอยู่ต่อไป ซึ่งมีเกิดขึ้นแล้วกับบริษัท รอยัลดัชต์กับ บริษัท เชลล์ ที่มีการควบรวมกันอยู่ ถึงแม่จะอยู่คนละตลาดก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นบริษัทเดียวกัน
          "สำหรับกรณีสุดท้ายเรายังคงไม่เห็นเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยเพราะยังไม่พร้อมหลายๆด้าน ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการรวมกิจการกันคงจะเป็นในเรื่องของภาษีกฎหมายทำแล้วประหยัดกว่า และเข้าทฤษฎีที่ว่า A+B=C หรือจะคล้ายกับกรณีของNPC +TOC กลายเป็นPTTCH เพียงแต่ว่าอยู่ในตลาดหุ้นคนละประเทศกัน”นายวิกรานต์กล่าว
          -เข้าสองตลาดหุ้นได้อะไร?
          สำหรับประโยชน์ที่บริษัทจดทะเบียนจะได้รับภายหลังจากจดทะเบียนสองตลาด คือ 1.ความสามารถในการระดมทุน 2.ประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ และ3. ต้นทุน ซึ่งจะแบ่งออกเป็นรายละเอียด คือ การเพิ่มฐานนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบางกองทุน หรือนักลงทุนต่างชาติบางแห่ง ประกาศชัดที่จะไม่ลงทุนในบางประเทศ
          ทั้งนี้ไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีข้อจำกัดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แต่ภายหลังจากที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศจะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลุ่มนั้น สามารถเข้ามาลงทุนในหุ้นตัวนั้นได้ และถือเป็นการขยายฐานนักลงทุนได้อีกทางหนึ่ง
          ประเด็นต่อมาคือฐานนักวิเคราะห์ที่จะวิเคราะห์หุ้นบริษัทนั้นๆ มีมากขึ้น ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นผลสืบเนื่องจากการฐานนักลงทุนที่มีความหลากหลายและเพิ่มขึ้น ทำให้บรรดาโบรกเกอร์ทั้งหลายต้องทำข้อมูลสนับสนุนการลงทุนของลูกค้า ในเมื่อมีการทำบทวิเคราะห์พื้นฐานบริษัท แน่นอนเลยว่าต้องมีข่าวสารข้อมูลของบริษัทนั้นออกไป ทำให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น
          นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การช่วยเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น ภายหลังจากที่มีฐานนักลงทุนและข่าวสารการวิเคราะห์ของบริษัทเพิ่มมากขึ้นแล้ว นั่นย่อมทำให้เกิดความเข้าใจในพื้นฐานของบริษัทเป็นอย่างนี้ ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางในการเข้ามาลงทุน ซึ่งทำให้สภาพคล่องดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
          "ประเด็นการเข้ามาเทรดหุ้นสองตลาดของDTAC ก็การแก้ปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากนักลงทุนสิงคโปร์ไม่ค่อยรู้จักสินค้าของบริษัทว่าเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่า Happy , work moreเป็นอย่างไร ซึ่งก็เหมือนนักลงทุนไทยที่ไม่รู้จักหุ้นสิงคเทลว่าประกอบธุรกิจอย่างไรบ้าง”นายวิกรานต์กล่าว
          อย่างไรก็ตามการเข้าเทรดสองตลาดยังสามารถยืนยันถึงความมีธรรมภิบาลของบริษัทนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแต่ละตลาดหุ้นจะมีกฎระเบียบควบคุมความโปร่งใสที่ต่างกันซึ่งถ้ากฎเกณฑ์ใดเข้มงวดก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเกณฑ์หลัก ซึ่งทำให้เชื่อได้เลยว่าบริษัทเหล่านี้ย่อมต้องมีธรรมภิบาลกว่าบริษัททั่วไป
          นายวิกรานต์กล่าวย้ำว่า นอกจากนี้นักลงทุนจะได้รับประโยชน์ในเรื่องของการสะท้อนราคาหุ้นที่เป็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการออกตราสารทุนได้รับการยอมรับให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวต้องผ่านการจัดอันดับเครดิต ยิ่งได้เครดิตดีเท่าไหร่ ต้นทุนก็ต่ำมากเท่านั้น
          ทั้งนี้ยังมีในส่วนของภาพลักษณ์สากล การออกESOP รวมถึงการขายสินค้าในต่างประเทศดีขึ้น(ถ้ามีการส่งออก) และสามารถแลกหุ้นกับบริษัทต่างประเทศ ในกรณีที่ต้องการควบรวมกิจการ แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการที่จะจดทะเบียนสองตลาดคือการลดการพึ่งพิงตลาดหลักทรัพย์ใด ตลาดหลักทรัพย์หนึ่งเพียงแห่งเดียว
          "ถ้าเกิดตลาดหุ้นใดเสียหาย บริษัทก็สามารถไประดมทุนอีกตลาดหนึ่งได้ ถือว่าลดการพึ่งพิง และความเสี่ยงให้น้อยลง ขณะที่มีแห่งระดมทุนเพิ่มขึ้น เพราะความสามารถในการระดมทุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การอาศัยตลาดเดียวจะมีศักยภาพที่ต่างกับการจดทะเบียนสองตลาด"นายวิกรานต์กล่าว
          -เก็งกำไรสองตลาดทำได้?
          นายวิกรานต์ กล่าวว่า การเก็งกำไรสองตลาดหุ้นที่ไม่มีความเสี่ยง (Arbitrage )ในทางทฤษฎีสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คงต้องดูองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ที่จะเข้ามาโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน สิทธิออกเสียง และความเสี่ยงเฉพาะของตลาดหุ้นนั้นๆทั้งนี้ที่ผ่านมามีหลายกองทุนที่ขาดทุนจากการเก็งกำไรสองตลาด ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10ปีก่อนมีบริษัท ลองเทอม แคปปิตอล แมนเนจเมนท์ ( แอลทีซีเอ็ม) ซึ่งเป็นกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์ ได้เข้าไปเก็งกำไรArbitrageในตลาดบอนด์รัสเซีย ซึ่งในระยะแรกให้ผลตอบแทนสูงถึง 40 %ต่อปี แต่หลังจากนั้นก็ประสบผลขาดทุนถึง มากถึง4 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งตอนนั้นคิดว่าราคาหุ้นจะวิ่งเข้าหากัน แต่กลับกลายเป็นว่าราคาหุ้นกลับวิ่งไปคนละทางกัน
          "ไม่มีสิ่งใดการันตีว่าราคาหุ้นทั้งสองตลาดจะวิ่งเข้าหากัน ถึงแม้หุ้นทั้งสองตลาดจะเป็นหุ้นตัวเดียวกัน ในเชิงทฤษฎีแล้วยอมต้องมีราคาที่ไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ประเด็นเรื่องดีมานด์ซัพพลายของตลาดหนึ่ง ถือเป็นเรื่องที่จะผลักให้ราคาหุ้นวิ่งเข้าหากัน หรือวิ่งออกจากกันก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ”นายวิกรานต์กล่าว สำหรับประเด็นเรื่องสภาพคล่องปัญหาของบริษัทที่จดทะเบียนสองตลาด ถือเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน เพราะถ้าเกิดหุ้นดังกล่าวไม่มีสภาพคล่อง อาจจะทำให้เกิดความผันผวนมากขึ้น และมีความเสี่ยงในเรื่องของการเก็งกำไรสองตลาด
          อย่างไรก็ตามการคิดค่าพีอีของแต่ละตลาดไม่เท่ากัน ย่อมมีผลต่อราคาหุ้นต่างกันด้วยแต่ทั้งนี้ไม่ถือว่าเป็นประเด็นหลัก เนื่องจากค่าพีอีมีจุดต่างกันแค่จุดเดียวคือราคา(พี) ในขณะที่กำไรของบริษัท(อี)จะเท่ากัน ซึ่งตรงนี้ก็มีปัจจัยอื่น อาทิ ความผันผวนของราคาหุ้น ความเสี่ยงทางด้านการเมือง อัตราดอกเบี้ย รวมถึงความเข้มข้นของกฎเกณฑ์ของตลาดหุ้นนั้นๆด้วย
          สำหรับการเก็งกำไรสองตลาดโดยเฉพาะหุ้นDTAC นั้น คงยังไม่สามารถที่จะมีการโอนหุ้นส่งมอบข้ามมาได้ เนื่องจากความเสี่ยงในเรื่องของเวลาที่นานถึง 10 วัน (T+10) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความไม่พร้อมของนักลงทุนไทย ที่ต้องเปิดพอร์ตอยู่ที่สิงคโปร์ ขณะที่นักลงทุนสิงคโปร์ต้องเปิดพอร์ตในตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน
          LTCM กับ Black swan theory
          คือการบริหารเงินทุนในระยะยาว กับ ทฤษฏีหงส์ดำ ตามทฤษฎีเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักและเกินที่จะคาดเดาแต่มีผลกระทบรุนแรงเหตุการณ์หงส์ดำหมายถึงการโจมตีที่เกิดเมื่อ 11 กันยายน 2544 ต้นกำเนิดคือตามความเชื่อหงส์ต้องเป็นสีขาว หงส์สีดำเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้จนกระทั่งมีการพบหงส์ดำในออสเตรเลียในศตวรรษที่ 17ทำให้เรื่องที่เคยเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ก็เกิดขึ้นได้จริงๆ
          กองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์ก่อตั้งเมื่อ 1994โดยจอห์น เมียร์เวเทอร์(รองประธานโซโลมอนบราธอร์) กรรมการในบอร์ดอีก 2 คนโดยในปีแรกๆตั้งแต่1977 ให้ผลตอบแทนสูงมาก ประมาณปีละ 40% แต่มาขาดทุนในปี ถัดมา1998 ถึง 4พัน6ร้อยล้านเหรียญในเวลาไม่ถึง4เดือนและได้กลายมาเป็นตัวอย่างการสูญเสียในวงการเฮ็ดฟันด์ กองทุน LTCM นี้จึงล้มเลิกไปตอนต้นปี 2000กลยุทธ์ของทฤษฎี หงส์ดำ
          คือ การคิดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์จาก fixed income arbitrage จากพันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศเช่น อเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป วิธีคิดก็คือมูลค่าของพันธบัตรระยะยาวที่แตกออกเป็นพันธบัตรระยะสั้นจะมีมูลค่าไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามระยะเวลา กว่าที่พันธบัตรจะมีค่าไปถึงราคาที่ต้องการนั้น จะแตกต่างกัน เช่นพันธบัตรสหรัฐที่มีการซื้อขายมากกว่า จะสามารถขึ้นไปถึงราคาในระยะยาวที่ต้องการได้รวดเร็วกว่า พันธบัตรชนิดที่มีการซื้อขายน้อยกว่าหรือที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า
          กระบวนการซื้อขายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมซื้อพันธบัตรราคาถูกก่อน thecheaper off-the-run bond แล้วทำ ชอร์ตเซลล์พันธบัตรตัวที่แพงกว่าและมีสภาพคล่องดีกว่า on-the- run bond มีความเป็นไปได้ตรงนี้ที่จะทำกำไร เพราะ ความต่างของมูลค่าของพันธบัตรใหม่ที่ซื้อเข้า จะมีค่าความต่างน้อยมาก
          ขณะที่เงินทุนในกองทุนระยะยาวมีฐานที่โตขึ้น มีความกดดันบังคับให้นำกองทุนนั้นไปลงทุนที่อื่นซึ่งจะทำให้เสียโอกาสในการทำ อาร์บิเทรจกับกองทุนที่มีสภาพคล่องดี นี่คือการนำเอา LTCM ไปทำกลยุทธ์ในการเทรดนอกเหนือสภาพคล่องที่ดีอยู่แล้ว
          แม้การทำเช่นนี้จะไม่ถูกต้องตามทิศทางของตลาด เพราะ ไม่ได้มองอัตราดอกเบี้ย หรือ การขึ้นลงของราคาหุ้น นี่เป็นการค้าที่ไม่บรรจบกัน จนปี1998 LTCMได้เข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมากในการควบรวมการทำอาร์บิเทรจกับกองทุน ออบชั่นของS&P500( คือ การทำมูลค่าสุทธิในระยะสั้นจากพันธบัตรระยะยาวที่มีสภาพคล่อง ของS&P)
          ในความเป็นจริงมีผู้เล่นหุ้นที่เชื่อว่า LTCM เป็นเจ้าของ S&P gamma ซึ่งเป็นตัวที่เป็นที่ต้องการของบริษัทประกันของอเมริกาที่ขายสิทธิการรับเงินที่จะได้ตามดัชนีหุ้นภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า
          บริษัท ที่สามารถให้ผลตอบแทนปีละเกือบ 40% ต้องมาเจอกับภาวะขาดสภาพคล่อง (Flight to Liquidity)

ข่าวหุ้น

เข้าชม: 4,295

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com