April 30, 2024   1:15:25 PM ICT
วางแผนการเงินอย่างคนปลอดภาระ

โดย กาญจนา หงษ์ทอง

ผมแต่งงานมีครอบครัวแล้วแต่ยังไม่มีลูก และคิดว่าคงไม่มี เราวางแผนไว้อย่างนั้น จริงอยู่อาจไม่จำเป็นต้องเก็บออมไว้สำหรับการศึกษาของลูก แต่เราก็ต้องออมไว้เพื่อดูแลตัวเองในอนาคตเป็นหลัก

*********

เมื่อเงื่อนไขชีวิตแตกต่างกันไป การวางแผนทางการเงินของแต่ละคน ย่อมแตกต่างกันไปด้วย เช่น คนที่มีลูกหลายคนอาจต้องวางแผนทางการเงินเพื่อรับมือกับอนาคตทางการศึกษาของลูกๆ เยอะกว่าคนอื่น หรือคนที่เป็นซิงเกิลมัม ต้องดูแลลูกคนเดียว ก็อาจต้องวางแผนอีกแบบ

ขณะที่ ครอบครัวที่วางแผนชีวิตชัดเจนว่าคงไม่มีลูก อาจจะดูเหมือนไม่มีภาระ แต่ในทางกลับกัน เขาต้องวางแผนการเงินอีกแบบ เพื่อรองรับชีวิตในบั้นปลายที่ต้องคิดเผื่อการใช้ชีวิตโดยปราศจากลูกหลานมาคอยดูแล เช่นเดียวกับ "ทนิธิ์ อิสรินทร์" ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายงาน Financial Planning บริษัท บัตรกรุงไทย(เคทีซี) ที่ต้องวางแผนทางการเงินในแนวนี้

"ผมแต่งงานมีครอบครัวแล้วแต่ยังไม่มีลูก และคิดว่าคงไม่มี เราวางแผนไว้อย่างนั้น จริงอยู่อาจไม่จำเป็นต้องเก็บออมไว้สำหรับการศึกษาของลูก แต่เราก็ต้องออมไว้เพื่อดูแลตัวเองในอนาคตเป็นหลัก เพราะตอนแก่อาจต้องใช้ชีวิตกัน 2 คนตายาย ถึงเวลาอาจต้องจ่ายเงินให้คนอื่นมาดูแลตัวเอง เดี๋ยวนี้แม้แต่คนที่มีลูกหลานก็อาจจะพึ่งพาไม่ได้ อีกหน่อยถ้ามีคอนโดมิเนียมของผู้สูงอายุก็อาจจะไปอยู่ก็ได้ "

ยิ่งเมื่ออายุเฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทนิธิ์ยิ่งเชื่อว่าต่อไปจะมีต้นทุนในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ฉะนั้น เขาและภรรยาจึงพยายามรักษาสุขภาพให้ดีที่สุด

ทนิธิ์ออกตัวว่าเป็นคนวางแผนการเงินไม่มากเท่าไร แต่เรื่องแผนการออมเงินนั้นค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนถ้าเป็นเรื่องการจับจ่ายใช้สอยเขาไม่ค่อยได้วางแผนเท่าไร

"อาจจะเป็นเพราะผมไม่ใช่คนชอบเที่ยวหรือมีนิสัยการใช้เงินฟุ่มเฟือยมากนัก โดยมากแต่ละปีจะท่องเที่ยวน้อย เพราะไม่ค่อยมีเวลา ก็เลยกลายเป็นว่ามีเงินเอาไว้ออมค่อนข้างเยอะ"

ทนิธิ์บอกว่าการจะออมต้องดูที่วัตถุประสงค์ และเป้าหมายเป็นหลัก เพราะเมื่อเรารู้เป้าหมายก็จะสามารถวางแผนการออม และใช้เงินได้อย่างสอดรับ

"ปกติผมก็จะแบ่งเงินออม และลงทุนเป็นระยะสั้น กลาง และยาวเอาไว้ชัดเจน ส่วนเงินสำรองตรงนี้ยิ่งต้องมี เพื่อเอาไว้รับมือกับเรื่องฉุกเฉิน ตรงนี้จะต้องอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ ที่สามารถเบิกถอนง่าย โดยส่วนนี้จะต้องมีเผื่อไว้ให้พอสัก 6 เดือน แล้วก็จะมีเงินฝากประจำที่อยู่ในระยะกลาง"

ส่วนระยะยาวก็จะมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท ซึ่งส่วนนี้เขาคิดว่าคงไม่เพียงพอแน่นอน เพราะฉะนั้นจึงหาช่องทางอื่นออมเพิ่ม ที่ผ่านมา ก็ดูว่ามีอะไรบ้างที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงเลือกลงทุนในกองทุนที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่น กองทุน RMF และกองทุน LTF

"พวกกองทุน RMF และกองทุน LTF ถ้าผมมีเงินเหลือเยอะหน่อย ก็ลงทุนเยอะเต็มที่ตามวงเงินที่รัฐบาลกำหนด จากนั้นก็ไปออมพวกประกัน เพราะผมคิดว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเดียวไม่พอแน่ ในที่สุดการออมพวกนี้จะไปซัพพอร์ตชีวิตในอนาคต ให้มีเงินเพียงพอสำหรับกินใช้ในบั้นปลาย "

การลงทุนในด้านอื่นๆ ก็ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวอะไรเท่าไร ไม่ได้ซื้อที่ดินเก็บ เพราะไม่ค่อยมีเวลาดูแล แต่ตอนนี้เริ่มสนใจจะลงทุนในพวกคอนโดมิเนียม ซื้อเอาไว้ให้คนเช่าหรือขายต่อ ต้องรอดูจังหวะที่ดีๆ ก่อนจะเข้าไปลงทุน

ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ทนิธิ์เล่าว่าเมื่อหลายปี เขาเคยลงทุนในพวกหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่ปัจจุบันด้วยหน้าที่การงานของภรรยาที่เป็นผู้บริหารของบลจ.พรีมาเวสท์ เวลาจะลงทุนอะไรต้องรายงานทุกอย่าง เพื่อความสบายใจเขาเลยหันไปลงทุน ในกองทุนแทน

แต่ไม่ว่าจะลงทุนหรือออมในช่องทางไหนก็ตาม ทนิธิ์จะเน้นเรื่องของความมั่นคง และความสะดวกสบายเป็นหลัก เพราะรายละเอียดอย่างอื่นเขาคิดว่าไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก

ข้อสำคัญคือ จะต้องไม่ลืมกระจายความเสี่ยง แต่ถ้าพอร์ตการลงทุนกระจายเยอะไปก็ไม่ดี เพราะอาจจะจำไม่ได้ ฉะนั้นกระจายให้พอดี

กฎการลงทุนของทนิธิ์อีกข้อหนึ่งคือ การลงทุนที่ไม่เสี่ยงมากเกินไป เพราะเขาไม่อยากรับความเสี่ยงในระดับสูง จะเรียกว่าลงทุนแบบคอนเซอร์เวย์ทีฟก็ได้ ทนิธิ์ยอมรับว่าสำหรับเรื่องการลงทุนช้าหน่อยก็ได้ จะได้ไม่เสียใจทีหลัง

ด้วยชีวิตที่ปลอดภาระทางการเงิน ไม่ต้องผ่อนบ้าน ไม่ต้องเก็บเงินสำหรับการศึกษาของลูก ทำให้การใช้ชีวิตในปัจจุบันค่อนข้างดำเนินไปด้วยความสุขสบาย ไม่เป็นหนี้ และยังสามารถออมเงินได้เดือนละประมาณ 60% ของรายได้ จะเห็นว่าออมในอัตราที่เยอะมาก

ถึงจะสามารถใช้จ่ายอย่างสบายมือ แต่ทนิธิ์ก็เป็นคนรู้จักใช้จ่าย เขาจะคิดเสมอว่า เห็นอะไรอย่าเพิ่งซื้อ กลับมาคิดหน้าคิดหลังก่อน จนบางทีลืมไปเลยว่าอยากได้ของชิ้นนั้น

"เรื่องการใช้จ่ายผมอยากจะบอกทุกคนว่า เวลาจะซื้ออะไรต้องดูพละกำลังของตัวเอง ส่วนตัวผม ไม่ถึงกับตีกรอบให้ตัวเองมากนัก เพราะมีเงินออมเหลืออยู่แล้ว"

ในเรื่องการจับจ่ายใช้เงินนั้น เขาบอกว่าแม้จะทำงานในบริษัทที่ให้บริการด้านบัตรเครดิต แต่อยากจะบอกว่าไม่เคยสนับสนุนให้ใครเป็นหนี้ที่เกิดจากบัตรเครดิต เพราะที่จริงบัตรเครดิตไม่ได้มีแต่ด้านลบ ตรงกันข้าม ถ้ารู้จักใช้ในด้านบวก ใช้อย่างตรงตามวัตถุประสงค์ และใช้อย่างมีสติ ก็จะทำให้ไม่เป็นหนี้จากบัตรเครดิต

"ผมคิดว่าถ้าคุณอยากจะเป็นหนี้ ไปกู้สินเชื่อบุคคลดีกว่า เลือกตามวัตถุประสงค์ของคุณ เช่น แบงก์ใหญ่เขาให้กู้เพื่อตกแต่งบ้าน ฉะนั้น ก็ไม่ควรจะตั้งใจมาเป็นหนี้จากบัตรเครดิต ผมว่า ท้ายสุด ถ้าเราจับจ่ายใช้สอยอย่างมีสติ ดูกำลัง และความสามารถในการชำระของตัวเอง รับรองว่าไม่มีการเป็นหนี้แน่นอน "

เขาทิ้งท้ายว่า บัตรเครดิตใช้ได้ มีได้ พกได้ แต่ต้องมีสติเวลาใช้ เท่านั้นเอง

เข้าชม: 1,897

 
 

Copy Right © 2009-2012 © Thaihoon.Com